ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เตรียมเสนอ กรธ. พิจารณา กม.ลูก 4 ฉบับ ร่นเลือกตั้ง ปี 60 – อัด 1,500 ล้านดันส่งออก 5%

ครม. เตรียมเสนอ กรธ. พิจารณา กม.ลูก 4 ฉบับ ร่นเลือกตั้ง ปี 60 – อัด 1,500 ล้านดันส่งออก 5%

10 กุมภาพันธ์ 2016


นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

หลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธจะแถลงข่าวผลการประชุม ครม. ตามปกติ โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เป็นผู้แถลงข่าวแทน พร้อมระบุว่า ต่อไปจะให้รองนายกฯ แต่ละคนมาแถลงข่าวมากขึ้น เพื่อชี้แจงถึงความคืบหน้างานในความรับผิดชอบของแต่ละคน

“วิษณุ” เผย 3 ทางออก ปมเสี่ยงประชามติร่าง รธน. – นัดคุย 10 ก.พ. นี้

นายวิษณุ กล่าวถึงความคืบหน้าในการรวบรวมความเห็นของกระทรวงต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับเบื้องต้น) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ยกร่างขึ้นมา ซึ่งจะต้องส่งไปยัง กรธ. ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฯ ต่อไป ว่า ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 จะเป็นวันสุดท้ายที่แต่ละกระทรวงจะต้องส่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้มาให้ตนรวบรวม ก่อนส่งให้ กรธ. พิจารณา โดยในวันเดียวกัน จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ อาทิ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ฯลฯ รวมไปถึงตัวแทนของ กรธ. เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องคะแนนเสียงในการทำประชามติว่าจะต้องใช้ “เสียงข้างมาก” ของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือผู้มาใช้สิทธิออกเสียงกันแน่ เบื้องต้นได้เตรียมทางออกไว้ 3 ทาง คือ ส่งกฤษฎีกาตีความ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

เมื่อถามว่า หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ กรณีประชามติ จะรวมถึงการกำหนดทางออกกรณีร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ไม่ผ่านประชามติด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ กรณีประชามติเป็นเรื่องด่วนมาก ส่วนกรณีร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ไม่ผ่านประชามติ ยังมีเวลาในการพิจารณา ซึ่งไม่ว่าจะแก้ช้าหรือแก้เร็ว ก็มีข้อดีข้อเสีย

“ถ้าแก้เร็วก็เหมือนบอกให้รู้ว่าไม่ผ่านจะทำอย่างไร จะเกิดการเดิมพันขึ้นมา เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปร ที่สำคัญ ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น” นายวิษณุกล่าว

ชงกม.ลูก 4 ฉบับ ร่นเวลาเลือกตั้งปี 60

เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ไม่ผ่านประชามติ จะนำรัฐธรรมนูญในอดีต ไม่ว่าจะฉบับปี 2540 หรือฉบับปี 2550 มาปรับใช้แทนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูจำนวนเสียงประชามติด้วย หากเสียงไม่รับขาดลอยมาก แสดงว่าคนไม่รับจริงๆ แต่ถ้าเสียงไม่รับก้ำกึ่งกับเสียงรับ แสดงว่ามีผู้เห็นส่วนดี ก็อาจเป็นตัวชี้วัดให้นำร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ไม่ผ่านประชามติหรือหยิบรัฐธรรมนูญในอดีตมาปรับปรุงแก้ไข โดยจะประกาศใช้ทันที ไม่มีการจัดทำประชามติอีก เพื่อไม่ให้กระบวนการเยิ่นเย้อ ทั้งนี้ นายกฯ ยืนยันว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 ให้ได้

“ส่วนวิธีในการร่นเวลาให้มีเลือกตั้งภายในปี 2560 ให้ได้ ครม. อาจจะเสนอให้ร่นระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายลูก ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ กำหนดไว้ว่าต้องทำถึง 10 ฉบับ โดยให้เวลาถึง 8 เดือน แต่เราเห็นว่า ทำเพียงแค่ 3-4 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ว. กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับ กกต. ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนกฎหมายอื่นๆ ไปจัดทำระหว่างจัดให้มีการเลือกตั้งได้ ไม่เสียหายอะไร” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามว่า ความเห็นที่ ครม. จะเสนอต่อ กรธ. มีกรณีที่เนื้อหาซึ่งเคยอยู่ในรัฐธรรมนูญฯ ในอดีตแต่ถูกตัดไปหรือไม่ เช่น เรื่องสิทธิชุมชน นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องสิทธิชุมชน กรธ. ทดลองใช้เทคนิคทางกฎหมายใหม่ คืออะไรที่ไม่ห้าม แสดงว่ามีสิทธิทำ ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ทั้งหมดว่ามีสิทธิทำอะไรบ้าง เขียนไว้แค่บางเรื่องก็พอ แต่ในเมื่อเสนอมาแล้วคนไม่รับ ก็เป็นไปได้ว่า กรธ. คงจะกลับไปทบทวน

เมื่อถามว่า นายกฯ กังวลกับกระแสเรียกร้องให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ในโซเชียลมีเดีย รวมถึงมีความกังวลอื่นๆ ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ ไม่ได้แสดงความกังวลอะไร บอกเพียงว่าเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฯ การทำความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็น แต่เวลานี้ยังเป็นเพียงร่างแรกเท่านั้น การที่คนอื่นๆ นอกจาก กรธ. จะออกไปช่วยชี้แจงคงจะไม่ใช่ เพราะ กรธ. ยังต้องรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ไปปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาออกมาเป็นร่างสุดท้าย

ผลสอบจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ถึง รมว.คลังแล้ว

นายวิษณุยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่ง “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด” ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้สรุปรายงานผลการทำงานตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2559 ที่ผ่านมาว่า เข้าใจว่าขณะนี้รายงานดังกล่าวถูกส่งไปถึงมือของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ในฐานะผู้ร่วมลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวกับนายกฯ ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมการฯ ก็จะส่งมาให้นายกฯ ดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน เพื่อพิจารณาเรียกค่าเสียหายกับผู้ต้องรับผิดต่อไป โดยการออกคำสั่งทางปกครอง

“แต่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่า ยังมีเรื่องที่ต้องทบทวนหรือสอบสวนเพิ่มเติม ก็ให้ส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้งให้เสร็จสิ้น ภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด” นายวิษณุกล่าว

อัดงบ 1,500 ล้าน ลุย Local–Global Economy ดันส่งออก5%

สำหรับวาระการประชุม ครม. ที่สำคัญอื่นๆ มีดังนี้

พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนงานด้าน Local Economy (โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นไทยเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจโลก) และแผนงานด้าน Global Economy (โครงการปฏิรูปภาคการค้าไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่) ใช้งบประมาณรวม 1,500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยจะขอจัดสรรงบเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559

โดยทั้ง 2 โครงการ เป็นการรองรับนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องการขับเคลื่อนภาคการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศในปี 2559 ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5%

สำหรับ แผนงานด้าน Local Economy มีวัตถุประสงค์ 5 ข้อ ประกอบด้วย

  1. เพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้ Local Economy เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และนวัตกรรมเป็นเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง “Smart Farmer”
  2. ผลักดัน Smart Farmer ให้รู้จักทำมาค้าขาย เกิดการลงทุนและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เป็นเกษตรกร SMEs Farmer
  3. ส่งเสริมและพัฒนาระบบกลไกตลาดเพื่อรองรับการเชื่อมโยงสินค้าจากตลาดชุมชนไปยังตลาดกลางสู่ศูนย์กระจายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงสินค้าเกษตรกรไทยสู่ตลาดเพื่อนบ้าน (CLMV) และตลาดโลก
  4. พัฒนาสารสนเทศข้อมูลข่าวสาร ราคา และการตลาด เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องใช้ในการวางแผนการผลิตและการตลาดโดยมีระบบซื้อขายแบบ E-commerce
  5. เพื่อสร้างความเข้มแข็งตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยด้วยการสร้างภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และมาตรฐานตราสัญลักษณ์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยสู่ตลาดโลก

ขณะที่ แผนงานด้าน Global Economy มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ขยายมูลค่าการค้าการลงทุนของไทยในตลาดศักยภาพสูง โดยเฉพาะตลาด CLMV
  2. ยกระดับแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในตลาดในประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก
  3. ขยายมูลค่าการค้าผ่านช่องทาง E-commerce และเชื่อมโยงสู่ Global Platform
  4. ผลักดันการส่งออกบริการของไทยใน 6 สาขาเป้าหมาย เพื่อเป็นจักรกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้าปฏิรูปกระบวนการทำงานของภาครัฐ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนให้แข่งขันได้ในเศรษฐกิจยุคใหม่

ไฟเขียว 1 พันล้าน ช่วยกลุ่มเกษตรกร

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมส่งเสริมสหกรณ์กู้ยืม เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร โดยไม่มีดอกเบี้ย และกำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2559-2564) เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรกว่า 5,600 แห่ง ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ สามารถมีเงินทุนในการผลิตและการตลาด

วันเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมันสำปะหลัง ปี 2558/2559 ซึ่งที่ประชุม ครม. เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 เพื่อดึงผลผลิตมันสำปะหลังออกจากตลาด ที่จะกระจุกตัวในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2559 ไม่ให้ราคาตกไปกว่าปกติ โดยโครงการใหม่จะเพิ่มระยะเวลาชดเชยจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี เพิ่มเป้าหมายจาก 500,000 ตัน เป็น 1,000,000 ตัน และเพิ่มวงเงินสินเชื่อจาก 1,250 ล้านบาท เป็น 2,500 ล้านบาท คาดว่าวงเงินชดเชยจะเพิ่มเป็น 75 ล้านบาท

ลดภาษีนำเข้า “วัตถุดิบ-เครื่องจักร” อุ้มธุรกิจอัญมณี

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยมีการอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. จำนวน 2 ฉบับ และกฎกระทรวง จำนวน 1 ฉบับ สาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวคือการลดภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตเป็นอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งได้แก่ เพชร พลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก ไข่มุก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกันเฉพาะที่ยังมิได้เจียระไน รวมถึงยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ย้ายไปยังประเทศอื่นๆ

“นอกจากให้ความเห็นชอบ ในที่ประชุม คสช. ยังมีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายการลดภาษีการนำเข้าไปยังอัญมณีที่เจียระไนแล้ว เช่น เพชร พลอย ฯลฯ เพราะคุณภาพการ cutting ของเมืองไทยยังสู้ต่างชาติไม่ได้ รวมถึงอยากให้ลดภาษีการนำเข้าสร้อยเพื่อมาผลิตเป็นเครื่องประดับด้วย โดยจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ก่อนประกาศใช้ต่อไป” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ขยายเวลา SME bank ปล่อยกู้รายย่อยถึง มิ.ย. 59

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ออกไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เพราะแม้ Policy Loan ที่ดำเนินการผ่านธนาคมออมสิน วงเงิน 150,000 ล้านบาท จะมีผู้กู้หมดแล้ว แต่ Policy Loan ที่ดำเนินการผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME bank จากวงเงิน 15,000 ล้านบาท มีผู้มาขอกู้เพียง 4,600 ล้านบาทเท่านั้น คงเหลือกว่า 10,400 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาโครงการออกไปอีก 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

เพิ่มวงเงินรถไฟสายสีแดง อีก 6.7 พันล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับกรอบเงินลงทุนและจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติมสำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพิ่มเติมอีก 6,743 ล้านบาท โดยอนุมัติปรับกรอบวงเงินสัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้า) จากเดิม 25,656 ล้านบาท เพิ่มเป็น 32,399 ล้านบาท ทำให้ทั้งโครงการขณะนี้มีกรอบวงเงินรวม 93,950 ล้านบาท

ตั้ง “ธัญญา” เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ – “ทศพร” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

พล.ต. สรรเสริญ ยังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระดับสูงในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จำนวน 2 คน ประกอบด้วย 1. นายทศพร นุชอนงค์ จากรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และ 2. นายธัญญา เนติธรรมกุล จากรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็น อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง