ThaiPublica > เกาะกระแส > ทอล์คโชว์ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” (ตอนที่ 5): คนธรรมดา 32 ” นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ – โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ” สร้างชีวิตใหม่นักกีฬาพิการ

ทอล์คโชว์ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” (ตอนที่ 5): คนธรรมดา 32 ” นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ – โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ” สร้างชีวิตใหม่นักกีฬาพิการ

5 กุมภาพันธ์ 2016


ธรรมดา 32 พิเศษ 100+

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 ณ อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ชมรมกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทยได้จัดรายการ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” ทอล์คโชว์ปลุกฝัน สร้างแรงบันดาลใจ จากเหล่าคนที่มีความพิเศษ กับประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ฝ่าฟัน ด้วยหัวใจเกินร้อย ที่คนธรรมดา 32 ต้องยกนิ้วให้ โดยมีผู้ให้แรงบันดาลใจคือ วิจิตรา ใจอ่อน เด็กสาวที่พิการจากเหตุกราดยิงรถนักเรียน สู่นักกีฬาปิงปองคนพิการมือวางอันดับ 6 ของโลก วันชัย ชัยวุฒิ อีกหนึ่งนักกีฬาเทเบิลเทนนิสที่มุ่งมั่นฝึกซ้อมจนสามารถก้าวสู่อันดับ 10 ของโลกในเวลาไม่ถึงปี ณัฐพร ท้าวศรีสกุล – บุสรี วาแวนิ กับกำลังใจที่พลิกชีวิต สานฝันการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติ ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้คนพิการตลอดมา พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี คุณพ่อผู้ไม่ยอมแพ้ วรยุทธ กิจกูล นักธุรกิจวีลแชร์ กฤษณะ ไชยรัตน์ – ศรัณย์ รองเรืองกุล 2 แนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อคนพิการ และ นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ – โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ คน 32 ที่สร้างชีวิตใหม่ให้นักกีฬาพิการได้

ร่างกายไม่ใช่ขีดจำกัดในการเดินตามความฝัน ทีมนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย 6 ชีวิต สามารถผ่านการคัดเลือกและเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคนพิการ (Paralympic Games) ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในเดือนกันยายน 2559 นี้ โดย 2 ใน 6 คือผู้ที่มาทอล์คโชว์สร้างแรงบันดาลใจ ส่งแรงบันดาลใจ และนักกีฬาคนอื่นๆที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของชีวิตให้อีกหลายคนที่ท้อแท้ สิ้นหวัง แม้จะพิการร่างกายแต่หัวใจไม่ได้พิการตามไปด้วย พวกเขามีใจเกิน 100 กับทุกก้าวย่างของตัวเอง ที่บางครั้งคนธรรมดา 32 ยังทำเช่นนั้นไม่ได้

ในตอนก่อนทำความรู้จักกับเหล่านักกีฬาใจเกินร้อยไปแล้ว 5 คน ตอนที่ 1,ตอนที่ 2, ตอนที่ 3 และตอนที่ 4กับการรณรงค์สถาปัตย์ที่เป็นมิตรกับทุกชีวิต ตอนสุดท้ายเป็นการเปิดใจของคนธรรมดา 32 ผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้สนับสนุนให้นักกีฬาทีมชาติไทยได้แสดงศักยภาพให้ชาวโลกได้เห็น นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ ประธานชมรมเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่พัฒนาศักยภาพผู้พิการด้วยกีฬา ผู้ทุ่มเทกำลังกายและใจในการสนับสนุนนักกีฬาคนพิการ และ โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ อดีตนักกีฬาทีมชาติ ผู้ฝึกสอนทีมชาติ และนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย

ประสบการณ์จริงที่ฉีกตำราแพทย์ทุกบท ของ นพ.อรรถฤทธิ์

นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ กล่าวว่า “กีฬา” เป็นสิ่งที่ดี ทุกคนทราบดี แต่กีฬาคนพิการมีความพิเศษต่างจากกีฬาทั่วไป และการแข่งกันจะเป็นตัวชี้วัดศักยภาพทางกีฬาของคนแต่ละคนว่าเขาสามารถพัฒนาไปได้ถึงระดับไหน แต่หากให้นักกีฬาที่มีร่างกายสมบูรณ์แข่งขันกีฬากับคนพิการคงไม่สามารถวัดความสามารถเชิงกีฬาได้ ในกลุ่มของคนพิการเองก็ต้องมีการจัดกลุ่มตามลักษณะนักกีฬาเช่นกัน

