ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สมคิด” สั่งคลัง กำหนด KPI ประเมินผล “เอ็มดี-เอ็กซิมแบงก์คนใหม่” หนุนส่งออก-ทุนไทย เจาะตลาด CLMV-ศรีลังกา-อิหร่าน

“สมคิด” สั่งคลัง กำหนด KPI ประเมินผล “เอ็มดี-เอ็กซิมแบงก์คนใหม่” หนุนส่งออก-ทุนไทย เจาะตลาด CLMV-ศรีลังกา-อิหร่าน

17 มีนาคม 2016


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ขวา)นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ซ้าย) แถลงข่าวมอบนโยบายธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ขวา) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ซ้าย) แถลงข่าวมอบนโยบายธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2559 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ว่า ได้มอบนโยบายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้บริหารระดับสูงของเอ็กซิมแบงก์ สนับสนุนภาคส่งออกและนักธุรกิจไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดสาขาในต่างประเทศ ที่ผ่านมาอาจจะให้ความสำคัญกับบทบาทด้านนี้น้อยเกินไป เพราะอาจจะกังวลเรื่องเป้าหมายในการทำกำไรที่กระทรวงการคลังกำหนดเป็น KPI ใช้ชี้วัดผลงานของธนาคาร วันนี้จึงมอบหมายให้นายอภิศักดิ์หาทางช่วยเหลือธนาคาร และให้บรรจุเป้าหมายในการสนับสนุนธุรกิจไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศ เข้าไปอยู่ใน KPI เพื่อใช้ประเมินผลงานกรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์คนใหม่ ที่จะประกาศรายชื่อภายใน 2 สัปดาห์นี้ด้วย

“KPI ที่ใช้ชี้วัดผลงานของเอ็มดีคนใหม่ ควรเน้นในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร และสร้างบรรยากาศการทำงานให้คึกคัก เอ็กซิมแบงก์ต้องเป็นที่พึ่งพาของภาคเอกชนได้ สนับสนุนภาคส่งออกและธุรกิจใหม่ๆ ของไทยขยายลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ลาว, เมียนมา, กัมพูชา และเวียดนาม หรือแม้แต่อิหร่าน ศรีลังกา ก็ต้องการให้นักธุรกิจไทยไปลงทุน สร้างถนน สนามบิน แต่กลับไม่มีสถาบันการเงินของไทยไปเปิดสาขาที่นั่น ” ดร.สมคิดกล่าว

ด้านนายอภิศักดิ์กล่าวว่า การเปิดสาขาในต่างประเทศ ตามกฎหมายจัดตั้งธนาคารสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมาธนาคารพยายามปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ไม่สามารถจัดทำมาตรการดอกเบี้ยต่ำ หรือ “แพ็กกิ้งเครดิต” ช่วยเหลือผู้ส่งออกเหมือนในอดีตได้ เพราะอาจจะไปละเมิดข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO)

ด้านนายมนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากรับนโยบายจาก ดร.สมคิด ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ ธนาคารจะเสนอแผนการสนับสนุนผู้ส่งออกและนักธุรกิจไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศให้กระทรวงการคลังพิจารณา โดยเฉพาะแผนการบุกตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ส่วนการเปิดสาขาในต่างประเทศมีหลายรูปแบบ อย่างเช่น สาขาเต็มรูปแบบ (Full Branch) สำนักงานตัวแทน (Represent Office) จะเปิดในรูปแบบไหนต้องขอเวลาศึกษาก่อน

สำหรับแผนดำเนินงานของเอ็กซิมแบงก์ในปี 2559 กำหนดเป้าหมายในการขยายปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่ 16,000 ล้านบาท และรายเล็กและกลาง 19,000 ล้านบาท ด้านการรับประกันการส่งออกตั้งเป้าหมายไว้ที่ 65,000 ล้านบาท และมีกำไรประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ) ปี 2559 คาดว่าจะมีสัดส่วนอยู่ที่ 6.5% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เพิ่มจากปี 2558 ซึ่งมีสัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 5.43% สาเหตุเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

EXIM

EXIM-1

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2558 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,520 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 มียอดสินเชื่อคงค้าง 73,540 ล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อใหม่ 20,307 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 3,993 ล้านบาท เปรียบเทียบกับยอดสินเชื่อคงค้าง (NPLs Ratio) คิดเป็นสัดส่วน 5.43% อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้กันเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 5,654 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2,890 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกันร้อยละ 195.6

ธุรกิจของเอ็กซิมแบงก์ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ สินเชื่อและรับประกัน การสนับสนุนสินเชื่อของเอ็กซิมแบงก์แก่ผู้ประกอบการไทยในปี 2558 ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 136,634 ล้านบาท และมียอดสินเชื่อคงค้าง 73,540 ล้านบาท ด้านรับประกันมีส่วนทำให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวม 64,386 ล้านบาท โดย 10,142 ล้านบาท เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs คิดเป็นสัดส่วน 15.75% ของธุรกิจรับประกันรวม ณ สิ้นปี 2558 มียอดรับประกันคงค้าง 15,497 ล้านบาท

การสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs เป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญของเอ็กซิมแบงก์ โดยธนาคารได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีลูกค้า SMEs เพิ่มมากขึ้น โดยมีลูกค้า SMEs คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 87% ของลูกค้าทั้งหมด และมีการอนุมัติวงเงินเพิ่มใหม่ในปีเท่ากับ 32,009 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินอนุมัติสะสมที่ลูกค้าสามารถเบิกใช้สินเชื่อได้ 73,861 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจทั้งปีของ SMEs เท่ากับ 81,767 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี จำนวน 29,183 ล้านบาท

ด้านการสนับสนุนตามยุทธศาสตร์ของประเทศและนโยบายรัฐ เช่น สนับสนุนโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และสนับสนุนผู้ประกอบการพาณิชย์นาวีและโลจิสติกส์อื่นๆ EXIM BANK มีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาประเทศเพิ่มใหม่ในปีนี้ 11,217 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินอนุมัติสะสม 46,411 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 27,565 ล้านบาท

ด้านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศโดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอ็กซิมแบงก์ที่จะเป็นธนาคารที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีโลก โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ปัจจุบันเอ็กซิมแบงก์มีวงเงินอนุมัติสะสมของสินเชื่อเพื่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC รวม 87,099 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินอนุมัติเพิ่มใหม่ในปีนี้ 25,589 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 มียอดสินเชื่อคงค้าง 41,628 ล้านบาท ในขณะเดียวกันเอ็กซิมแบงก์ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการป้องกันความเสี่ยงเพื่อผลักดันให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับ AEC ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีวงเงินป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการอยู่ที่ 26,551 ล้านบาท