ThaiPublica > สัมมนาเด่น > 4 VIEWS DRIVE: Organization. Leader. Sustain (ตอน3): การสร้างภาวะผู้นำตอบโจทย์ความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ – “คาถา” True Business Practice

4 VIEWS DRIVE: Organization. Leader. Sustain (ตอน3): การสร้างภาวะผู้นำตอบโจทย์ความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ – “คาถา” True Business Practice

7 มีนาคม 2016


เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาเอพีเอ็ม กรุ๊ป และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดงานสัมมนา 4 VIEWS DRIVE: Organization. Leader. Sustain. (ภาวะผู้นำกับความยั่งยืนขององค์กร) มีการบรรยายพิเศษจากผู้บริหารองค์กรชั้นนำ ประกอบด้วย นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่ปรึกษา เอพีเอ็มกรุ๊ป, นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด, นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

ในตอนที่ 2 “บรรยง พงษ์พานิช” ได้พูดถึงภาวะผู้นำในภาวะไม่แน่นอน ใครที่จะอยู่รอด – ทฤษฎีการแก้วิกฤติ 6 ข้อ 5 ใจ ในตอนที่ 3 “ศุภชัย เจียรวนนท์” กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายในประเด็นการสร้างภาวะผู้นำที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ด้วยความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ ที่นำไปสู่การสร้างนว้ตกรรมใหม่ๆ และความยั่งยืนให้องค์กร

สวัสดีครับ และขอบคุณครับที่ได้รับเกียรติมาพูดเรื่องผู้นำ ความเปลี่ยนแปลง และความยั่งยืน ผมอยากจะเริ่มต้นแนะนำตัวเองผ่าน Journey Lines ของ “ทรู คอร์ปอเรชั่น”

ทรู คอร์ปอเรชั่น ประสบกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพราะอยู่ในโลกของเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่งเลย ถ้าอยากรู้จักตัวตนของผมก็ดูจาก Journey Lines ของทรู ได้

“ศุภชัย เจียรวนนท์” กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“ศุภชัย เจียรวนนท์” กรรมการผู้จัดการและประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหารกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

True Journey of Change

ทรูเริ่มต้นจากโทรศัพท์พื้นฐาน โดยได้รับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานชื่อว่า “เทเลคอมเอเซีย” เกิดขึ้นเมื่อช่วงประมาณปี 1991 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐผูกขาดกิจการหลายอย่างจนกระทั่งโทรศัพท์พื้นฐานไม่สามารถที่จะสร้างหรือลงทุนได้ทันกับความต้องการ

ในสมัยนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ 10 ของประเทศบอกว่า ประเทศต้องมีประชากรต่อบริษัท 10 ต่อ 100 ในขณะที่อเมริกาหรือประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 50 ต่อ 100 สมัยนั้นยังนับเป็นครัวเรือน ยังไม่นับเป็นคน

โทรศัพท์พื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้นของเทเลคอมเอเซีย ในขณะที่โทรศัพท์มือถือยุคนั้นยังเป็นแบบเครื่องที่ทหารใช้ เป็นกระติกน้ำอันใหญ่ๆ เดินถือไปมีคลื่นวิทยุ ตัวนึงราคาหลักแสนบาท เรียกโทรศัพท์มือถือสมัยนั้นว่า “บริการเสริม” หรือเรียกว่า “บริการพิเศษ” ด้วยซ้ำไป น้อยมากที่จะมีคนใช้

สมัยก่อน ถ้าจะทำการสื่อสาร ทำมือถือมาเชื่อมโยงกับโทรศัพท์พื้นฐาน องค์การโทรศัพท์บอกว่า ถ้าคุณจะเชื่อมโยงกับโทรศัพท์พื้นฐานจะต้องจ่ายค่าต๋งด้วย ที่ผมพูดตรงนี้เพราะว่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

โทรศัพท์พื้นฐานในขณะที่เรามีการติดตั้งโครงข่ายอย่างมหาศาล สมัยก่อนใครจำได้กรุงเทพฯ ขุดท่อกันข้ามวันข้ามคืน แต่โทรศัพท์พื้นฐาน พอสร้างเสร็จปี 1996 ใช้เวลา 5 ปี ปรากฏว่า 1997 เจอสัญญาณต้มยำกุ้ง เราเข้าสู่ภาวะลงทุนเป็นยูเอสดอลลาร์ แต่เกิดภาวะเศรษฐกิจวิกฤติ บาทลอยตัว

อยู่ดีๆ หนี้เพิ่มขึ้นมาเท่าตัว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในช่วงปี 1998 บริษัทเทเลคอมเอเซียเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เจ้าหนี้เต็มบ้านเต็มเมือง เจ้าหนี้ต่างประเทศใหญ่สุด เจ้าหนี้การค้าก็มี ก็ไปกู้ ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้

เราบอกว่า ไม่ต้องห่วง โทรศัพท์พื้นฐานที่ลงทุนไปประมาณ 7-8 หมื่นล้านจะต้องกลับขึ้นมา ฟื้นคืนชีพ แล้วก็เติบโตอย่างแน่นอนภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ เราปรับโครงสร้างหนี้เสร็จปี 2000 ผมก็ขึ้นโดยเจ้าหนี้แต่งตั้งว่า คุณรับปากไว้เยอะ ถ้าอย่างนั้นคุณ ขึ้นเป็น president แล้วกัน

สิ่งที่เราต้องเผชิญหน้าคือ ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก เป็นจังหวะที่ราคาเครื่องมือถือเริ่มตกแล้ว มือถือที่เคยซื้อกันเป็นแสนก็ลงมาเหลือห้าหมื่นบาท สามหมื่นบาท จนกระทั่งโนเกียรุ่น 3310 ลงมาเหลือ 3 พันบาท มือถือก็วิ่งขึ้นเป็น hockey stick ภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว แซงโทรศัพท์พื้นฐานขึ้นไปเลย

หลังจากนั้น โทรศัพท์พื้นฐานก็นิ่งเหมือนชีพจร ไม่โตเลยครับ แล้วทำอย่างไรดี แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรดี ก็เป็นที่มาว่า ในช่วงปี 2003 เราเลยต้องแปลงร่างโทรศัพท์พื้นฐานให้เป็นระบบ “บรอดแบนด์”

จุดเริ่มต้นของบรอดแบนด์คือเป็นดีเอสแอลเทคโนโลยี เพื่อจะปรับสภาวะตัวเอง แทนที่จะขายเสียงซึ่งสู้ไม่ได้แล้ว ไปเป็นการขายข้อมูล ต้องลงทุนใหม่ สร้างโครงข่ายใหม่ในขณะนั้น

ในเวลาเดียวกันก็พยายามมองว่า ถ้าอนาคตของมือถือเป็นไปได้ดี เราก็ควรจะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมมือถือ ซึ่งถือว่าเป็น12 ปี ตามหลังเอไอเอสกับดีแทค เป็นช่วงที่เรา acquire บริษัทที่ชื่อ WCS แล้วก็เปลี่ยนชื่อเป็น “ทีเอ ออเร้นจ์” (TA Orange)

นี่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครับ แล้วก็เป็นความยากลำบากเพราะว่าเป็นบริษัทไทย และพอออกจากต้มยำกุ้งมาก็ถือว่าแบกหนี้ไว้เยอะ ฉะนั้น การก้าวเข้าสู่ยุคใหม่และลงทุนใหม่อีกทีหนึ่ง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักทีเดียว

ถ้าเป็นสุภาษิตจีนโบราณ ตอนที่เราเข้าสู่ธุรกิจ เขาบอกว่า “คุณก้าวเท้าผิดแล้ว” พูดง่ายๆ คือ ถ้าบอกว่าแต่งงานก็เลือกเจ้าสาวผิด พอเข้าโทรศัพท์พื้นฐานก็เริ่มลง มือถือก็ต้องไปตามหลังเขา นี่เป็นจุดความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพอดี ซึ่งในสมัยนั้นคนยังมองไม่ออกว่ามือถือจะสามารถขายได้เดือนละ 1 ล้านซิม ในช่วงที่เป็น hyper growth

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็น journey lines ที่สำคัญ เริ่มเข้าสู่จุดที่มีบรอดแบนด์ ฉะนั้น เราทำมือถือ จุดเด่นของเราคงจะต้องควบกิจการเคเบิลทีวีเข้ามา เราก็เริ่มเป็น “Convergence Play” ตั้งแต่ปี 2007

ไล่ต่อเนื่องมาปี 2009 เริ่มนำแอปเปิ้ลไอโฟนเข้ามาในเมืองไทยเป็นคนแรก ทำไมถึงไปเอาแอปเปิ้ลมา มือถือรายที่เล็กที่สุด ทำไมไปนำแอปเปิ้ลซึ่งเป็นไฮเอนด์เข้ามา เรียนตรงๆ คือสมัยนั้นมือถือที่ครองตลาดที่สุด 80% ชื่อยี่ห้อโนเกีย ทุกวันนี้ไม่มีโนเกียอีกแล้ว

เราจะเห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซีอีโอโนเกียบอกว่า “โนเกียไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ความเปลี่ยนแปลงและศักยภาพของผู้มาใหม่มันเร็วและแรง จนโนเกียปรับตัวไม่ทัน” ซึ่งตามหลักแล้วเขาต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

นั่นจึงเป็นจุดที่ว่าทำไมเราถึงไปนำไอโฟนเข้ามา เพราะตอนนั้นเราไปขอโนเกียเป็น distributor โนเกียตอบกลับมาว่าคุณไม่ qualified ตอนนั้นเอไอเอสกับดีแทคเป็นรายใหญ่มาก เพราะเป็น distributor ขนาดใหญ่ ซึ่งผมเชื่อว่าโนเกียก็คงเกรงใจ

เมื่อไม่ qualified เราก็จนแต้ม เพราะประเทศไทยใช้โนเกียเป็นหลัก เราจึงวิ่งไปหาแอปเปิ้ล ตอนนั้นพูดตรงๆ เวลาเราบอกว่ามาจากประเทศไทย เขาบอกว่า ไต้หวันเหรอ เขาแทบจะไม่รู้จัก ประเทศไทยไม่อยู่ในโรดแมปของเขาเลย

