ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เกาะติดรถไฟ คสช. เปิดหวูดมาแล้ว 2 ปี – “ไทย-จีน” ประชุม 9 ครั้ง มีแต่สัญลักษณ์-พิธีกรรม

เกาะติดรถไฟ คสช. เปิดหวูดมาแล้ว 2 ปี – “ไทย-จีน” ประชุม 9 ครั้ง มีแต่สัญลักษณ์-พิธีกรรม

25 กุมภาพันธ์ 2016


เปิดดูความคืบหน้าของโครงการ “เมกะโปรเจกต์รถไฟไทย” หลังจากดำเนินการมาเกือบ 2 ปี พบว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในโครงการในฝันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตั้งใจจะใช้เป็นโครงการลงทุนภาครัฐในการสร้างความคึกคักและความมั่นใจต่อระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพยายามใช้เหตุผลนี้ก็ตาม

โดยเริ่มต้นปักหมุดโครงการเพียง 2 เดือนเศษหลังจากรัฐประหาร ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 คสช. มีมติเห็นชอบในหลักการ “กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (พ.ศ. 2558-2565)” ก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบในหลักการ “แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565” และ “แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2558” หรือ Action Plan 2558 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558

โดยมีโครงการไฮไลท์สำคัญในแผน 2 ส่วน 1) โครงการรถไฟทางคู่ 16 เส้นทาง แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง ระยะที่สอง 6 เส้นทาง และก่อสร้างทางใหม่ 4 โครงการ และ 2) ความร่วมมือรถไฟความเร็วปานกลาง ขนาดราง 1.435 เมตร ระหว่างไทย-จีน เชื่อมโยงหนองคาย-กทม.-มาบตาพุด เข้าไว้ด้วยกัน

คืบหน้ารถไฟทางคู่ 16 สาย เข็นออก 2 สาย

ความคืบหน้าของรถไฟทางคู่ 6 สาย ประกอบด้วย 1) เส้นทางแก่งคอย-คลอง 19-ฉะเชิงเทรา 2) เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น 3) เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 4) เส้นทางนครปฐม-หัวหิน 5) เส้นทางมาบกะเบา-นครราชสีมา 6) เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ เดิม ณ เดือนกันยายน 2557 มีเพียง 2 เส้นทางแรกเท่านั้นที่ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และพร้อมที่จะประมูลราคาก่อสร้าง ขณะที่อีก 4 เส้นทางยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอ

ล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 รัฐบาลสามารถเข็นโครงการออกมาลงนามสัญญาเริ่มก่อสร้างได้เพียง 2 สาย คือ เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น และเส้นทางแก่งคอย-คลอง 19-ฉะเชิงเทรา ลงนามได้ในเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งใช้เวลา 1 ปีครึ่งกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ ขณะที่เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และเส้นทางมาบกะเบา-นครราชสีมา ล่าสุดผ่านขั้นตอนของการพิจาราอีไอเอ รอเข้ารับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ส่วนโครงการที่เหลืออีก 2 โครงการ ได้แก่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน และเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ยังค้างอยู่ที่การพิจารณาอีไอเอเช่นเดิม

ด้านโครงการก่อสร้างระยะที่สอง 6 เส้นทาง ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเมษายน-กรกฎาคม 2559 ประกอบด้วย 1) เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 2) เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย 3) เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 4) เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย 5) เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี และ 6) เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา

สุดท้าย โครงการก่อสร้างใหม่ 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1) เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 2) เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 3) เส้นทางแหลมฉบัง-ทวาย และ 4) เส้นทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด สองโครงการแรกอยู่ในระหว่างพิจารณาอีไอเอ ขณะที่อีกสองโครงการยังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบรายละเอียดเท่านั้น(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สถานะการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสรถไฟทางคู่

รถไฟไทย-จีน เจรจา 9 ครั้ง ส่อล่มเหลือทางเดี่ยว

สำหรับความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยและจีน ล่าสุดมีการเจรจากว่า 9 ครั้ง เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี โดยมีรายละเอียดความคืบหน้าหลังจากลงนามใน MOU เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ดังนี้

– การประชุมครั้งแรกมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 21-22 มกราคม 2558

ได้ข้อสรุปเพียงการแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรก กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างอาจแบ่งเป็น 2 แผนงาน คือ แผนงานในการก่อสร้างช่วงที่ 1 และ 2 และแผนงานในการก่อสร้างช่วงที่ 3 และ 4

– การประชุมครั้งที่ 2 มีขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2558

มีข้อสรุปเพิ่มเติมว่า จะใช้เป็นความร่วมมือแบบ “จ้างเหมาเบ็ดเสร็จ (EPC)” โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบออกตามช่วงเวลา อาทิ ก่อนก่อสร้าง-จีนรับผิดชอบศึกษาและออกแบบ ไทยรับผิดชอบเวนคืนและทำอีไอเอ ระหว่างก่อสร้าง-ไทยรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ยกเว้นอุโมงค์ ไหล่เขา ระบบอาณัติสัญญาณที่ต้องการความเชี่ยวชาญจากจีน หลังก่อสร้าง-จีนจะรับผิดชอบในการเดินรถช่วงแรกก่อนถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ไทยจนมีความพร้อมจึงจะคืนการเดินรถให้ เป็นต้น

ส่วนเรื่องแหล่งเงินทุน จีนเสนอให้ไทยกู้ใน 2 รูปแบบ ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาชำระคืนเงินต้นที่แตกต่างกัน

– การประชุมครั้งที่ 3 มีขึ้นที่จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย วันที่ 10-11 มีนาคม 2558

มีข้อสรุปเพิ่มเติมว่า จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีนขึ้นมาเดินรถ โดยจีนถือหุ้นไม่เกิน 40% ไทยถือหุ้น 60% ขึ้นไป ช่วงปีที่ 1-3 ให้จีนเดินรถเป็นหลัก ปีที่ 4-7 ให้ 2 ประเทศร่วมกันเดินรถ และปีที่ 7 เป็นต้นไป ให้ไทยเดินรถเป็นหลัก

ส่วนเรื่องแหล่งเงินทุนยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ฝ่ายไทยเสนอให้ระดมทุนได้จากหลายแหล่ง ทั้งงบประมาณแผ่นดิน กู้จากเอกชน หรือกู้จากจีน

– การประชุมครั้งที่ 4 มีขึ้นที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน วันที่ 6-8 พฤษภาคม 2558

มีข้อสรุปเพิ่มเติมว่า การสำรวจและออกแบบ 3 ใน 4 ช่วง จะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2558 และเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ไปจนถึงต้นปี 2559 ยกเว้นช่วงที่ 2 กรุงเทพฯ-มาบตาพุด ที่มีประเด็นเรื่องพื้นที่ลุ่มน้ำ A1 ซึ่งไทย-จีนต้องพูดคุยหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

-การประชุมครั้งที่ 5 มีขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาและกรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2558

มีข้อสรุปความก้าวหน้าของการดำเนินการ โดยฝ่ายจีนได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมของโครงการการสำรวจและออกแบบแนวเส้นทาง ซึ่งพบปัญหาเรื่องแนวเส้นทางและข้อตกลงกรอบการทำงานที่ยังแตกต่างกันและต้องเจรจาต่อไป ในส่วนของไทยได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ซึ่งต่างอยู่ในขั้นดำเนินการและต้องรอผลการศึกษาเบื้องต้นก่อน

ด้านหลักการของรูปแบบการลงทุนในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างไทย-จีน โดยรวมระบบรถไฟและอาณัติสัญญาณเข้ามาในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้วย จากเดิมที่ร่วมทุนเฉพาะการเดินรถและการซ่อมบำรุง ซึ่งฝ่ายจีนขอเวลาพิจารณาก่อน

ขณะที่ด้านการเงินยังไม่ได้ข้อสรุป โดยฝ่ายจีนรับปากที่จะพิจารณารูปแบบเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะเร่งรัดการศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2558 เพื่อให้เริ่มการก่อสร้างได้ตามแผนงานในเดือนตุลาคม 2558

