ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > วาระกรุงเทพ 2560 (1): งบประมาณ กทม. 7 หมื่นล้าน มากกว่า 13 กระทรวง ภาษีเราทำอะไรบ้าง

วาระกรุงเทพ 2560 (1): งบประมาณ กทม. 7 หมื่นล้าน มากกว่า 13 กระทรวง ภาษีเราทำอะไรบ้าง

22 มีนาคม 2016


วาระกรุงเทพ

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรเกือบ 5 ล้านคน แต่หากนับประชากรแฝงต่างคาดกันว่าจะมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน กรุงเทพมหานครจึงเป็นเมืองหลวงที่มีความหลากหลาย เป็นวิถีแบบไทยๆ ยากที่ใครจะเลียนแบบได้ ด้วยความที่เป็นเมืองหลวงและได้รับความสำคัญมากจนกรุงเทพฯ เกือบจะเป็นประเทศไทย มีระบอบการปกครองและดูแลเป็นพิเศษแตกต่างจาก 76 จังหวัดอื่นของประเทศ เป็นระบอบเขตปกครองพิเศษที่มีอำนาจการบริหารอิสระเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจากประชาชนโดยตรง การจัดเก็บและเบิกจ่ายงบประมาณของตนเอง มีสภากรุงเทพฯ ที่ทำหน้าที่ออกข้อบัญญัติต่างๆ ของตนเอง กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าเราจะกำหนด “วาระกรุงเทพฯ” ในอนาคตต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน โดยอาจจะเริ่มต้นจากย้อนดูผลงานที่ผ่านของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าเป็นอย่างไร มีการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง

งบปี ’59 “7 หมื่นล้าน” มากกว่า 13 กระทรวง

เฉพาะงบประมาณของปี 2559 กทม. จัดทำงบประมาณรายจ่ายมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท และหากเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ของกระทรวงต่างๆ 20 กระทรวง รวมถึงส่วนราชการต่างๆ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี เช่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของศาล หน่วยงานอิสระของรัฐ พบว่า กทม. มีงบประมาณมากกว่ากระทรวง 13 กระทรวง

ในปีงบประมาณ 2559 สำนักนายกรัฐมนตรีได้รับงบประมาณ 36,001.3 ล้านบาท, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม 35,877.9 ล้านบาท, กระทรวงเเรงงาน 33,832.7 ล้านบาท, กระทรวงยุติธรรม 23,163.2 ล้านบาท, กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ 10,078.2 ล้านบาท, กระทรวงวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยี 9,725.7 ล้านบาท, กระทรวงการต่างประเทศ 8,015.1 ล้านบาท, กระทรวงวัฒนธรรม 7,742.3 ล้านบาท, กระทรวงพาณิชย์ 7,192.6 ล้านบาท, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 7,136.8 ล้านบาท, กระทรวงอุตสาหกรรม 5,965.4 ล้านบาท, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเเละการสื่อสาร 5,172.9 ล้านบาท และกระทรวงพลังงาน 2,006.5 ล้านบาท เช่นเดียวกับหน่วยงานของศาลและหน่วยงานอิสระของรัฐ ที่มีงบประมาณ 20,821.7 ล้านบาท และ 14,140.6 ล้านบาท ตามลำดับ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

งบประมาณกทม.

ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. ได้ระบุเป้าหมายของงบประมาณ ปี 2559 ไว้ 6 ด้าน วงเงิน 15,065 ล้านบาท

1) มหานครแห่งความปลอดภัย จะมีการจัดสรรงบประมาณในการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน อาทิ การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง การจัดหารถกู้ภัย การติดตั้งกล้องซีซีทีวี ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการ 2,469 ล้านบาท

2) มหานครแห่งความสุข จะมีการจัดสรรงบประมาณในโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประชาชน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้มีความสะดวก เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของประชาชนให้มีคุณภาพและทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยการเพิ่มโรงพยาบาลและศูนย์สาธารณสุขต่างๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ จำนวน 4,265 ล้านบาท

3) มหานครสีเขียว ซึ่งเป็นโครงการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่ ชุมชนต่างๆ ให้เหมาะสม การจัดการขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ และโครงการบำบัดน้ำเน่าเสีย ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนกว่า 5,506 ล้านบาท

4) มหานครแห่งการเรียนรู้ จะมีการพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมด้านการศึกษา ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมด้านภาษาต่างประเทศ ดนตรี และกีฬา เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะให้แก่เด็กและเยาวชน ต้องใช้งบประมาณ 1,986 ล้านบาท

5) มหานครแห่งโอกาสของทุกคน จะดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพของชุมชนต่างๆ เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่อยู่ภายใต้บางกอกแบรนด์ และดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุ ต้องใช้งบประมาณดำเนินการ 786 ล้านบาท

6) มหานครแห่งอาเซียน จะเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้านประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรม ต้องใช้งบประมาณจำนวน 53 ล้านบาท

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายรวมของกทม (1)

อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของงบประมาณปี 2559 จำนวน 70,424.84 ล้านบาท ถูกแบ่งเป็น 8 ด้าน 1) ด้านบริหารทั่วไป 25.15% 2) ด้านรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 18.59% 3) ด้านการโยธาและจราจร 17.63% 4) ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 12.97% 5) ด้านพัฒนาและบริการสังคม 10.10% 6) ด้านการสาธารณสุข 7.38% 7) ด้านการศึกษา 7.58% และ 8) ด้านการพาณิชย์ของ กทม. 0.60%

ขณะที่งบประมาณลงทุนมีจำนวน 16,258 ล้านบาท คิดเป็น 23.23% ของงบประมาณรวมทั้งปี แบ่งเป็นงบประมาณด้านการโยธาและจราจร 9.05% ของงบประมาณรวม, งบประมาณด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 6.86%, งบประมาณด้านพัฒนาและบริการสังคม 2.73%, งบประมาณด้านบริหารทั่วไป 1.99%, งบประมาณด้านการศึกษา 1.3%, งบประมาณด้านรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 0.98% และงบประมาณด้านการสาธารณสุข 0.32%

8 ปี “สุขุมพันธุ์” บริหารงบกว่า 5 แสนล้านบาท

หากย้อนดูในช่วง 8 ปีหลัง ตั้งแต่ปี 2552-2559 แม้ประเทศไทยจะมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่การบริหารงานของกรุงเทพฯ กลับมีความต่อเนื่องไร้รอยต่อมากที่สุดยุคหนึ่ง ภายใต้การบริหารงานของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” และทีมงาน ซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา 2 สมัย

สำหรับ 8 ปี กทม.ในสมัยของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จัดทำงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 452,016 ล้านบาท เริ่มต้นจากปี 2552 ที่มีงบประมาณรวม 46,549.35 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นไปถึง 70,424.84 ล้านบาทในปี 2559 แบ่งงบประมาณเป็น 8 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านบริหารทั่วไป 24.19% 2) ด้านรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 17.99% 3) ด้านการโยธาและจราจร 17.50% 4) ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 9.76% 5) ด้านพัฒนาและบริการสังคม 11.03% 6) ด้านการสาธารณสุข 9.46% 7) ด้านการศึกษา 9.19% และ 8) ด้านการพาณิชย์ของ กทม. 0.89%

ส่วนปัญหาน้ำท่วมและปัญหาขยะ เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงมาตลอด พบว่าที่ผ่านมา กทม. จัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในช่วง 8 ปีที่ผ่านมารวม 35,303.25 ล้านบาท คิดเป็น 7.81% ของงบประมาณรวม แบ่งเป็น 2 แผนงาน 1) แผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำ รวม 8 ปี วงเงิน 7,732.64 ล้านบาท คิดเป็น 1.71% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการสร้างประตูระบายน้ำ สร้างระบบระบายน้ำ สร้างอุโมงค์ เขื่อน แนวป้องกันน้ำ และโครงการแก้มลิงรองรับน้ำ 2) แผนงานจัดการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวม 8 ปี 27,570.61 ล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของงบประมาณรวม โดยจะนำไปใช้กับการจัดซื้อรถสูบน้ำ รถผลักดันน้ำ เป็นต้น

ขณะที่ปัญหาขยะ จัดสรรงบประมาณรวม 8 ปี 72,448.66 ล้านบาท คิดเป็น 16.03% ของงบประมาณรวม โดยใช้การว่าจ้างเหมาเอกชนขนถ่ายและกำจัดขยะ จัดหาสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย จัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์กำจัดขยะ จัดหาเตาเผาขยะ จัดหารถจัดเก็บขยะ

งบลงทุนและงบดำเนินการทั่วไปรวมปี52-58

นอกจากนี้หากดูในรายละเอียดในช่วง 8 ปีพบว่า งบประมาณสวนใหญ่ใช้ไปกับการบริหารงาน โดยงบประมาณรวม 448,888 ล้านบาท เป็นงบลงทุนเพียง 90,765 ล้านบาท คิดเป็น 20.26% ของงบประมาณรวม เป็นการลงทุนด้านการโยธาและจราจร คิดเป็นสัดส่วน 8.82% ของงบประมาณรวม รองลงมาคือการลงทุนด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 4.19% ของงบประมาณรวม โดยมีงบด้านการสาธารณสุข ลงทุนน้อยสุดที่ 0.75% ของงบประมาณรวม

อย่างไรก็ตาม หากแยกตามประเภทงบประมาณ ตลอด 8 ปี มีงบลงทุนเพียง 8.82% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร, งบด้านรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีงบลงทุน 7.51%, งบด้านการโยธาและจราจร มีงบลงทุน 49.96%, งบด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย มีงบลงทุน 42.53%, งบด้านการพัฒนาและบริการสังคม มีงบลงทุน 13.05%, งบด้านการสาธารณสุข มีงบลงทุน 7.84%, และงบด้านการศึกษา มีงบลงทุน 16.57%