ThaiPublica > คนในข่าว > My Way “อธิคม คุณาวุฒิ” ในวันที่นิตยสาร Way เปลี่ยน “อย่าถามว่ายังรักสิ่งพิมพ์อยู่ไหม…แต่คนฉลาดๆ ต้องปรับตัว”

My Way “อธิคม คุณาวุฒิ” ในวันที่นิตยสาร Way เปลี่ยน “อย่าถามว่ายังรักสิ่งพิมพ์อยู่ไหม…แต่คนฉลาดๆ ต้องปรับตัว”

1 กุมภาพันธ์ 2016


(ขวา) อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way
(ขวา) อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way

หลังจากโพสต์ข้อความ “เรียน ท่านผู้อ่าน” เมื่อปลายปี 2558 เพื่ออธิบาย “ความเปลี่ยนแปลง” ของนิตยสารทางเลือก Way Magazine ทั้งการยกคอลัมน์หลังๆ ขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น และขยับระยะเวลาวางแผงให้ยาวนานขึ้น จากทุก 1 เดือน กลายเป็นทุก 4 เดือน

หลังจากนั้น สาธารณชนก็แทบไม่ได้ยินคำอธิบายเรื่องชะตากรรมของนิตยสารเล่มนี้ จากปากคำของ “อธิคม คุณาวุฒิ” บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Way อีกเลย

กระทั่ง ร้านหนังสือ The Writer’s Secret ชักชวนอธิคมมาพูดถึงประสบการณ์ชีวิตในฐานะคนเขียนหนังสือ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “My Way” ช่วงเย็นย่ำของวันที่ 30 มกราคม 2559

ท่ามกลางการดำดิ่งของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยโดยรวม นิตยสารชื่อดังหลายฉบับต้องปิดตัว กระทั่งนิตยสาร Writer เจ้าของสถานที่เองก็ยังต้องปิดตัวลง

เขาจะพูดถึง My Way ในอดีตและอนาคต ทั้งของตัวเอง ของนิตยสาร Way และของวงการสิ่งพิมพ์อย่างไร

อธิคม คุณาวุฒิ ในวันนั้น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงยีนส์ ใส่แว่นสีดำ จับไมโครโฟนเล่าพัฒนาการของนิตยสาร Way ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาด้วยท่าทีสบายๆ เริ่มต้นจากความชัดเจนในตัวของเขาเอง ซึ่งต่อมาก็ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมทีมมากขึ้น จนสามารถพูดได้เต็มปากว่า นิตยสาร Way ในขณะนี้ คือ “เลือดเนื้อของคนรุ่นหลังที่เข้ามาเติมเต็ม” ก่อนจะวกเข้ามาสู่ความเปลี่ยนแปลงของนิตยสาร Way ที่เป็นไปตามความจำเป็นทางธุรกิจ

เขาเล่าว่า การปรับเวลาวางแผงจากทุก 1 เดือน เป็นทุก 4 เดือน เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยจะตามอ่านข่าวหรือตามเหตุการณ์อย่างฉับพลันรวดเร็ว ซึ่งตนได้ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้ามา 3 ปีแล้ว เห็นว่าสิ่งพิมพ์รายวาระที่มีอายุสั้นๆ จะหายไปก่อน เช่น นิตยสารรายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน เพราะหน้าที่ของนิตยสารคือตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของสังคมในขณะนั้น อาทิ แฟชั่น การแต่งบ้าน เทรนด์ต่างๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นจะต้องรอนิตยสารรายเดือน

“เราจะทำ Way รายเดือนต่อไปอีกก็ได้ ทำได้อีกพักใหญ่เลย แต่ผมคิดว่าการปรับตัวเป็นเรื่องที่คนฉลาดๆ เขาทำกัน แน่นอนอย่าสงสัยเราเด็ดขาดว่าเรารักสิ่งพิมพ์หรือไม่ อย่าถามว่าเรารักหนังสือ รักแม็กกาซีนหรือไม่ เราโตมากับสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อภูมิทัศน์มันเปลี่ยน สนามมันเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน ทำอย่างไรในฐานะคนทำสื่อจึงจะยังรักษา function ของตัวเองไว้ได้ ตรงนี้มันทำให้บรรดานิตยสารซึ่งต้องพึ่งโฆษณาล้มกันไป เราก็มั่วด้วย ขอปรับหน่อย จะพูดให้น่าหมั่นไส้หน่อยก็ได้ว่า เรายังจะทำเป็นรายเดือนได้ แต่การทำโดยไม่มี function ผมว่ามันน่าเศร้ามากกว่าการปรับตัว”

โดยสาเหตุที่ต้องปรับเป็น “ราย 4 เดือน” นอกจากเพื่อให้มีเวลาในการสร้างสรรค์งานมากขึ้น ยังเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับงานสัปดาห์หนังสือ ที่จัดขึ้นในเดือนเมษายนและเดือนตุลาคมของทุกปี

"เรียน ท่านผู้อ่าน" ข้อความที่อธิคมโพสต์อธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทย รวมถึงนิตยสาร Way
“เรียน ท่านผู้อ่าน” ข้อความที่อธิคมโพสต์เมื่อปลายปี 2558 เพื่ออธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับนิตยสาร Way ซึ่งเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยโดยรวม

อธิคมยังอธิบายการยกคอลัมน์หลังๆ ในนิตยสาร Way ขึ้นไปเว็บไซต์ว่า ธรรมชาติของสื่ออนไลน์คือการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นในชั่วโมงนั้นอย่างฉับพลัน แม้นิตยสาร Way จะมาทำออนไลน์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำเนื้อหาที่เน้นความเร็วเป็นสำคัญ เริ่มจากจุดเด่นของเราคือการจับประเด็นที่สังคมกำลังสงสัย แล้วนำมาอธิบายหรือเสนอในแง่มุมอื่น เพื่อให้ประเด็นนั้นมีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น

“เราชำนาญเรื่องการช่วงชิงจังหวะสอง นี่คือสิ่งที่เราพูดกันในกอง บ.ก. คือ พอเกิดประเด็นนี้ขึ้น สังคมกำลังมึนงง แต่เราอธิบายได้ หรืออย่างน้อยเราก็มีข้อมูลอีกแง่มุมมาเสนอ เพื่อให้ข่าวนั้นมีความรอบด้านมากขึ้น แต่สิ่งที่ Way จะทำต่อไป มันคือการเล่นกับ content ใหม่บน platform ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและจริตของสังคม

“การปรับตัวเช่นนี้ น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของทีมงาน Way ทุกคนดีขึ้น เราจะไม่ถูกขังอยู่ในวังวนของการผลิตสิ่งพิมพ์รายเดือน ซึ่งมันทรมานนะครับ ถาม บ.ก. ได้ วันที่ 15 คุณนัดคอลัมนิสต์ส่งต้นฉบับ วันที่ 20 คุณส่งงาน บ.ก. ระหว่างวันที่ 10-25 คุณเป็นซอมบี้อยู่ในออฟฟิศเพื่อดู artwork แก้แล้วแก้อีก วันที่ 27-30 คุณเป็นซอมบี้ที่เดินเหวอๆ เพราะพลังงานมันถูกรีดออกไป

“นี่คือวัฏจักรของคนผลิตสิ่งพิมพ์รายเดือน พอเราทลายมันได้ เราจะเหลือพลังงานในการทำงานที่มากขึ้น เราเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ กอง บ.ก. บางคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น content maker เขาอาจไปทำสารคดีหรือหนังสั้น เรามีเวลาในการคิดความสวยงามของสิ่งพิมพ์ที่เป็นราย 4 เดือนได้มากขึ้น อันนี้พูดแบบโลกสวยมากเลยนะ แต่มันเหมือนปลดล็อกอะไรบางอย่าง เพื่อจะทำงานได้เน้นมากขึ้น”

หลังบทสนทนาในวงใหญ่จบลง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ไปนั่งพูดคุยกับอธิคมต่อเนื่อง ถึงเส้นทางต่อไปของ Way

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยับราคาขายนิตยสาร Way ให้มากขึ้น อธิคมกล่าวว่า การตั้งราคาปกของ Way ที่ขายเล่มละ 70 บาท เป็นการตั้งราคาตามโครงสร้างของนิตยสารที่มีโฆษณา ทั้งที่จริงๆ ต้นทุนมันสูงกว่านั้นมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว โดยนิตยสาร Way ฉบับที่ 90 ซึ่งทำเป็นเล่มพิเศษหนาหลายร้อยหน้า และขายที่ราคาเล่มละ 450 บาท เป็นเพียงฉบับเดียวที่ทำแล้วมีกำไร

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะรับโฆษณา อธิคมตอบว่า ตนไม่ได้อุดมคติ แต่มันไม่ควรจะสวนทางกับสิ่งที่เราเคยเขียน เคยพูด เคยคิด เพราะการรับโฆษณา หลายครั้งมันจะเข้ามาแทรกแซงการทำงาน ทั้งเชิงเนื้อหาและรูปแบบของนิตยสาร นิตยสาร Way จึงตัดสินใจที่จะไม่รับโฆษณาเช่นปัจจุบัน

“ข้อเรียกร้องของธุรกิจโฆษณาคือมันไม่จบลงแค่หน้าโฆษณาหรือ print ad แต่จะมาคอยสอนเราว่าต้องทำแม็กกาซีนแบบนี้ถึงจะมีโฆษณาเข้า ช่วงที่ทำนิตยสาร Way แรกๆ เราได้พยายามหาเงิน เข้าไปคุยกับพวกเอเจนซี่โฆษณาต่างๆ เขาก็สั่งสอนเรามาว่า คุณต้องทำหนังสือแบบนี้สิถึงจะมีคนอ่าน ต้องสี่สีทั้งเล่ม พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมัน ยอดพิมพ์ 3 หมื่นเล่มขึ้นไป กติกาพวกนี้มันทำให้รูปแบบการผลิตแม็กกาซีนส่วนใหญ่ในบ้านเราถึงออกมาแบบนี้หมด แล้วก็ล้มหายตายจากไปเยอะโดยเฉพาะพวกสิ่งพิมพ์ใหม่ๆ เพราะไปเล่นตามเกม

นิตยสาร Way ฉบับที่ 90
นิตยสาร Way ฉบับที่ 90

เมื่อถามว่า การปรับเนื้อหาขึ้นออนไลน์จะนำไปสู่การหารายได้เพิ่มเติมได้อย่างไร อธิคมอธิบายว่า ทุกวันนี้ Way มีรายได้จากโซเชียลมีเดีย มีโฆษณาเข้ามา โดยที่ไม่ผิดเงื่อนไข คือสื่อโฆษณาออนไลน์เขารู้ธรรมชาติของ Way ว่าเป็นอย่างไร ถ้าเขามายุ่งมากเกินไป ก็จะไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ

เมื่อถามว่า หากในอนาคตสถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ดีขึ้น มีโอกาสที่นิตยสาร Way จะกลับมาวางแผนทุกเดือนเหมือนเดิมหรือไม่ อธิคมตอบว่า ถ้าดูข้อเท็จจริงและแนวโน้มในขณะนี้ คงยากมากๆ ส่วนตัวคิดว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่การเป็นสิ่งพิมพ์แล้ว แต่อยู่ที่ content ที่จะออกมาต่างหาก มันอาจจะไม่ใช่การร่ายตัวหนังสือยากๆ แต่อาจใช้ infographic คมๆ สักชิ้น ที่สารคดียาวสักชั่วโมง ที่ทุกคนดูแล้วเข้าใจแทนก็ได้

เมื่อถามว่า นิตยสารหลายฉบับปรับตัวไปทำสำนักพิมพ์อย่างเดียว Way จะเลือกแนวทางนี้หรือไม่ อธิคมกล่าวว่า เราไม่ได้ชอบการทำอะไรแบบนิ่งๆ ทีมงาน Way มีคนหนุ่มสาวที่มีความเคลื่อนไหวสูง และอยากทำงานที่ตอบสนองกระแสสังคม ในอนาคต Way จะไม่ใช่แค่ออกหนังสือเล่มมากขึ้น แต่จะทำอะไรที่สนุกมากขึ้น

เมื่อถามว่า อนาคตของ Way จะเป็นอย่างไร อธิคมกล่าวทิ้งท้ายว่า งานเลี้ยงมีวันเลิกรา Way ก็ต้องหายไปสักวันใดวันหนึ่ง แต่คำถามก็คือ แล้วสังคมจะมีอะไรให้เสพ คนหนุ่มสาวที่กระหาย content แบบนี้จะมีอะไรให้อ่านให้ดู เราเชื่อว่าจะมีคนใหม่ๆ โตขึ้นมา อย่าปล่อยให้ลุงอธิคมวัยหกสิบมานั่งทำ Way สิ คนรุ่นหลังต้องเข้ามาทำ

“ในวัยสี่สิบกลางๆ ความสุขของเราคืออะไร เราเห็นน้องในออฟฟิศโตของขึ้นมา แล้วมีพื้นที่ของมันเอง เรารู้สึกเลยว่าความเป็นตัวมันในบางแง่มุมมันมีชิ้นส่วนของเราอยู่ แต่เราจะไม่ไปบอกใครนะ ห้ามบอก จะไปพูดจาโอ้อวดแบบนี้ไม่ดี เราต้องพยายามถางหญ้า ถางทาง ให้มันเดินได้สะดวกๆ ให้คนรุ่นนี้เดินได้สะดวกกว่าคนรุ่นเราเดิน อะไรที่เคยทำแล้วเจ็บหรือเหนื่อย ก็ไปบอกมันว่าอย่าทำอย่างนี้ หาอย่างอื่นที่ฉลาดกว่าทำ มันคือการส่งไม้ต่อ ซึ่งไม่ใช่การสร้างอนุสาวรีย์ให้ตัวเอง แต่คือการสร้างทางให้คนใหม่ๆ ขึ้นมา” อธิคมปิดท้ายด้วยการเล่าถึงเจตนารมณ์ที่จะส่งมอบ My Way ให้กลายเป็น Our Way สำหรับคนรุ่นหลัง