ThaiPublica > เกาะกระแส > เว็บไซต์ประชามติ ยันพร้อมเป็น “เวที” แลกเปลี่ยนความเห็นต่อ รธน. ต่อไป แม้ถูกทหารกดดันจนต้องย้ายที่จัดงาน 2 งานซ้อน

เว็บไซต์ประชามติ ยันพร้อมเป็น “เวที” แลกเปลี่ยนความเห็นต่อ รธน. ต่อไป แม้ถูกทหารกดดันจนต้องย้ายที่จัดงาน 2 งานซ้อน

29 กุมภาพันธ์ 2016


เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืน ภายหลังทหารเข้ากดดันจนทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้
เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืน ภายหลังทหารเข้ากดดันจนทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ (Prachamati.org) ซึ่งประกอบด้วย สำนักข่าวประชาไท, สำนักข่าวไทยพับลิก้า, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกันแถลงข่าว จุดยืนในการจัดกิจกรรมของเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ หลังจากทหารเข้ากดดันจนทำให้ไม่สามารถจัดงานเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?” กับงานประกวดการนำเสนอ PechaKucha 20×20 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญ” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้ โดยอ้างว่าต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน ทำให้งานแรกต้องเปลี่ยนไปจัดที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีการบันทึกเทปรายการและกำหนดออกอากาศในวันที่ 4 มีนาคม 2559 ส่วนงานหลังต้องย้ายมาจัดที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันเดียวกันแทน

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติ ได้อ่านแถลงการณ์จุดยืนของเว็บไซต์ประชามติต่อเหตุการณ์ดังกล่าว มีสาระสำคัญ 3 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมโดยตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปสังคม เพราะเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในบรรยากาศที่เปิดกว้างเท่านั้น ที่เป็นเครื่องรับประกันได้ว่ารัฐธรรมนูญและนโยบายสาธารณะทุกรูปแบบจะถูกออกแบบขึ้นโดยสอดรับกับความต้องการของประชาชน และนำไปสู่การแก้ปัญหาอันซับซ้อนของสังคมได้จริง โดยเครือข่ายเว็บไซต์ประชามติขอยืนยันยึดมั่นในหลักการนี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง
  1. ความพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือการต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนแสดงความคิดเห็นในประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่วิธีการที่จะค้นหาคำตอบให้กับสังคมอย่างยั่งยืนได้ มีแต่จะสร้างความรู้สึกอึดอัดและแปลกแยก จนบ่มเพาะให้สังคมเต็มไปด้วยความแตกแยกที่ฝังรากลึกมากขึ้นทุกวัน ช่วงเวลาที่สังคมมีความขัดแย้งสูงอย่างในปัจจุบัน ไม่มีกระบวนการใดที่จะเป็นเครื่องมือพาสังคมเดินหน้าไปได้นอกจากการเปิดพื้นที่ให้ทุกความคิดเห็นได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างอิสระ
  1. ในบรรยากาศที่กำลังจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และกำลังจะมีการลงประชามติโดยประชาชน หลักการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น หากประชาชนถูกปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้พูดคุยในประเด็นรัฐธรรมนูญ ย่อมทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมมนูญซึ่งขาดความชอบธรรมอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ยิ่งสูญเสียความชอบธรรมมากขึ้นไปอีก และรัฐธรรมนูญที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการเหล่านี้ก็ไม่อาจได้รับการยอมรับจากสังคมเมื่อนำไปบังคับใช้

“เครือข่ายเว็บไซต์ประชามติยังคงยืนยันจะเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายต่อไป โดยขอชักชวนให้ประชาชนทุกฝักฝ่ายและทุกภาคส่วนของสังคม ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการพยายามสร้างพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปสังคมให้มากที่สุดต่อไป แม้ภายใต้บรรยากาศที่มีข้อจำกัดในนามของความมั่นคงอย่างในปัจจุบัน” นายยิ่งชีพกล่าว

580228ประชามติpechakucha
งานประกวดการนำเสนอ PechaKucha 20×20 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเดิมมีกำหนดการจัดงานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต้องย้ายไปจัดที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แทน หลังทหารเข้ากดดันหอศิลปฯ

ด้าน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ไทยพับลิก้า กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอีกครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐตีความกิจกรรมทางการเมืองว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่จะต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน เป็นอีกเครื่องพิสูจน์ว่าการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญภายใต้คำสั่ง คสช. หรือยังมีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 อยู่ จะเป็นอุปสรรคต่อการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐมีแนวโน้มจะตีความกฎหมายไปในทางที่ปิดกั้นการแสดงออก

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้จัดทำขึ้นโดยประชาชนหรือรับฟังเสียงของประชาชนอย่างเพียงพอ ทั้งๆ ที่หลักการทั่วโลกการจะทำประชามติในประเด็นใดๆ ประชาชนจะต้องได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ อย่างรอบด้าน และยิ่งมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างในปัจจุบัน ก็จะยิ่งทำให้การจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมมนูญเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น

“ผมอยากให้ผู้มีอำนาจเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้แสดงมุมมองด้านต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ โดยเว็บไซต์ประชาชนยินดีที่จะเป็นเวทีในการสร้างบทสนทนา โดยที่จะไม่ไปชี้ว่าประเด็นใดถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา” นายจอนกล่าว

น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า อยากจะขอปักหลักให้ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้ถอยหลังไปมากกว่านี้อีกแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาตามข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มีกำหนดแล้วเสร็จเป็นร่างสุดท้าย ในวันที่ 29 มีนาคม 2559 ก่อนนำไปสู่การจัดทำประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้หรือไม่ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ต่อไป