เราก็ไปหว่านล้อมว่าประเทศไทยดีอย่างไร เราอยู่ในจุดศูนย์กลางอาเซียนอย่างไร จนกระทั่งเขายอมให้เราเป็น distributor แอปเปิ้ลบอกว่า ฉันให้เธอเป็น distributor เพราะฉันรู้ว่าคนที่เป็น underdog (มวยรอง) จะทุ่มเทเต็มที่ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือเราเข้าหาเขา ในขณะที่ผู้ให้บริการอื่น เขาอาจจะยังไม่คุยด้วย

APM-Thaipublica Forum

ปี 2010 จริงๆ แล้วต้องเป็นปีที่ต้องประมูลคลื่น 2100 ถ้าใครเคยใช้บริการของทรูตั้งแต่ปี 2008 เราหยุดลงทุนระบบ 2G เพราะสัมปทานจะหมดในปี 2013 เหลือเวลาสัมปทานจะหมดอีก 5 ปี

แล้วที่ผ่านมา เราก็คงไม่มีประสบการณ์ที่ดีกับการใช้บริการมือถือของทรูเท่าไหร่ หรือตัวทรูมูฟ เพราะว่านอกจากสัมปทานสั้นแล้ว network เล็ก เพราะเราหยุดการลงทุนตั้งแต่ปี 2008 เรายังมีคลื่นความถี่น้อยที่สุด ในขณะที่คนอื่นมีประมาณ 40 MB แต่เรามีอยู่ 12.5

ฉะนั้น ที่ผ่านมา 10 ปีที่พวกเราเห็นอุตสาหกรรมมือถือในบ้านเรา มันไม่ใช่อุตสาหกรรมมือถือที่เป็น 3 players แต่เป็น 2 and half players หมายความว่าผมเป็นครึ่งหนึ่ง โดยมี 2 ผู้เล่นจริงๆ แล้วมีอีกครึ่งหนึ่งเป็นคนแคระอยู่ หรือเป็นคนที่เป็น handicap แล้วกัน

แต่สำคัญอันหนึ่งอย่างที่คุณบรรยง (พงษ์พานิช) บอกคือ ต้องมีใจสู้ ก็เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญว่า พอการประมูลในปี 2010 ไม่เกิด สัมปทานจะหมด ทั้งเจ้าหนี้ ทั้งนักลงทุน ทุกคนถามว่า ทรูจะไปต่ออย่างไร คุณจะเหลือแต่บรอดแบนด์ใช่ไหม เราก็ตอบไม่ได้

เราเลยบอกว่า ถ้าอย่างงั้นผมคงต้องไปที่ฮัทชิสัน ซึ่งเหลืออายุเวลาสัญญาอีก 5 ปี หมดพร้อมเอไอเอสพอดี แต่ตอนที่เราเข้าซื้อก็ขยายสัญญาออกไป เลยได้เริ่มทำมือถือ 3G ในปี 2012 ซึ่งเป็น 3G บนคลื่น 850 และลงทุนเต็มที่

ต้องไม่ชิน-ปรับตัว “self evolutionize – digitize”

พูดจริงๆ ก็คือเราต้องเสี่ยงแล้ว ลงทุนสร้างของที่มีคุณภาพและของดีให้ได้ เพราะเรามีคลื่นที่ดี มีเงินทุนที่จะลงทุน เราต้องทำของที่ดีที่สุด นั่นเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของกลุ่มทรู เราก็เริ่ม 3G เป็นรายแรก ทำแบบทั่วประเทศและทำจริงจังในปี 2011, 2012

ผลักดันให้อุตสหากรรมเข้าประมูลคลื่น 2001 ปลายปี 2012 ทุก operator ก็ได้คลื่น 2001 มา แล้วเราก็เอา 2001 มาทำ 4G กลายเป็นรายแรกที่เริ่มล้อนท์ 4G ในปี 2013,2014

ในปี 2014 เราเข้าสู่ระบบดิจิทัลทีวี และปี 2015 ที่เพิ่งผ่านไปเราเข้าประมูลคลื่น 1800 และคลื่น 900 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท จากจุดนี้ไป ความเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด เขาบอกว่าปี 2020 5G จะมาแล้ว

แล้วเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Iot หรือ “Internet of Things” หรือต่อไปเราจะเรียกทุกอย่างว่าเป็น “Solution Base” เป็น สมาร์ทโฮม, สมาร์ทออฟฟิต, สมาร์ทซิตี้ ฯลฯ สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างคนต่อคนแบบเต็มประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงระหว่างคนกับอุปกรณ์ การเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์

ในปี 2020 อุปกรณ์เซนเซอร์ที่เป็นอุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ทั้งโลกจะมีจำนวนถึง 5 หมื่นล้าน ประมาณ 7-8 เท่าจำนวนประชากร ลองคิดดูสิครับว่า ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมากแค่ไหน ถ้าอุปกรณ์เซนเซอร์เหล่านี้เอาข้อมูลเก็บขึ้นมา

