ThaiPublica > สัมมนาเด่น > 4 VIEWS DRIVE: Organization. Leader. Sustain (ตอน4) : 10 ทักษะที่นายจ้างในอนาคตมองหา ต้อง learn-relearn-unlearn

4 VIEWS DRIVE: Organization. Leader. Sustain (ตอน4) : 10 ทักษะที่นายจ้างในอนาคตมองหา ต้อง learn-relearn-unlearn

8 มีนาคม 2016


เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาเอพีเอ็ม กรุ๊ป และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดงานสัมมนา 4 VIEWS DRIVE: Organization. Leader. Sustain. ภาวะผู้นำกับความยั่งยืนขององค์กร มีการบรรยายพิเศษจากผู้บริหารองค์กรชั้นนำ ประกอบด้วย นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็ม กรุ๊ป,นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด, นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

ในตอนที่ 3 “ศุภชัย เจียรวนนท์” ได้กล่าวถึงการสร้างภาวะผู้นำตอบโจทย์ความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ – คาถา “True Business Practice” ในตอนสุดท้าย “ดร.ไกรยส ภัทราวาท” ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) บรรยายในประเด็นการสร้างภาวะผู้นำที่สามารถสร้างความพร้อมเพื่อก้าวไปสู่อนาคตด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในองค์กร

สิ่งที่ผมจะมานำเสนอในวันนี้ ไม่ได้มาจากการเป็นซีอีโอบริษัทบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่แม้ไม่ได้รับทุนจากรัฐบาล แต่กลับมาเป็นข้าราชการ เพราะเชื่อว่าถ้าเราทุกคนทำงานร่วมกันแล้ว ประเทศไทยจะดีขึ้นได้

ผมทำงานอยู่ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. มีระเบียบสำนักนายกฯ รองรับ มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นรองประธาน

สสค. ทำงานอยู่ใน 4 ด้านหลัก คือ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการเรียนรู้, ด้านการทำงานร่วมกับครูเพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาครูให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด, ด้านการวิจัยเชิงระบบซึ่งเป็นส่วนที่ผมทำเป็นหลัก

ผมพยายามร่วมกับเพื่อนๆ ประมาณ 20 กว่าชีวิตที่ สสค. ผลักดันร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่จะทำให้ สสค. มีสถานะที่มีความยั่งยืนสามารถทำงานได้มากขึ้น ทั้งนี้ 15 ปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ 1 พันกว่าโครงการ และทำงานเพื่ออนาคตของเด็กด้อยโอกาสประมาณ 40 กว่าคน มีพื้นที่ต้นแบบ และมีผลการวิจัยเชิงระบบ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

สิ่งที่ผมจะแลกเปลี่ยนวันนี้ คือ การได้เรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งรูปแบบที่เป็นโครงการและความร่วมมือทางวิชาการ ผมอยากนำเสนอว่า เราจะให้การเรียนรู้เป็นเครื่องมือที่ยั่งยืนขององค์กรได้อย่างไร? เพื่อให้องค์กร ผู้นำ และทุกคนในองค์กร ฝ่าฟันอุปสรรคและความไม่แน่นอนไปได้

อนาคตเป็นเช่นไร? วิสัยทัศน์ของผู้นำ คนในองค์กรจะมองเห็นได้ขนาดไหน แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเราเห็นภาพนั้นชัดแค่ไหน เราจำเป็นจะต้องเข้าใจก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นที่จุดใด

เราจำเป็นจะต้องมีแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงแบบที่เราพอจะเห็นแล้วว่าจะเกิดที่จุดใดและองค์กรของเราเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เราจำเป็นจะต้องระบุจุดที่องค์กรจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และเรียนรู้เพื่อจะฝ่าฟันไปได้ มีการเตรียมการ หาหนทางในการสร้างความยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลง และในท้ายที่สุด บทบาทการเรียนรู้อยู่ที่ไหน

ภาพนี้พอจะให้เห็นได้ว่า ความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นคงจะต้องค้นหากันในตัวของคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำหรือทีมงาน ข้อมูลที่นำเสนอในวันนี้ โดยหลักๆ แล้วมาจากรายงานฉบับล่าสุดในหลายองค์กร

แต่ข้อมูลหลักๆ มาจาก World Economic Forum: The Future of Jobs และ World Development Report: Digital Dividends ของธนาคารโลก เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก อยากให้ท่านอ่าน เพราะจะได้ข้อมูลที่มากมาย อีกอันหนึ่งคือเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่ง World Economic Forum ชูประเด็นนี้ในการขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมโลก

ที่ผ่านมามีการปฏิวัติอุตสาหกรรมมา 3 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ยุคเครื่องจักรกลไอน้ำ ไฟฟ้า และเรื่อง Automation ต่างๆ แต่การปฏิวัติครั้งที่ 4 จะเป็นการปฏิวัติครั้งที่รุนแรงและรวดเร็วมากที่สุด

จากรายงานของ Boston Consulting Group ระบุว่า 9 เทคโนโลยี ที่จะเป็นกลจักรสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์จะฉลาดและมีความสามารถที่มากขึ้น จะมาทำหน้าที่แทนแรงงานจำนวนมากในตลาดแรงงาน, Industrial Internet of Things อินเทอร์เน็ตและการ Connectivity ทั้งหลายจะเข้าไปสู่กระบวนการผลิตอุตสาหกรรมมากกว่าที่เราเคยจินตนาการเอาไว้ และจะมาพร้อมกับเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเกิด

ไกรยส1 9เทคโฯโลยี่

Big data ก็มาแล้ว, Cloud computing ก็จะเป็นตัวเสริม, System integration การเชื่อมโยงทั้งในแนวดิ่งและแนวราบของระบบการผลิต, Simulation การทำนาย การหาหนทาง นี่คือรายงานอีกหนึ่งชิ้นที่น่าอ่าน

แต่ถ้าถามว่า ในทางปฏิบัติ ระบบการผลิตจะเปลี่ยนอย่างไร ภาพการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมปัจจุบันเราจะมีสายพานที่มีทั้งคนและหุ่นยนต์อย่างอ่อน แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปในการปฏิวัติในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือ จะมีหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ เพราะว่าทักษะในการทำงานหลายอย่าง มีความฉลาด มีความสามารถที่จะทำงานทดแทนได้

แล้ว low skilled labor จะถูกแย่งงานไปค่อนข้างแน่นอน เราต้องการ high skilled labor ที่จะมาสั่งการ วางแผน และควบคุมการทำงานของเทคโนโลยี เหล่านี้ให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น การสื่อสารระหว่างผู้บริโภคกับกระบวนการการผลิตก็จะใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถดำเนินการปฏิรูประบบการผลิตได้ ก็จะสูญเสียตลาดและลูกค้าไปได้ในเวลาอันสั้น

Theory of change ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คืออะไร ถ้าเราคิดว่า Industrial Internet of Things จะมาเปลี่ยนแปลงอย่างมากน้อยแค่ไหน ตัวเลข 14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มันมากเสียจนเราอาจจะมองไม่เห็นว่ามันใหญ่โตเพียงใด

แต่ถ้ามองว่า 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการ Industrial Internet of Things น่าจะทำให้ทุกคนได้เห็นภาพขนาดการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เพราะฉะนั้น เมื่อเทคโนโลยมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน การเปลี่ยนแปลงในสินค้าค้าบริการ การเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภค และที่สำคัญ จะสามารถนำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงนั้นกลับมาเปลี่ยนแปลงทักษะการเรียนรู้และทักษะในการทำงานของคนในองค์กรได้อย่างไร

จากการสำรวจของ General Electric พบว่า คนส่วนใหญ่ในภาคธุรกิจและผู้บริโภคค่อนข้างมั่นใจและมองในทางบวกว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น และน่าจะมีความพร้อมในการเปลี่ยนการเปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นกำไรและรายได้ให้ดีขึ้นได้ ประมาณ 2 ใน 3

แต่ถ้ามองดีๆ จากการประเมินของ World Economic Forum พบว่า อาชีพในอีก 10 ปี ข้างหน้ากว่า 65% ที่เคยมีอยู่ในปัจจุบันจะหายไป และจะถูกทดแทนด้วยกลุ่มอาชีพใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในปัจจุบัน

ใครจะเคยคิดครับว่า เมื่อสิบปีก่อน เพื่อนผมที่เป็นฟรีแลนซ์จะนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน เขียน Application ขายในโทรศัพท์ แล้วก็มีเช็ควิ่งเข้าบัญชีธนาคารเขาทุกๆ วัน โดยที่ไม่ต้องมีโต๊ะทำงาน นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมา แล้วเราจะเป็น 65% ที่ถูกทดแทน หรือเราจะเป็น 65% ที่เกิดขึ้นมาใหม่ อะไรเป็น Sunrise พระอาทิตย์ขึ้น อะไรเป็นพระอาทิตย์ตก Sunset

รายงานของ World Economic Forum ยังระบุว่า อุตสาหกรรมและอาชีพที่จะเกิดมากขึ้นแน่นอนคืออาชีพเกี่ยวกับการออกแบบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ที่สามารถจะนำองค์กรผ่านการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมครั้งนี้ได้

หรืออาชีพที่เกี่ยวกับ “วาณิชธนกิจ” ในเรื่องการขาย แต่ต้องเป็นการขายที่สามารถใช้ Social network และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นโอกาสที่ดีให้ได้

ไกรยส ภัทราวาท

ส่วนอาชีพที่อยู่ในช่วงอัสดงหรือช่วงที่อาจจะต้องปรับตัวกันค่อนข้างมากก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการทำงานออฟฟิศ, การผลิตในโรงงาน และงานที่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติหรือสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถทดแทนได้

ทุกวันนี้แม้แต่บัตรเครดิตที่โทรมาหาเรายังเป็นคอมพิวเตอร์คุยกับเรา คนก็เริ่มหายไปหลาย Sector สาขาธนาคารเริ่มอิ่มตัวลง เราใช้ Internet banking มากขึ้น สาขาธนาคารส่วนใหญ่ขึ้นไปอยู่ในห้างและในโทรศัพท์ของเรา นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบคนจำนวนมาก

10 ทักษะที่โลกต้องการ Learn-Relearn-Unlearn

แล้วทักษะสำคัญอะไรที่เป็นที่ต้องการ นั่นคือ Non-cognitive Skills ทักษะที่เกี่ยวกับพฤติกรรม การเข้าสังคม ทักษะที่เกี่ยวกับเทคนิค ฯลฯ แต่สิ่งที่ชัดเจนมากๆ เพราะว่า World Economic Forum สำรวจ 5 ปี/ครั้ง ให้เราเห็นว่า ในปี 2015 จากการสำรวจขององค์กรธุรกิจจำนวนมาก เป็นองค์กรธุรกิจที่จ้างงานรวมกันแล้วกว่า 15 ล้านตำแหน่งทั่วโลก

ในปี 2015 คือสาขาทักษะที่เป็นที่ต้องการ 10 อันดับแรกของตลาดแรงงาน แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีการเปลี่ยนแปลงของบางกลุ่มทักษะที่หายไป เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์เคยอยู่ในอันดับ 10 กลับขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ภายในเวลาเพียง 5 ปี เป็นทักษะที่นายจ้างต้องการ

ทักษะการคิดวิเคราะห์ก็เพิ่มขึ้น ความฉลาดทางอารมณ์ ประเมินตนเอง เจรจาต่อรอง ความยืดหยุ่นทางความคิด นี่คือกลุ่มตัวอย่างทักษะที่นายจ้างในอนาคตมองหาอยู่ องค์กรของเรามีทักษะในอดีต มีทักษะในอนาคตมากน้อยเพียงใดครับ

10ทักษะที่โลกที่ต้องการ

ในมุมของความล้าสมัยของทักษะก็จะเร็วขึ้น เราอาจจะเคยคิดว่าความล้าสมัยของเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหญ่ องค์กรของเราจะลงทุนในเครื่องจักรอะไรสักอย่างก็ต้องคิดว่ามันจะใหม่ได้อีกสักกี่วัน กี่เดือน คอมพิวเตอร์ซื้อปุ๊บก็ล้าสมัยแล้ว

แต่ทักษะของคนกำลังจะเป็นสิ่งที่ถูกทดสอบโดยความท้าทายที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เรากำลังจะถูกท้าทายโดยเทคโนโลยี หากว่าองค์กรของเราไม่เข้าใจภายใน 5 ปี ทักษะในแรงงานกว่า 2 ใน 3 กลุ่มทักษะที่เป็นที่ต้องการมากในตลาดแรงงานปัจจุบัน ก็กำลังจะเป็นทักษะที่ล้าสมัยภายใน 5 ปี

เพราะฉะนั้น ฝ่าย HR หรือว่าผู้นำองค์กร จะทำอย่างไรให้คนในองค์กรเราไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าทุกๆ 5 ปีเราจะรื้อไล่คนออกทั้งองค์กร 100% แล้วเอาคนกลุ่มใหม่เข้ามาให้ถูกทักษะ 100% เริ่มเห็นความสำคัญแล้วหรือยังครับว่า ทำไมจะต้อง Learn,Relearn และ Unlearn สิ่งที่อาจจะเป็นอดีตไป ถ้าไม่ทำ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับองค์กรของท่าน

นอกจากนี้ ตัวเลขจาก World Development Report ของธนาคารโลกพบว่า มีกลุ่มธุรกิจที่ต่อไปคอมพิวเตอร์จะทำงานให้ได้ และการตกงานจะสูงมาก ไอซีทีจะต้องเข้ามาทำงานร่วมกับเรามากขึ้น และการปรับตัวที่ดีคือ ความอยู่รอดขององค์กรและกลุ่มธุรกิจนั้น

ฉะนั้น Sunrise industry ก็คือ อุตสาหกรรมที่ปรับตัวว่าจะ Learn, Relearn และ Unlearn อะไร แล้วปรับตัวให้ทัน แต่ถ้าไม่คิดจะทำก็อาจจะตกไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Sunset ค่อนข้างมาก แล้วองค์กรเราอยู่ตรงไหน

สำหรับภาพการเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติ นโยบายเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องมองด้วย องค์กรระหว่างประเทศได้สรุปว่า สิ่งที่เราจะต้องเจอในแง่ของสิ่งแวดล้อมทางนโยบายจะมี 3 ส่วน คือ เราเป็นกลุ่มธุรกิจ Emerging เป็น Transitioning หรือ Transforming

เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า สิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา เกี่ยวกับองค์กรกิจของเราอยู่ในช่วงชั้นไหน เพราะนี่คือภาพอนาคตที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ใช่คิดถึงแต่การเตรียมตัวต่อทางเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว

พฤติกรรมคนmillenian

อีกอันหนึ่งเกี่ยวกับคนรุ่นผม จากการสำรวจพบว่ากลุ่มเด็กที่เป็น Millennial ผมคิดว่าน่าจะใหม่กว่า Generation Y กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในองค์กร เป็นผู้บริหารได้เร็วมาก แล้ว 70% ของ Millennial ไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำในองค์กรใหญ่เลย

แต่ในทางกลับกัน เขาต้องการที่จะลาออกแล้วไปมีธุรกิจ มีองค์กรเป็นของตัวเอง เป็นผู้นำตนเอง ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่เมือเราเดินเข้าร้านหนังสือทุกวัน Bestseller ก็คือ Startup ไม่ค่อยจะเป็นพวกเล่นหุ้นแล้ว

เพราะนั่นคือพลวัตที่กำลังเกิดขึ้น แล้วเราเป็น HR เป็นผู้บริหารองค์กร ทำอย่างไรที่จะดึงให้คนเหล่านี้เติบโตอยู่ในกระถางหรือเป็นพื้นแผ่นดินในองค์กรเราที่น่าสนใจ แล้วยังคงให้เขาเติบโตบนศักยภาพของเขาได้เต็มที่ ไม่ใช่เรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการแล้ว เขาก็ออกไปเริ่มต้นบนเส้นทางของตัวเอง อันนั้นก็จะเป็นความท้าทายที่สำคัญเช่นกันครับ ที่เราจะต้องเข้าใจและบริหารจัดหารให้ได้

งานวิจัยบอกด้วยว่า อะไรที่เป็นจุดสลบหรือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของการล้มหายตายจากของธุรกิจในอนาคต หนึ่งคือ Digital disruption, Digital revolution องค์กรจำนวนมากส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ได้ แล้วก็ล้มหายตายจากไป

สาเหตุสำคัญรองลงมาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในตลาด การเทคโอเวอร์ ความไม่แน่นอนในตลาด ความไม่แน่นอนในอัตราแลกเปลี่ยน จนทำให้ตกเป็นบริษัทที่ถูกเทคโอเวอร์ การขาดทักษะ ขาดกำลังคนที่มีคุณภาพ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางภาวะเศษฐกิจ ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เราต้องเข้าใจ

ขณะที่องค์กรจากประเทศเยอรมันได้สำรวจว่า ผู้บริหารในองค์กรธุรกิจของเยอรมันมองเกี่ยวกับดิจิทัลในองค์กรตัวเองอย่างไร เชื่อไหมครับว่า 2 ใน 3 มองว่ายังไม่ค่อยพร้อม มองว่าตัวเองยังไม่ใช่องค์กรที่มีความสามารถพอที่จะก้าวข้ามไปได้ดีเท่าที่ควร

APM-Thaipublica Forum

ส่วนใหญ่ผู้บริหารองค์กรที่มองว่าจะเอาเทคโนโลยี เอาดิจิทัล เข้ามาเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วย เหตุผลสำคัญก็คือ ประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการดำเนินงาน แต่ที่สำคัญคือ เราจะมองบรรลุในเรื่องตัวเลขและในเรื่องของต้นทุนไปได้หรือไม่ เราจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนความท้าทายทางเทคโนโลยี ให้เป็นโอกาสสำคัญในการก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจขาขึ้นที่ประสบความสำเร็จในอนาคตให้ได้

ยกตัวอย่าง โนเกีย จาก 40% ของมาร์เก็ตแชร์ ภายในเวลาเพียงแค่ 3-4 ปีลงมาเหลือแค่ประมาณ 5% เท่านั้น ซึ่ง Stephen Elop ซีอีโอโนเกียในยุคที่เปลี่ยนแปลง เขาบอกว่า ถ้าเราไม่สามารถที่จะปรับ Mindset แล้วก็ไม่สามารถ Catch up กับเวลาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เราจะถูกกำจัดออกจากตลาดแน่นอน

เขาจึงตัดสินใจที่รวมพลังกับไมโครซอฟต์ แต่ความล้มเหลวครั้งแรกโชคไม่ดีที่มันไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่โนเกียเป็นองค์กรผู้นำของโลกในเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร Steve Ballmer กับ Stephen Elop บอกว่า จะต้องเป็นอนาคตของโลกแน่นอน เราจะสู้กับแบล็คเบอร์รี่และแอปเปิ้ลได้

แต่ในที่สุด Steve Ballmer ก็ยอมรับเมื่อปีที่แล้วและประกาศผลประกอบการไมโครซอฟต์ว่า ไม่โครซอฟต์ต้องประกาศเอามูลค่าทางธุรกิจใน Sector ที่เกี่ยวกับ Mobile Industry ออกไปจากบัญชีบริษัท

