ThaiPublica > คอลัมน์ > ความผิดฐานแกล้งหลอกขู่วางระเบิดเครื่องบิน : ฝรั่งทำขาด หรือ คนไทยทำเกิน ?

ความผิดฐานแกล้งหลอกขู่วางระเบิดเครื่องบิน : ฝรั่งทำขาด หรือ คนไทยทำเกิน ?

2 มีนาคม 2016


ประเสริฐ ป้อมป้องศึก
ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี
ชมรมศึกษากฎหมายอากาศและอวกาศ

บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการโดยส่วนตัวของผู้เขียน มิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่หรือมีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด

ในรอบปีที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับการหลอกว่าจะวางระเบิดอากาศยานเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ผู้โดยสารโมโหที่ถูกห้ามนำน้ำขึ้นเครื่องบินจึงขู่ว่ามีระเบิดบนเครื่องบิน (พฤษภาคม 2558) ผู้โดยสารแซวพนักงานต้อนรับว่าระวังมีระเบิดอยู่ในกระเป๋าสัมภาระ (พฤศจิกายน 2558) ผู้โดยสารทะเลาะกันพร้อมขู่วางระเบิด (ธันวาคม 2558) หลายท่านอาจสงสัยว่าการพลั้งปากด้วยความโกรธว่าเดี๋ยวจะระเบิดเครื่องบินเสียเลย จะเป็นความผิดราวกับเป็นผู้ก่อการร้ายและต้องรับโทษหนักเลยหรือ ทั้งๆ ที่เป็นคนละเรื่องกัน

ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความสับสนระหว่างความผิดฐานแกล้งเล่าความเท็จเพื่อให้ตื่นตกใจ (Bomb Hoax) กับความผิดฐานก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จ (Sabotage) อันเป็นเหตุให้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติที่มีปัญหาออกมา

1. ความผิดฐานก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จ

ความผิดฐานก่อวินาศกรรมต่ออากาศยานโดยการให้ข้อมูลเท็จนั้นถือเป็นความผิดสากล ซึ่งมีที่มาจาก “อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน” (พ.ศ. 2514) โดยข้อ 1 (จ) กำหนดว่า

“บุคคลใดย่อมกระทำความผิดถ้าบุคคลนั้นกระทำการต่อไปนี้ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโดยเจตนา … แจ้งข้อมูลซึ่งตนรู้ว่าเป็นเท็จ ซึ่งการนั้นเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน” (Any person commits an offence if he unlawfully and intentionally: … communicates information which he knows to be false, thereby endangering the safety of an aircraft in flight.)

ส่วนกฎหมายไทยก็เคยมีความผิดฐานนี้อยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นกฎหมายอนุวัติการอนุสัญญาข้างต้น ตามความด้านล่างนี้

มาตรา 9 “ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จและการนั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี”

มาตรา 10 วรรคสอง “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน … มาตรา 9 เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”

กรณีสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2559 ที่มาภาพ : http://www.bangkokair.com/tha/pages/view/our-fleet
กรณีสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส มีผู้โดยสารสนทนาเรื่องระเบิดจนต้องระงับการบิน เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2559 ที่มาภาพ : http://www.bangkokair.com/tha/pages/view/our-fleet

ข้อสังเกต

(1) ถึงแม้ว่าถ้อยคำของอนุสัญญากับ พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2521 จะแตกต่างกันบ้าง แต่ใจความสำคัญไม่แตกต่างกัน

(2) บทบัญญัติข้างต้นนี้ คือ การก่อวินาศกรรมต่ออากาศยาน ด้วยวิธีการให้ข้อมูลเท็จ ตัวข้อมูลที่เป็นเท็จนั้นเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยาน

(3) การให้ข้อมูลเท็จอาจทำโดยวาจา โดยเอกสาร โดยท่าทาง โดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือโดยวิธีการอื่นใดก็ได้

(4) ตัวอย่างของความผิดดังกล่าว เช่น
• อากาศยาน 2 ลำ จะสวนกัน แต่มีผู้ให้ข้อมูลเท็จแก่นักบินว่าไม่มีอากาศยานใดสวนมา หากนักบินเชื่อข้อมูลเท็จนี้ก็อาจทำให้อากาศยานชนกันได้
• อากาศยานกำลังจะบินลง โดยอยู่สูงเหนือพื้น 1 กิโลเมตร แต่มีการให้ข้อมูลเท็จว่าอากาศยานอยู่เหนือพื้น 2 กิโลเมตร หากนักบินเชื่อ ก็อาจทำให้อากาศยานนั้นพุ่งลงพื้น เพราะเข้าใจผิดว่ายังไม่ถึงพื้น
• ในการขนส่งวัตถุอันตราย อาจมีบุคคลที่สามแฝงให้ข้อมูลเท็จหลอกว่าไม่ใช่วัตถุอันตราย เป็นเหตุให้สายการบินมิได้จัดเตรียมวิธีการให้เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้วัตถุนั้นระเบิดได้

(5) การก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จนั้น มิใช่กรณีแกล้งหลอกว่ามีระเบิดแต่จริงๆ แล้วไม่มี มิใช่กรณีที่แกล้งหลอกให้คนตกใจเล่นหรือขู่กันด้วยความโกรธ เป้าหมายของการกระทำความผิดฐานนี้คือต้องการก่อวินาศกรรม โดยต้องการให้คนตื่นตกใจจากการก่อวินาศกรรม มิใช่ต้องการให้ใครตื่นตกใจจากข้อมูลเท็จ

2. ความผิดฐานแกล้งเล่าความเท็จเพื่อให้ตื่นตกใจ

ความผิดฐานให้ข้อมูลเท็จเพื่อให้ผู้คนที่อยู่ที่ท่าอากาศยานหรือในอากาศยานตื่นตกใจนั้น มิใช่ความสากลตามอนุสัญญาด้านการบินแต่อย่างใด เพราะลักษณะความผิดแบบนี้มิได้เชื่อมโยงกับการก่อวินาศกรรม แต่มักเกิดขึ้นจากความคึกคะนองบ้าง โทสะบ้าง

กฎหมายไทยนั้น มีความผิดฐานนี้เป็นความผิดลหุโทษ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อย่างไรก็ดี เมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้ปรากฏความสับสนขึ้นมา โดยมีการนำความผิดฐานแกล้งเล่าความเท็จเพื่อให้ตื่นตกใจมาผสมปนกับความผิดฐานก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จ ใน พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า

“ผู้ใดแจ้งข้อความหรือส่งข่าวสารซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และการนั้นเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างการบินตื่นตกใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างการบิน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ข้อสังเกต

(1) พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 ออกมาแทนที่ พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2521

(2) ความผิดตามมาตรา 22 มีองค์ประกอบว่า “และการนั้นเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้ผู้ที่อยู่ในท่าอากาศยานหรือผู้ที่อยู่ในอากาศยานในระหว่างบินตื่นตกใจ” คล้ายกับว่าไปลอกเนื้อหาบางส่วนของมาตรา 384 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาของไทย เพิ่มเข้าไปในฐานความผิดสากล

(3) กล่าวโดยย่อ ความผิดในวรรคแรกนั้นค่อนข้างชัดเจนว่า มีเงื่อนไข 2 ส่วน คือ (แจ้งข้อความเท็จ + ทำให้คนตื่นตกใจ) แต่ความผิดในวรรคสองนั้นมีปัญหาว่ามีเงื่อนไข 2 ส่วนหรือ 3 ส่วนกันแน่ กล่าวคือ (แจ้งข้อความเท็จ + ทำให้คนตื่นตกใจ + เกิดอันตรายต่ออากาศยาน) หรือ (แจ้งข้อความเท็จ + เกิดอันตรายต่ออากาศยาน)

(4) คำอธิบายของผู้รับผิดชอบในการร่างกฎหมายฉบับนี้ เข้าใจว่าความผิดในมาตรา 22 วรรคสองนั้นต้องมีเงื่อนไข 3 ส่วน คือ (แจ้งข้อความเท็จ + ทำให้คนตื่นตกใจ + เกิดอันตรายต่ออากาศยาน) เพราะเป็นความผิดบทหนักของความผิดตามวรรคหนึ่ง จึงต้องเข้าเงื่อนไขครบถ้วนตามวรรคหนึ่งเสียก่อน

(5) เมื่อพิจารณาอัตราโทษ จะเห็นว่าผู้ร่างจงใจลดอัตราโทษลงจากกฎหมายเดิม ซึ่งน่าจะสื่อว่าผู้ร่างมิได้มองว่ามาตรา 22 วรรคสอง เป็นการก่อวินาศกรรม แต่เป็นการทำให้ผู้คนตื่นตกใจ ต่างจากกฎหมายเดิมที่น่าจะมองว่าเป็นเรื่องก่อวินาศกรรมจึงกำหนดอัตราโทษไว้หนักกว่า นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับอัตราโทษในความผิดฐานก่อวินาศกรรมในมาตราอื่นๆ แล้ว พบว่ามาตรา 22 วรรคสอง มีโทษเบากว่า ก็อาจเป็นไปด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ผู้ร่างไม่ได้เห็นว่ามาตรานี้เป็นการก่อวินาศกรรม ทั้งๆ ที่ในบางกรณีจะแตกต่างกันแค่ลงมือทำให้เครื่องบินระเบิดเอง หรือหลอกให้คนอื่นทำ ซึ่งก็ทำให้เครื่องบินระเบิดได้เหมือนกัน โทษจึงไม่น่าจะแตกต่างกัน

(6) ผลตามมาจากความเข้าใจข้างต้น คือ
• ความผิดฐานให้ข้อมูลเท็จเพื่อก่อวินาศกรรมอันเป็นความผิดสากลนั้น อาจจะหายไปจากกฎหมายไทย เช่น การให้ข้อมูลเท็จแก่นักบินว่าทางข้างหน้าสะดวก แต่จริงๆ แล้วมีเครื่องบินอีกลำสวนมา ซึ่งอาจทำให้เครื่องบินชนกัน โดยที่ผู้คนที่อยู่ที่ท่าอากาศยานหรือที่อยู่ในเครื่องบินนั้นไม่ได้รู้ข้อมูลเท็จนั้นเลยก็ไม่น่าจะตื่นตกใจอะไรได้ กรณีเช่นนี้ ผู้กระทำผิดไม่ได้ประสงค์ให้ใครตื่นตกใจ แต่ประสงค์ให้เครื่องบินชนกัน ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่อาจไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 22 ทั้งสองวรรค
• เมื่อความผิดตามอนุสัญญาที่ไทยเป็นภาคี หายไปจากกฎหมายไทย ก็ย่อมทำให้การปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยไม่ครบถ้วน และเกิดช่องโหว่ในระบบกฎหมาย
• การนำความผิดในลักษณะลหุโทษมาอยู่ในระบบกฎหมายต่อต้านการก่อวินาศกรรมย่อมทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความสับสน ในการนำกลไกกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อต่อต้านการก่อวินาศกรรมมาใช้บังคับกับความผิดที่มีลักษณะลหุโทษ
• โทษสำหรับความผิดลหุโทษกับโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมก็แตกต่างกันมาก มิสมควรที่จะกำหนดให้ผู้กระทำความผิดในลักษณะลหุโทษต้องมารับโทษในลักษณะการก่อวินาศกรรม

(7) ความผิดตามมาตรา 384 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นก็สามารถใช้บังคับแก่กรณีแกล้งเล่าความเท็จให้คนตื่นตกใจได้อยู่แล้ว แม้จะมีโทษจำคุกเพียง 1 เดือน แต่ก็น่าจะหนักเพียงพอกับลักษณะความผิด ปัญหาที่ผ่านมาคือ เราไม่เคยใช้บังคับโทษจำคุก 1 เดือนนี้เลย แต่กลับไปเพิ่มฐานความผิดไว้ผิดที่โดยให้มีโทษจำคุกสูงสุดมากถึง 5 ปี

(8) เพื่อแก้ปัญหาที่ฐานความผิดก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จหายไป อาจมีความพยายามตีความแก้โดยการใช้เทคนิคทางกฎหมาย เช่น อาจมองว่ามาตรา 22 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 เป็นบทหนักของมาตรา 384 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนมาตรา 22 วรรคสอง มิใช่บทหนักของมาตรา 22 วรรคหนึ่ง แต่เป็นความผิดคนละฐานกัน ดังนั้น ที่มาตรา 22 วรรคสอง ระบุว่า “การกระทำนั้น” จึงไม่รวมถึง “ผลของการกระทำนั้นที่ทำให้คนตื่นตกใจ” ส่วนคำว่า “และ” ในวรรคหนึ่งก็จะไม่นำมาใช้ในกรณีวรรคสองด้วย หรือมิฉะนั้นก็ต้องตีความว่าการแจ้งข้อมูลเท็จอันเป็นอันตรายนั้นยังไงเสียก็น่าจะทำให้ผู้คนตื่นตกใจได้ในทุกกรณี เงื่อนไข “ตื่นตกใจ” จึงเป็นจริงอยู่เสมอ การมีเงื่อนไขนี้ก็เหมือนไม่มี จึงไม่ใช่เงื่อนไขสำหรับสำหรับความผิดในวรรคสอง โดยสรุปคือ ต้องอาศัยการตีความอลวนเพื่อให้ความผิดฐานก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จกลับมาอยู่ในระบบกฎหมาย

ความส่งท้าย

ในการสัมมนาประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 เมื่อต้นปี พ.ศ. 2558 โดยกรมการบินพลเรือน (บพ.) หรือปัจจุบันคือสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มีการกล่าวถึงปัญหาข้างต้นนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ตรวจสอบบทบัญญัติในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นทันที และก็ยอมรับในที่ประชุมว่า มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 น่าจะบัญญัติคลาดเคลื่อนไปจากข้อ 1 (จ) ของอนุสัญญาข้างต้น อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายออกมาแล้ว แม้จะมีบทบัญญัติคลาดเคลื่อนก็ต้องใช้บังคับไปตามนั้น แต่ก็จะพิจารณาเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องนี้ให้ถูกต้องเหมาะสมในโอกาสต่อไป

หลังจากที่ใช้บังคับ พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 มาประมาณ 1 ปี ปรากฏว่า มาตราที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุด คือ มาตรา 22 ที่เป็นปัญหานี่เอง สิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบสมควรจะพิจารณาดำเนินการต่อไป มิใช่เพียงแต่เน้นย้ำแก่ประชาชนอยู่เสมอว่าจะใช้บังคับมาตรา 22 ที่เป็นปัญหานี้อย่างเคร่งครัด แต่สมควรพิจารณาเสนอแก้ไขเพิ่มเติมให้มาตรานี้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยนำเอาความผิดฐานก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จกลับคืนมา

พ.ร.บ.ความผิดบางประการฯ พ.ศ. 2558 นั้นมุ่งให้เป็นกฎหมายอนุวัติการเป็นสำคัญ การจะแทรกความคิดของคณะผู้ร่างเพิ่มเติมลงไป สมควรแยกส่วนให้ชัดเจน ทั้งนี้ หากมีการปรับปรุง อาจพิจารณาลำดับฐานความผิด ดังนี้

(1) กรณีพลั้งปากหรือปากพล่อย แต่ไม่ได้มีเจตนาสร้างความปั่นป่วน ให้ใช้ความผิดลหุโทษตามมาตรา 384 ของประมวลกฎหมายอาญาตามเดิม

(2) กรณีที่ผู้กระทำผิดมี “เจตนา” สร้างความปั่นป่วนในลักษณะเป็นการสร้างสถานการณ์ สมควรปรับมาตรา 22 วรรคหนึ่งให้หมายถึงกรณีนี้ โดยแยกฐานความผิดออกไป

(3) กรณีการก่อวินาศกรรมด้วยข้อมูลเท็จ สมควรใช้ถ้อยคำตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ความผิดบางประการฉบับเดิมซึ่งเขียนได้ตรงกับอนุสัญญาอยู่แล้ว และกำหนดอัตราโทษให้เหมือนกับฐานความผิดก่อวินาศกรรมในมาตราอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่ควรนำฐานนี้ไปรวมกับความผิดสองฐานข้างต้น