ข้อมูลที่ติดอยู่บนข้อมือเรา ใครมี Apple Watch ไหมครับ หรือใครมีเครืองดูดฝุ่น iRobot บ้างครับ ของขวัญปีใหม่ที่ผมซื้อให้ครอบครัวภรรยาเป็น เครื่องดูดฝุ่น iRobot สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออุปกรณ์ต่ออุปกรณ์จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเชื่อมโยงระหว่างคนกับอุปกรณ์เกิดขึ้น แล้วถ้าลองมาคูณกัน คนต่อคน คนต่ออุปกรณ์ อุปกรณ์ต่ออุปกรณ์ แล้วใส่ intelligence เข้าไป สิ่งที่เกิดข้นก็คือ “Big Data” ข้อมูลที่มหาศาล จะใช้ให้ได้เกิดประโยชน์มันก็แปลงให้กลายเป็น knowledge กลายเป็นข้อมูลทีเพียงพอ แล้วข้อมูลทุกอย่างนั้น real-time

เรามาเปรียบเทียบบริษัทเราบ้างว่า ถ้าบริษัทหนึ่งมีไอที กับอีกบริษัทหนึ่งไม่มี พูดง่ายๆ คือบริษัทหนึ่งมีการเชื่อมโยงโดยระบบไอทีเป็นระบบที่เกิดการสื่อสารกับองค์กร กับอีกองค์กรหนึ่งใช้เอกสารเซ็นอย่างเดียวเลยในการสื่อสารซึ่งกันและกัน แล้วไม่มีเครื่องมือสื่อสาร คิดว่าบริษัทไหนจะอยู่รอด แล้วบริษัทไหนอยู่ไม่รอด นั่นคือยุคไอที

แต่วันนี้คือยุค “digital economy” ถ้าเราไม่ปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง เข้าสู่ยุคที่เป็น “digital platforms” หรือ “digital fulfillment” บริษัทที่ไม่ปรับตัวเข้าสู่ยุคนี้ แพ้ครับ อยู่ไม่รอด แล้วก็หายไปแล้วหลายอุตสาหกรรม เช่น บริษัททัวร์หรือร้านหนังสือในอเมริกา ปิดกันไประนาว และอีกหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม ก็ค่อยๆ ปิดหายไป ฉะนั้น เราไม่ปรับตัวไม่ได้

บริษัทที่เกิดขึ้นในรูปแบบเป็น digital platforms สามารถสื่อและเชื่อมโยงกับลูกค้าโดยตรง บริษัทอย่าง Google, Facebook, Alibaba, Amazon จึงกลายเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูงและมีการเติบโตสูง เข้ามาทดแทนธุรกิจในหลายแขนง

นี่คือสิ่งที่เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง บางทีเราเห็นความเปลี่ยนแปลงแต่ว่าเคยชิน ถ้าเรายังอยู่เหมือนเดิมเราก็จะกลายเป็นโนเกีย ฉะนั้น เราจะต้องปรับตัวเราเอง และ evolutionize (สร้างวิวัฒนาการ) ตัวเราเอง

เมื่อเรามองในแง่สิ่งที่กำหนดรูปร่างหน้าตาระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของเราทุกคน ในแง่ economics foundation ตรงนี้ไม่เปลี่ยน economic foundation มี 3 อัน ก็คือ energy ทุกวันนี้โลกวุ่นวายก็ด้วยพลังงาน จะพลังงานน้ำมัน พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์ แต่พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อน productivity จริงๆ ของระบบเศรษฐกิจ

ศุภชัย เจียรวนนท์

ตามมาด้วยการเชื่อมโยง communication ทุกอย่างที่จะสำเร็จได้เกิดขึ้นจากการที่เราสามารถสื่อสารและเชื่อมโยงถึงกัน ทำให้เกิดสภาวะของตลาด ความเข้าใจของตลาด ความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นในคอบครัว ในองค์กร ในชุมชน ในตลาดขนาดใหญ่ก็คือการเชื่อมโยง การถ่ายเทของระบบข้อมูล

ถ้าเราบอกว่า knowledge-based economy ต้องการถ่ายเทความรู้ เราจะกระจายรายได้ กระจายศักยภาพ เราจะสร้างโอกาส สร้างความโปร่งใส ก็คือการกระจายข้อมูล การเชื่อมโยง การเข้าถึงองค์ความรู้

เสร็จแล้วพอเรามี productivity ตัวพลังงานที่สร้างผลิตภัณฑ์ เรามีการเชื่อมโยงข้อมูล สิ่งที่ตามมาก็คือ เราก็ต้องส่งมอบคุณค่า การส่งมอบคุณค่าก็มาที่เรื่องโลจิสติกส์ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจในบ้านเรา และในทุกๆ ประเทศ

สิ่งที่กำลังจะกำหนดรูปร่างหน้าตาระบบเศรษฐกิจ สร้างความเปลี่ยนแปลง บนโครงสร้างพื้นฐานเดิม มีเมกะเทรนด์ใน 4 เทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ cut across เกือบจะทุกอุตสาหกรรมซึ่งท่านอยู่ อุตสาหกรรมไหนก็ตาม ท่านต้องเจอ คือ “biotechnology” ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาหาร เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เกี่ยวข้องกับยา สิ่งเหล่านี้มีเทคโนโลยีที่กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลง

“nanotechnology” เทคโนโลยีขนาดจิ๋ว ทำให้เกิดศักยภาพของโมเลกุลหรือแม้แต่หุ่นยนต์ขนาดจิ๋วสุด ซึ่งต่อไปในอนาคตเราอาจจะมีเราอาจจะมีหุ่นยนต์ที่ฉีดเข้าไปในเส้นเลือด แล้วก็เข้าไปรักษามะเร็ง