“ในด้านของเทเบิลเทนนิส นักกีฬาที่มีร่างกายครบ 32 มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวรอบๆ โต๊ะได้ดั่งใจนึก หากเราให้คนกลุ่มนี้แข่งขันกับนักกีฬาที่มีความยากลำบากแม้แต่จะเดิน เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องแคล่ว…ตรงนี้เราคงจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่า มันก็มีการแข่งขันที่แยกออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มคนพิการสามารถแสดงศักยภาพสูงสุด ออกมาให้เห็นได้ว่าเขาได้ผ่านการฝึกฝน มีทักษะที่เพิ่มขึ้น แล้วมีศักยภาพในเชิงกีฬาสูงสุดหรือไม่

ในกลุ่มคนพิการเองก็มีลักษณะของความพิการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพิการทางแขนขา พิการไขสันหลัง บางคนก็พิการทางตา หรือพิการทางสมอง พร้อมแสดงภาพของนักกีฬา 3 คน ซึ่งเป็นนักกีฬาระดับโลกที่ลงแข่งขันในพาราลิมปิกส์ โดยคนแรกสูญเสียแขน 1 ข้าง คนถัดมาเสียแขนขาทั้ง 2 ข้าง ส่วนคนสุดท้ายเป็นนักกีฬาพิการทางสมอง ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ตามที่ต้องการ สิ่งที่เหลืออยู่ในนักกีฬาคนนี้ คือสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากเราให้คน 3 คนนี้แข่งกีฬาด้วยกันก็คงวัดอะไรไม่ได้เช่นเดียวกัน นั่นเป็นรายละเอียดที่จะลงไปในส่วนที่เราเรียกว่า Classification System หรือการจัดระดับความพิการ เป็นการจัดกลุ่มของนักกีฬาให้มีความเหมาะสมต่อการแข่งขัน นี่คือเรื่องสั้นๆ ของกีฬาคนพิการ อยากให้เราทุกคนรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่พิเศษ เป็นสิ่งที่ต้องมีการจัดเตรียมแยกออกมา”

นพ.อรรถฤทธิ์ บอกเล่าที่มาที่ไปที่ตนได้เข้ามาในวงการกีฬาคนพิการว่า ตนเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งมีงานส่วนหนึ่งที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนพิการอยู่แล้ว และเมื่อปี 2541 ประเทศไทยได้รับโอกาสให้จัดมหกรรมกีฬาคนพิการเฟสปิกเกมส์ ทางภาครัฐได้มอบหมายให้กลุ่มแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเข้ามาดูแลในเรื่องของการจัดลำดับความพิการ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ตนเข้ามาในแวดวงกีฬาคนพิการ

นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ ประธานชมรมเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่พัฒนาศักยภาพผู้พิการด้วยกีฬา ผู้ทุ่มเทกำลังกาย และใจในการสนับสนุนนักกีฬาคนพิการ
นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ ประธานชมรมเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่พัฒนาศักยภาพผู้พิการด้วยกีฬา ผู้ทุ่มเทกำลังกายและใจในการสนับสนุนนักกีฬาคนพิการ

และสิ่งที่ทำให้เขาอยู่ในแวดวงนี้มาได้กว่า 20 ปี คือความรัก ความผูกพัน และความประทับใจ เขาได้แบ่งปันประสบการณ์ที่แสดงให้คนทั่วไปได้เห็นถึงศักยภาพของเหล่านักกีฬาคนพิการให้ฟังว่า “เริ่มแรกที่ผมเจอกับตัวผมเองเกิดขึ้นที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2543 ตอนนั้นเป็นมหกรรมกีฬาคนพิการที่ใหญ่ที่สุด ก็คือ พาราลิมปิกเกมส์ ผมก็มีโอกาสได้ไปกับทีมชาติไทย ไปอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา

หนึ่ง ขณะที่เดินรอบหมู่บ้าน ก็เห็นนักกีฬาต่างชาติคนหนึ่งเป็นผู้หญิงกำลังปั่นวีลแชร์ ทางที่เธอปั่นเป็นทางที่ขึ้นเนิน ปั่นด้วยความลำบากพอสมควร เป็นธรรมดาที่เราเดินเจอกันในสภาพและเวลาแบบนั้น ผมก็เดินเข้าไป มีเจตนาที่ต้องการจะช่วยเข็นรถให้ แต่ไม่ได้ช่วยครับ เธอหันมามองยิ้มแล้วพูดกับผม สื่อความหมายได้ว่า ‘ขอบคุณค่ะที่จะช่วย แต่ไม่ต้องนะคะ ฉันไปเองได้ ฉันเป็นนักกีฬา’

ตอนนั้นเกิดความคิดขึ้นมา 2 มุมมอง เกิดขึ้นมาทันทีความคิดหนึ่ง มุมมองหนึ่งผมมองเห็นภาพของคนพิการที่ผมเห็นอยู่เป็นประจำ คนพิการที่เป็นคนไข้ คนพิการที่เป็นคนที่อยู่ในโรงพยาบาล คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ต้องการการรักษาฟื้นฟู กับอีกมุมมองหนึ่ง เป็นมุมมองที่ผมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งอยู่บนวีลแชร์ เธอมีร่างกายที่ดูแข็งแรง เป็นนักกีฬา และมีแววตาที่บอกได้เลยว่า เป็นแววตาที่ไม่ต้องการให้ใครช่วยเหลือ เป็นแววตาของความภาคภูมิใจ ว่าฉันไม่ต้องเป็นภาระให้กับใคร เป็นรอยยิ้มที่บอกย้ำว่า ‘ฉันคือนักกีฬา’”

จากนั้น เขากล่าวด้วยรอยยิ้มถึงนักกีฬาชายอีกคนหนึ่งที่พบที่ซิดนีย์ ในปี 2543 โดยเขาคาดเดาว่านักกีฬาที่ไร้แขนขาผู้นี้จะต้องให้คนช่วยเข็นวีลแชร์ให้แน่นอน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เขาพบว่าตัวเองคิดผิด เพราะชายผู้นี้แม้ไร้แขนขา แต่เขาสามารถใช้กล้ามเนื้อในส่วนที่เหลืออยู่ของร่างกายบังคับวีลแชร์ของตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว

ต่อมาเขาได้พบชายผู้นี้อีกครั้งในปี 2547 ในการแข่งขันพาราลิมปิกส์ ที่เมืองเอเธนส์ ที่โรงอาหารนักกีฬาชายคนเดิมนั่งบนวีลแชร์ มีถาดอาหารวางอยู่บนตัก มีผลไม้อยู่ 2-3 ชิ้น มีกล่องนมอยู่ 1 กล่อง และต้องเคลื่อนที่ไปให้ถึงโต๊ะอาหารที่อยู่ห่างไปประมาณ 10 เมตรให้ได้ ครั้งนี้ นพ.อรรถฤทธิ์ ยังคงคาดเดาเช่นเดิมว่าเขาต้องให้คนมาช่วยแน่นอน แต่เขาก็ต้องยอมรับว่าเขาคิดผิดอีกครั้ง

“ผมรู้แล้วว่าเขาบังคับรถวีลแชร์อย่างไร แต่คราวนี้เขาไปไม่ได้แน่ๆ เพราะเขามีถาดอาหารวางอยู่บนตัก เดี๋ยวเพื่อนต้องมาช่วยเข็นไปเข้ากลุ่มแน่ๆ 4 ปีที่แล้วคิดผิด 4 ปีนี้มาก็คิดผิดอีกเช่นเดียวกัน เขาโยกตัวไปข้างหลังครับ ทำให้ล้อหน้ายกลอยขึ้นแล้วก็โถมตัวไปข้างหน้า แรงเฉื่อยที่ดันให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ เขาโยกตัวแค่ 2 ครั้งเขาก็ถึงกลุ่มเพื่อนของเขาแล้ว เป็นศักยภาพที่สูงมากๆ

