ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เงินครูหาย 2,500 ล้าน สกสค.ชงรมว.ศึกษา ฟ้องไล่เบี้ยธนาคาร นายแบงก์ชี้ลูกค้าถอนเงินตามเงื่อนไข-ยืนยันไม่จ่าย

เงินครูหาย 2,500 ล้าน สกสค.ชงรมว.ศึกษา ฟ้องไล่เบี้ยธนาคาร นายแบงก์ชี้ลูกค้าถอนเงินตามเงื่อนไข-ยืนยันไม่จ่าย

9 กุมภาพันธ์ 2016


หลังจากพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งวันที่ 16 เมษายน 2558 ให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐ(คตร.)ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดของคุรุสภา, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และองค์การค้าของ สกสค.

คดีที่มีความคืบหน้ามากที่สุดในขณะนี้ จะเป็นคดีอดีตผู้บริหารสกสค.อนุมัติเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ของ“กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา”(ช.พ.ค.) รวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยที่ไม่มีหลักประกันเงินกู้ที่ชัดเจน สุดท้ายบริษัทบิลเลี่ยนฯไม่สามารถคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้กองทุนช.พ.ค.ได้ ทำให้กองทุนได้รับความเสียหาย 2,500 ล้านบาท

ทางสำนักงานสกสค.จึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ผู้บริหารบริษัทบิลเลี่ยนฯ หรือ “เสี่ยบิ๊ก” ประธานสโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจ กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีปลอมแปลงตั๋วสัญญาใช้เงิน ร่วมกันฉ้อโกง หลังจากนายสัมฤทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 ทางสกสค.เตรียมทำหนังสือเสนอต่อพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความเห็นชอบให้ดำเนินคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายกับธนาคารแห่งหนึ่ง กรณีธนาคารอนุญาตให้ผู้บริหารสกสค.ถอนเงิน 2,100 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทบิลเลี่ยนฯ โดยพลการ โดยก่อนหน้านี้สำนักงานสกสค.เชิญผู้บริหารธนาคารรายนี้มาหารือ ธนาคารยืนยันว่าได้อนุญาตให้ผู้ฝากเงินถอนเงินและปิดบัญชีอย่างถูกต้อง จึงไม่ชดใช้เงินคืนให้กับสำนักงานสกสค.(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ธนชาต 2

โดยผู้บริหารของธนาคารแห่งนี้ เปิดเผยว่า สำหรับเงื่อนไขการถอนเงินตามที่กองทุนช.พ.ค.ตกลงทำสัญญาไว้กับธนาคาร ระบุรายชื่อผู้มีอำนาจถอนเงิน 4 คน คือ 1.นาย A 2.นาย B 3.นาย C และ 4.นาย D ทั้งนี้การเบิกถอนเงินทุกครั้ง ต้องมีผู้มีอำนาจลงนามในใบถอนเงิน 2 ใน 4 คน โดยในวันที่ 27 ธันวาคม 2556 นาย A และนาย B เป็นผู้ลงนามถอนเงินจำนวน 2,100 ล้านบาท และปิดบัญชี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินฝาก ทางธนาคารจึงโอนเงิน 2,100 ล้านบาท ผ่านระบบบาทเน็ตไปเข้าบัญชีเงินฝากของบริษัท บิลเลี่ยนฯ ตามคำร้องขอของผู้ฝากเงิน ส่วนดอกเบี้ยของกองทุนช.พ.ค. ทางธนาคารโอนเข้าบัญชีเงินฝากของสำนักงานสกสค.

“กรณีอดีตผู้บริหารของสกสค.ร่วมกับผู้บริหารบริษัท บิลเลี่ยนฯ ถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร หรือร่วมกันฉ้อโกงเงินสวัสดิการของครู 2,100 ล้านบาท เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องไปติดตามทวงเงินคืนจากผู้ต้องหาเอง ธนาคารไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นกับการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2556 มีกรรมการกองทุนช.พ.ค. 2 คน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินมาลงชื่อในใบถอนเงินและปิดบัญชีกับธนาคารอย่างถูกต้อง ธนาคารจึงอนุญาตให้ลูกค้าถอนเงินตามเงื่อนไขของสัญญา และเนื่องจากเป็นการถอนเงินจำนวนมาก หากลูกค้าถือเงินสด เพื่อนำไปฝากกับธนาคารอื่น ระหว่างเดินทางอาจจะไม่ปลอดภัย ธนาคารจึงโอนเงินไปเข้าบัญชีบริษัทบิลเลี่ยนฯตามคำขอของลูกค้า” แหล่งข่าวจากธนาคาร กล่าว

แหล่งข่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เปิดเผยว่า ความเป็นมาของคดีนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายบุญส่ง สุขโขทัย อดีตผู้อำนวยการสกสค. จังหวัดสมุทรสาคร 2 สมัย กล่าวหาอดีตเลขาธิการสกสค. และพวกมีพฤติกรรมใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อนุมัติเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการช.พ.ค. 2,100 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด จำกัด โดยไม่มีหลักประกันเงินกู้ที่ชัดเจน เมื่อถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน บริษัท บิลเลี่ยนไม่สามารถคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้กับกองทุนช.พ.ค.ได้ จึงเชื่อว่าอดีตเลขาธิการสกสค.และพวก อาจมีเจตนายักยอกเงินกองทุน เพื่อนำไปแบ่งปันผลประโยชน์กัน

กองทุนชพค

และจากการตรวจสอบเส้นทางเงิน พบว่ากองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการช.พ.ค. นำเงินไปลงทุนกับบริษัทบิลเลี่ยนฯ 3 ครั้ง คิดเป็นวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 30 มิถุนายน 2556 นำเงิน 500 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทบิลเลี่ยนฯ โดยมี LH Bank เป็นผู้อาวัล การลงทุนครั้งนี้ ทางช.พ.ค.ได้รับเงินคืนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557

ครั้งที่ 2 วันที่ 27 ธันวาคม 2556 ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท บิลเลี่ยนฯ 2,100 ล้านบาท โดยมีที่มาดังนี้

วันที่ 20 ธันวาคม 2556 บริษัท บิลเลี่ยนฯ ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกองทุนช.พ.ค. เพื่อชักชวนให้มาซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,100 ล้านบาท โดยอ้างว่ามีธนาคารอาวัล แต่ไม่ได้ระบุชื่อธนาคาร ระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน 1 ปี 1 วัน ดอกเบี้ย 7% ต่อปี

วันที่ 25 ธันวาคม 2556 คณะกรรมการสกสค.จัดประชุมเร่งด่วนมีมติครั้งที่ 15/2556 อนุมัติให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท บิลเลี่ยนฯ 2,100 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7% ระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน 1 ปี 1 วัน โดยต้องมีธนาคารที่มีความมั่นคงอาวัล และให้ดำเนินการภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2556

บริษัท บิลเลี่ยนฯ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,100 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 28 ธันวาคม 2557 ปรากฎว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้ไม่มีธนาคารอาวัล ทางบริษัทบิลเลี่ยนฯจึงนำหลักประกันหลายรายการมาวางคำประกัน ซึ่งทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นเอกสารปลอมทั้งหมด

วันที่ 17 มกราคม 2557 กองทุนฯได้รับดอกเบี้ยจากบริษัท บิลเลี่ยน 147 ล้านบาท ซึ่งตามสัญญาระบุว่า บริษัท บิลเลี่ยนฯ ต้องชำระดอกเบี้ยล่วงหน้าภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันทำสัญญา

ครั้งที่ 3 วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มอีก 400 ล้านบาท มีที่มาดังนี้

วันที่ 27 กรกฎาคม 2557 บริษัท บิลเลี่ยนฯทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการสกสค. และประธานคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อขอวงเงินซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มและการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 400 ล้านบาท

วันที่ 1 สิงหาคม 2557 อดีตประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ลงนามทำสัญญากับบริษัท บิลเลี่ยนฯ โดยมีนายมงคล เยี่ยงศุภพานนท์ และนายสิทธินันทน์ หลอมทอง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม โดยกองทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มอีก 400 ล้านบาท อายุ 150 วัน ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 28 ธันวาคม 2557 (ครบกำหนดไถ่ถอนวันเดียวกับตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,100 ล้านบาท) ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนี้ ไม่มีธนาคารอาวัล

ปรากฎว่าวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ก่อนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 วัน บริษัท บิลเลี่ยนฯ อ้างเหตุขัดข้องเรื่องการยื่นเอกสาร ขอขยายเวลาคืนเงินให้กองทุนฯเต็มจำนวนเป็นวันที่ 31 มกราคม 2558 พร้อมดอกเบี้ย และวางเงินประกันเพิ่ม แต่เมื่อกำหนด บริษัทบิลเลี่ยนฯ ก็ไม่สามารถคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้กองทุนฯได้ และจากการตรวจสอบของสตง. พบว่า หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันมีมูลค่าสูงเกินจริง และบางส่วนเป็นของปลอม

วันที่ 3 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการธุรกรรม ป.ป.ง. จึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 133 รายการเป็นการชั่วคราว

อ่านเพิ่มเติมที่นี่