ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอชี้จากกรณีหมอฟันหนีทุน แนะปฏิรูปการบริหารทุนการศึกษา สร้างคนต้องไม่สูญเปล่า รับยุทธศาสตร์ประเทศ-ตลาด

ทีดีอาร์ไอชี้จากกรณีหมอฟันหนีทุน แนะปฏิรูปการบริหารทุนการศึกษา สร้างคนต้องไม่สูญเปล่า รับยุทธศาสตร์ประเทศ-ตลาด

7 กุมภาพันธ์ 2016


สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ปัญหาหนีทุนการศึกษาเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาทั้งหมด แนะรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการนักเรียนทุนทั้งระบบ โดยบริหารแบบรวมศูนย์ผ่านคณะกรรมการระดับชาติและตั้งเป้าหมายในการให้ทุนที่ชัดเจน

กรณีที่อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลรายหนึ่งซึ่งได้ทุนรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ไม่ยอมกลับมาชดใช้ทุนและทำให้ผู้ที่ค้ำประกันต้องชดใช้ทุนแทน เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจกันมาก และหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการนักเรียนทุนรัฐบาลนั้น

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาหนีทุนการศึกษาเป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาทั้งหมด โดยความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการนักเรียนทุนรัฐบาลมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู

ประการแรก ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไม่ชัดเจนพอ แม้ว่าประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่แผนพัฒนาฯ เป็นเพียงกรอบกว้างๆ ทำให้ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายการพัฒนากำลังคนที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่มีนโยบายอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งทำให้การวางแผนกำลังคน รวมถึงการให้ทุนการศึกษาทำได้ยาก

ประการที่สอง รัฐขาดข้อมูลที่สำคัญในการบริหารจัดการทุนการศึกษา ที่สำคัญคือการขาดข้อมูลความต้องการกำลังคนที่ต้องการในอนาคตในแต่ละสาขา และยังขาดระบบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานให้ทุนที่จัดทำอย่างเป็นประจำและสม่ำเสมอ

ประการที่สาม การบริหารจัดการทุนอยู่ภายใต้หลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ซึ่งจัดสรรทุนตามความต้องการของส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งจัดสรรทุนสำหรับบุคลากรในมหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจัดสรรทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งจัดสรรทุนการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจัดสรรทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยหน่วยงานเหล่านี้มีลักษณะการทำงานแบบแยกกันทำ และไม่มีการประสานงานกัน

สาเหตุดังกล่าวทำให้การบริหารจัดการทุนการศึกษาไม่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดความสูญเปล่ามากมาย จากทั้งความซ้ำซ้อนและความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการของหน่วยงานและสาขาที่นักเรียนทุนไปเรียนต่อ ทำให้มีนักเรียนทุนหลายคนที่จบกลับมาแล้วแต่ยังไม่ถูกบรรจุเข้าทำงาน หรือมีผู้สละทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนสาขาอื่น เช่น แพทย์ศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนมีการแย่งชิงผู้สมัครทุนระหว่างหน่วยงานให้ทุนต่างๆ

ที่สำคัญ การขาดกลไกการติดตามผู้รับทุนที่มีประสิทธิภาพและขาดการประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ นักเรียนทุนบางส่วนใช้ระยะเวลาในการศึกษานานเกินกว่าที่ควรจะเป็น เช่น จากข้อมูลของ สกอ. ซึ่งรายงานโดยสำนักข่าวอิศราพบว่า โครงการทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน 16 สาขาในระดับการศึกษาปริญญาโทและเอก ของ สกอ. ในระหว่างปี 2535-2548 มีผู้รับทุนถึง 5,342 คน แต่มีผู้ที่เรียนจบเพียง 3,835 คน ทั้งที่ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งสะท้อนว่านักเรียนทุนเกือบร้อยละ 30 ใช้เวลาในการศึกษานานกว่า 10 ปี หรือโครงการทุนพสวท. ในระหว่างปี 2527-2556 มีจำนวนผู้รับทุนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี โท และเอก ในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น 4,488 คน แต่มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วเพียง 1,110 คน หรือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น

นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัญหาสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งในการให้ทุนการศึกษาของประเทศไทยคือ การไม่มีแผนอย่างชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากผู้สำเร็จการศึกษา จึงส่งผลให้การจัดสรรทุนมีลักษณะกระจัดกระจายมาก เช่น ในปี 2559 มีการส่งนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ไปศึกษาด้านระบบรางจำนวนเกือบ 50 ทุน โดยกระจายไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่า 15 แห่งในทุกภูมิภาค ทำให้ยากที่ประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากสิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ที่มีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในแต่ละด้านอย่างชัดเจน เช่น การต่อเรือ หรือเทคโนโลยีชีวภาพ ก่อนสนับสนุนให้หน่วยงานเหล่านั้นส่งนักเรียนทุนไปศึกษาต่อ

ในสภาวะปัจจุบันที่ประเทศไทยเสี่ยงที่จะติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีจากนี้ การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการนักเรียนทุนเพื่อเร่งรัดการพัฒนาประเทศจึงมีความสำคัญยิ่ง โดยควรปรับปรุงการบริหารการจัดสรรทุนการศึกษาให้เป็นระบบรวมศูนย์ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติ และควรวางกลไกในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเป็นระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน

ที่สำคัญ การวางแผนการจัดส่งนักเรียนทุนควรอยู่บนพื้นฐานของการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความเป็นเลิศในสาขาเฉพาะแต่ละด้าน เช่น ให้มหาวิทยาลัยในภาคใต้พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา หรือมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านโลจิสติกส์เป็นเจ้าภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของประเทศหรือท้องถิ่น แทนที่จะเกลี่ยทุนไปหลายแห่งจนทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไม่สามารถพัฒนาความเป็นเลิศเฉพาะทางขึ้นมาได้