ธรรมดา 32 พิเศษ 100+

กีฬาเป็นยาวิเศษ แต่ผมอยากจะบอกว่าสำหรับคนพิการแล้วกีฬาเป็นยาที่สุดแสนจะวิเศษ การที่จะเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาสักคนหนึ่งให้แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะมีอะไรช่วยได้นอกจากกีฬา

ในส่วนหนึ่งของเรามีนักกีฬาคนหนึ่ง ชื่อว่า ‘ขวด’ (วันชัย ชัยวุฒิ) เขาเป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก และเป็นโปลิโอที่ค่อนข้างรุนแรง คือไม่ได้อ่อนแรงเฉพาะขา แต่มีกล้ามเนื้อลำตัวที่อ่อนแรงด้วย แต่ขวดเป็นนักกีฬาที่มุมานะ ฝึกซ้อม อดทน และขยัน พัฒนาศักยภาพด้านร่างกายและทักษะของกีฬา มีความแข็งแรงมากจนกระทั่งเป็นที่จับตามองของคู่ต่อสู้ต่างชาติ

เขายื่นประท้วงครับ ว่าขวดไม่ควรจะอยู่ในคลาสนั่ง และเป็นคลาสนั่งที่ค่อนข้างอ่อน เนื่องจากขวดมีลำตัวที่แข็งแรงเต็มร้อย จึงมีการประท้วงว่าขวดควรไปอยู่ในกลุ่มที่แข็งแรงมากกว่านี้ ซึ่งมีการรับการประท้วงครับ สหพันธ์ได้เรียกขวดมาตรวจใหม่ แต่ผลก็ยังยืนยันเหมือนเดิม ขวดมีความผิดปกติของร่างกาย”

นพ.อรรถฤทธิ์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้คู่ต่อสู้มองประหนึ่งว่าขวดมีร่างกายและลำตัวที่แข็งแรงก็คือกีฬา เพราะขวดได้มุมานะฝึกฝนสร้างกล้ามเนื้อของลำตัวในส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ให้มีศักยภาพเต็มร้อย เพื่อมาชดเชยกล้ามเนื้อส่วนที่เสียไป กีฬาจึงเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ

“ถ้าถามผมว่า แล้วมันน่าแปลกหรือ จากตำราที่เรียนมา คนพิการที่พิการไขสันหลังระดับคอ ตำราเขียนไว้ว่าคนพวกนี้ถ้าฟื้นสมรรถภาพขึ้นมาแล้วก็จะเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเอง จะทำกิจกรรมต่างๆ ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ นั่นคือในตำราแพทย์ แต่สิ่งที่ผมเจอ ถ้าเราจะประเมินนักกีฬาคนพิการ เราต้องฉีกตำราทิ้งแล้วเขียนใหม่”

ผมเล่าให้ฟังเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน อยากให้พวกเราเปรียบเทียบถึงศักยภาพความสามารถของคนกลุ่มนี้ เปรียบเทียบกับคนพิการที่ไม่มีโอกาสในการใช้กีฬา มาเป็นตัวช่วยเติมพลัง กีฬาไม่ได้เป็นแค่ยาวิเศษเท่านั้น สำหรับคนกลุ่มนี้กีฬาเป็นเหมือนแสงสว่างที่นำพาเขาออกมาสู่โลกที่กว้างขึ้น ออกมาสู่สังคม มีโอกาสที่จะช่วยเหลือสังคม โดยคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่สร้างโอกาส เขายอมรับในสิ่งที่เขาสูญเสียไปแต่เขาไม่ยอมจมอยู่ในข้อบกพร่องต่างๆ ที่แก้ไขไม่ได้ เขาต่อสู้ เขาพยายามที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องการที่จะตอบแทนสังคม วันนี้ไม่ว่าสิ่งที่พวกเขาพยายามจะทำจะออกมาดีมากหรือน้อยหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาได้พยายามทำ และได้ทำอย่างมีความสุข มีความมุ่งมั่น ธรรมดา 32 พิเศษ 100+”

เขาแข็งแรงกว่าที่เราคิด มหัศจรรย์มนุษย์วีลแชร์

“ความคิดดั้งเดิมที่มีต่อผู้พิการคือ ผมรู้สึกว่าเหมือนเขาเป็นคนป่วย คนพิการมีความอ่อนแอ เราต้องให้ความช่วยเหลือเขาอยู่ตลอดเวลา”