“digital technology” เกี่ยวข้องกับข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลมหาศาล เลี้ยงฟาร์มคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เลี้ยงแล้วก็ต้องให้แอร์ด้วย ฉะนั้น ศูนย์คอมพิวเตอร์ ฟาร์มคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่จึงเกิดขึ้น

Amazon ทุกไตรมาสเขาลงทุนฟาร์มเซิร์ฟเวอร์ (server farm) ขนาดใหญ่ ไตรมาสละพันล้านเหรียญ หรือเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์เราก็เริ่มเห็นแล้ว ใครดูสตาร์ วอร์ส ก็จะเห็นว่ามันใกล้ความจริงขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้ง 4 เมกะเทรนด์เทคโนโลยีนี้ กำลังเช็คความเปลี่ยนแปลงของตลาด ซึ่งเราจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและปรับตัวให้ทัน

รถยนต์ทุกวันนี้ ลูกชายผมให้ผมเลือกรถ ผมบอกว่าเลือก Mercedes-Benz ลูกชายผมบอกว่า พ่อโบราณมาก ถ้าเป็นเขาเขาเลือก Tesla คือระบบรถที่ทำด้วยไฟฟ้าทั้งหมด แล้วเป็นระบบรถเบรกอัตโนมัติ สั่งการได้จากมือถือ เป็นรถที่สื่อสารกับท่านได้ เป็นรถที่เงียบที่สุด เสถียรภาพในการเกาะถนนมากที่สุด มีความปลอดภัยสูงสุด

เพื่อนที่ฮ่องกงบอกผมว่า เขาจ่ายค่าน้ำมันรถในฮ่องกงเดือนหนึ่ง 2,000 เหรียญ แต่พอมาเสียบปลั๊กใช้ไฟเหลือ 500 เหรียญ นี่คือสิ่งที่กำลังเปลี่ยนไป รถยนต์ต่อไปก็อาจจะกลายเป็นหุ่นยนต์

ทุกวันนี้เราก็ทำ R&D ร่วมกับโตโยต้าว่าจะเสียบซิมมือถือเข้าไปในรถ เพื่อที่จะให้ตัวรถฉลาดพอที่จะรายงานกลับมาถึงความผิดปกติของรถยนต์ แล้วก็เก็บสถิติ ศักยภาพของรถยนต์ เพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ต่อไปโตโยต้าอาจจะรู้ปัญหารถยนต์ก่อนเจ้าของรถจะรู้

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วเราจะปรับตัวอย่างไร ทุกวันนี้ทรู คอร์ปอเรชั่น หลายคนอาจจะมองว่าทันสมัย แต่เราเริ่มมองว่าสิ่งที่เราทำเริ่มล้าหลัง

สิ่งที่เราต้องตั้งเป็นแผนกขึ้นมาใหม่ต่างหากก็คือ เรื่องของ digital platforms, digital media เป็นองค์กรที่จะมีการบริหารแยกออกจากกัน มีความเป็นอิสระของตัวเองและแปลงสภาพทรู คอร์ปอเรชั่น

ประสบการณ์ของลูกค้าต่อไปที่จะรับบริการจากทรูก็จะเป็น digital experience นี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าวันนี้ทรูไม่ปรับตัว ต่อไปคนที่จะมาแทนเราอาจจะเป็นแอปเปิ้ล อาจจะเป็นกูเกิล แอนดรอยด์ หรืออาจจะเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่เข้าถึงและเข้าใจลูกค้ามากกว่าทรู

แล้วบริษัทของท่านหรือองค์กรที่ท่านทำงานอยู่ ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน

เพราะว่าความสำเร็จขององค์กรในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ ถ้าเราไม่สามารถมีข้อมูลเป็น real-time มีข้อมูลอยู่ทุกจุดของกระบวนการดำเนินธุรกิจของท่าน มีข้อมูลในการบริหารกำลังแรงงานของท่าน แล้วกำลังแรงงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเทคนิค หรือเป็นอื่นๆ เขามี performance เป็นรายบุคคล ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน มี performance ยังไง อันนี้เกิดขึ้นแน่นอน เราสามารถที่จะสร้าง engagement ของพนักงานของเราได้

เราจะสามารถรู้ performance เป็นวัน เป็นชั่วโมง สามารถที่จะรู้ว่าของในสต็อกผลิตแล้วขาด ขาดที่ช่องทางไหน ขาดเท่าไหร่ ขาดเพราะอะไร ต่อไปนี้เราขาดไม่ได้แล้ว เพราะความเชื่อมโยง ทั้งตัวเราเอง และการดำเนินการในธุรกิจของเรา ถ้าไม่ปรับตัว ก็ไม่สามารถจะดำเนินกิจการและสร้างตัวเราให้เกิดความยั่งยืนได้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มากมาย ทุกคนก็ pin new hope จริงๆ แล้ว digital divide เป็นคำพูดที่เกิดขึ้นนานแล้ว ยิ่งมี digital technology ยิ่ง apply digital technology ยิ่งมีความรู้ มีการวิเคราะห์มากขึ้น

บริษัทขนาดใหญ่ก็ยิ่งห่างออกไปจากบริษัทขนาดเล็ก ผู้ที่อยู่ในระบบสังคมที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่กับผู้ด้อยโอกาสก็ยิ่งห่างกันไกลเข้าไปอีก จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า ต่อไปมนุษย์จะแบ่งออกเป็น 2 สปีชีส์

หรือสิ่งที่รัฐบาลพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภายใต้ประชากรเราเอง แต่เกิดขึ้นแม้ในระหว่างธุรกิจของเราด้วย แต่มนุษย์เราไม่ควรสิ้นความหวัง เราก็ต้องมองว่า จริงๆ แล้ว e-commerce หรือมิติของ e-commerce เช่น Alibaba สามารถทำให้ร้านที่เล็กที่สุด หรือคนที่ไม่มีห้องแถวเลยสามารถขายของได้ และทำการตลาดได้

หรือ e-banking เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อไปท่านสามารถไปกู้เงินได้เป็นวัน ดอกเบี้ยที่ท่านจ่ายเป็นวัน เป็นชั่วโมง มีทั้งการกู้จากสถาบัน การกู้แบบ peer-to-peer การกู้ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้นในระบบ ทำให้เงินกู้นอกระบบหมดไป เกิดความโปร่งใส ทำให้คนด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นี่เป็นความหวัง

Internet of Things ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ต่อไปข้อมูลที่ได้มา มันจะถูกมีความเป็นสาธารณะ ยิ่งถ้าเกิดเริ่มต้นจากรัฐบาลด้วยแล้ว การประกอบกิจการธุรกิจต่างๆ ก็จะหาโอกาสได้มากขึ้นทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ จะรู้ว่าโอกาสอยู่ที่ไหน

APM-TPUB

พฤติกรรมของตลาดในพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างไร ลักษณะของการทำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็น one cure, cure all ก็คือว่า ยาที่บอกว่ารักษาทุกโรค ซึ่งมันไม่จริงก็จะหมดไป สามารถทำให้ลดความแตกต่าง หรือคลาวด์เทคโนโลยี สามาถให้เซอร์วิสกับทุกธุรกิจไม่ว่าใหญ่ กลาง เล็ก

e-education ก็เป็นความหวังอีกประการหนึ่งที่ทุกคนให้ความหวังไว้กับความโปร่งใสของการเข้าถึงข้อมูล ในโลกสมัยก่อน เด็กจะต้องหาความรู้จากครู ฉะนั้น เด็กเป็นผู้รับอย่างเดียว ครูเป็นผู้ให้

แต่โลกยุคปัจจุบันไม่เหมือนเดิม คุณครูไม่ได้เป็นผู้ให้อีกต่อไป คุณครูใช่ว่าจะรู้มากกว่าเด็ก เพราะว่าทุกวันนี้มีข้อมูลที่เข้าถึงได้ผ่านการ เชื่อมโยง แต่คุณครูเป็นผู้ที่ดึงศักยภาพของเด็กออกมา แล้วทำให้เด็กไม่ใช่เป็นผู้ที่ท่องจำได้หรือเข้าใจได้ แต่ทำให้เด็กเป็นผู้ที่ตั้งคำถามและรู้จักค้นหา

เด็กในยุคต่อไปจะไม่เหมือนเรา เขาจะเป็นคนที่มีความรู้และเข้าถึงข้อมูลได้เร็วกว่าและมากกว่าเรา เขาจะเป็นคนที่ตั้งคำถามใส่เราอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเราบอกว่า “..เอาน่า เชื่อพ่อก็แล้วกัน” แต่นั่นเป็นเพราะเราเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความหวังและความเปลี่ยนแปลง

“คาถาทรู” business practice

สำหรับ business practice ถ้าเกิดท่านทำธุรกิจแล้วเจออุปสรรค เจอปัญหา เรามีคาถาจะช่วยปัดเป่าให้ท่าน ถ้าท่านทำจริง เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจของทรูเช่นกัน

อย่างแรก ท่านจะต้องเอาลูกค้าเป็นหลัก ถ้าวันไหนก็ตาม ท่านฟังคนวิจารณ์สินค้าบริการของท่าน การปฏิบัติหน้าที่ของท่าน แล้วท่านรู้สึกหงุดหงิด ท่านคิดผิดแล้ว การวิจารณ์หรือ complain ของลูกค้า คือโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะสร้าง engagement กับลูกค้า และค้นพบโมเดลธุรกิจที่ไม่มีวันตาย

เสียงของลูกค้าที่บอกว่าเป็นเสียงของสวรรค์ มันเป็นจริง ถ้าท่านฟังคำด่า คำตำหนิของลูกค้า ได้ด้วยความรู้สึกปลาบปลื้มใจและนำไปปรับปรุงแก้ไข ธุรกิจของท่านจะเริ่มต้นก้าวขาออกไปอย่างถูกต้องเสมอ เราพลิกคำตำหนิเป็นความเจริญรุ่งเรืองของเราได้หรือเปล่า ถ้า ท่านรับได้ด้วยความรู้สึกยินดีและขอบคุณในคำด่าลูกค้า นั่นละครับ ธุรกิจของท่านเริ่มยั่งยืนแล้ว

