ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์เผยไตรมาส 4/2558 เศรษฐกิจภายในฟื้นตัว – รับปีนี้กังวล “เศรษฐกิจจีน-ราคาน้ำมัน” ปรับลดตัวเลขยกแผง

สภาพัฒน์เผยไตรมาส 4/2558 เศรษฐกิจภายในฟื้นตัว – รับปีนี้กังวล “เศรษฐกิจจีน-ราคาน้ำมัน” ปรับลดตัวเลขยกแผง

16 กุมภาพันธ์ 2016


ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ (กลาง) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ฟื้นตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 เกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาคเอกชนที่พลิกกลับขึ้นมาขยายตัวหลังจากหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส การลงทุนภาครัฐ การบริโภคของเอกชนและภาครัฐ ขณะที่ภาคส่งออกสินค้ายังหดตัวต่อเนื่องตลอดปี 2558 และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกสินค้าและการส่งออกบริการหดตัว ต่างจากก่อนหน้านี้ที่การส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมยังคงขยายตัวได้ในระดับต่ำ นับเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญของไทย ส่งผลให้โดยรวมในไตรมาส 4 ของปี 2558 เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2.8% ขณะที่ในภาพรวมของปี 2558 เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.8% ฟื้นตัวขึ้นจากปี 2557 ที่ขยายตัวได้เพียง 0.8%

กรณีที่มีความกังวลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 จะเป็นปัจจัยชั่วคราวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาในช่วงปลายปีหรือไม่นั้น ดร.ปรเมธีกล่าวว่า มาตรการของภาครัฐที่ออกมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 – มกราคม 2559 ทั้งสิ้น 7 มาตรการ วงเงิน 468,854 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 4/2558 เบิกจ่ายไปเพียง 198,081 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 40% ของวงเงินรวม ขณะที่ในปี 2559 ยังมีวงเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายได้อีก 179,627 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 38% ของวงเงินรวม จึงคาดว่าจะเป็นแรงหนุนแก่เศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องไปได้อีก 2 ไตรมาส ส่วนประเด็นว่าจะเพียงพอหรือต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ยังคงต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559 สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงจากการประเมินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 เกือบทั้งหมด ยกเว้นการบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐ โดยให้เหตุผลว่าภาวะเศรษฐกิจของโลกยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อศักยภาพโดยรวมของประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พบว่าประเทศไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่า โดยหลายประเทศการส่งออกหดตัวในระดับตัวเลข 2 หลัก ขณะที่ประเทศไทยหดตัวเพียงหลักเดียว

“การปรับลดประมาณการครั้งนี้มาจากโลกเป็นหลักเลย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วถึงกุมภาพันธ์นี้ โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก ทั้งเศรษฐกิจจีนที่เรามองว่าจีดีพีจะปรับลงจาก 6.7% เหลือ 6.5% แล้วนี่ยังไม่ได้รวมภาพว่าจีนจะเกิดวิกฤติหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อไทยมาก ส่วนปัญหาในยุโรปน่าจะเป็นห่วงน้อยกว่าเศรษฐกิจจีน เพราะยุโรปก็อ่อนแอมาสักพักแล้ว ไทยก็ปรับตัวตามมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จีนจะใกล้ชิดกับเรามากกว่า อีกอันคือปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำอีก ครั้งนี้จึงต้องปรับลดศักยภาพการเติบโตของไทยลงตามไปด้วย” ดร.ปรเมธีกล่าว

ภาวะเศรษฐกิจ 2558

ในปี 2559 ประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 2) แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 – มกราคม 2559 3) แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทมีการขยายตัวและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น 4) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ 5) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 1) ข้อจำกัดที่ทำให้การส่งออกสินค้ายังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก รวมไปถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเงินหยวน ขณะที่ญี่ปุ่นและยุโรปต่างมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินเยนและยูโรอ่อนค่าตามในอนาคตได้

2) เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเงินในประเทศจีนและประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 3) ราคาสินค้าเกษตรยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดตามราคาน้ำมัน และ 4) ผลกระทบจากภัยแล้ง ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 14,043 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณน้ำ 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงต้องรอดูต่อไปว่าสภาพอากาศจะมีเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ขณะที่ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ที่ขยายตัว 2.8% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และทั้งปี 2558 ที่ขยายตัว 2.8% ถือว่าภาพรวมใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด และเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามแนวโน้มการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะต่อไป รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก