ThaiPublica > คอลัมน์ > ประธานาธิบดีหญิงของไต้หวัน

ประธานาธิบดีหญิงของไต้หวัน

5 กุมภาพันธ์ 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) แห่งไต้หวัน  ที่มาภาพ :  http://mediad.publicbroadcasting.net/p/kgou/files/styles/medium/public/201601/18276978559_a921d702e1_o.jpg
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) แห่งไต้หวัน ที่มาภาพ : http://mediad.publicbroadcasting.net/p/kgou/files/styles/medium/public/201601/18276978559_a921d702e1_o.jpg

ไต้หวันได้ผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกเช่นเดียวกับเมียนมาและเกาหลีใต้ แต่ละคนล้วนฝ่าฟันขวากหนามอย่างกล้าหาญเพื่อพิสูจน์ความสามารถ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) แห่งไต้หวัน มีอะไรดีจึงชนะเลือกตั้งอย่างพลิกประวัติศาสตร์

ไต้หวันซึ่งเป็นดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1895 เป็นที่หมายตาของจอมพลเจียง ไคเชก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ตั้งแต่ตอนเป็นประธานาธิบดีของประเทศจีนและต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมา เจ๋อตง เมื่อพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1949 จึงถอยร่นมาใช้เกาะฟอร์โมซาซึ่งเป็นชื่อในสมัยนั้นเป็นแผ่นดินใหม่และเป็นไต้หวันมาจนทุกวันนี้

เจียง ไคเชก เป็นประธานาธิบดีจนเสียชีวิตใน ค.ศ. 1975 รองประธานาธิบดีก็ครองอำนาจแทนเป็นเวลา 3 ปี และต่อมาได้ลูกชายของเจียง ไคเชก คือเจียง ชิงโกะ เป็นประธานาธิบดี ซึ่งก็อยู่ในตำแหน่งได้ 10 ปี ในปี 1988 ลี เต็งฮุย รองประธานาธิบดี ก็ได้เป็นประธานาธิบดีแทน ลีครองอำนาจอยู่ได้จนถึง 1996 ก็ทนแรงกดดันจากทุกทิศในเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้ ต้องยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ลี เต็งฮุย ตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋ง ชนะได้เป็นประธานาธิบดีอยู่จนปี 2000 อำนาจของพรรคก๊กมินตั๋งซึ่งดำรงมาตั้งแต่ 1949 ก็สะดุดลง เฉิน สุ่ยเปียน จากพรรค DPP (Democratic Progressive Party) ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี 2 สมัย จนถึงปี 2008 คราวนี้พรรคก๊กมินตั๋งกลับมามีอำนาจอีกครั้งภายใต้การนำของหม่า อิงจิ่ว เขาชนะเลือกตั้ง 2 สมัย 8 ปี และเป็นประธานาธิบดีต่ออีกไม่ได้จึงส่งตัวแทนพรรคคือ Eric Chu ลงแข่งกับไช่ อิงเหวิน แห่งพรรค DPP ในปี 2016 และชัยชนะก็ตกเป็นของเธอ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรค DPP ได้สร้างประวัติศาสตร์ภายใต้การนำของไช่ อิงเหวิน ซึ่งเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 68 ที่นั่ง จาก 113 ที่นั่ง ก๊กมินตั๋งได้เพียง 35 ที่นั่ง ดังนั้น จึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งประเทศที่พรรคตรงข้ามก๊กมินตั๋งได้ที่นั่งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อไช่ อิงเหวิน เข้าทำงานในเดือนพฤษภาคม 2016 เธอก็จะมีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนงานของเธอ

ไช่ อิงเหวิน ไม่เคยได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งใดๆ มาก่อน แต่ก็ใช่ว่าเธอจะไร้ประสบการณ์ เธอเป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยในไต้หวันหลายแห่ง พร้อมกับทำงานรับใช้ชาติในหลายโอกาส เธอเป็นหัวหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศ เคยรับผิดชอบงานในระดับที่ถือว่าทัดเทียมกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเคยทำงานระดับรัฐมนตรีในงานกิจการสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่

ถึงเธอจะคุ้นเคยกับการสานสัมพันธ์กับจีน ประเทศมหาอำนาจ (มีประชากร 1,400 ล้านคน เทียบกับไต้หวัน 23 ล้านคน มีพื้นที่ 4-5 เกาะรวมกันเล็กกว่ามณฑลขนาดเล็กของจีน และอยู่ใกล้กันขนาดมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากฝั่งทะเลจีน) แต่เธอก็อยู่ในพรรคที่เห็นด้วยกับแนวคิดเป็นอิสระจากจีน (Pro-Liberation) กล่าวคือ ปัจจุบันจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่ยอมรับให้ปกครองแบบอิสระภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ตลอดเวลาที่หาเสียง ประเด็นการเมืองร้อนแรงนี้ถูกหยิบขึ้นมา สิ่งที่เธอเสนอในเรื่องความเป็นอิสระนั้นสอดคล้องกับความรู้สึกของคนไต้หวันซึ่งมีสัดส่วนท่วมท้นในการนับว่าตนเป็นคนไต้หวันมากกว่าเป็นคนจีน ชัยชนะของเธอครั้งนี้ทำให้จีนไม่เป็นสุข เพราะฮ่องกงก็เป็นส่วนหนึ่งของการต้องการความเป็นอิสระจากจีนเช่นกัน การประท้วงต่อต้านจีนครั้งใหญ่ในฮ่องกงในปี 2015 คือสารที่คนฮ่องกงต้องการส่งไปถึงจีนเช่นเดียวกับชัยชนะครั้งนี้ของเธอ