พันธกิจ ท่านต้องวาง “เป้าหมาย” จริงๆ แล้วท่านต้องเปรียบเทียบก่อน ก่อน แล้วตามด้วยพันธกิจ ท่านต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา แล้วคู่แข่งท่านจะเข้ามาในมิติใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจเดิมด้วย ดังนั้น ต้องเปรียบเทียบได้ตลอดเวลา แล้วท่านก็สามารถที่จะวางเป้าหมาย สร้างความมุ่งมั่น สร้างเป้าหมายและวิธีการสื่อทั้งองค์กรให้เหมือนกัน เพื่อที่จะรวมพลังให้เกิดเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้

ความโปร่งใส เป็นพื้นฐานของธรรมาภิบาลที่ดีที่สุด เป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อน การที่เราเป็นองค์กรที่เปิดรับข้อมูลไม่ว่าดีหรือลบ นั่นคือองค์กรที่มีสุขภาพดีที่สุด

capability ทั้งหมดที่ท่านวางแผน วางเป้าหมาย สร้างกระบวนการ แต่ถ้าไม่สร้างศักยภาพ ศักยภาพในที่นี้มี 2 อย่าง ก็คือ “คน” กับ “ระบบ” ถ้าไม่สร้างคน ไม่สร้างระบบ ให้มีศักยภาพมากขึ้น ท่านก็ไม่สามารถ execute งานที่มีคุณภาพได้

หรือท่าน execute งานที่มีคุณภาพ แต่ท่านไม่ตรวจสอบ ไม่ปรับปรุง ไม่ตรวจสอบย้อนกลับ ไม่ตรวจสอบไปข้างหน้า ไม่ตรวจสอบไปข้างหลัง ไม่ปรับปรุงสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ท่านขาดซึ่งข้อมูลที่จะกลับมาปรับปรุงแก้ไข

แล้วก็นำมาสู่ change เมื่อรู้ว่าท่านผิดตรงไหน กระบวนการมีจุดอ่อน-จุดแข็งอย่างไร มีจุดรั่วไหลหรือเปล่า ท่านก็มาถึงจุดที่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงจากองค์ความรู้ จากการเรียนถูกเรียนผิด ถ้ากลั่นกรองออกมาแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง มันจะถูกปลูกฝังให้กลายเป็นวัฒนธรรม

ในที่สุดแล้ว สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่จะจบที่ตรงที่ core value ขององค์กร ซึ่งเป็นความรู้สูงสุดขององค์กรในการอยู่ร่วมกันและทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ แล้วรู้ว่าอะไรเป็นจุดที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

และแน่นอนครับ คนที่มีบทบาทสำคัญที่สุด คือ leader หรือ “ผู้นำ” เราจะต้องสร้างผู้นำ แล้วผู้นำ ก็คือ ผู้ที่มา reinforce (ให้กำลังสนับสนุน) สิ่งเหล่านี้ แล้วทำให้เกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยน ก็ไปไม่ได้จริงๆ

ผมอยากจะเล่า ไม่รู้เป็นอุทาหรณ์หรือเปล่า ลูกชายผมคนเล็ก อายุ 10 ขวบ เขาก็เห็นผมออกรายการ ออกทีวี เขาก็ไปเสิร์ชหาผมบนยูทูบแล้วบอกว่า “พ่อมีเท่านี้เองเหรอ แสนวิว” ลูกผมวัย 10 ขวบ ทำวิจารณ์เกม แล้วอัปโหลดขึ้นยูทูบด้วยเสียงเขาเอง ทุกวันนี้มี 2.5 ล้านวิว

ส่วนลูกชายคนโตบอกว่านาฬิกาพ่อสวยดี แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเก่า หมดยุค ดูของผม เป็นสมาร์ทวอทช์ เราก็ไปซื้อมานะ แต่เราก็เสียดายของเก่า ประเด็นของผมก็คือ บางทีเราถึงจุดหนึ่งที่ต้องปรับตัวให้ทันและเรียนรู้

สุดท้าย ความยั่งยืนที่เราพูดกัน ในมิติของระบบโลกหรือระบบสังคม เขาบอกว่า ความยั่งยืน มีองค์ประกอบสามอย่างคือ environmental, economics และ people หรือ social นี่ก็คือรู้จักกันทั่วไปว่าเป็นความยั่งยืนของโลก

แต่เมื่อเราพูดถึงความยั่งยืนขององค์กร ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ความยั่งยืนขององค์กรยืนอยู่บนนวัตกรามและความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเป็นองค์กรที่เปิดไหม เรามีกระบวนการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไหม ผู้ปฏิบัติงานมองเห็นจุดบอดของบริษัท เขาสามารถช่วยเราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไหม กระบวนการเหล่านี้เรามีไหม

ในด้านมิติสังคม เรามี value หรือ cultural value หรือ governance ถามว่า cultural value หรือ core value ดีพอไหม

core value คือ ถ้าต่างคนต่างถาม ต่างคนต่างคิดว่ามันคืออะไรกันแน่ ให้คิดง่ายๆ ครับ core value ตามหลักศาสนาพุทธคือ compassion เอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนรวมเป็นส่วนหนึ่งของเรา ไม่เห็นแก่ตัว อันนี้เป็น core value ที่สำคัญที่สุดครับ

ในทรูเรามี 4 ข้อ คือ caring, credible, creative, correct บริษัทของท่านสามารถแปลงศัพท์ เล่นศัพท์ได้หลายอย่าง จะบอกว่า caring คือ passion เราต้องรักในสิ่งที่เราทำ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เรารักก็คือตัวเรากับคนรอบข้างเรา คนที่เรารู้จัก สิ่งที่พิเศษที่สุดในชีวิตของเรา(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ศุภชัย_สรุป

ทุกวันนี้ที่มีความพิเศษ จริงๆ แล้วเกิดขึ้นกับเรา กับคนที่เรารัก เกิดขึ้นระหว่างเรากับผู้ที่ปฏิบัติงานร่วมกับเรา เกิดขึ้นระหว่างเรากับบุคคลที่สร้างความสวยงามให้ผู้อื่น แชร์หรือเสียสละให้คนอื่น อันนั้นเป็นคุณค่าที่สำคัญมากๆ เป็น fundamental หลักของการยึดเหนี่ยวเชื่อมโยงสังคม อยู่ในดีเอ็นเอ ไม่ต้องสอน

compassion ไม่ต้องสอน อยู่ในใจเราอยู่แล้ว เด็กๆ ถ้าเป็นลูกคนจีนเขาบอกว่า เกิดมาให้กตัญญูนะ อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น เพียงแต่ว่ากตัญญูคือรักพ่อแม่ รักคนที่รักเรา แต่ถ้าคนที่ขีดวงความรักกว้างกว่าครอบครัวออกไป คนเหล่านั้นก็เรียกว่า “ผู้นำ”

“ผู้นำ” ไม่ได้มีแค่ความรักที่มากกว่าหรือความใส่ใจที่มากกว่าผู้อื่น หรือความทุ่มเทเสียสละที่มากกว่าผู้อื่น ผู้นำเป็นผู้ที่มีจิตใจที่ต้องการที่จะบุกเบิก สร้างสิ่งใหม่ พัฒนา เพราะรู้ว่าการพัฒนาและปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นส่วนสำคัญของความยั่งยืน และผู้นำที่สามารถสนุกสนานกับมันได้ หรือรักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รักกับมันได้ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว นั่นละครับคือผู้นำที่เป็นนักบุกเบิก ทำเท่าไหร่ก็ไม่เหนื่อย

ผมมีผู้บริหารท่านหนึ่ง รักการขี่จักรยานมาก ทุกๆ อาทิตย์ท่านชวนว่า คุณศุภชัยไปขี่จักรยานกับผมมั้ย ผมตอบว่าเอาสิ ไปขี่ที่ไหนล่ะครับ ท่านบอกขี่ขึ้นเขาใหญ่ ผมบอกว่าท่านไปคนเดียวเถอะ แต่ผมก็คิดไม่ออกว่า ท่านไปได้ยังไงทุกอาทิตย์

แต่ในเวลาเดียวกัน เขาอาจจะคิดตรงข้ามว่า แล้วคุณศุภชัยทำไมถึงเอาแต่ทำงานเยอะ ทำงานเยอะไปทำไม เพราะคนเรามี passion ไม่เหมือนกัน คนเรามีความรักหรือว่าขอบเขตของการที่จะใช้ชีวิตในการใช้เวลาให้มีคุณค่าแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ทั้งหมด ถ้ายืนอยู่บนคุณค่าที่ดี วัฒนธรรมที่ถูกต้อง องค์กรก็ยั่งยืน ทั้งสามส่วนนี้สำคัญ (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ผมอยากทิ้งท้ายว่า เราทุกคนต้องการความมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญ แล้วแกว่งไม่ได้ด้วย ถ้าเป็นระดับประเทศก็ทำสงครามกันได้เลย ระดับบ้านเมืองก็เรียกว่าแตกร้าวได้เลย

แต่คนทุกคน ครอบครัวทุกครอบครัว ต้องการความมั่นคงในชีวิต บริษัทเองก็ต้องการเหมือนกัน เป็นพื้นฐานสำคัญ คนทุกคนต้องการความฝัน และสามารถสำเร็จในความฝันที่ตัวเองฝันไว้ ตั้งเป้าหมายไว้

เพราะถ้าชีวิตไม่มีความฝัน ลองคิดดูว่ามันจะเซ็งแค่ไหน เราอยู่กับความจริงทุกวันไม่มีความฝันเข้ามาเลย จะเซ็งแค่ไหน เราเองก็ต้องมีความฝัน ความฝันคือพื้นฐานของจินตนาการ

องค์กรก็ไม่แตกต่างกัน ชีวิตของคนเราก็ไม่แตกต่างกัน เรามีความฝัน มีเป้าหมายทุกคนแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าเรามีศักยภาพแล้วเรามองสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เรายินดีที่จะทุ่มเทกับมันแตกต่างกันอย่างไร

และที่สำคัญ ความฝันก็ดี ความมั่นคงในชีวิตก็ดี จะมีความสำเร็จได้อย่างไร ถ้าไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก บนพื้นฐานของการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน การเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

เพราะนั่นคือที่มาของการที่เราจะอยู่ได้อย่างมีความสุข มีความมั่นคง เพราะว่าเราแบ่งงานกันทำ รวบรวมกันเป็นหมวดหมู่ รวบรวมกันเป็นเศรษฐกิจ และพึ่งพาอาศัยกัน แล้วทุกวันนี้เรากลับบ้านหลับตานอนสนิทได้ ก็เพราะว่าเรามีความไว้วางใจกัน