โค้ชปริญญากล่าวตามตรง ยอมรับความคิดแรกของตนเองก่อนมาทำหน้าที่ “โค้ช” ให้กับนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการ และเสียงจากโทรศัพท์สายหนึ่งก็ทำให้เขาต้องเปลี่ยนความคิดนั้น เมื่อเขาได้รับการร้องขอให้ช่วยทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้กับเหล่านักกีฬาคนพิการ แม้เขาจะปฏิเสธในคราวแรกเพราะกังวลว่าการสอนอาจแตกต่างไปจากการสอนนักกีฬาเยาวชนที่ตนเคยสอน และตนไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ กับคนพิการเลยจะทำได้หรือไม่ แต่ในที่สุดเขาก็ตกปากรับคำ เข้ามาทำหน้าที่โค้ชให้เหล่านักกีฬาคนพิการในวันถัดมา

“ผมต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อที่จะเดินทางไปซ้อมนักกีฬาคนพิการที่การกีฬาแห่งประเทศไทยหัวหมาก ก็คิดตลอดเวลาว่า คนพิการซ้อมตั้งแต่เช้าขนาดนี้เลยหรือ คนปกติยังไม่ทำขนาดนี้เลย ไปด้วยความสงสัย ไปถึงประมาณ 6 โมงเช้า เชื่อไหมครับ เวลานั้นมีนักกีฬาคนพิการกว่า 30 ชีวิต ทุกคนพร้อม ซึ่งพอผมเดินเข้าไปทุกคนหันมามองผมด้วยรอยยิ้ม มันทำให้ผมรู้สึกว่าผมไม่ใช่ตัวประหลาด ทุกคนพร้อมจะต้อนรับและทุกคนก็ทักทายผม ซึ่งในนั้นผมรู้จักแค่ไม่กี่คนเอง แต่การต้อนรับของเขาทำให้ผมรู้สึกว่า เขาต้องการเรานะ เขายินดีที่จะต้อนรับเรา ทำให้ผมมีความมั่นใจขึ้นมาในระดับหนึ่ง

โค้ชปริญญา นน์สาเกตุ อดีตนักกีฬาทีมชาติผู้ฝึกสอนทีมชาติและนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทยปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย
โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ อดีตนักกีฬาทีมชาติผู้ฝึกสอนทีมชาติและนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย

ขั้นตอนแรกคือพยายามปรับพื้นฐาน ให้มีมาตรฐานในสิ่งที่ควรจะเป็น เรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น พอเริ่มพัฒนา สามารถฝึกซ้อมนักกีฬาได้เต็มที่แล้วมันทำให้ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมคิดตั้งแต่ตอนแรกมันไม่ใช่ มันไม่ได้ยากเลย กับสิ่งที่ผมคิดว่าการสอนคนพิการจะต้องลำบากอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าตัวนักกีฬาเองเขามีความพร้อมมีความมุ่งมั่นตั้งใจพยายามที่จะเรียนรู้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เวลาเขาซ้อมผมจะเห็นเขาตั้งใจ ส่งเสียงร้องเพื่อกระตุ้นตัวเองอยู่ตลอด ภาพเปรียบเทียบกับนักกีฬาเยาวชนที่ผมสอนตอนนั้นผมก็ต้องปรบมือพยายามกระตุ้นเตือนเขาตลอดเวลา ให้เขามีความตื่นตัวในการเล่น พอหันไปสนใจคนหนึ่งถึงอีกคนหนึ่งก็หยุดพัก ไม่ขยับขาแล้วพอหันไปมองทางนี้ทางนี้ก็คุยแล้ว ผ่านมาทางนี้อีกครั้งก็หายไปแล้วไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งแตกต่างจากนักกีฬาผู้พิการที่เขามีความกระตือรือร้นและความตื่นตัวอยู่ตลอด”

เขาเล่าต่อไปว่า ในบางครั้งหลังการซ้อมระหว่างเวลา 6 โมงเช้าถึง 9 โมงเช้าเสร็จสิ้น ยังมีนักกีฬาบางคนขอซ้อม ซึ่งตนต้องปฏิเสธไป เนื่องจากนักกีฬาที่เป็นผู้พิการถ้าซ้อมในโปรแกรมที่หนักยาวนานเกินไปกว่าที่ร่างกายเขาจะรับได้ มันจะเกิดผลที่ตามมาคือเขาจะเกิดอาการป่วย การฝึกซ้อมก็ต้องอยู่ในระดับที่ไม่หนักจนเกินไป

