ThaiPublica > เกาะกระแส > สตง. สรุปผลสอบปมราชภักดิ์ “ไม่พบสิ่งผิดปกติ” ทั้งเรื่องหัวคิว-เงินบริจาค หล่อพระรูปไม่แพงเกินจริง

สตง. สรุปผลสอบปมราชภักดิ์ “ไม่พบสิ่งผิดปกติ” ทั้งเรื่องหัวคิว-เงินบริจาค หล่อพระรูปไม่แพงเกินจริง

7 กุมภาพันธ์ 2016


581119ราชภักดิ์-620x467

หลังตกเป็นข่าวมากว่า 4 เดือน ในที่สุดการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์บนพื้นที่โรงเรียนนายสิบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีมูลค่าในการก่อสร้างกว่า 1 พันล้านบาท และดำเนินการโดยกองทัพบก (ทบ.) สมัยที่ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร เป็นผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผบ.ทบ. (ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – เดือนกันยายน 2558) ก็ใกล้จะได้บทสรุป เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เตรียมสรุปผลการตรวจสอบเสนอต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ หลังมีการเรียกเอกสารจาก ทบ. ไปตรวจสอบ พร้อมกับเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ รวมถึงเดินทางไปตรวจสอบในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว

ก่อนหน้านี้ ช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 แหล่งข่าวระดับสูงใน สตง. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด โดยเฉพาะในส่วนของเงินบริจาคกว่า 900 ล้านบาท ทั้งส่วนที่บริจาคผ่านกองทุนสวัสดิการกองทัพบก หรือผ่านมูลนิธิราชภักดิ์ เพราะมีใบเสร็จยืนยันการบริจาคชัดเจน

“เหลือเพียงประเด็นเดียวที่ต้องตรวจสอบต่อไป คือการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามทั้ง 7 พระองค์ ว่ามีการเรียกรับค่าหัวคิวจากโรงหล่อตามที่เป็นข่าว รวมถึงมีการตั้งราคาจัดซื้อจัดจ้างที่สูงผิดปกติหรือไม่” แหล่งข่าวระบุ

ตลอดช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้ลงพื้นที่อุทยานราชภักดิ์ด้วยตัวเอง พร้อมกับเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ โดยเฉพาะ “เซียนพระ อ.” ที่ถูกพาดพิงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับค่าหัวคิวจากโรงหล่อก็เดินทางมาให้ปากคำเป็นครั้งแรก ก่อนที่ สตง. จะได้ข้อสรุปว่า ไม่พบสิ่งผิดปกติในการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามทั้ง 7 พระองค์แต่อย่างใด

นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

อย่างไรก็ตาม แม้ สตง. จะสรุปว่าโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่มีสิ่งผิดปกติ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องตรวจสอบต่อไป นั่นคือ การขอรับบริจาคเงินเพื่อนำมาก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของ ทบ. สมัย พล.อ. อุดมเดช ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544  ซึ่งตามระเบียบฯ นี้ กำหนดว่าผู้ฝ่าฝืนจะต้อง “ถูกลงโทษทางวินัย” ส่วนเงินบริจาคที่ได้มาจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ นี้จะต้อง “ถูกแช่แข็ง” เอาไว้ก่อน ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) จะต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามความคืบหน้ากรณีนี้จาก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กคร. คนปัจจุบัน ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ว่าจะทำอย่างไรกับเงินบริจาคกรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ แต่ ม.ล.ปนัดดากลับปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามตลอดมา

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ไปยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องในโครงการนี้ด้วย โดยปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาจาก ป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตกเป็นข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อมีแหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไม่เปิดเผยชื่อ) ออกมาให้ข่าวว่า อาจมีการทุจริตทั้งในส่วนของการรับเงินบริจาคและการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะกรณีเรียกรับค่าหัวคิวจากโรงหล่อในการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยาม รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยอาจมี “เซียนพระ อ.” เข้าไปเกี่ยวข้อง

กระทั่ง ทบ. ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มี พล.อ. วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ก่อนจะสรุปว่าไม่มีการทุจริต แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังไม่ลดลง กระทั่ง กห. ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาอีกชุด โดยมี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัด กห. เป็นประธาน ที่แม้จะสรุปรายรับ-รายจ่ายในโครงการนี้อย่างละเอียด แต่กลับไม่ได้ตรวจสอบกรณีเรียกรับค่าหัวคิวจากการหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามแต่อย่างใด กระทั่ง ศอตช. ได้มอบหมายให้ สตง. เป็นหน่วยงานหลักในการเข้าไปตรวจสอบ ก่อนจะสรุปว่าไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด