ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท.แจงความคืบหน้า “National e-Payment” – เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ระบบชำระเงิน

ธปท.แจงความคืบหน้า “National e-Payment” – เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ระบบชำระเงิน

9 มีนาคม 2016


นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของ National e-Payment ว่า ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ครั้งล่าสุด ได้พูดถึงความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน โดยหลังจากที่แต่ละธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนธุรกิจและแผนประชาสัมพันธ์แล้วเสร็จ ธปท. ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนเพิ่มเติมว่าจะคุ้มครองประชาชนอย่างไร จะให้ความรู้ความเข้าใจในระบบใหม่แก่ประชาชนอย่างไร รวมไปถึงสมาคมธนาคารไทยในฐานะตัวกลางของธนาคารว่าจะทำอะไรบ้าง ซึ่งต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2559

ด้าน ธปท. เอง จะต้องออกกฎเกณฑ์ด้านเทคโนโลยีมารองรับโดยตรงด้วยว่าจะกำกับดูแลและตรวจสอบระบบการชำระเงินอย่างไร เบื้องต้นได้จัดทำร่างกฎเกณฑ์และส่งออกไปรับฟังความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 แบ่งเป็น 2 ประเด็น 1) ธรรมาภิบาลของการบริหาร เดิมที่ฝ่ายไอทีภายในมักจะเป็นระบบหลังบ้านของธนาคาร ทำหน้าที่ทั้งบริหารความเสี่ยงและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ปัจจุบันไม่สามารถนำมารวมกันได้เพราะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในแง่ว่าผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ อาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับธนาคารและระบบการเงินได้ ดังนั้น จะต้องแยกหน้าที่ออกจากกัน เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) เรื่องของความปลอดภัยและการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ว่าจะต้องมีมาตรฐานอย่างไร ถ้ามีปัญหาขึ้นมาจะต้องตรวจสอบหรือกำกับดูแลอย่างไร มีขั้นตอนกระบวนการจัดการปัญหาอย่างไร

“ทุกวันนี้ การบริหารความเสี่ยงเปลี่ยนไปแล้ว ความเสี่ยงด้านไอทีจะไปแฝงอยู่ใต้ฝ่ายไอทีไม่ได้แล้ว มันขัดแย้งกัน หลายแบงก์ยังดูก่อน แต่หลายแบงก์ใหญ่ตั้งแล้วด้วยซ้ำ เพราะเขาเห็นความสำคัญของความเสี่ยงตรงนี้ชัดเจน ต้องจ้างคนเพิ่มที่มีความสามารถพอๆ กับฝ่ายไอทีเดิม ฝ่ายผลิตภัณฑ์อยากไปข้างหน้า พวก FinTech ทั้งหลาย แต่อีกด้านมันต้องมีอีกคนที่เก่งพอๆ กันหรือเก่งกว่ามาดูว่าสิ่งที่ทำมีความเสี่ยงอะไร จะจัดการอย่างไร ปิดช่องไปหรือยัง ธปท. กลัวมากกว่าอีกในเรื่องพวกนี้ เพราะถ้าเราผลักไปข้างหน้าแต่ดูไม่ดี เกิดปัญหาขึ้นมา ที่เราทำมาทั้งหมดจะเป็นศูนย์นะ มันจะไม่พัฒนาต่อไปเลย เพราะคนไม่เชื่อถือ” นางทองอุไรกล่าว

meetthepress_payment_system_mar_2016_6 meetthepress_payment_system_mar_2016_7

ชงร่าง พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ สำหรับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของ ธปท. ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ธปท. กำลังยกร่าง พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินขึ้นมาโดยตรง มาเป็นเครื่องในการกำกับดูแลอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศไทยมีหลายฉบับและกระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ และยังไม่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับสากล โดย ธปท. มี พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 (ปรับปรุงล่าสุด 2551)​ และ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน พ.ศ. 2551, กระทรวงการคลังที่มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) หรือ ปว.58 และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งมี พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 หรือ พ.ร.ฎ e-payment

meetthepress_payment_system_mar_2016_4

E-Payment “ดี ถูก ปลอดภัย” เชื่อมโยง “รัฐ-เอกชน-ธนาคาร”

นางทองอุไรกล่าวต่อไปถึงกรอบการทำงานและพัฒนาระบบการชำระเงินไทยของ ธปท. ว่าประกอบไปด้วย 4 ตัวละคร 1) ภาครัฐ 2) ภาคธุรกิจ ผู้ให้บริการคือธนาคารพาณิยช์และสถาบันการเงินอื่นๆ หรือ Non-Bank โดยมีระบบการชำระเงินเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน โดยบทบาทของ ธปท. จะดูแลส่วนของระบบการชำระเงินและผู้ให้บริการเป็นหลักให้เกิดระบบชำระเงินที่ถูก ดี ปลอดภัย

โดยภาพของภาครัฐที่ ธปท. อยากจะเห็น “Digital Government” คืออยากเห็น Point of Single Contact แบบสหภาพยุโรป ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบต่างๆ การรับเอกสาร การออกใบอนุญาตต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์เดี่ยวหรือเป็นแอปพลิเคชันมือถือ รวมไปถึงการส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐหรือ e-Document

ด้านภาคธุรกิจ ต้องการเห็นกระบวนของธุรกิจตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การขายและจัดจำหน่าย ให้จบภายในจุดเดียว หรือ one stop service ในลักษณะ e-Business โดยบทบาทของ ธปท. จะแทรกเข้ามาในส่วนการวางระบบชำระเงินให้สามารถทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ทำให้ภาครัฐที่สามารถเก็บภาษีได้โดยตรงลดต้นทุนในเรื่องของการเกี่ยวข้องกับเอกสารทั้งหมด

“เป้าหมายของ e-Business คือ จะผลักดันอย่างไรให้กระบวนการทำงานของธุรกิจสะดวก คือใส่ข้อมูลทีเดียว มันช่วยตัดความผิดพลาดจากคนด้วย ลดต้นทุนด้วย เพิ่มประสิทธิภาพด้วย ใส่ข้อมูลแค่ต้นน้ำ แล้วมันจะวิ่งไปที่สั่งของ ส่งของ จัดการสินค้าคงคลังได้ ชำระเงินกัน จนไปถึงการเก็บภาษีของภาครัฐโดยตรงไปผูกกับสรรพากรเลย อันนี้ตั้งใจให้ถึงจุดตรงนั้น” นางทองอุไรกล่าว

ในส่วนของธนาคาร ธปท. อยากเห็นประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันยังเป็นช่องว่างที่เผชิญอยู่ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาสถาบันการเงินฉบับที่ 3 ที่กำลังจะออกมา คาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ด้านของธุรกิจเอสเอ็มอีต้องการสร้างโอกาสธุรกิจในการค้าขายแบบ e-commerce ให้ชำระเงินได้สะดวกรวดเร็ว ต้องมีกระบวนการแบบจุดเดียว หรือ one stop service ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยประกอบธุรกิจ เปิดตลาดออกไปจะต้องมีระบบชำระเงินมารองรับ โดยเฉพาะระบบชำระเงินกับตลาด CLMV ที่มีขนาดใหญ่จาก 60 ล้านเป็น 600 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว (ดูกราฟิก)

meetthepress_payment_system_mar_2016_1

meetthepress_payment_system_mar_2016_2

meetthepress_payment_system_mar_2016_3 meetthepress_payment_system_mar_2016_5

ดูเพิ่มเติมบทบาทของ ธปท. ต่อระบบการชำระเงิน