ในสมัยประธานาธิบดีหม่าแห่งพรรคก๊กมินตั๋งก่อนหน้าเธอ ไต้หวันมีความสนิทชิดเชื้อกับจีนมากขึ้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พบกับประธานาธิบดีหม่าในสิงคโปร์เพื่อหารือกันในปลายปี 2015 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเวลากว่า 60 ปี ที่ผ่านมา จีนกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่สุดของไต้หวัน มีเที่ยวบินตรงระหว่างหลายเมืองในจีนกับไทเป นับวันไต้หวันดูจะต้องอาศัยจีนมากขึ้นทุกที

ชัยชนะของเธอตีความได้ว่า ถึงแม้คนไต้หวันจะไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีน แต่ก็ต้องการส่งสารให้รู้ว่าต้องการความเป็นไต้หวัน รักระบบประชาธิปไตย และการปกครองตนเอง

ปฏิกิริยาของจีนจากชัยชนะครั้งนี้ก็คือความเงียบ โดยมีทีท่าว่าไม่สนใจชัยชนะของเธอ และพยายามทำให้เห็นว่าไม่มีอะไรสำคัญ ส่วนประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่ก็ไม่เอ่ยวาจาที่ก้าวร้าว รุนแรง หรือยั่วยุ หากเห็นว่าต้องหาหนทางที่จะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างสันติภาพและเศรษฐกิจร่วมกันโดยอยู่บนฐานของความเป็นอิสระและเป็นตัวเองของไต้หวัน

เธอมีประวัติอย่างใดจึงสามารถชนะใจคนไต้หวันได้ ถึงแม้ว่าจะแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งที่แล้วคือปี 2012 ก็ตาม ในเบื้องต้นเธอเป็นลูกหลานคนไต้หวันดั้งเดิม (ฝั่งยายของเธอ) เรียนจบกฎหมาย National Taiwan University (มหาวิทยาลัยมีชื่อของไต้หวัน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นคนก่อตั้ง) จบกฎหมายจาก Cornell และจบปริญญาเอกจาก London School of Economics and Political Science (LSE)

ในปี 1984 เธอกลับไต้หวัน สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยอยู่หลายปี ก่อนที่จะเริ่มงานการเมืองในทศวรรษ 1990 เธอเล่นการเมืองจริงจังโดยเป็นสมาชิกพรรค DPP ในปี 2004 และในปี 2010 ลงสมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของ New Taipei City โดยแข่งกับ Eric Chu (ต่อมาเป็นคู่แข่งของเธอในปี 2016) แต่ก็พ่ายแพ้ ในปี 2012 ก็ลงแข่งประธานาธิบดีก็พ่ายแพ้อีก เธอไม่ท้อถอยสู้ต่อไปจนชนะขาดลอยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดซึ่งเธอชนะเลือกตั้งเป็นครั้งแรกและก็ได้เป็นประธานาธิบดีเลย

ปัจจุบัน ไช่อายุ 60 ปี เป็นโสด เธอเป็นจีนแคะ (Hakka) เช่นเดียวกับประธานาธิบดีหม่า (ลี กวนยู, ซุน ยัตเซ็น, เติ้ง เสี่ยวผิง ก็เป็นจีนแคะ) การมีเชื้อสายคนไต้หวันดั้งเดิมช่วยเธอในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะให้ภาพลักษณ์ของการเป็นคนมีเทือกเถาที่รักแผ่นดินเกิด

ในวัฒนธรรมที่เชิดชูคนมีการศึกษา พื้นฐานการศึกษาของเธอถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบ กอปรกับความสามารถในการพูดหลายภาษาและมันสมองของเธอภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคือง ค่าจ้างต่ำ ช่องว่างถ่างยิ่งขึ้นระหว่างคนรวยและคนจน ตลอดจนความกังวลของคนไต้หวันในเรื่องระยะทางที่ใกล้ชิดเกินไปกับจีน ทั้งหมดนี้ทำให้เธอได้รับคะแนนเสียงกว่าร้อยละ 56

การเคลื่อนไหวต่อต้านจีนในไต้หวันในปี 2014 ที่เรียกว่า Sunflower Movement โดยคนหลายร้อยคนบุกยึดรัฐสภาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยเงื่อนไขข้อตกลงการค้ากับจีนที่กำลังเจรจากันอยู่ ลักษณะการประท้วงโดยแท้จริงแล้วคือการต่อต้านจีน ไม่พอใจพรรคก๊กมินตั๋งและประธานาธิบดีหม่า เธอได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ จากการประท้วงครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เธอเรียกร้องคือความเป็นอิสระของไต้หวัน พรรคของเธอต่อต้านการรวมไต้หวันเข้ากับจีนดังที่สมาชิกหลายคนของพรรคก๊กมินตั๋งต้องการ

นอกจากจีนจะปวดหัวกับเศรษฐกิจที่พลิกผัน การก่อการร้ายในประเทศ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างศรัทธาของพลเมืองที่มีต่อพรรค ฯลฯ แล้ว ยังต้องกังวลกับปัญหาฮ่องกงและไต้หวันอีกด้วย

ไม่มีประเทศใดที่ไม่มีปัญหา มากน้อยแตกต่างกันไป ประเด็นอยู่ที่ผู้นำจะทำอย่างไรให้คนในชาติและภาครัฐร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 2 ก.พ. 2559