ThaiPublica > คนในข่าว > “ศุภชัย พานิชภักดิ์” มองโลกมองไทย เตือนเศรษฐกิจโลกซึมลึก – การค้าถดถอย สู่ภาวะ “Partial Collapse”

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” มองโลกมองไทย เตือนเศรษฐกิจโลกซึมลึก – การค้าถดถอย สู่ภาวะ “Partial Collapse”

19 กุมภาพันธ์ 2016


ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ธนาคารทหารไทย(TMB)ได้จัดงานสัมมนา TMB Economic Forum “ส่องเศรษฐกิจโลก เจาะธุรกิจไทย 2016” โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ขอเริ่มต้นว่า สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ในหลายๆ เรื่อง เนื่องจากเวลานี้ผมจบงานจากทางสหประชาชาติแล้ว ถือว่าเป็นเสรีเป็นไทแก่ตนเอง ผมคงจะมีโอกาสพูดอะไรหลายๆ อย่างแบบที่ท่านพิธีกรกล่าวไว้ค่อนข้างตรงไปตรงมา จะมีบางเรื่องที่พูดตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ได้เป็นตัวแทนใคร ก็ไม่คิดว่าจะชมใครเป็นเฉพาะพิเศษ แต่อยากให้ทุกท่าน รวมทั้งประชาชนทั่วๆ ไปได้เข้าใจว่าเรากำลังอยู่ในสภาพเศรษฐกิจประเภทไหน เราจะต้องทำตัวอย่างไรถึงจะรับผลกระทบทั้งหลายที่เข้ามาได้ ให้ดีกว่านั้น ถ้ารับผลกระทบแล้วเราจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากโอกาสหรือความเสี่ยงที่มีอยู่ให้มากที่สุด เราควรจะทำอย่างไรบ้าง

ผมจะขออภัยไว้ล่วงหน้าถ้าบางสิ่งที่พูดจะไปกระทบนโยบายบางอย่างที่เราเห็นอยู่ในวันนี้ ก็ไม่มีวัตถุประสงค์อะไร นอกจากว่าเป็นเรื่องที่ผมมองจากมุมมองของคนที่เรียกได้ว่าอยู่ด้านนอกมองเข้ามาข้างใน หรือเคยอยู่ข้างในพอสมควร

มั่นใจระบบการเงินไทยเข้มแข็ง

ผมอยากจะแสดงความยินดีกับธนาคารทหารไทย จะว่าผมเข้าข้างหรือไม่เข้าข้างอย่างไรก็แล้วแต่ ผมอยากจะแสดงความยินดีในเบื้องต้นไว้ก่อน ผมเห็นตัวเลขของการประกอบการของระบบการเงินไทยแล้ว ผมเป็นผู้ที่สนับสนุนระบบการเงินของไทย ที่มีธนาคารกลางอย่างเช่นธนาคารชาติดูแลค่อนข้างใกล้ชิดอย่างมาก

ผมไม่เป็นแฟนของระบบการเงินที่เราเห็นในประเทศที่เจริญแล้วของโลก บางประเทศมีความเชื่อว่ายิ่งมีการเปิดเสรี ยิ่งมีความเปิดกว้างมากเท่าไรยิ่งเป็นเรื่องดี ผมเชื่อว่าการแข่งขันควรจะต้องมีการเปิดให้เสรี การมีส่วนร่วมของธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาในระบบการเงิน การมีส่วนร่วมจากต่างประเทศจำเป็นต้องมี ส่วนนี้ผมเห็นด้วย แต่ว่าการมีเสรีโดยเชื่อว่าระบบการเงินที่ให้ขึ้นมาเป็นตัวแทนของระบบเศรษฐกิจเลยนั้น ผมไม่เชื่อ ในหลายๆ ประเทศในโลกเราจะเห็นว่าเป็นแบบนั้น

ในประเทศที่ผมไปอยู่มานาน 10 กว่าปี สวิตเซอร์แลนด์นั้นมีธนาคารหนึ่ง คงไม่เอยชื่อ แต่ทุกท่านคงรู้เพราะมีธนาคารใหญ่อยู่ไม่กี่แห่ง ซึ่งวันดีคืนดีมีขนาดใหญ่ 3-4 เท่าของระบบเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะจำตัวเลขได้ไม่แน่นอน อาจจะถึง 5 เท่าด้วย ใหญ่มากเลย เมื่อธนาคารท่านมีปัญหา แน่นอนว่าทั้งประเทศจะต้องมีปัญหาหมดทั้งประเทศ รัฐบาลต้องวิ่งเข้าไปช่วยอุ้ม เวลาธนาคารได้กำไรธนาคารก็เอาเงินมาจ่ายเงินปันผล แจกจ่ายกันไปหมด เวลาขาดทุนรัฐบาลต้องมาอุ้มเอาไว้ ด้วยเงินของเกษตรกร

พวกเราที่สหประชาชาติถือว่าระบบแบบนี้ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ถ้าพวกคุณแข่งขันโดยเสรีกันได้และต้องการมีขนาดใหญ่ ต้องการมาเป็นตัวแปรที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศชาติ ก็ต้องมีความรับผิดชอบ จะต้องไม่มีอะไรที่มีขนาดใหญ่จนล้มไม่ได้ ผมขอเริ่มต้นจากจุดนี้ว่าเราจะต้องไม่มีอะไรที่เป็นขนาดใหญ่จนล้มไม่ได้ ต้องล้มได้

แต่ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่า ในกรณีของบ้านเรา ของเอเชียหรืออาเซียนก็ตาม เราจะเห็นว่าระบบการเงินการธนาคารเป็นระบบที่ยังเป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างมาก อันนี้ผมอยากจะแสดงความยินดีกับระบบธนาคารของเราและกับธนาคารทหารไทยโดยเฉพาะ เพราะว่ามีการดูแลระบบอย่างค่อนข้างจะรัดกุม

ผมได้ยินจากพรรคพวกเก่าแก่ที่อยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ช่วงปี 2550-2551 ก่อนจะเกิดอาการล่มสลายของเศรษฐกิจโลกช่วงปี 2552-2553 มีธนาคารต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยหลายแห่ง แล้วไปขออนุญาตจาก ธปท. ออกตราสารอุนพันธ์ต่างๆ CDO บ้าง CDS บ้าง ที่เป็นพวก swap บ้าง มาในรูปแบบต่างๆ กัน ด้วยเหตุผลที่ว่าระบบการเงินมันมีความเสี่ยง เรื่องของหนี้สินบางชนิด ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ย เราจะมาทำให้ความเสี่ยงลดลง เราจะมาทำให้คนในเมืองไทยได้รับประโยชน์มากขึ้น

พวกนี้แหละครับที่เป็นตราสารต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหา ที่เราเรียกว่าระบบธนาคารเงา หรือ Shadow Banking ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการเงินของโลก เริ่มต้นจากที่สหรัฐอเมริกา แล้วขณะนี้ยังไม่จบด้วย ประเทศสำคัญๆ ของโลกยังมีที่มีธนาคารเงาทำงานอยู่ ยังมีการปรับ ยังมีการลงโทษธนาคารต่างๆ ที่ไปละเมิดกฎระเบียบต่างๆ ที่มีความพยายามที่จะแยกการทำงานแบบอนุรักษ์นิยม คือจากแบบปกติพื้นฐาน Traditional Banking รับเงินฝากปล่อยเงินกู้ ช่วยให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกนำเข้า การก่อสร้างอะไรพวกนี้ แต่มันจะมีธนาคารอีกประเภทที่เป็นลักษณะของการลงทุนคือ Investment Bank ที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับการค้าขายตราสารทางการเงินมากขึ้น

ทั้งนี้ ธปท. ในสมัยนั้นได้ปฏิเสธไป ทำให้เราเป็นระบบที่ค่อนข้างจะมีความสะอาด ไม่ได้ถูกแปดเปื้อนด้วยสิ่งที่ธนาคารในต่างประเทศพยายามจะขยายในบ้านเรา

เตือนคุณภาพสินเชื่อ ผลระบบการเงินโลกเปราะบาง

แต่บ้านเราในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ผมอยากจะแสดงความยินดีโดยเฉพาะกับธนาคารทหารไทย แต่ต้องระวังสักนิดว่า ในโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่เรียกว่าเปราะบางมาก มีความละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก การขยายตัวไม่ค่อยดีนัก ทั้งที่ใช้เงินของประเทศในบางแห่งไปกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป แต่เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้น ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกแบบนี้ บ้านเราเองก็ยังมีความอ่อนแอของเศรษฐกิจพอสมควร การที่ระบบการเงินจะคึกคักมาก นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านรวมทั้งพวกเราที่สหประชาชาติก็พยายามเตือนเสมอว่า ในเหตุการณ์ที่เราต้องระมัดระวัง มันไม่ได้เป็นปัญหาว่าระบบการเงินเราจะได้กำไรขนาดไหน มันเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยระมัดระวังว่าไม่ให้เกิดการเสื่อมสภาพของทรัพย์สินหนี้สินที่เราปล่อยออกไปจากระบบการเงิน

คุณภาพของสินเชื่อกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก มีศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ชื่อของนักเศรษฐศาสตร์มีชื่อคนหนึ่ง ชื่อว่า Hyman Minsky เรียกว่า Minsky moment คือช่วงของภาวะที่เศรษฐกิจมีความคึกคัก คึกคะนอง ดอกเบี้ยถูก ทำอะไรก็ดูเหมือนว่าจะขยายตัวได้ มีการค้าขายที่ดี และในบางช่วงก็มีการปล่อยสินเชื่อไปโดยที่ไม่ระมัดระวัง แต่ในทางกลับกัน เวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากๆ แล้วระบบต้องการรักษาการขยายตัวแบบเดิมเอาไว้ มันจะทำไม่ได้ ซึ่งถ้าเกิดทำไปในเป็นช่วงที่มีปัญหามากๆ มันจะไปรับในสิ่งที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นมา ต้องระมัดระวัง แต่ไม่ใช่ไม่ปล่อยสินเชื่อเลย แค่ต้องระมัดระวัง

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO)

สิ่งที่มีความเป็นห่วงอีกก็คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่คุณภาพน่าสงสัยในระบบการเงินไทยใน 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปีที่แล้ว มันเป็นการเพิ่มขึ้นซึ่งทั้งระบบค่อนข้างจะก้าวกระโดดมาก เพิ่ม 20-30% ของเอ็นพีแอล เป็นการเพิ่มขึ้นที่น่าเป็นห่วง ผมนั่งดูตัวเลขแล้ว ที่ต้องแสดงความยินดีกับธนาคารทหารไทยคือว่า ในหมู่ธนาคารขนาดกลาง-ใหญ่ ธนาคารทหารไทย ไม่ทราบด้วยเหตุผลอะไร จากการบริหารที่แน่นอนว่ารอบคอบ การเพิ่มขึ้นของหนี้ที่น่าสงสัยหรือด้อยลงมันน้อยลง แต่คนอื่นไม่ถึงกับขั้นที่ว่ามีปัญหาหรอก เพราะว่า ธปท. ได้ชี้แจงเมื่อไม่นานมานี้ว่าเราอาจจะมีการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่สงสัยทั้งหลาย แต่การกันสำรองของธนาคารของไทยค่อนข้างดี ในเรื่องของเงินกองทุนก็พอเพียง ดังนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงมากเท่าไร

เลิกดูตัวเลขรายวัน แต่ดูแนวโน้ม

ทีนี้ผมอยากจะออกจากเรื่องนี้ไปสู้เรื่องอื่นๆ ของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่ผมพยายามเตรียมนำข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมาวิเคราะห์ให้ท่านทราบวันนี้ ผมได้ไปดูตัวเลขต่างๆ มากมาย วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นจะลงที่ไหนจะเป็นอย่างไร ก็มีพรรคพวกหลายฝ่ายเตือนมาว่า การทำนายเศรษฐกิจทั้งหลาย โหรทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลายพักหลังจะทำนายไม่ค่อยแม่น ความจริงโหรเศรษฐกิจมีคนเคยพูดว่าทำนายได้แม่นพอๆ กับการโยนเหรียญ ออกหัวก้อย 50:50 ก็คือจะเป็นแบบนั้น

แต่จริงๆ ผมคิดว่า ทางด้านการดูแลเศรษฐกิจ เราไม่ได้ดูแลเรื่องเกี่ยวกับว่าโหรทางเศรษฐกิจหรือว่านักเศรษฐศาสตร์ทำนายว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร อย่างเช่น เศรษฐกิจไทยจะโตปีหน้าเท่าไร ไม่ใช่ว่านั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด หรือเศรษฐกิจปีนี้ตีว่าจะโตใกล้เคียงกับ 3% สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พยายามพูดให้เข้าใจ สิ่งเหล่านั้นต่างหากที่สำคัญกว่าที่จะบอกว่า 3% 2.7% 2.8%

ท่านจะเห็นว่าทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เวลาที่มีการพิจารณาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งหลาย มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ IMF จะพูดเลยว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มต้นโต 3.6% ผ่านไป 2-3 เดือนเหลือ 3.4% 3.1% ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจว่ามันจะเป็น 2% เป็น 3% เป็น 5% ทำไมแนวโน้มมันถึงขึ้น ทำไมแนวโน้มมันถึงลง ทำไมสิ่งที่เคยทำนายไว้มันกลายเป็นแบบนี้ จาก 3% เป็น 2% ทำไมถึงเป็นแบบนี้

ยกตัวอย่างประเทศไทยเป็นตัวอย่างใกล้ๆ กับตัวเรา ปีที่แล้วเราก็มีความคาดหวัง ผมคิดว่าทางราชการก็ดี นักวางแผน ธนาคารทั้งหลาย คิดว่าการส่งออกเมื่อต้นปี 2558 น่าจะขยายตัวได้ 4% เป็นอย่างน้อย จริงๆ ไม่ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็พอจะพูดได้ว่าจะขยายตัวเป็นบวก เพราะว่าในปีก่อนหน้านั้น 2557 การส่งออกเราไม่ขยายตัว ผมจำได้คร่าวๆ ว่าติดลบนิดหน่อยหรือไม่ขยายตัว ดังนั้น จากฐานที่ค่อนข้างต่ำ การขยายตัวในปีถัดมาก็น่าจะสูงขึ้นมา แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราก็ปรับแทนที่จะขยายตัว 4% เหลือเป็น 3% 2% 1% 0% -1% ทั้งปีสรุปออกมาว่าเราส่งออกติดลบไป 5% เรียกว่าผิดจาก 5% เป็น -5%

แต่ทั้งหมดถ้าเราเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้แล้ว อย่างที่ทางรัฐบาลชี้แจง ธปท. ชี้แจง สภาพัฒน์ชี้แจง คือว่าการส่งออกของประเทศที่เรียกว่ามีเศรษฐกิจค่อนข้างเปิดอย่างเศรษฐกิจไทย คือมีการค้าขายกับต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ 60-70% ที่บอกว่าการส่งออกของเราสูงมาก มันเป็นเรื่องจริงอยู่ เราเปิดเสรีในระดับที่สูง การที่เราเปิดประเทศสูง ดูอย่างประเทศสิงคโปร์ เศรษฐกิจโลกดีเราก็ดีด้วย เมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เราก็จะกระทบด้วย ดังนั้น ตอนนี้เขาแนะนำว่าอย่าไปพึ่งการส่งออกอย่างเดียวเลย มันจะเสี่ยง มาพึ่งทั้งการส่งออกค้าขายกับต่างประเทศและการเติบโตภายในเองด้วย ตรงนี้สักครู่ผมจะพูดถึงเรื่องของการขยายตัวแบบนี้ว่าเป็นได้หรือไม่

ฉะนั้น ที่ผมอยากจะเรียนให้ทราบคือว่า เราดูเรื่องของการทำนายเศรษฐกิจแล้ว เราอาจจะดูว่ามันจะเดี๋ยวก็ผิดเดี๋ยวก็ถูก แต่อยากให้ดูว่าการทำนายที่มันมีประโยชน์คือไม่ใช่ไปดูตัวเลขตรงๆ แบบนั้น เราต้องดูว่าแนวโน้มเป็นอย่างไรแล้ว แต่แย่มากคือตามตัวเลขทุกวัน ดูราคาหุ้นทุกวัน ดูการส่งออกทุกวัน ดูราคาสินค้าเกษตรทุกวัน มันไม่ได้ เพราะว่าเรื่องแนวโน้มของเศรษฐกิจมันต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งไปจนไกลมาก เป็นครึ่งปี

ที่สหรัฐอเมริกา คุณฮิลลารี คลินตัน ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยถัดไป บอกว่าเดี๋ยวนี้เรามี Quarterly Capitalism คือระบบทุนนิยมไตรมาส ดูตัวเลขทุกไตรมาสแล้วบอกว่าไตรมาสนี้บวกแล้วดี เศรษฐกิจต้องดีแน่ ไตรมาสนี้ติดลบเศรษฐกิจต้องถดถอย มันไม่ใช่แบบนั้น ตัวเลขระยะสั้นกับตัวเลขระยะยาวทั้งปีมักจะไม่เป็นไปแบบนั้น โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไม่ปกติ ถ้าปกติจะมีแนวโน้มแบบนั้นได้ แต่พอเศรษฐกิจเริ่มขยับทั้งเดินหน้าถอยหลังได้ จะเกิด Quarterly Capitalism แบบนี้ เราไม่ควรจะเชื่อของแบบนี้ เราควรจะดูให้ดีว่าเป็นอย่างไรแน่

กังวลการค้าโลกถดถอย ฉุดเศรษฐกิจโลกล้ม

ขอเรียนนิดเดียวว่า เรื่องการทำนายที่เป็นแบบนี้เกิดขึ้นได้ในภาวการณ์แบบนี้ตลอดเวลา เพราะว่าภาวะของเศรษฐกิจโลก นอกจากของเราเองจะมีปัญหาซึ่งจะพูดต่อไปว่าจะทำอย่างไร ภาวะของเศรษฐกิจโลกก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องที่ผมอยากจะเรียนให้ทราบว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้ของเศรษฐกิจโลก นอกจากเรื่องของราคาน้ำมันที่เราดูกัน เรื่องเศรษฐกิจญี่ปุ่นทำไมตกต่ำ ในยุโรปยังแก้ปัญหาไม่ได้ สหรัฐอเมริกาจะไปได้ดีหรือไม่ ในเศรษฐกิจการค้าของโลก อัตราการขยายตัวการค้าของโลกต่ำเกินเหตุเหลือเกิน มันมีปัญหาอะไรมากมายหรือไม่

ปกติการค้าโลกจะขยายตัว 6-7% เสมอ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2-3% คือการค้าโลกต้องขยายตัวอย่างน้อยเท่าตัวหนึ่งของเศรษฐกิจโลกโดยประมาณ เพราะการค้าขยายขึ้นมาเรื่อยๆ มีประเทศที่เริ่มเปิดการค้าขาย แล้วการค้าขายที่มากขึ้นช่วยให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวด้วย ทำให้เกิดกิจกรรมการค้า การเดินทาง การขนส่ง การเงิน ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เกิดการผลิตที่เรียกว่าห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply Chain จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจยึดโยงกัน ดีก็ดีด้วยกัน ไม่ดีก็อาจจะไม่ดีไปด้วย แต่ส่วนใหญ่จะดึงเศรษฐกิจให้ดีไปพร้อมๆ กัน มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจโลกในเรื่องของการค้าขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากๆ บางไตรมาสติดลบเลยด้วยซ้ำ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ซึ่งทั่วโลกกำลังพยายามพิจารณาว่าเป็นเพราะเรื่องอะไร บางคนบอกว่า พอเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามาก ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ที่คิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก็สวนทาง ต่อหน่วยของการผลิตการขายการค้าโลก ทำให้ได้รายรับในรูปแบบของมูลค่าลดลง การค้าโลกทำท่าว่าจะหดตัวด้วยซ้ำในบางไตรมาส แม้รูปแบบของปริมาณยังขยายตัว อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างมาก เหมือนกับว่าเป็นภาวะของเศรษฐกิจโลกตกต่ำแบบที่ไม่มีการประกาศว่าเศรษฐกิจโลกตกต่ำ