นั่นหมายความว่า ไมโครซอฟต์ยอมรับแล้วว่า ความล้มเหลวของโนเกียยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่เกิดขึ้นอีกที่ไมโครซอฟต์เป็นครั้งที่ 2 เพราะแม้ว่าไมโครซอฟต์จะเห็นอยู่ตำตาตอนที่ Deal กับโนเกียว่า โนเกียเจออะไร ล้มเหลวอย่างไร แล้วเหตุใดถึงต้องมารวมบริษัทกันเพื่อให้กลายเป็นความสำเร็จและเป็นผู้นำของตลาดได้

แต่ทำไมพอรวมบริษัทกันแล้วยังมีความล้มเหลว ยังคงไม่สามารถชนะแอปเปิ้ลได้ ไม่สามารถชนะซัมซุงได้ นี่คือสิ่งสำคัญว่า

อนาคตไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือปลาเร็วกินปลาช้า

ดูอย่าง “เสี่ยวหมี่” บริษัทผู้ผลิตมือถือชื่อดังของจีน ทั้งที่มีตัวผู้เล่นขึ้นมามากมาย ทำไมเขาถึงสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมของเขาได้อย่างรวดเร็วขนาดนั้น เพราะปลาเร็วกินปลาช้า อันนี้คือ New normal ของการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีในอนาคต ผมอยากให้ทุกคนนึกอยู่ตลอดว่า แม้จะเป็นปลาเล็ก แต่ถ้าไม่ลืมอดีตและไม่ลืมสิ่งที่องค์กรล้มเหลวมาแล้ว เราก็น่าจะเป็นปลาเล็กที่เป็นผู้นำในตลาดได้

ในแง่ของการแก้ไขปัญหาขององค์กร ผมมีสมการหนึ่งว่า เราไม่สามารถที่จะได้ในสิ่งที่เราคาดหวังทันที การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่อย่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เราจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ในการ “ลงทุน”

ฝ่าย HR หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้นำองค์กรจะต้องลงทุนใน Process ใน HR development ต้องเป็น Process ที่ทำงานร่วมกับการวิจัยในอนาคต งานวิจัยที่ใช้ข้อมูลในลักษณะที่นำเรียนไปเมื่อก่อนหน้านี้ว่า องค์กรของเราอยู่ที่ไหน เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร

การลงทุนนี้ต้องใช้เวลา ใช้คน และประสบการณ์ที่หลากหลาย แล้วเมื่อลงทุนใน Process นั้นแล้ว เราก็เอาไปพัฒนาทั้ง Cognitive และ Non-cognitive Skills ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก หลายคนมองแต่เกรดเฉลี่ย มองแต่ทักษะทางวิชาการ แต่ในอนาคตจะไม่ใช่อีกแล้วครับ คณิตศาสตร์อาจจะเป็นกีฬาในอนาคตก็ได้ เมื่อก่อนมีคนบอกว่าไม่ต้องเรียนวิชาฟันดาบหรอก ออกไปจากบ้านก็ไม่เป็นอะไร ทุกคนไม่เชื่อ เพราะถ้าออกจากบ้านแล้วไม่รู้วิธีฟันดาบ ก็อาจจะตายได้ทันที (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ไกรยศ_สรุป

แต่ตอนนี้การฟันดาบเป็นกีฬาที่เราชมกันด้วยความบันเทิง แล้วคณิตศาตร์ในวันนี้อาจจะเป็นกีฬาในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือเปล่า เพราะว่าคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีมันฉลาดมากขึ้นทุกวัน

แต่สิ่งที่คอมพิวเตอร์อาจจะยังทำแทนเราไม่ได้คือ Non-cognitive Skills หรือทักษะเชิงพฤติกรรม การที่เราจะสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งนี้ได้ โอกาสที่จะพัฒนาที่ดีที่สุดคือช่วง 6 ปีแรกของชีวิต ซึ่งนั่นคือสิ่งสำคัญมากว่าทำไมจึงต้องลงทุนการศึกษาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย แต่ก็ไม่ได้สายเกินไปสำหรับคนที่อายุประมาณพวกเรา แต่เราต้องเน้นให้มากขึ้น

เมื่อเราลงทุนในการพัฒนาทักษะเหล่านี้แล้ว ทำอย่างไรจะสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาที่ไม่หยุดหย่อนเหล่านั้นได้ Learn, Relearn และ Unlearn ทำอย่างไรให้มันไม่หยุด ทำอย่างไรที่จะสร้างแรงจูงใจในองค์กรของเรา ให้บุคลากรทุกๆ คนไม่หยุดที่จะทำตรงนี้

นี่คือสิ่งที่องค์กรจะต้องหาคำตอบร่วมกันครับ จากนั้นถึงจะได้ในสิ่งที่เราฝันเอาไว้ คือ มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะเอาชนะอุปสรรคในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้

แล้วเราจะหา Sustain Values ข้างในจิตใจของคนในออฟฟิศของเราได้อย่างไรบ้าง ผมขอทำนายว่า ถ้าเกิดทุกๆ คนได้ยินที่ผมบอกว่า Internet of Things จะเป็น Industrial Internet of Things ไอทีทุกอย่างจะแทรกอยู่ในเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และทุกอย่างบนโลกใบนี้

ผมขอทำนายว่า ในอนาคต Social Internet of Things สังคมบริบทต่างๆ สิ่งที่องค์กรแคร์ต่อสังคม สิ่งที่องค์กรทำเพื่อสังคม ในทุกๆ Process ขององค์กร มันจะเข้าไปอยู่ในกระบวนการการทำงาน การผลิตขององค์กรแทบจะทั้งหมด

และองค์กรไหนที่หาสมดุลของกระบวนการทำงานขององค์กรเข้ากับกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาของสังคมได้ จะเป็นองค์กรที่คนทั้งในและนอกองค์กรมีความมั่นใจ มีความรักและอยากที่จะทำงานร่วมกันในองค์กร

หากว่าเราสามารถที่จะดีไซน์กิจกรรม ดีไซน์แรงจูงใจขององค์กร เพื่อที่จะให้ส่งเสริมการเกิดการแชร์ Values แชร์ Passion แชร์ใจ ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ ผมอยากจะบอกว่าเราต้องหา แชร์ Vision แชร์ Values ขององค์กรที่เหมาะสมให้ได้

เปลี่ยนจากคนที่ชอบทำงาน รักที่จะทำงาน กลายเป็นคนที่รักที่จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เงินเดือนไม่ใช่สิ่งสำคัญ หากลูกจ้างทุกคนมองว่าเราได้ทำในสิ่งที่อยากทำในชีวิตนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นจะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ให้ก้าวผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไปได้

ผมอยากจะให้เห็นว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า Global Goals หรือ Sustainable Development ของสหประชาชาติ ที่ประกาศออกมาถึง 17 ด้าน จะเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก อยู่ไปพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

SDG

ผมเชื่อว่าทุกๆ องค์กรจะสามารถหาจุดยืนตนเองที่จะสามารถ Contribute หรือว่าคืนให้กับสังคมได้ไม่ว่าเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งใน 17 ข้อ เพราะถ้าองค์กรเราสามารถหาเจอได้ ผมเชื่อว่าภาคเอกชน ภาคสังคม และภาครัฐ จะสามารถยกระดับสังคมไทยให้ก้าวไปสู่ประเทศที่ไม่ได้เป็นเพียงประเทศที่ก้าวออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางแต่เพียงตัวเลข

แต่จะสามารถก้าวออกจากกับดักทางจิตใจของเรา กล้าจะสร้างความแตกต่างและก้าวไปเป็นสังคมที่เท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมๆ กันได้ในทุกๆ ฝ่าย

ดูพาวเวอร์พ้อนท์ประกอบ