“หลังจากนั้นผมก็ได้มีโอกาสพานักกีฬาไปแข่งขัน ผมอยากจะบอกทุกท่านว่า ถ้าท่านมีโอกาส อยากให้ไปดูกัน ดูนักกีฬาคนพิการแข่งขันมันไม่น่าเบื่อ ทุกคนในสนามแข่งขันจะมีความบกพร่องหรือมีความพิการที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนไม่เหมือนคนป่วยนะครับ มันเหมือนเราไปในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วมีคนซึ่งมีความแตกต่างตามลักษณะทางกายภาพ แต่ทุกคนสง่างาม ด้วยความที่เขาเป็นนักกีฬา เขาอาจจะเดินด้วยท่าทางไม่สมบูรณ์มาก แต่เชื่อไหมครับ เวลาเขาเข้าไปในสนามผมต้องยิ้ม ทึ่งว่าคุณทำอย่างนั้นได้อย่างไร มันเป็นไปได้ได้อย่างไร มันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ มันไม่น่าเชื่อว่าเขาจะทำได้ บางคนอยู่บนวีลแชร์ เอื้อมไปตีลูกจนล้ม ล้มแล้วเขาก็ลุกขึ้นมาใหม่ด้วยรอยยิ้ม แล้วสู้กันใหม่

ทัศนคติของผมเปลี่ยนไปทันที จากที่เคยมองว่าเขาคือผู้อ่อนแอ จริงๆ แล้วเขาไม่ใช่ สภาพจิตใจของเขาแข็งแรงกว่าที่เราคิด แข็งแรงกว่าร่างกายที่เขาเป็นอยู่ ความสง่างาม คุณเชื่อไหมครับ ทุกวันนี้นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยเราต้องใช้คู่ซ้อมที่เป็นระดับอดีตนักกีฬาเยาวชนทีมชาติหรือนักกีฬาทีมชาติที่เป็นคนปกติเข้ามาฝึกซ้อมร่วมโปรแกรมด้วย เพราะวันนี้เขาพัฒนาตัวเองไปได้สูงถึงขั้นนั้นแล้ว”

โค้ชปริญญาระบุว่า การเป็นผู้ฝึกสอนให้เหล่านักกีฬาคนพิการทำให้ตนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากกว่าที่ตนให้ความรู้แก่พวกเขาเสียอีก เพราะสิ่งที่ตนสอนเป็นเพียงแค่ทฤษฎีทางด้านการกีฬา แต่สิ่งที่เรียนรู้จากนักกีฬาเหล่านี้คือความเข้มแข็งที่เขาต่อสู้ ความเข้มแข็งที่เขามานะมาจนทุกวันนี้ ซึ่งตนตอบไม่ได้เลยว่าวันหนึ่งหากต้องสูญเสียแขนขาตนจะสามารลุกขึ้นยืนและพัฒนาตัวเองได้เท่าพวกเขาเหล่านี้หรือไม่ และจะก้าวผ่านช่วงเวลาย่ำแย่ได้หรือเปล่า

เขากล่าวด้วยความภูมิใจว่า “กว่าจะได้ร่วมแข่งขันในนามทีมชาติ นักกีฬาผู้พิการทุกคนจะต้องเสียสละ และก็ต้องฝ่าฟันมากกว่าคนอื่น ฉะนั้น สิ่งที่ผมและนักกีฬาทุกคนภาคภูมิใจก็คือ วันที่เรารับชัยชนะ วันที่เชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา วันที่เปิดเพลงชาติไทยให้กับทุกคนได้ฟัง ณ เวลานั้น เป็นเพลงชาติไทยที่เพราะที่สุดในโลก เพราะเป็นเพลงชาติไทยที่เกิดมาจาก ความทุ่มเทและแรงกายแรงใจของนักกีฬาทุกคน และที่สำคัญ ผมเชื่อว่าเป็นเพลงชาติไทยที่คนไทยทุกคนจะต้องภูมิใจครับ ขอบคุณครับ”