ศุภชัย พานิชภักดิ์-TMB

คงจำกันได้ว่า เวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำจริงๆ การค้าโลกก็หดตัวแรงติดลบหลายเปอร์เซ็นต์ แต่ขณะนี้เป็นเหมือนกับการซึมลึกของเศรษฐกิจโลกที่มีภาวะตกต่ำอยู่แล้วโดยที่เราไม่รู้สึกว่าเรามีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เราไม่เห็นว่าจะมีใครล้มละลายที่ไหน การซึมลึกแบบนี้เหมือนกับเป็นไข้หวัดใหญ่ ยกตัวอย่างวันก่อนที่ผมพูดที่ที่ทำงานเดิมของผมที่เจนีวา ผมยกตัวอย่างของกบในน้ำร้อนให้คนฟัง ว่าท่านจับกบโยนไปในน้ำเดือด กบไม่ตาย กบกระโดดหนีทันที แต่ถ้าท่านจับกบใส่น้ำแล้วค่อยอุ่นเรื่อยๆ กบตาย เพราะว่ากบไม่รู้ว่าน้ำค่อยๆ ร้อนจะกระทั่งตายไป

อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะเรียนให้ทราบตั้งแต่ตอนต้นเลยว่า ถ้าเราดูว่าเศรษฐกิจโลกเวลานี้เหมือนไม่มีปัญหา เพราะไม่มีปัญหาเรื่อง Lehman Brothers ไม่มีปัญหาเรื่อง subprime ที่มีคุณภาพต่ำ มันไม่มีอะไรเลย แต่อย่าลืมว่าเศรษฐกิจขณะนี้ในโลก มีเรื่องอะไรที่เป็นการซึมลึก เป็นเรื่องการค้าที่มันไม่เดิน มีเรื่องที่เราเรียกว่าถดถอยบางส่วน Partial Recession อย่างเช่น ที่สหรัฐอเมริกา มีสิ่งทีเรียกว่า Manufacturing Recession เป็นภาวะการซบเซาของภาวะอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา เพราะมันไม่เติบโต อุตสาหกรรมถอยลงๆ ติดลบๆ ไปโตเฉพาะภาคบริการ สหรัฐอเมริกาที่เติบโตใหม่ได้ตอนนี้เกิดจากการโตของภาคบริการ แต่ว่าภาคอุตสาหกรรมกลับโตติดลบ เหมือนที่กำลังจะเกิดขึ้นในบางส่วนของประเทศจีน ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นแล้ว แต่เกิดขึ้นในบางที่บางประเทศ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

ผมโยงเรื่องนี้มาพูดเพราะว่านักเศรษฐศาสตร์ถูกคนล้อเลียนอยู่เสมอว่าทำนายอะไรก็ผิดอยู่เรื่อย แล้วบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ทำนายบ่อยครั้ง สมมติว่ามีประวัติทำนายว่าจะเกิดการถดถอย 9-10 ครั้ง ทั้งที่มีเกิดขึ้นจริง 3-4 ครั้งเท่านั้น หรือบางคนทำนายทุกปีพอไปถูกเอาบางปี คนที่ทำนายทุกปีว่าเศรษฐกิจตกต่ำก็ถูกเข้าสักปีแน่ อย่างนี้เป็นต้น

พรรคพวกจึงส่งเอกสารมาให้ผมดูว่าจะมาทำนายอะไรตอนนี้ ระวังหน่อย เพราะโหราศาสตร์ของบ้านเมืองไทย ออกมาดูว่าเวลานี้ดาวที่เป็นดาวพระเคราะห์ดาวมฤตยูทั้งหลายเล็งดวงเมืองจะเกิดปัญหามากมาย เรียกว่าเป็นนายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ เป็นอาจารย์เลย มาทำนายว่าจะได้รับอิทธิพลจากดาวเสาร์ ดาวอังคาร อะไรมากมาย จะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา การเงินการคลังไม่ดี ตลาดหุ้นไม่ดี พลิกผัน ไม่มีเสถียรภาพ มีปัญหามากมาย หลายคนดูแล้วส่งมาถามผมว่าปีนี้จะแย่จริงหรือไม่ โหรเศรษฐกิจก็ยังไม่รู้จะไปทางไหนเหมือนกัน แต่โหรทางดาราศาสตร์บอกว่าปีนี้เราแย่แน่

อย่างที่ผมเรียนว่าการวิเคราะห์มาจากไหน เหตุผลที่จะเปลี่ยนจากดีเป็นไม่ดีเป็นเพราะอะไรแน่ แล้วเราถึงจะรู้ว่าวิธีการทำนายด้วยมาตรฐาน ด้วยสมมติฐานอะไรบ้าง อันนี้เป็นเรื่องที่ผมพยายามจะเรียนให้ทราบต่อไป ผมมีปรากฏการณ์ 3-4 เรื่องมาเรียนให้ทราบว่าเป็นอย่างไร ก่อนจะให้รายละเอียดแก่ท่านในบางเรื่องของเศรษฐกิจโลก มันเป็นปรากฏการณ์บางเรื่องที่รับทราบไว้บ้าง เราจะได้ระมัดระวังในการดูแลเรื่องเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร เรื่องที่ให้ระมัดระวัง

ประเทศเกิดใหม่ไม่โต – Fear ในตลาดการเงิน

เมื่อต้นปีนี้มีนักเศรษฐศาสตร์ของโลก 2 คน ออกมาพูดในสิ่งที่น่าจะต้องฟังไว้ คนแรกคือ Larry Summers อดีตรัฐมนตรีการคลังของสหรัฐอเมริกา เขียนบทความลง Financial Times บอกว่าถ้าดูจากสถานการณ์โลกที่ราคาสินค้าตกต่ำเหลือเกิน ราคาพลังงานตกต่ำเหลือเกิน ตลาดหุ้นแกว่งทั่วโลก วุ่นวายไปหมด แต่จริงๆ แล้วการปั่นป่วนที่ไปปรากฏชัดในตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ มันเป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังจริงๆ เพราะตั้งแต่ที่เขาดูมา ความเสี่ยงต่อประเทศกลางๆ แบบพวกเรา ที่เรียกว่าเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ emerging market พบว่ามันจะรุนแรงแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เพราะว่าสมัยก่อนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซามากๆ เศรษฐกิจเกิดใหม่จะเป็นเศรษฐกิจที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกดำเนินไปได้ อย่างน้อย 2 ใน 3 ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกช่วงเวลาแบบนี้มาจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย เช่น จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ เม็กซิโก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจเกิดใหม่กลับติดขัดกันไปหมด ดังนั้น ภาวะที่ไปปรากฏในตลาดหลักทรัพย์หรือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การค้าที่หดหายไป เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงมาก เขาเขียนมาแบบนั้นว่ามันเป็น fear ในตลาดการเงินที่เราคงต้องระมัดระวัง

อีกคนหนึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของโลกเหมือนกัน ชื่อว่า Martin Feldstein เคยเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหลายคน เขาเขียนเตือนในเรื่องของเศรษฐกิจที่ดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก เขาบอกว่าเศรษฐกิจแบบนี้เป็นเศรษฐกิจที่จะใช้เงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมาก เพราะดอกเบี้ยต่ำฝากเงินได้น้อย ก็จะไปหาที่ที่ให้ผลตอบแทนได้มากที่สุด แล้วพอมีดอกเบี้ยต่ำด้วยการอัดฉีดเงินรัฐบาลเข้าไปในตลาดเงิน สุดท้ายจะไปจมอยู่ในตลาดของสินทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ มันจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าเงินเฟ้อของราคาสินทรัพย์ เป็น Assets Price Inflation ซึ่งความเสี่ยงอันนี้วันหนึ่งจะทำให้ของจริงปรากฏขึ้นมาว่าราคามันไม่ได้สูงขนาดนี้ มันจะตกลงมาอย่างรุนแรง

เขาเป็นห่วงและพยายามกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ว่าดอกเบี้ยทิ้งให้ต่ำนานไม่ได้ ต้องขึ้นมาแบบที่ขึ้นปลายปีที่แล้วยังไม่พอต้องขึ้นอีก ดังนั้น ที่สหรัฐอเมริกาจึงมีปรากฏการณ์ว่าคนคาดเดาว่าปีนี้อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอีกอย่างน้อย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวมกัน 1% ตรงจุดนี้ผมคิดว่าทำให้คนตกใจพอสมควรและต้องติดตามต่อไปว่าเศรษฐกิจที่มันชะลอหรือเปลี่ยนไปมันเพราะนโยบายพวกนี้หรือไม่

ผมเรียนไว้แต่ต้นเลยว่า กรณีของสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา ซึ่งที่เกิดขึ้นในปลายปีที่แล้วที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% ผลกระทบกับเศรษฐกิจจริงยังไม่แน่นอน แล้ว Fed จะไม่ทำงานแบบ Quarterly Capitalism ไม่ดูเศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาส เขาดูระยะยาวพอสมควร ไม่ดูว่าเดือนต่อเดือนจำนวนการสร้างงานกี่แสนหน่วย แต่ต้องดูแนวโน้มระยะยาวว่าการลงทุนใหม่มีหรือไม่ หรือคนที่ทำงานในสหรัฐอเมริกาบอกว่าอัตราการว่างงานต่ำมากตอนนี้เป็นอะไรกันแน่ คนที่ได้ทำงานใหม่เป็นงานดีหรือไม่ ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นงานที่ไม่ค่อยประจำเท่าไร เป็นงาน part-time ทำอาทิตย์หนึ่งวันสองวัน หรืองานขายของในตลาดที่ไม่เป็นทางการ พวกนี้ไม่ถือว่าจะช่วยให้เกิดการขยายตัวแบบที่รองรับได้ ที่เรียกว่ายั่งยืน

ถ้าเกิดไม่ยั่งยืน การที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วตอนปลายปี ขณะนี้ทุกคนคิดหนักมาก ผมพูดตั้งแต่ปีที่แล้วว่าสหรัฐอเมริกาไม่ควรรีบขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยต่ำมาก ทั้งๆ ที่อัดฉีดเงินเข้าไปกี่ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 7-8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจยังโตแค่นี้ 2% กว่า ไม่ถึง 2% แล้วการขยายตัวของทางด้านอุตสาหกรรมไม่มีเลย ไปขยายตัวทางด้านบริการแทน ผมคิดว่าถ้าเกิดบอกว่าเศรษฐกิจมีภาวะที่เป็นมรสุมใหม่มาจากทางด้านการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed คงยาก ผมคิดว่าจะไปขึ้นอย่างมากก็อีกครั้งเดียวในปีนี้ หรือไม่อาจจะขึ้นอีกครั้งลงอีกครั้งก็มีคนพูด ไหนๆ ก็จะขึ้นแล้วเพราะกลัวเรื่อง Asset Price Inflation ก็ขึ้นอีกสักครั้งให้คนถอยออกจากตลาดสินทรัพย์ทั้งหลาย แล้วค่อยปรับลงใหม่ถ้าเศรษฐกิจดูจะไม่ดีนัก

ทั่วโลกเวลานี้ แนวโน้มที่จะไปทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นมา ในยุโรปก็ไม่มี เอเชียก็ไม่มี ญี่ปุ่นก็อัดฉีดเงินเพิ่ม ยุโรปอัดฉีดเงินเพิ่ม มีสหรัฐฯ ไปดึงดอกเบี้ยขึ้นมาคนเดียว แล้วทำให้เงินดอลลาร์แพงขึ้นมาใหม่อย่างมากมาย ทำท่าว่าจะเป็นตัวนำเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ ซึ่งมันไม่มีอำนาจการซื้อขนาดที่จะไปดึงเศรษฐกิจโลกขึ้นมาได้ ก็เลยดูว่าจะไปทางนี้ต่อไปไม่ได้

ศุภชัย พานิชภักดิ์ (2)

รับมือความเสี่ยง-ความผันผวนโลก

ผมมีเรื่องอยู่นิดที่โยงกับเรื่องพวกนี้ ที่เกี่ยวกับค่าเงิน เมื่อปีที่แล้ว ผมเข้าใจว่าเป็นวันที่ 15 มกราคา 2558 เป็นวันที่น่าจดจำมากสำหรับตลาดการเงินทั่วโลก เรียกว่าเป็นวัน SNB ฉลองครบรอบ 1 ปีไปแล้ว ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้ตามดูว่าเกิดอะไรขึ้นจนเป็นวัน SNB เป็นชื่อย่อที่มากจาก Swiss National Bank วันนั้นเป็นวันที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ปลดปล่อยค่าเงินสวัสฟรังของตนเองให้ตายตัวไม่ให้เกิน 1.2 ฟรังก์ต่อ 1 ยูโร เศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์แข็งแรงมาก ค่าเงินแข็งมาก เงินยูโรอ่อนมาก ถ้าปล่อยไว้เงินฟรังก์สวิสจะแข็งมาก ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ลำบากมาก เขาประกาศเลยว่าต่อไปนี้ใครจะมาซื้อเงินฟรังก์สวิสจะขายให้หมดเลย ไม่ยอมให้เงินแพงเกิน 1.2 ฟรังก์ต่อ 1 ยูโร ทุกคนก็ไปเล่นเงินฟรังก์สวิสกันใหญ่เลย เพราะคิดว่าอยู่ค่านี้เอง ไม่แข็งไปกว่าเดิมแน่ ปรากฏว่าในวันเดียว SNB ประกาศเลิก ไม่ไหวแล้ว การปล่อยเงินออกไปแบบนั้นรัฐบาลรับไม่ไหว ขอปล่อยให้เงินลอยตัวเต็มที่ วันเดียวเท่านั้นเงินฟรังก์สวิสขึ้นมากว่า 40% จะแข็งค่าต่ำกว่า 1 ยูโรด้วยซ้ำ ต้องยอมปล่อยแบบนั้น ภายหลังพอเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมา เงินฟรังก์สวิสก็กลับอ่อนค่าลงไป

แต่มันสำคัญคือ วันนี้เป็นวันแรกที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมาก ระดับเดียวกับช่วงยกเลิกระบบ Bretton Woods เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ในโลกล้มละลายมาก่อนแล้ว คนที่เข้าไปเสี่ยงในกองทุนบริหารความเสี่ยง หรือ Hedge Fund ที่ทำเรื่องความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนกับอัตราดอกเบี้ย คนล้มละลายไปมากมายในวันนี้เดียว เป็นวันที่ทั่วโลกพยายามเตือนคนให้จำไว้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหลายบางครั้งมันเปลี่ยนอย่างรุนแรงมากมาย โดยที่เราอาจจะคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

อันนี้ผมก็เตือนไว้นิด แล้วโยงมาที่เรื่องของเราในเอเชียและในเมืองไทยว่าเราคงไม่ลืมว่าในปี 2537 หรือ 20 ปี มาแล้ว ที่ประเทศจีนพยายามจะรวมค่าเงิน 2 ตัวเป็นตัวเดียวกัน คือค่าเงินหยวนในประเทศกับที่ต่างประเทศ เหลือเพียงหยวนตัวเดียว แล้วจีนสมัยนั้นมีอัตราเงินเฟ้อสูงมาก พอรวมเสร็จก็ลดค่าเงินหยวนทันทีไป 30% เหมือนกับที่เกิดกับกับ SNB เลย เสร็จแล้วก็เกิดผลกระทบกับพวกเรา พอหลังจาก 2537 ผลกระทบต่อเราที่ซึมลึกเรื่องการค้าที่พูดมาตอนต้น มันทำให้เราแข่งขันในโลกกับจีนไม่ได้ เพราะเราเอาเงินบาทไปผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐ บาทก็แข็งค่าตาม เกิดการขาดดุลการค้า ขาดดุลเดินสะพัดรุนแรงมาก เกิดการเก็งกำไรเรื่องค่าเงินบาทอย่างรุนแรง จนนำไปสู่วิกฤติในปี 2540 เราต้องเปลี่ยนระบบค่าเงินอย่างรุนแรง เราต้องเข้าโครงการช่วยเหลือของ IMF โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงในค่าเงินอย่างรุนแรงและมาจากประเทศที่เราไม่คาดว่าจะมีผลมากมายขนาดนั้น แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้

ผมเล่าเหตุการณ์นี้ให้ฟังเพราะว่าเมื่อต้นปีและปีที่แล้ว สำหรับเศรษฐกิจจีนเป็น 10 กว่าปีมาแล้วที่จีนต้องปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น ก็แข็งมาเกือบ 120% สหรัฐอเมริกาก็กดดันตลอดเวลาว่าจีนค้าขายได้อย่างไร undervalue เงินหยวนตลอดเวลา ตอนนี้ต้องปล่อยให้แข็งค่าขึ้นมา แต่พอแข็งค่าขึ้นมา จีนเริ่มส่งออกไม่ได้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้ดูแย่ขนาดนั้น เพราะการที่จะเกินดุลมากจนเกินไปมันไม่ค่อยเป็นประโยชน์กับประเทศเท่าไรนัก จีนก็ลดการเกินดุลลงมา

จนกระทั่งมาปีที่แล้ว จีนบอกว่าต้องการให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลนานาชาติ ให้เป็นเงินสกุลที่ทั่วโลกรับเหมือนเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน เงินยูโร ให้ได้ ไปที่ IMF ขอให้เอาเงินหยวนเป็นเงินสำรองร่วมหรือที่เรียกว่า SDR ซึ่งเวลานี้รับไปแล้ว และปีนี้เดือนตุลาคมเงินหยวนจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่อยู่ในกระเป๋าของ IMF ซึ่งจะใช้เวลาที่มีการชำระเงินข้ามประเทศทั่วโลก แต่กรณีที่จะทำแบบนี้ได้ IMF ก็วางเงื่อนไขว่าจีนจะต้องปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไว้โดยเสรีไม่ใช่รัฐบาลสามารถแทรกแซงเงินหยวนได้ เงินหยวนก็ลดทันที ปีที่แล้วไม่กี่เดือนเงินหยวนลดไป 5-6% มาต้นปีนี้อาการของเศรษฐกิจจีนมีปัญหาในตลาดหลักทรัพย์ เงินหยวนก็ลดลงไปอีกอย่างรุนแรง ทุกคนก็เริ่มเป็นห่วงเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เมื่อสักครู่นี้ที่ Larry Summers เขียนถึง fear ในตลาดตามที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องตามดูว่าสิ่งที่เตือนไว้จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ อย่าได้ละเลยว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ผมเอาเรื่องวัน SNB มาให้เห็นว่ามันเป็นความผันผวนอย่างมาก

พึ่งส่งออกตามเกณฑ์โลก เลิกสร้างกระแสบริโภค สร้างหนี้

ผมย้ำอีกทีว่า แหล่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเปิดอย่างไทย อย่างอาเซียน อย่างมาเลเซีย อย่างสิงคโปร์ เศรษฐกิจที่เปิดแบบนี้เราจะโตตามธรรมชาติได้เต็มก็ต่อเมื่อมีการค้าขายเป็นปกติ การค้าขายเป็นปกติคือการค้าขายในโลกขยายตัวธรรมดา การกีดกันทางการค้าถูกลงโทษถูกยกเลิกไป มีการเข้าไปแก้ไขให้เปิดเสรีมากขึ้น ประเทศเราเองก็มีการส่งออกสินค้าไปแข่งขันกับคนอื่นได้ มันต้องเป็นการขยายตัวทางด้านการค้า การส่งออกเป็นปกติมากที่สุด

แต่จะให้ปกติเหมือนสมัยก่อน ขยายตัวปีละ 15% คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราอิ่มตัวในเรื่องของการส่งออกพอสมควร เรามีสินค้าซึ่งจำเป็นต้องสร้างคุณภาพให้ดีขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ มีการวิจัยพัฒนาใหม่ การเปิดตลาดใหม่ อะไรต่อมิอะไรให้แข่งขันได้ ดังนั้น ขณะนี้ ถ้าหากเราโตตามธรรมชาติอย่างน้อยไปตามเศรษฐกิจโลกได้ สมมติว่าเศรษฐกิจการค้าโลกโต 2-3% กว่า การค้าก็น่าจะโตไป 2-3% ได้ แต่ถ้าเราเป็นคนที่เก่งกว่าคนอื่นอาจจะโตไปที่ 5% ตามเป้าหมายได้ มันจึงจะเป็นตัวที่ทำให้เราโตในประเทศ เป็นแหล่งของการเจริญเติบโตในประเทศที่มั่นคงขึ้นมาได้

ขณะนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น สาเหตุหลายประการเป็นเรื่องของโลก แต่หลายประการเป็นเรื่องของเราเอง สิ่งที่หลายประเทศคิดแบบนี้คิดแบบไทยมีมากมาย และผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลคิดไว้และออกมาประกาศว่าส่งออก 5% ให้ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หลายประเทศก็เป็นแบบนี้ พวกประเทศใหญ่ๆ มาบอกว่าคุณมาส่งออกมากเกินไป คุณพึ่งพาตลาดโลกไม่ดี อย่าไปเชื่อ เพราะเขาต้องการให้เราขยายตัวในประเทศเอง เพื่อจะได้นำเข้าสินค้าเข้ามาในประเทศเยอะๆ

ถ้าเกิดเราขยายตัวด้วยการให้บริการดีขึ้น การศึกษาดีขึ้น สร้างถนนหาทาง สร้างโรงไฟฟ้า ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น แบบนี้เป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศแบบปกติ แต่การไปสร้างความต้องการสินค้า การอุปโภคบริโภคโดยครัวเรือนอย่างมากมาย บนพื้นฐานของหนี้สิน เป็นอะไรที่อันตรายมากเลย เหตุผลที่สหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาแบบนี้ เพราะตัวความต้องการในประเทศดูจะไม่มีอะไรจำกัดเลย ราคาบ้าน ราคาที่ดิน ราคาหุ้น ขึ้นหมด คนอเมริกันจับจ่ายกันใหญ่ จะกู้หนี้ในตลาดโลกเขาก็บอกว่าในเอเชียมีการออมเยอะมาก มีสภาพคล่องมาก ให้กู้ไปถูกๆ สหรัฐอเมริกาก็โทษเราว่าเราเป็นคนทำให้เขามากู้เงินง่ายๆ ทำให้เกิดการใช้เงินเกินเนื้อเกินตัว ระบบแบบนี้เป็นสิ่งที่เราต้องระวังมาก โดยเฉพาะในอนาคต ในการขยายตัวรอบใหม่

ถ้าเป็นการขยายตัวที่พึ่งความต้องการในประเทศ อุปโภคบริโภคในประเทศ โดยที่มีภาระหนี้ครัวเรือนสูงแบบนี้ แต่รายได้หลักของประเทศที่มาจากการเกษตร ค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้ขึ้น หรือรายได้หดตัวลง ขณะที่หนี้ในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นอะไรที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นในขณะนี้ว่า รัฐบาลจะอัดเงินเข้าไปเท่าไหร่ มันจะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของประเทศ ไม่ไปตามหลักที่ควรจะเป็น ตามตัวทวีคูณที่ควรจะเป็นว่าใส่เงินเข้าไป 1 จะต้องขยายตัว 2 หรือมากกว่า มันไปแบบนั้นไม่ได้ เพราะไปติดตรงที่ว่าหนี้สินมากขนาดนี้ จะไปมีการบริโภคมากกว่านี้คงจะเป็นไปได้ยาก เป็นภาระที่เป็นไปไม่ได้ จะไปเป็นหนี้เพิ่มคงไม่ได้ รายได้ที่จะได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น ผลิตภาพ ผลผลิตต่อหัวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น รายได้สินค้าเกษตรหดตัวลงตามตลาดโลก ไม่ใช่ความผิดของใคร ทั่วโลกชะลอตัวลงหมด

ในขณะที่เป็นแบบนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของเราที่จะมาผ่านทางด้านกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเป็นด้วยการปรับดอกเบี้ยหรือด้วยการกระตุ้นผ่านรัฐบาลอย่างเดียวคงเป็นไปได้ยาก แต่ทางที่จำเป็นที่สุดจะต้องมีการลงทุนโดยรัฐบาล ต้องมีการลงทุนที่สำคัญจากภาคเอกชน ถ้าการลงทุนของรัฐบาลไม่นำไปสู่การลงทุนของเอกชน การที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเท่าทวีคูณมันจะไม่เกิด เห็นหรือไม่ว่าปีที่แล้วรัฐบาลลงทุนช่วยมากเลย ผมคิดว่าเกิน 20% การลงทุนของรัฐบาลขยายตัวมาก ก็ทำให้แทนที่เศรษฐกิจของเราจะทรุดไปมากกว่านี้ก็ไม่ทรุดลง แต่ภาคเอกชนไม่ลงทุนเพิ่มเลย ลดลงด้วยซ้ำ เป็นมาหลายปีแล้ว สัดส่วนการลงทุนเอกชนหดตัวไปเรื่อยๆ การลงทุนของรัฐขยายตัวออกมาเรื่อยๆ

ยังโชคดีที่ประเทศของเรายังไม่ได้เป็นประเทศที่เติบโตจากการลงทุนของรัฐบาลหรือไปอุดหนุนอะไรที่มันเสียหายมากมายจนเกินเหตุ ก็มีบ้างแต่ไม่ถึงระดับที่เคยเกิดในอเมริกาใต้หรือลาตินอเมริกา สุดท้ายเราก็ขยายตัวได้ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างติดขัด ที่รัฐบาลบอกว่าทำแล้วทำไมไม่ขยับ เพราะว่าด้านการบริโภคมันไปไม่ได้จากหนี้สินที่สูง ประกอบกับด้านการลงทุนของเอกชนไม่ยอมขยายตัว ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อไม่มีการลงทุนในประเทศ การลงทุนจากข้างนอกเข้ามา หรือ FDI จากที่ปกติของเราควรจะเพิ่มอย่างน้อย 10% มันก็ไม่เพิ่ม

ศุภชัย พานิชภักดิ์

เตือนตลาดสินค้าตกต่ำ ลูกโซ่กระทบตลาดเงิน

สิ่งที่เราเห็นในขณะนี้ ในโลกที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ความไม่แน่นอนมากขึ้น เราคงจะต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง อยากจะข้ามไปพูดเรื่องนั้นเลย แต่ขอพูดถึงเรื่องนี้อีกสักนิดว่า ในขณะนี้ เรื่องที่ต้องระมัดระวังในตลาดโลก นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง เรื่อง SNB ที่ยกตัวอย่างไปแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือเรื่องตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เวลานี้ตลาดน้ำมัน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ จะนำไปสู่การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจในบางประเทศได้ เวลานี้บริษัทน้ำมันไล่คนออกเป็นว่าเล่นเลย บางบริษัทไล่เป็นหมื่นคน ราคาหุ้นบริษัทพลังงานตกกัน การล่มสลายของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะพันไปสู่ระบบการเงินซึ่งเคยมาหนุนพวกนี้เอาไว้ อย่างที่เรียนไว้ตอนต้น เรื่องธนาคารเงามีปัญหามาก เราเรียกอีกอย่างว่าเป็น financialisation ของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ มันไปปั่นให้ของพวกนี้มีราคาสูงมากขึ้น เหมือนที่ Martin Feldstein กล่าวเอาไว้เรื่องดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน พอมีการถอนเงินออกมา เมื่อเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ตลาดพวกนี้ทรุดลง ความต้องการสินค้าทรุดลง ทำให้คุณภาพของ junk bonds ทั้งหลาย พวกที่ไปขุดเจาะน้ำมันเสี่ยงๆ ในโลก 6,000-7,000 ราย พวกนี้จะเลิกกิจการไปเรื่อย เริ่มมีปัญหาเรื่องหนี้เสีย คนอื่นก็พยายามเข้ามาช่วยไม่ให้เป็นขยะด้วยเงื่อนไขอะไรบางอย่าง เรียกว่า distressed bonds แต่จริงมันคือขยะไปแล้ว บางแห่งเหลือราคาหุ้นไม่ถึง 0.15 ดอลลาร์ จาก 1 ดอลลาร์

พวกนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำ ที่ผมเรียกว่าเวลานี้โลกดูเหมือนไม่มีการถดถอย จากตลาดโลกการค้าที่ชะลอจนหดตัว แล้วพวกนี้กำลังจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ พวกใต้น้ำ คือสินเชื่อที่ไม่มีคุณภาพที่อยู่ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ แรงงาน พลังงาน สุดท้ายมันทำให้ประหนึ่งเหมือนไปลงที่ธนาคาร พอโดนหนักๆ เข้าไป ธนาคารเกิดอาการเซ ทรุด มันไม่ดี

อย่างวันก่อน มีข่าวของธนาคารใหญ่ๆ ในยุโรป คงไม่เอ่ยชื่อ แต่ถ้าดูข่าวจะเห็นว่าบางครั้งมีข่าวเยอะมากว่าธนาคารที่ใหญ่มาก ดูท่าทางจะดี ทำไมวันหนึ่งขาดทุนเยอะเหลือเกิน พอประกาศออกมา หุ้นตกไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในวันสองวัน มีคนไปลือกันว่าอาจจะเพิ่มทุนไม่พอหรือตัวหุ้นที่เพิ่มอาจจะไม่ได้ชำระเต็มจริงๆ แต่จริงๆ เขาขาดทุน คุณภาพของฐานะการเงินเสื่อม ขาดทุนจริงๆ แล้วในยุโรป ผมเรียนเลยว่าธนาคารที่มีคุณภาพของสินทรัพย์เสื่อมมีมาก เพราะว่าไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไม่ดีอย่างเดียว แต่คุณภาพของสินทรัพย์รัฐบาลพวกพันธบัตรรัฐบาลเสื่อม ถ้าถือพันธบัตรของกรีซที่โดนตัดหนี้ แฮร์คัทไปแล้วครั้งแล้วครั้งเหล่าเหลือไม่ถึง 20% ของมูลค่าเดิม คุณภาพก็ต้องเสื่อมไป หรือคุณภาพของพันธบัตรอื่นในยุโรป ซึ่งเวลานี้อยู่ได้เพราะ ธนาคารกลางยุโรปเข้าไปอุ้มไว้ มีหลายประเทศ

แล้วเมื่อไรที่เลิกอุ้ม หรือเมื่อไรที่ Mario Draghi ประธานของธนาคารกลางยุโรป เกิดเบื่อขึ้นมา เพราะทุกวันนี้ออกมาพูดตลอดเวลาว่าเงินไม่จำกัดๆ แต่เวลานี้เงินของพวกเราทั้งนั้นที่อยู่ที่ IMF เยอะนะ ถ้าดูให้ดีเงินของเราทั้งหลายอยู่ที่ IMF เพราะเรามีโควตาอยู่ที่นั้น แต่เราไม่ได้กู้เพราะเราไม่อยู่ในสถานะยากไร้ ขณะที่ยุโรปกู้ได้เยอะมาก IMF เอาเงินไปช่วยประเทศต่างๆ ในยุโรปเยอะมาก แล้วหัวหน้าใหญ่ของ IMF เป็นคนยุโรป เป็นคนดีมาก แต่ผมดูแล้วแปลกๆ นะ ถ้าเกิดประธานธนาคารเป็นลูกหนี้ของธนาคารที่ใหญ่มากด้วย หรือเป็นครอบครัวเดียวกัน แล้วมาปล่อยกู้กันเยอะๆ บอกว่าดีแล้ว อีกหน่อยยุโรปก็ปล่อยได้อีก นี่กำลังจะปล่อยให้กรีซอีก แต่มีเงื่อนไขให้ตัดงบประมาณบำเหน็จบำนาญก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