-การประชุมครั้งที่ 6 มีขึ้นที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน วันที่ 6–8 สิงหาคม 2558

มีข้อสรุปชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวงเงินก่อสร้าง รูปแบบการลงทุน แผนงานก่อสร้าง ตลอดจนแนวทางร่วมทุนระหว่างไทยกับจีน โดยรูปแบบการลงทุนของโครงการฝ่ายไทยจะลงทุนก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ดำเนินการ จะใช้เงินกู้ในประเทศก่อสร้าง คาดว่าโครงการนี้ใช้เงินก่อสร้างกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวถือว่ายังไม่นิ่ง ยังต้องรอผลการศึกษาเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ รวมไปถึงผลการศึกษารายละเอียดโครงการในขั้นต่อไปด้วย

ส่วนงานระบบเดินรถและซ่อมบำรุงซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ฝ่ายจีนตกลงจะร่วมลงทุนด้วยเบื้องต้นประมาณ 40% โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารโครงการร่วมกัน ขณะที่ข้อเสนอให้จีนเข้าร่วมทุนทั้งโครงการยังไม่ได้ข้อสรุปคืบหน้าแต่อย่างใด

สำหรับข้อตกลงด้านการเงินยังเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด

-การประชุมครั้งที่ 7 มีขึ้นที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 11–12 กันยายน 2558

มีข้อสรุปเพิ่มเติมว่า จีนได้ส่งผลการศึกษาเบื้องต้นแล้ว แต่ฝ่ายไทยมองว่ายังไม่สมมบูรณ์และขอให้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องประมาณการราคามูลค่าการก่อสร้างโครงการ ประมาณการรายได้จากการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เป็นต้น ทำให้ยังไม่สามารถสรุปวงเงินโครงการที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ ไทยยังขอให้จีนร่วมลงทุนเพิ่มเติมอีกเป็น 50:50 จากเดิม 60:40 แต่จีนขอกลับไปพิจารณา

ด้านการเงินยังคงเป็นปัญหาโดยจีนยังเสนอมาว่าดอกเบี้ย 3% ยังสูงกว่าเงินกู้ในประเทศของไทยและยังต้องต่อรองให้ลดลงมาอีก ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง จะจัดทำข้อมูลเรื่องระบบและขั้นตอนการกู้เงินจากต่างประเทศของไทยให้ฝ่ายจีนได้รับทราบ

-การประชุมครั้งที่ 8 มีขึ้นที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน วันที่ 28-29 ตุลาคม 2558

มีข้อสรุปให้เลื่อนโครงการก่อสร้างออกไปจากเดิมที่กำหนดช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558 เนื่องจากยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดการก่อสร้างได้ ต้องรอให้จีนปรับปรุงข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้นในบางส่วนให้ตรงกันตามการเจรจาครั้งที่ 7 ส่วนรูปแบบการร่วมทุนระหว่างไทย-จีนในการเดินรถที่ไทยเสนอให้ร่วมลงทุนทั้งโครงการที่สัดส่วนเท่ากัน ยังไม่ได้ข้อสรุปจากการประชุมในครั้งนี้เช่นกัน

ด้านการเงิน ฝ่ายจีนยืนยันว่าจะให้ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ดีกว่าการกู้เงินภายในประเทศของไทย จึงยังต้องต่อรองให้ปรับลดลงอีก

-การประชุมครั้งที่ 9 มีขึ้นที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 3 ธันวาคม 2558

ข้อสรุปเพิ่มเติมว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ได้ร่วมลงนามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 เพื่อใช้เป็นแนวทางดำเนินความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าอื่นยังไม่มีข้อสรุปเพิ่มเติมแต่อย่างใด ส่วนกระแสข่าวที่โครงการอาจจะมีมูลค่าสูงไปถึง 5 แสนล้านบาทนั้น อาจจะเกิดจากการเพิ่มสถานีบ้านภาชีเข้ามา และวิธีคิดราคาต้นทุนโครงการที่ยังไม่ตรงกันของไทยและจีน แต่ยังต้องรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการก่อนจึงจะสรุปได้

เปิดหวูดทำสัญลักษณ์เริ่มก่อสร้าง – รอประชุมปลายก.พ.นี้

รถไฟไทย-จีนอยุธยา

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัวแทนรัฐบาลไทย ได้แก่ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และตัวแทนรัฐบาลจีน ได้แก่ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐของจีน และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ได้ทำสัญลักษณ์การเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน โดยมีการปักธงชาติของทั้ง 2 ประเทศบนแท่นคล้ายรางรถไฟ

ต่อเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 การรถไฟแห่งประเทศไทยและกิจการร่วมค้าซีเคซีเอช ร่วมกันจัดงานพิธีเริ่มงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และพิธีบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น สถานีรถไฟท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เริ่มต้นจากพิธีสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารเช้า พร้อมเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรม หลังจากนั้น นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวรายงาน ต่อมานายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขึ้นกล่าวแสดงความยินดี ในพิธีเริ่มงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และเคาะระฆัง 3 ครั้ง เพื่อเปิดป้ายเริ่มงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่อย่างเป็นทางการ

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคาะระฆัง 3 ครั้ง เพื่อเปิดป้ายเริ่มงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคาะระฆัง 3 ครั้ง เพื่อเปิดป้ายเริ่มงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น

รถไฟไทย-จีน3

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทำพิธีเปิดเพื่อเปิดป้ายเริ่มงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระขอนแก่น
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทำพิธีเปิดเพื่อเปิดป้ายเริ่มงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระขอนแก่น

ด้านความคืบหน้าอื่นๆ ของโครงการ นายอาคมกล่าวว่า แบ่งเป็น 4 ประเด็น 1) ตอนนี้สรุปผลการศึกษาไทย-จีนเสร็จแล้ว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป 2) รูปแบบการลงทุน ว่าแต่ละฝ่ายจะลงทุนสัดส่วนเท่าไร นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ได้สั่งการให้คณะทำงานที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะไปเจรจาต่อไป 3) เมื่อได้รายละเอียดเรื่องรูปแบบการลงทุนแล้ว ก็จะนำไปสู่การทำสัญญา โดยอาจจะลงนามในรูปแบบของ MOU และ 4) ผู้นำของทั้ง 2 ชาติอยากให้เริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีครึ่ง – 4 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 นายอาคมกล่าวหลังจากไปประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน เมื่อวันที่ 28-29 มกราคม 2559 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่ามีความคืบหน้าโดยฝ่ายไทยเสนอรูปแบบการลงทุนใหม่ให้จีนลงทุนเพิ่มจาก 40:60 เป็น 30:70 และต้องครอบคลุมการก่อสร้างทั้งหมด หลังจากที่เคยเสนอให้มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มที่ 50:50 และครอบคลุมงานก่อสร้างด้วยแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป

นอกจากนี้ ฝ่ายจีนมีข้อเสนอให้ปรับช่วงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพื่อเป็นการลดต้นทุนการดำเนินการก่อสร้าง โดยระยะแรกจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาก่อน หลังจากนั้นก็ดำเนินการก่อสร้างในช่วงที่ 2 คือ นครราชสีมา-หนองคาย โดยจะมีการหารือกับจีนให้ปรับการก่อสร้างเป็นทางเดี่ยว ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรไปก่อน จากแผนเดิมจะเป็นทางคู่ เพื่อศึกษาถึงจำนวนปริมาณของผู้โดยสารว่ามีมากเพียงพอหรือไม่

“รถไฟไทย-จีนไม่ได้ให้รถไฟธรรมดาขึ้นไปวิ่งด้วย ความถี่ก็ไม่ใช่ทุก 5 นาที เมื่อวิ่งสวนกันไม่ได้ก็ต้องจัดเวลาให้ดี หากในอนาคตความต้องการเพิ่มมากขึ้นค่อยทำอีกทาง โดยเรื่องทั้งหมดนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 10 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้” นายอาคมกล่าว