แต่ขณะนี้ยุโรปอยู่ได้เพราะธนาคารกลางยุโรปพยุงพันธบัตรเหล่านี้อยู่ เข้าไปซื้อพันธบัตรพวกนี้ตลอดเวลา IMF ยังปล่อยเงินให้ยุโรปอีกมากมาย ถามจริงๆ ถ้ามีประเทศอื่นๆ เกิดมีปัญหาใหญ่ๆ ขึ้นมา เขาจะมีเงินเท่าที่ไปช่วยยุโรปหรือไม่ ไม่มี มีไม่พอ เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของโลกที่จะทำให้ระบบการเงินของโลกเปลี่ยนไปจากเดิม เปลี่ยนไปในลักษณะที่ว่าคนที่เคยดูแลเราที่คิดว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกเหมือนเป็นเจ้าของ IMF องค์การการค้าโลก (WTO) ธนาคารโลก ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เขาไม่ใช่คนที่จะมาช่วยเราตลอดเวลาแล้ว เขาจะเป็นคนที่จะล้มมาพังทับพวกนี้ทั้งหมดไปด้วย ทับ IMF WTO ธนาคารโลกไปด้วย แต่เขาจะไม่ยอมเปลี่ยนวิธีที่เขาดูแลสถาบันทั้งหลายเหล่านี้

กังวล TPP ไม่เป็นธรรม แนะควรเจรจาผ่าน WTO

สำหรับ WTO เราเข้าไปดู ผมเข้าไปพักหนึ่ง ตอนนี้มีเพื่อนที่เป็นคนอเมริกาใต้ คนบราซิล เข้าไปดูแล เราพยายามทำให้ระบบเป็นระบบที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะการค้าโลกเป็นเรื่องที่ประเทศใหญ่ๆ 2-3 ประเทศมานั่งคุยกัน ตกลงกันว่าจะคิดภาษีกันเท่านี้นะ จะเปิดสินค้านี้ไม่เปิดสินค้านี้ เราจะอุดหนุนสินค้าเกษตรได้นะ แบบนี้ไม่ได้ เราต้องมีส่วนร่วมใน WTO ผมไปนั่งบริหารมา 3 ปี ตอนนี้คนที่มาจากประเทศกำลังพัฒนาคือบราซิลมาบริหารต่อ ใน WTO จึงเริ่มมีประชาธิปไตยที่แท้จริงมากขึ้น คือประเทศยากจนก็มีสิทธิเหมือนกัน แล้วตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นครับ การเจรจารอบล่าสุดที่โดฮา เป็นการเจรจามา 14-15 ปีแล้ว ไม่จบเสียที เพราะเป็นการเจรจาที่เรียกว่า DOHA Development Agenda (DDA) เป็นเรื่องที่จะช่วยประเทศกำลังพัฒนามากกว่ารอบอื่นๆ เขาไม่ยอมให้จบ

ตรงกันข้าม มีกระบวนการที่ผมต้องมาพูดตรงนี้อีกหน่อย เพราะต้องเตือนประเทศไทย ในเอเชีย และในโลกด้วย ว่ามีกระบวนการที่จะนำเรื่องการเจรจาการค้าโลกออกจาก WTO มาเจรจากันข้างนอก เป็นกระบวนการในเอเชียที่เรียกว่า TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ชื่อเขาสวยเหมือนเป็นหุ้นส่วนกัน แต่คนที่เป็นหัวเรือใหญ่คือสหรัฐอเมริกาที่จะดูแล ซึ่งไม่ว่าอะไรถ้าสหรัฐอเมริกาจะดูแล เขาชวนพรรคพวกได้ 12 ประเทศมาร่วมเจรจา ในด้านตะวันตกของอังกฤษ เขาชวนยุโรปมาร่วมเจรจาเป็นเขตการค้าเสรีชื่อว่า TTIP หรือ Transatlantic Trade and Investment Partnership

ถ้าสองอันนี้สำเร็จ TPP สำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง ยังต้องให้สัตยาบรรณในสภาอีก ส่วน TTIP ยังต้องถกกันในยุโรปในอเมริกาอีกเยอะ แต่ถ้าทำได้เมื่อไร WTO เลิกได้ เพราะว่าสองอันนี้รวมกันก็ 80-90% ของการค้าโลกแล้ว ส่วนประเทศที่เหลือเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีสิทธิออกเสียงอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น เป็นอันตรายที่ผมพยายามเตือน ทาง WTO ก็เป็นห่วง ถ้าหากประเทศไม่กี่ประเทศมากำหนดเงื่อนไข กำหนดอัตรา กำหนดเรื่องระเบียบการค้าโลก ถ้าสหรัฐอเมริกาและยุโรปรวมกันได้ มากำหนดเงื่อนไขการค้าสินค้าเกษตร คุณต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เราจะทำอะไรก็ผิดไปหมด เขาจะกีดกันเราอย่างไรก็ได้ รวมกันแล้วมันจะทำให้ WTO หมดสภาพไป

ย้ำ TPP อาจกระทบประชาชน อย่าสนแต่การค้า

สิ่งที่จะเป็นอันตรายที่เราต้องดูก่อนเข้าไปเจรจา TPP คือต้องดูให้ดีว่า TPP คืออะไร เวลานี้สหรัฐอเมริกาในสภาเองยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไรแน่ แต่เท่าที่รู้แน่นอนขณะนี้ที่ผมได้ดู TPP มีระเบียบใหม่ 30 หัวข้อ ในนั้น 7-10 หัวข้อไม่อยู่ในกฎข้อบังคับของ WTO อย่างเช่นเรื่องของแรงงาน การลงทุน การมีส่วนร่วมของรัฐวิสาหกิจ เรื่องการออกกฎหมายการแข่งขัน มีหลายเรื่องมากมายที่ทำให้ WTO หมดสภาพ เขามากำหนดกันเองนอก WTO ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหลายประเทศรวมกันเป็นพหุภาคีมากำหนดกฎเกณฑ์รวมกันให้เป็นธรรมกับทุกคน

โดยเฉพาะสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องจำเป็น สำคัญมาก สหรัฐอเมริกาในเรื่องผลิตอุตสาหกรรมตอนนี้เลิกได้ เขาคงไม่มีทางแข่งขันได้ในอนาคต เขามาแข่งทางด้านบริการ แล้วสิ่งที่แข่งขันได้ในด้านบริการคือเรื่องการมีทรัพย์สินทางปัญญา ทางด้านลิขสิทธิ์ต่างๆ เอามาขายหากิน ซึ่งแน่นอนว่าควรได้รายได้จากเรื่องนี้ ควรจะส่งเสริมให้มีการค้นคว้ามากขึ้น แต่การที่เอาเรื่องนี้มาบังคับเกี่ยวกับเรื่องความเป็นดีอยู่ดีของประชาชนทั่วโลก ยาแพง สูตรยาไม่เปิดเผย ต้องการเก็บไว้ 30 กว่าปี แม้แต่ประเทศที่เจริญแล้วยังขอว่า 5 ปีได้หรือไม่ ของเราก็ขอว่าเรามีปัญหามากเรื่องโรคบางอย่าง ขอซื้อสิทธิบัตรยามาได้ไหม ราคาไม่ต้องแพงนักหรือขอใช้โดยไม่ต้องแพงมากได้หรือไม่ เรื่องนี้จะมีปัญหามากถ้าเกิดมีการกำหนดเรื่องการค้าโลกนอก WTO

ภายในของเราเอง ทางด้านธุรกิจอยากเข้าไปร่วม เพราะจะได้ขยายตลาดใหญ่ขึ้น ยิ่งใหญ่ยิ่งดี แต่ในส่วนของประชาชนที่จะได้รับผลของการเข้าไปร่วม เพราะว่ามันไม่ใช่แค่การค้าอย่างเดียว มันมี 30 ข้อกำหนด หลายข้อมันเกี่ยวข้องกับประชาชน เรื่องการลงทุน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องรักษาพยาบาล เรื่องข้อพิพาทการค้า เรื่องแรงงาน เยอะแยะมากมาย ซึ่งประเทศต้องพิจารณามากกว่าผลประโยชน์ทางด้านการค้า ผมไปอยู่ที่ WTO มาแล้ว แต่ผมมีความเชื่อว่า WTO จะเป็นประโยชน์ต่อโลกก็ต่อเมื่อช่วยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย

เรื่องของ IMF ตอนนี้มีการใช้เงินเข้าไปในยุโรปมาก ไม่มีใครค้านเพราะว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรปถือหุ้นใหญ่ ทั้งที่เราในเอเชียหรือจีนควรจะถือหุ้นมากขึ้น เขาไม่ยอมแก้ไขกฎระเบียบ IMF เคยมีข้อตกลงกันไว้แล้วว่าจะต้องแก้ระเบียบให้ประเทศอื่น ที่เคยมีหุ้นน้อย มีหุ้นมากขึ้น เพื่อให้มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ตอนนี้สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาเพิ่งอนุมัติเมื่อปีที่แล้วให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนการถือโควต้าที่ IMF แต่เปลี่ยนไปไม่มาก ไม่ทำให้การบริหาร IMF เปลี่ยนแปลงไปได้

ศุภชัย พานิชภักดิ์ tmb1

หนุนสร้างเอกภาพการค้าในเอเชีย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราพิจารณาเรื่องในเอเชียของเรา ทางออกที่สำคัญที่จำเป็นของไทยก็คือว่าเราจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่จะสร้างแรงของอุปสงค์ภายในขึ้นมา ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ในประเทศไทย แต่เราต้องมีพื้นที่มากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังก่อตัวในรูปของ AEC จาก 60-70 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน มันเป็นอาณาเขตที่เราเข้าไปค้าขายได้เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตการค้าขายของเรา เพราะว่านอกจากจะอยู่ติดกันแล้ว เรายังมีเครือข่ายโยงกันหมดได้ในอาเซียน อันนี้เป็นแต้มต่อซึ่งประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเขาอิจฉาเรามาก

ผมเรียนตรงๆ ได้เลยว่าคนที่มองการขยายตัวของอาเซียน ของเอเชีย ปากบอกว่าดีมาก ขยายตัวได้ดีมาก เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวไปด้วย แต่ในใจลึกเขาเป็นห่วงมาก ถ้าเกิดเอเชีย อาเซียนใหญ่ขึ้นมาในอนาคต ใครเป็นคนกำหนดเรื่องของนโยบายการค้าโลก ใครกำหนดกฎระเบียบโลก กฎระเบียบการเงินโลก จะเป็นพวกเราในเอเชียต่อไปในอนาคต

แต่กลายเป็นว่า พวกเราในเอเชียไม่มีความเป็นเอกภาพอะไรทั้งสิ้นเลย เป็นอะไรที่อ่อนแอเหลือเกิน เป็นจุดอ่อนเหลือเกิน ทั้งที่เรามีกำลังมากมาย ทั้งการค้า การผลิต อุตสาหกรรม อาจจะบอกว่าด้านการค้นคว้า ด้านวิจัย ด้านบริการ แต่พวกนี้เรียนรู้กันได้ ขยายตัวต่อไปได้ แต่ขั้นแรกถ้าเรารวมตัวกันไม่ติด เป็นการค้าในเอเชียที่มีพลังที่สูงและโยงกันได้ ลดอุปสรรคซึ่งกันและกัน มันกำลังเกิดขึ้นผ่าน AEC จะเกิดองค์กรอีกองค์กรคือ RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership เป็นการรวมอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะเป็นอะไรที่ใหญ่มาก เราจะมีส่วนร่วมที่จะสร้างให้ตลาดเป็นตลาดที่เชื่อมโยงใกล้ชิดมากขึ้น มันเป็นตัวผลักดันที่ผมเรียนชัดเจนว่าเราจะขยายตัวก้าวข้ามสิ่งที่มันเป็นอะไรที่ติดขัดอยู่ตอนนี้ โดยการค้าขายอย่างเดียวหรือจะเป็นการดึงการลงทุนจากข้างนอก เป็นทางเดียวในแง่ของระดับการค้าร่วมกันที่ใหญ่ขนาดนี้

หรือเรื่องของ CLM กัมพูชา ลาว เมียนมา ไปถึง CLM2 มาเลเซียด้วย ไทยเราต่อไปในอนาคตไม่ต้องทำอะไรมากมาย เราเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว ผมพูดเรื่องอาเซียนไปแล้ว RCEP สำคัญมาก โดยเฉพาะกับไทย TPP เข้าไปโดยไม่มี CLM เลยและไม่มีทางที่จะเข้า อีก 10 ปีก็ไม่ได้เข้า คือไทยยังเข้าได้ ถ้าหาก CLM เข้าไม่ได้ เขาจะมีปัญหาเรื่อง Rule of Origin แหล่งกำเนิดสินค้าต้องไปอยู่ที่เดียวในการรวมกลุ่มสินค้า แต่ถ้าเป็น RCEP จะรวมอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ไม่แบ่งแยก ตอนนี้แบ่งแยกมาก น่าเกลียดมากที่เราไม่เข้าไปด้วยกันทั้ง 10 ประเทศ มันไม่เป็นอะไรเลยที่แสดงให้เห็นว่า AEC คืออะไร ผมไปพูดหลายทีแล้ว AEC ดีมาก แต่มันไม่มีทางดีได้ถ้าแยกกันอยู่แบบนี้

ทั้งนี้ CLM2 มีความสำคัญมาก CLM กับเราสัมพันธ์กับเราใกล้ชิด รัฐบาลทำถูกต้องเรื่องพัฒนาเขตเชื่อมโยงรอบชายแดนของเรา รวมไปถึงมาเลเซียทางใต้ของเราด้วย ผมเคยทำโครงการไว้นานมาแล้ว โครงการ IMTGT คือ อินโดนิเชีย มาเลเซีย ไทย GT คือ Growth Triangle คือพยายามเอาจังหวัดภาคใต้รวมกับด้านเหนือของมาเลเซีย รวมกับเกาะของอินโดนีเชีย คือให้เป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ถ้าอาเซียนยังไปไม่ไกลมาก แต่ภูมิภาคประชาชนเดินข้ามชายแดนตลอดเวลา เปิดให้เต็มที่เลย เป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาได้ดีมากๆ ผมทำมา 15 ปีมาแล้ว พอออกจากรัฐบาลมาก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร หรือโครงการ GMS มันเป็นโครงการเชื่อมโยงทางใต้ยูนนานกับเวียดนาม ไทย พม่า ลาว ทางด้านแม่โขง ทุกอย่างเริ่มหมดเร็วกว่า AEC ก่อน

แต่ถ้าเกิดเราไปปล่อยให้คนอื่นมากำหนดเงื่อนไขการเป็นตลาดการค้าเสรีได้โดยที่เราหรือจีนหรืออินเดียหรืออาเซียนที่เหลือไม่มีส่วนร่วม ในขณะนี้เห็นหรือไม่ว่าอาเซียน 10 ประเทศ ถามว่าใครจะไปได้ใครจะไปไม่ได้ ไทยเป็นประเทศที่น่าจะไปได้ดีที่สุด เพราะเครือข่ายของการค้าในอาเซียนเราแข็งแกร่งมาก เพราะฉะนั้น จะให้เป็น AEC ของธุรกิจใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ เรามีมากแล้วเครือข่ายที่เป็นธุรกิจใหญ่เข้าไปในอาเซียน ผมว่าครบถ้วนหมดแล้ว รัฐบาลต้องส่งเสริมเอสเอ็มอี ต้องให้ความรู้แก่ท่านเหล่านี้มากขึ้นด้วย คิดว่าต่อไปก็น่าจะเกิดขึ้น

ท่านจะเห็นว่าอินโดนีเซียเริ่มแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน จะบอกว่าคล้ายกับไทยก็ไม่ได้ เพราะว่าเราสร้างถนนหาทางอะไรต่ออะไรมากมายไปแล้ว เขาก็จะสร้างรถไฟความเร็วสูงสักเส้นหนึ่ง อาจจะสร้างถนนใหญ่เชื่อมโยงกัน เปิดท่าเรือใหม่ๆ เขาเพิ่งเริ่มต้นทำ ประเทศอื่นอย่างฟิลิปปินส์ ดูเหมือนจะมีการขยายตัวอยู่ ดูจะดี แต่เขาโตมาจากระยะก่อนหน้าที่เขาเติบโตต่ำมาก การค้าขายยังขาดโครงสร้างพื้นฐานอยู่

เวียดนามขยายตัวดีมาก เป็นตัวอย่างที่ดีมากของไทย เพราะเวียดนามขยายตัวในลักษณะที่ถูกต้อง คือใช้เทคโนโลยีมากขึ้นตลอดเวลา แต่ถ้าไปดูเงินสำรองระหว่างประเทศ ไทยมีประมาณ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามมีไม่ถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้อยกว่าเรามาก การเติบโตของเวียดนามยังอีกไกลกว่าจะมาถึงจุดของไทย กว่ามาไล่เราทัน เราไปลงทุนในเวียดนามก็ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น เวียดนามดีเราก็ดีด้วย แต่ว่าจะให้ไล่ทันคงยังไม่ทัน เวียดนามพัฒนามาถูกต้องมาก คือพัฒนาเศรษฐกิจไปใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น มีคนไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เวลานี้ถอยออกมาจากการลงทุนในจีน ไปลงทุนที่เวียดนามมากกว่าไทยเท่าตัวหนึ่ง คือมาไทยด้วยแต่ไปที่อื่นมากกว่า เป็นคำถามว่าไทยจะทำอย่างไรที่จะดึงการลงทุนเข้ามาได้มากขึ้น

ถามว่า AEC จะไปได้ดีหรือไม่ ผมเรียนได้เลยครับว่า ถ้าสามารถเปิดเสรีได้ตามที่ตกลงกันไว้เต็มที่ ไทยจะได้ประโยชน์มาก แต่ขณะนี้ขึ้นอยู่กับเอกภาพของ AEC ว่าจะไปได้เต็มที่แบบนั้นหรือไม่ 4 ประเทศใน 10 ประเทศอาเซียน ไปร่วมกับ TPP แล้ว มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม สิงคโปร์ ที่เหลืออีก 6 ประเทศเป็นเมียนมา เป็นกัมพูชา เป็นลาว คงยังไม่คิดจะเข้าไปใน TPP แต่จะเหลือไทย อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์ทุกคนเชื่อว่าจะเข้าไปร่วมด้วยแน่นอน

แบบนี้จะเหลืออะไรกับ AEC เพราะเวลานี้ถ้าทุกคนเข้า TPP ก็ค้าขายกับ TPP ก็เป็นลักษณะที่ว่ามีอาเซียนอยู่ด้วยแน่นอน แต่ TPP คือการดึงศูนย์ถ่วงการค้าจากเอเชียไปทางด้านสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโอบามาพูดไปตอนต้นปี เขาจะมีแถลงการณ์ State of the Union ทุกต้นปี ประธานาธิบดีออกมาบอกว่าปีนี้จะกำหนดงบประมาณ จะมีนโยบายในด้านต่างๆ อย่างไร ปกติจะไม่ค่อยพูดเรื่องการค้าเท่าไร แต่ปีนี้พูดชัดเจน ขอร้องสภาคองเกรสให้ลงมติรับข้อตกลง TPP เพราะว่าเราจะปล่อยให้ประเทศอื่นอย่างจีนมากำหนดนโยบายการค้าหรือกฎเกณฑ์การค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ได้ เราต้องกำหนดเอง เป็นประโยคสำคัญมาก ผมไม่ได้พูดเอง ชัดเจนมากว่าเราไปทำ TPP เพื่อกันจีน แบบนี้ไม่ใช่เหตุผลที่บอกว่าเราต้องเข้า TPP ช่วยกันป้องกันจีนหรือไม่

ตอนนี้ตลาดที่สำคัญของโลก ไม่ใช่ของไทยคนเดียว คือจีน ไม่ใช่สหรัฐฯ ด้วย แม้จะใหญ่ไม่เท่าแต่อีกไม่กี่ปีก็จะโตขึ้นมาเท่า เพราะขนาดประชาชนใหญ่เหลือเกิน ไม่ต้องบอกว่าเก่งหรือไม่เก่ง แล้วการค้าของเรากับจีนใหญ่ขึ้นทุกปีๆ แต่กับสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ลดลงๆ มันเป็นธรรมชาติ จีนขยายตัวมากกว่า อยู่ใกล้กว่า ซื้อของมากกว่า มันก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเราเข้าร่วมกระบวนการที่ไม่กี่ประเทศเป็นใหญ่ กลายเป็นเราต้องไปกีดกันเอาไว้ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ แบบนี้เราต้องคิดให้มาก ต้องระวังตัวให้ดีว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ห่วงโลกค่อยๆ ล้มทีละส่วน

ในตอนสรุป นอกจากจะให้กำลังใจกับผู้บริหารนโยบายทั้งหลายแล้ว ประการสำคัญอย่างแรกคือ ผมไม่เชื่อว่าอาการกำลังล่มสลายต่างๆ จะบังคับเราแบบนั้น ในโลกนี้การล่มสลายแบบ Minsky moment จะมาในช่วงที่เราไม่รู้ตัว ขณะนี้การประชุมที่ World Economic Forum ทุกคนพูดกันมากเลยว่าปีนี้จะเกิดภาวะถดถอยหรือไม่ พูดจนกระทั่งต้องสรุปว่า เวลานี้รู้หมดแล้วว่าอาจจะเกิดได้ เราต้องป้องกันเอาไว้ก่อน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรารู้ว่ามันจะไม่เกิด มันจะเกิด แล้วมันจะป้องกันไม่ได้ เรื่องจะเป็นแบบนี้มากกว่า

แต่สิ่งที่ผมห่วงและย้ำคือ มันจะเป็นอะไรที่เป็น sectoral recession มันจะเป็น manufacturing recession จะเป็น partial collapse มันจะเป็นเรื่องของตัวพันธบัตรบางตัว เงินกู้บางตัว ธนาคารบางแห่ง ในปีแบบนี้ การที่เราจะขยายตัวไป ผมคิดว่าถ้าเราขยายตัวไม่สูงนัก ผมไม่ทายว่าจะเป็น 3% 5% แต่ผมคิดว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้องในขณะนี้ ที่ว่าการขยายตัวเร็วในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกมันแย่มันมีโอกาสเกิด ยกเว้นเรามาแก้โครงสร้างของเราให้ดีขึ้น อะไรที่เป็นจุดอ่อนของโครงสร้างของเรา ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวกับกฎระเบียบทั้งหลาย เรื่องของธรรมาภิบาล

สิ่งที่รัฐบาลทำแล้ว ที่ผมคิดว่าดีมาก เป็นตัวอย่างที่ดีมาก คือไปแก้ไขเรื่องของราชการ ตอนนี้ความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum เขาชมเรา เราตกไป 1 อันดับ แต่เรื่องธรรมาภิบาลของรัฐบาลเราดีขึ้น เรื่องประมงเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ประมงเป็นปัญหาที่มีมานานมากแล้ว มันเป็นปัญหาที่ไม่มีใครในโลกที่ยอมได้ เราก็แก้ไปแก้มา จับไปจับมาอยู่เรื่อย ครั้งนี้ที่เราลงมาแก้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะโดนใบเหลืองใบแดงได้ เราต้องทำให้เกิดขึ้นจริงๆ หรือทางด้าน ICAO มาดูเรื่องการบิน เป็นไปได้อย่างไรว่าประเทศที่ด้านควบคุมการบินมีคนไม่พอมาดูให้มีความปลอดภัย จะปล่อยให้มีการเกิดขึ้นของเอกชน 10-20 แห่งที่ไม่ปลอดภัย เขามาเตือนก็ยังดีกว่าได้ใบแดง เราต้องนำมาแก้ไข

การลงทุนด้านการศึกษาของไทยไม่ต่ำกว่าประเทศใดในโลก สูงมาก แต่ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่รู้ว่าใครผิดแต่มันสะสมกันมาเรื่อยๆ เราสร้างตึกเก่งมากเลย เราสร้างโรงเรียนอะไรต่อมิอะไร สร้างสนามกีฬา แต่เราไม่สร้างสมอง ครู เรื่องของการค้นคว้าวิจัย

ลดความเหลื่อมล้ำ สำคัญกว่าการเติบโต

ดังนั้น ในประการแรก เราเป็นห่วงมากเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ เราจะไม่ขยายตัวก้าวกระโดดแบบนั้น ถ้าปีนี้ขยายตัวพอๆ กับปีที่แล้ว เห็นใจรัฐบาล อย่าไปบ่นมากว่าจะไปไม่ถึง 2.8% 2.9% หรือ 3.2% แต่ขอให้ดูหน่อยว่าสิ่งที่เป็นตัวอื่นๆ ทั้งหลาย เรื่องความโปร่งใส เรื่องประสิทธิภาพการทำงานของราชการ การดูแลการฉ้อฉลมันดีขึ้น เราต้องดูแลเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เพราะฉะนั้น เหมือนกับที่สหประชาชาติทำขณะนี้ ที่มีเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาบอกว่าดูแลตัวเลขการขยายตัวไม่ได้ดูแลตัวเลขรวม เขาดูการขยายตัวที่ต่ำที่สุด 40% ข้างล่าง ดูว่าคนที่ยากจนที่สุด 40% รายได้เขาเพิ่มขึ้นเท่าไร ไม่ใช่ดูว่าทั้งหมดเท่าไร ทั้งหมดขยายตัวเท่าไร ท่านทราบไหมครับ เวลานี้มหาเศรษฐีของโลกระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีแค่ 60 คนเท่านั้น เป็นเจ้าของความร่ำรวยของโลกเกินครึ่งของโลก 60 คนเองเท่านั้น โลกจะมีความเหลื่อมล้ำแบบนี้ไม่ได้ แล้วความเหลื่อมล้ำของเราในเอเชียจะปล่อยให้เพิ่มขึ้นทุกปีไม่ได้เด็ดขาด อันนี้เป็นเรื่องหลักมากกว่าการขยายตัวที่ต้องเข้าไปดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง

ในตัวนี้ ที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญมากๆ เรื่องหนึ่ง คือ การลงทุนในเรื่องการศึกษา ถ้าเป็นการลงทุนในอุดมศึกษาที่คนรวยมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงอย่างเดียว คนจนเข้าเรียนไม่ได้ มันก็เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ที่เราพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษามันเป็นเรื่องที่หนักหนาจริงๆ ผมจะพูดเรื่องนี้แล้วจะให้ข้อมูลกับรัฐบาลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การลงทุนด้านการศึกษาของไทยไม่ต่ำกว่าประเทศใดในโลก สูงมาก แต่ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ไม่รู้ว่าใครผิดแต่มันสะสมกันมาเรื่อยๆ เราสร้างตึกเก่งมากเลย เราสร้างโรงเรียนอะไรต่อมิอะไร สร้างสนามกีฬา แต่เราไม่สร้างสมอง ครู เรื่องของการค้นคว้าวิจัย เรื่องมาตรฐานของนักเรียนของเรา สิ่งที่เขามาประเมินเด็กของเรา PISA อะไรที่พบว่าเด็กเราจะสอบตก มันเป็นความจริงทั้งนั้น เราเข้า AEC เพื่อนผมพูดเสมอว่าเราจะแพ้เขาเรื่องภาษา ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ มันมีภาษาอื่นๆ ในอาเซียน คนอื่นเขากระตือรือร้นมาก จะเรียนภาษาเราด้วย ภาษาอังกฤษด้วย ภาษาฝรั่งเศสด้วย

แต่ของเราที่ผมขอเลยไม่ว่าใครจะทำดีอย่างไรก็ตาม ถ้าทำแล้วหยุดๆ รัฐบาลนี้มาทำรัฐบาลอื่นมาเปลี่ยนโครงการ มันจะไม่มีทางดีขึ้นเลย

ระบบการศึกษาที่ให้มีความเสมอภาคเป็นเรื่องยาก ต้องปฏิรูปหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน ซึ่งเงินเยอะแต่ผิดวัตถุประสงค์หรือไปกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับไปมากเกินเหตุ พอไกลออกไปก็ค่อยๆ แผ่วไปทีละนิดๆ แบบนี้ไม่ได้ แล้วการศึกษาที่เราต้องการมากตอนนี้ เราขาดอาชีวศึกษา ไปดูตัวเลขเร็วๆ นี้บอกว่า 2 แสนคน แต่ผมว่า 3-4 แสนคน เราขาดช่าง ช่างไฟฟ้า ช่างฝีมือ ช่างไม้ ช่างทุกประเภท เราขาดหมด เราผลิตไม่พอ แล้วเงินเดือนของพวกอาชีวะศึกษาต่ำกว่าจบปริญญาตรี

นอกจากนี้ วิทยฐานะก็ไม่เท่าเทียม ต้องให้เท่ากัน เงินเดือนขอฝากเอาไว้ พูดมาหลายครั้งแล้วว่าเงินเดือนของราชการที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงคือเงินเดือนครูกับตำรวจ เราอย่าพูดว่าเพิ่มแล้วทำงานไม่ดี ไม่ดีต้องให้ออกไป แต่เราต้องให้เงินดีขึ้นก่อน เขาจะได้กระตือรือร้นในการทำงาน ถ้าคุณภาพครูไม่ดีขึ้น ไม่มีทางที่คุณภาพของนักเรียนจะดีขึ้น ถ้าคุณภาพของตำรวจไม่ดีขึ้น ไม่มีทางที่ความปลอดภัยของประเทศจะดีขึ้นได้

ผมมีอีกหลายเรื่องซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำแบบนี้ แต่ทั้งหมดนี้ขอเรียนว่านโยบายเศรษฐกิจที่ดีไม่มีทางที่จะทำแล้วเกิดขึ้นเร็วจบเร็ว กระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว สร้างโครงการตามภูมิภาคแล้ว จะเกิดขึ้นเร็วขนาดนั้น แต่ว่าทำถูกแล้ว ขณะนี้อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะค่อยๆ ดีขึ้น เป็นพื้นฐานที่ดี แต่ของเราที่ผมขอเลยคือ ไม่ว่าใครจะทำดีอย่างไรก็ตาม ถ้าทำแล้วหยุดๆ รัฐบาลนี้มาทำรัฐบาลอื่นมาเปลี่ยนโครงการ มันจะไม่มีทางดีขึ้นเลย ต้องการความต่อเนื่องเสมอต้นเสมอปลาย คนที่เขาเจริญได้ดี ไม่ได้เป็นเพราะเขามีโครงการหรือว่ามีนโยบายดี เรารู้หมดทุกอย่างแล้ว เราทำสะสมมาหมดแต่ละนโยบายแต่ละรัฐบาล ส่วนไม่ดีก็มี แต่ส่วนที่ถูกต้องต้องสนับสนุนให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ คนอื่นๆ มาต้องทำต่อ ต้องทำให้จบ