ThaiPublica > คนในข่าว > โรดแมป “กุลิศ สมบัติศิริ” ปรับกรมศุลกากรก้าวทันการค้ายุคดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีเอื้อทั้งคนทำงาน-ผู้เสียภาษี

โรดแมป “กุลิศ สมบัติศิริ” ปรับกรมศุลกากรก้าวทันการค้ายุคดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีเอื้อทั้งคนทำงาน-ผู้เสียภาษี

4 กุมภาพันธ์ 2016


นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 สิงหาคม 2558 มีมติแต่งตั้งนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ย้ายข้ามมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาให้กับคนกระทรวงการคลังเป็นอย่างยิ่ง เพราะ “กุลิศ สมบัติศิริ” อดีตลูกหม้อกรมบัญชีกลาง ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องภาษี และไม่มีชื่อติดอยู่ในโผโยกย้ายมาก่อน กลายเป็นม้ามืดมาแรงแซงเข้าวิน ชนิดที่เจ้าตัวเองไม่คิดฝันว่าจะได้มานั่งที่นี่ กรมเกรด A ซึ่งเป็นที่หมายปองของคนคลัง ที่ร่ำลือกันว่าที่นี่เป็นขุมผลประโยชน์ขนาดใหญ่ เกี่ยวโยงผู้มีบารมีหลายกลุ่ม แต่ละปีมีเงินสะพัดทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะหลายพันล้านบาท ทุกครั้งที่จะมีการโยกย้าย ราคาเก้าอี้ก็สะพัด แต่สำหรับ “กุลิศ สมบัติศิริ” มาโดยไม่คาดหมาย

เดิมทีการโยกย้าย เป้าหมายแรกที่ผู้ใหญ่จับวางคือตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ แต่เมื่อการเจรจาไม่ลงตัวมีเงื่อนไขว่าต้องเอาคนในเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเงื่อนไขอื่นๆ ก็ไม่บรรลุข้อตกลง “กุลิศ” จึงมาลงที่อธิบดีกรมศุลกากร ในจังหวะและภาวะที่กรมศุลการต้องการคนทำงานมาสะสางเรื่องราวที่ค้างคาและการเดินหน้าสู่โลกการค้ายุคใหม่

ปรับภารกิจ เน้นอำนวยความสะดวกทางการค้า

จากแดนสนธยาสู่การปรับโหมดใหม่ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา “กุลิศ สมบัติศิริ” ทำอะไรไปบ้าง โดยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าว่า “ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผมใช้เวลาในการวางรากฐานงานและสร้างคนกรมศุลกากร หากมองไปในอนาคตข้างหน้า กรมศุลกากรคงพึ่งพาการจัดเก็บรายได้ไม่ได้แล้ว เพราะกรมศุลกากรกำลังจะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้า 56 หมวด ตามนโยบายรัฐบาล การปรับลดอัตราภาษีน้ำเข้าครั้งนี้ ครอบคลุมรายการสินค้ากว่า 1,000 รายการ ซึ่งกำลังจะประกาศในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะทำให้รายได้กรมศุลฯ หายไป 3,000 ล้านบาทต่อปี ฉะนั้น บทบาทและภารกิจใหม่ของกรมศุลกากร หลักๆ มี 4 ด้าน ดังนี้

ภารกิจที่ 1 อำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าและส่งออกเป็นสำคัญ ไม่ใช่ปล่อยให้สินค้าของผู้นำเข้ามากองอยู่ที่ท่าเรือ ตรวจปล่อยไม่ได้ ต่อจากนี้ไป กรมศุลกากรจะกำหนดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าออกจากท่าเรือ พยายามลดขั้นตอนและเอกสารในการผ่านพิธีการศุลกากร ขณะเดียวกันยังต้องเน้นเรื่องการตรวจสอบความถูกต้องเอาไว้ด้วย

ประเด็นที่ผมกล่าวมาในข้างต้นนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจด้วย (Ease Of Doing Business Rank) ล่าสุด ธนาคารโลกปรับลดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย จากอันดับที่ 46 ลงมาอยู่อันดับที่ 49 ซึ่งตัวแปรในการตรวจวัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกรมศุลกากร คือ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ หมวดนี้ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 55 มาอยู่ที่ 56

“หากเราอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย ประเทศอื่นก็แซง ผมจึงต้องกลับมาดูตรงนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศมีปัญหาอุปสรรคจุดไหน อาทิ การกำหนดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้า เร่งเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้ากับส่วนราชการอื่นๆ (National Single Window: NSW) นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในงานตรวจปล่อยสินค้า อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ”

ก่อนที่ธนาคารโลกจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินผลความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2559 ผมได้นำระบบ Time Release Study หรือ “TRS” ตามมาตรฐานสากลขององค์การศุลกากรโลก (World Custom Organization: WCO) มาใช้ตรวจสอบข้อบกพร่องของกรมศุลกากร โดยเริ่มนำร่องที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559

ปกติธนาคารโลกจะทบทวนอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจทุกๆ 2 ปี ยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกเดินทางเข้ามาประเมินผลช่วงปี 2555 และประกาศผลการประเมินเดือนธันวาคม 2557 ดังนั้น ตามหมายกำหนดการเดิม ในปีนี้ธนาคารโลกจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินผลเดือนมีนาคม 2559 และประกาศผลการประเมินเดือนธันวาคม 2559

“การนำระบบ TRS มาใช้ตรวจสอบจุดบกพร่อง เปรียบเสมือน Pre-entrance โดยกรมศุลกากรได้นำระบบ TRS มาใช้ล่วงหน้าไปแล้ว เริ่มที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้า และออกแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ประกอบการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นกรมศุลกากรก็จะนำผลการศึกษานี้มาปรับปรุงบริการอีกครั้ง ก่อนที่ธนาคารโลกจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมินผลในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งผมจะเชิญตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และธนาคารโลกไปดูงานที่ท่าเรือแหลมฉบังด้วย”

กุลิศ สมบัติศิริ

นอกจากนี้ ได้เร่งพัฒนาระบบ Mobile Application บนโทรศัพท์มือถือ โดยเชื่อมโยงข้อมูลการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าระหว่างกรมศุลกากรกับส่วนราชการอื่น 36 หน่วยงาน อาทิ กรมการค้าต่างประเทศ การท่าเรือ กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น หรือที่เรียกว่า “National Single Window: NSW” รวมทั้งข้อมูลพิกัด ข้อมูลราคาสินค้า ข้อมูลทั้งหมดจะไปปรากฏอยู่ใน Application บนมือถือ

ข้อดีของ Application คือ หลังจากผู้นำเข้าได้รับอนุญาตให้นำเข้าสินค้าจากส่วนราชการที่กำกับดูแล เดิมผู้นำเข้าต้องนำเอกสารมายื่นที่กรมศุลกากรเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจปล่อยสินค้า แต่ในอนาคต หลังจากพัฒนาระบบ Mobile Application เสร็จเรียบร้อย ทันทีที่ผู้นำเข้าได้รับอนุญาตจากส่วนราชการทั้ง 36 แห่ง ข้อมูลจะออนไลน์มาที่กรมศุลกากร โดยผู้นำเข้าไม่ต้องมายื่นเอกสารอีกต่อไป

รวมทั้งการจัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการให้บริการของกรมศุลกากร ที่ผ่านมากรมศุลกากรไม่เคยติดตามธนาคารโลกส่งเจ้าหน้าที่ไปถามผู้ประกอบการรายใด กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร สอบถามเรื่องอะไร แต่วันนี้กรมศุลกากรทำการบ้านล่วงหน้า

“ผมสั่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรหารือกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกเป็นระยะๆ เพื่อจัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ประกอบการ เริ่มตั้งแต่การตั้งประเด็นคำถาม ปรับประเด็นคำถามให้ตรงกันประเด็นคำถามของธนาคารโลก ที่กำลังจะเข้ามาสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการไทยในเดือนมีนาคม 2559 ทันที่ที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกเดินทางมาถึงประเทศไทย ผมจะขอพบและพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกด้วย”

ตั้งเป้าแจกบัตรทอง

ขณะเดียวกัน เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ดีให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นการตรวจสอบ (Authorized Economic Operator: AEO) หรือ “บัตรทอง” ตอนนี้เรามีผู้ประกอบการที่ดีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ส่งออกกับผู้นำเข้า รวมแล้วประมาณ 282 ราย ปี 2559 ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 500 ราย โดยจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการหมวดอื่นด้วย เช่น ตัวแทนขนส่งสินค้า

ขณะนี้ผมได้เชิญนายกสมาคม AEO หน่วยงานในสังกัดหอการค้าไทยมาหารือ เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับบัตรทองเพิ่มเติม นอกเหนือจากกลุ่มผู้นำเข้าและส่งออก หากสมาคม AEO ต้องการให้กรมศุลกากรเพิ่มแรงจูงใจในส่วนไหนหรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคอะไร ให้ทำเรื่องเสนอมา

“การขยายจำนวนหรือกลุ่มผู้ประกอบการที่ดี หรือ AEO เพิ่มขึ้นเป็น 500 ราย จะทำให้กรมศุลกากรตรวจปล่อยสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะผู้ประกอบการที่ดีกลุ่มนี้ไม่มีประวัติลักลอบหรือหลีกเลี่ยงภาษี มีระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปเสียเวลาตรวจสอบความถูกต้องมากนัก ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรได้มีการลงนามในสนธิสัญญา AEO กับกรมศุลกากรฮ่องกงไปแล้ว ทั้งผู้ประกอบการไทยและฮ่องกงจะได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ในอนาคตกำลังขยายความร่วมในลักษณะนี้กับประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่น หากกรมศุลกากรทำข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การตรวจปล่อยสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็ว”

และยังได้เปิดให้บริการสอบถามรายการพิกัด-อัตราภาษีนำเข้าสินค้าล่วงหน้า “Advance Ruling” เพื่อลดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรกับผู้ประกอบการ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งถกเถียงหรือตีความกัน ยกตัวอย่าง อีก 2 เดือนข้างหน้า ผู้นำเข้าจะมีการนำเข้าสินค้าประเภทนี้เข้ามาที่ท่าเรือ ผู้นำเข้าสามารถถ่ายรูปสินค้าส่งให้กรมศุลกากรวินิจฉัยล่วงหน้าได้ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างศุลกากรกับผู้นำเข้า

ระดมสมองนายด่านทั่วประเทศอุดรูรั่ว

ภารกิจที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและอุดรูรั่วไหล ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผมจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังกำหนด 1.8% แต่เราจะมานั่งเก็บภาษีอย่างเดียวโดยไม่ดูจุดรั่วไหลก็ไม่ได้ มาตรการอุดรูรั่วไหลของผมจะดูกันตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

ต้นทาง เริ่มจากที่ด่านศุลกากร ต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวด ผมเพิ่งจัดสัมมนานายด่านศุลกากรทั่วประเทศ คำถามที่ผมฝากไว้ให้นายด่านศุลกากรทั้ง 48 แห่ง ช่วยกันคิด คือ ทำอย่างไรให้ตรวจปล่อยสินค้ามีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหล ผลจากการระดมสมองนายด่านศุลกากรครั้งนั้นมีมาตรการสำคัญๆ หลายมาตรการ อาทิ การจัดทำข้อมูลผู้ประกอบการและสินค้า หรือ Local Profile ของแต่ละด่าน มีสินค้าประเภทไหนนำเข้ามามากที่สุด นำเข้าโดยผู้ประกอบการหรือชิปปิ้งรายใด และรายไหนทำผิดระเบียบบ่อยครั้งที่สุด ผมสั่งการให้ทุกด่านจัดทำและส่งข้อมูลเข้ามาให้กรมศุลกากรตรวจสอบ (ส่วนกลาง) หากพบว่ารายใดทำผิดระเบียบบ่อยครั้ง ผมจะส่งข้อมูลให้สำนักตรวจสอบอากร (สตอ.) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ดำเนินการตรวจอย่างเข้มข้น

สร้างฐานข้อมูลพิกัด-ราคาสินค้า 1,000 รายการ ผ่าน App มือถือ

“หลังจากที่ผมได้รับข้อมูล Local Profile จากด่านศุลกากรทุกแห่งส่งเข้ามาแล้ว ผมจะนำข้อมูลเหล่านี้เข้ามารวมอยู่ใน Mobile Application เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลกลาง หากเจ้าหน้าที่ที่ด่านศุลกากรเกิดข้อสงสัย สินค้าประเภทนี้ควรอยู่ในพิกัดใด เคยสำแดงราคาไว้เท่าไหร่ ที่ผ่านมากรมศุลกากรมีคำวินิจฉัยไว้อย่างไร สามารถกดดูได้ที่ Mobile Application ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตรวจปล่อยสินค้า ทุกเรื่องจะพยายามใส่ไว้ในฐานข้อมูลกลาง”

สาเหตุที่ต้องทำฐานข้อมูลกลาง เนื่องจากที่ผ่านมาด่านศุลกากรหลายแห่งใช้ดุลยพินิจตีความพิกัดสินค้าต่างกัน ยกตัวอย่าง สินค้าชนิดเดียวกัน บางด่านเก็บภาษี 30% บางด่านเก็บภาษี 10% บางด่าน 5% เมื่อเกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นมา ปรากฏว่าสินค้าชนิดเดียวกัน เก็บภาษีไม่เท่ากัน ผู้นำเข้าจึงขอให้กรมศุลกากรวินิจฉัย ทำให้ต้องเสียเวลาในการพิจารณา ขณะนี้ผมกำลังเร่งทำฐานข้อมูลพิกัดราคาสินค้ากลาง โดยให้เริ่มจากสินค้าที่เป็นพื้นฐาน 90 หมวดสินค้า หรือประมาณ 1,000 รายการ ควรต้องเสียภาษีบนมาตรฐานเดียวกัน

กลางทาง คือ การลักลอบนำเข้าสินค้าลิขสิทธิ์ น้ำมันปาล์ม ในส่วนนี้ผมใช้มาตรการกดดัน และตรวจสอบอย่างเข้มข้น ช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 ผมแถลงข่าวจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าบุหรี่ เหล้า ไวน์ ขณะกำลังขนใส่รถยนต์ ลักลอบนำเข้ามาในรูปแบบของกองทัพมด อันนี้คือกลางทาง

ส่วนปลายทาง คือ ลักลอบนำเข้ามาทางไหน ผมไม่รู้ แต่นำมาวางขายที่ตลาดแล้ว ช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 ผมส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกระเทียมลักลอบนำเข้าที่ตลาดไทมาได้ของกลาง 12 ตัน

สรุปมาตรการป้องกันและปราบปรามสินค้าหนีภาษี ผมเริ่มตรวจสอบอย่างเข้มงวดตั้งแต่ต้นทาง หากผ่านด่านหรือหลุดเข้ามาวางขายในประเทศได้ ก็ตามไปตรวจสอบจับกุมที่ตลาดด้วย

นายกุลิศ สมบัติศิริ
นายกุลิศ สมบัติศิริ

ปราบของผิดกฎหมายของปลอม-เตรียมติด CCTV เชื่อมข้อมูลภาพกับ ตม.-AOT

ภารกิจที่ 3 ปกป้องและดูแลความปลอดภัยให้กับสังคม อาทิ การลักลอบนำเข้า-ส่งออก งาช้าง สัตว์หายาก สินค้าประเภทนี้กรมศุลกากรจับกุมได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยาเสพติด ตอนนี้ไม่ได้ขนเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือดอนเมืองโดยตรงแล้ว แต่เปลี่ยนเส้นทางไปขึ้นที่สนามบินเชียงใหม่บ้าง เกาะสมุยบ้าง อ้อมไปอ้อมมา เพราะฉะนั้นจึงต้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดตลอดเวลา โดยเฉพาะสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด พวก Dual-Use ปกติเป็นสารเคมีทั่วไป แต่ถ้านำมาผสมกันแล้ว ก็จะกลายเป็นยาเสพติดหรือกลายเป็นอาวุธ ตรงนี้ผมได้กำชับให้ด่านศุลกากรติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพระต่างประเทศกำลังให้ความสำคัญในเรื่องภัยก่อการร้าย

ส่วนเรื่องดูแลความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค เช่น เครื่องสำอางปลอม ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นของปลอมหรือของเลียนแบบ สัปดาห์ที่ผ่านมาผมส่งเจ้าหน้าที่ไปตั้งด่านสกัดจับได้ที่ทางด่วนมอเตอร์เวย์ หลังจากสินค้าผ่านการตรวจปล่อยออกจากด่านศุลกากรมาแล้ว ได้ของกลาง 1 แสนชิ้น ตอนนี้ภายในกรมศุลกากรเองมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอยู่ 3 ส่วน คือ เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามประจำที่ด่านศุลกากร, เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและปราบปรามกลาง เข้าไปสอบทาน และยังมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าไปตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังมีแผนที่จะติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือ CCTV เพิ่มอีก 565 ตัว ไปจนครบ 2,204 ตัวภายในปี 2559 โดยจะทยอยติดตั้งเพิ่มที่ท่าอากาศยานนานาชาติ ด่านศุลกากรที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเชื่อมโยงข้อมูลภาพกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT)

ในด้านการตรวจสอบสินค้า กรมศุลกากรเริ่มใช้เครื่อง X-Ray อุโมงค์รถไฟตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนสินค้าจากด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังมาที่ด่านลาดกระบัง ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา เมื่อรถไฟขนสินค้าจากแหลมฉบังผ่านอุโมงค์ X-Ray ข้อมูลภาพจะไปปรากฏที่ด่านศุลกากรลาดกระบัง เจ้าหน้าที่ที่ลาดกระบังจะตรวจสอบจากรูปสแกนว่ามีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างทางหรือไม่

สำหรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนทางรถยนต์ กรมศุลกากรนำระบบ e-Lock มาใช้ในการตรวจสอบ ควบคู่ไปกับการใช้ “ซิล” หรือ “มัดลวด” หากรถยนต์ที่ใช้ขนส่งสินค้าหยุดระหว่างทาง สัญญาณเตือนจะร้องทันที กรมศุลกากรจะส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปตรวจสอบว่ามีการขนถ่ายสินค้าระหว่างทางหรือไม่

ภารกิจ Anti IUU

ภารกิจที่ 4 ด้านต่างประเทศ ที่เร่งด่วนคือเรื่องข้อกำหนดในการส่งออกปลาไปขายในสหภาพยุโรป (EU) หรือ “IUU Fishing” ที่กำลังจะมีการประเมินผลประเทศไทยอีกครั้ง ตอนนี้กรมศุลกากรทำบันทึกข้อตกลงกับกรมประมง (MOU) ร่วมกันจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งกำหนดแนวทางการทำงาน จัดทำคู่มือปฏิบัติงานร่วมกัน และสร้าง Application “Anti IUU” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จาก Play Store โดยภายใน Aplication จะมีคำสั่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

สำหรับเจ้าหน้าที่ของกรมประมงหรือเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะมีรหัส Login เข้าไปดูรายชื่อเรือที่ผิดกฎหมาย (Blacklist), ชนิดของปลา ก็จะมีรูปให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานใช้ตรวจสอบประเภทของปลาได้ ผมใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เริ่มทำ MOU กับกรมประมงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 วันนี้สำเร็จแล้ว เพื่อจะนำไปตอบคำถาม EU

ถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องทำ Application นายกุลิศตอบว่า วันนี้ทุกคนส่วนใหญ่จะใช้โทรศัพท์มือถือและใช้ Application มีคอมพิวเตอร์ ผมยังไม่ค่อยอยากเปิดเลย ยุ่งยาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานตรวจสอบเรือประมง ต้องการดูรูปปลาทูน่า เป็นชนิดครีบเหลืองหรือครีบน้ำเงิน รูปร่างเป็นอย่างไร กดเข้าไปที่ Application สามารถตรวจสอบรายชื่อเรือที่อยู่ใน Blacklist ตรวจสอบชนิดของปลาและพิกัด ซึ่งใช้ประโยชน์ได้มากสำหรับเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างาน

นอกจากกรมศุลกากรลงนามสนธิสัญญากับฮ่องกงในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าแล้ว กรมศุลกากรยังได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JIGA) ทำการศึกษาถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule Of Origin) เพื่อแก้ปัญหาผู้ผลิตบางรายนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ต้องเสียภาษีมาสวมสิทธิรายการสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีของประเทศต่างๆ (FTA) ซึ่งข้อเท็จจริงต้องเสียภาษี

ตั้งคณะกรรมการฯ สะสาง “คดีตำนาน”

ถามว่าคดีตำนานที่ค้างอยู่หลายเรื่องจะดำเนินการอย่างไร นายกุลิศกล่าวว่า ขณะนี้ผมแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนกรมศุลกากร” ที่มีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วยที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี รองอธิบดี เจ้าหน้าที่ที่เป็นเจ้าของคดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ติดตามความคืบหน้าของคดี รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาคดีสำคัญๆ ที่ยังค้างอยู่ อาทิ แอมเวย์,รถหรู, คดีไม้พะยูง เป็นต้น

“ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ผมก็เริ่มเข้ามาดูคดีที่ค้างๆ อย่างคดีรถหรู ผมตั้งใจว่าจะเชิญเจ้าหน้าที่ที่ถูกกรมศุลกากรตั้งกรรมการสอบสวน ถ้ากรมศุลกากรยังไม่ได้ตัดสินว่าเขากระทำความผิด การปฏิบัติหน้าที่เกิดจากการพลั้งเผลอ ไม่ได้เจตนา เจ้าหน้าที่บางรายเกษียณราชการไปแล้ว ถูกอายัดทรัพย์สิน ไม่มีเงิน กรมจะหาทางช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าผลการสอบสวนสรุปว่ากระทำความผิดจริง ก็ต้องถูกลงโทษ ตราบใดที่กรมศุลกากรยังไม่ได้ตัดสินว่าเขาผิด คงจะไปลอยแพเขาไม่ได้”

กุลิศ สมบัติศิริ

สรุปบทบาทและภารกิจใหม่ของกรมศุลกากรมีดังนี้

1. เน้นเรื่องอำนวยความสะดวกทางการค้า การนำเข้าสินค้าต้องไม่มีปัญหาอุปสรรค ลดปัญหาข้อพิพาท หรือข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาวินิจฉัย กว่าจะจบกระบวนการอุทธรณ์ใช้เวลา 5-6 ปี ปัญหาเหล่านี้ต้องไม่มี

2. เนื่องจากทิศทางการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรมีแนวโน้มลดลง จึงต้องหันไปเน้นที่การจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ อุดรูรั่วไหล สร้างความเป็นธรรม

3. บทบาทในการปกป้องและดูแลความปลอดภัยให้กับสังคม เป็นหน้าที่หลักของกรมศุลกากร ช่วงที่ผมจัดสัมมนานายด่านศุลกากร ผมได้สั่งการให้กรมศุลกากรจัดทำแผน 5 ปี หรือ “Future Custom 2020”

4. ภารกิจด้านต่างประเทศ

ส่วนภารกิจอื่นที่มีความสำคัญมากแต่ยังไม่ได้พูดถึง อย่างเช่น เรื่องของการสร้างบุคลากร ในปี 2559 และปี 2560 จะมีข้าราชการระดับซี 9 รวมทั้งนายด่านศุลกากรปลดเกษียณถึง 100 คน ตอนนี้จึงต้องเร่งสร้างบุคลากรมาทดแทน เช่น เจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญในการวิเคราะห์เรื่องเหล็ก ต้องเร่งในเรื่องของการบริหารและการเปลี่ยนถ่ายความรู้ (Knowledge Management: KM) จาก 1 คนต้องเพิ่มเป็น 10 คน จัดทำคู่มือปฏิบัติงาน เมื่อมีการโยกย้าย ปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานแล้ว คนใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนต้องทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้กรมศุลกากรกำลังเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร 2469 ในอนาคตข้างหน้า เรื่องการจ่ายเงินสินบนรางวัล จะไม่มีประเด็นในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตามด่านศุลกากรไม่อยากมานั่งในตำแหน่งวิชาการ เพราะไม่ได้อะไร และไม่ใช่งานหลักของกรมศุลกากร ขณะที่ฝ่ายวิชาการอยู่ข้างในกรมศุลกากรก็ไม่มีใจทำงาน อยากไปประจำการที่ด่านศุลกากร

ในอนาคต หากมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเสร็จเรียบร้อย กรมศุลกากรจะเป็นหน่วยงานที่เน้นในเรื่องอำนวยความสะดวกทางการค้า เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการสามารถไปประจำการที่ด่านศุลกากรได้ เจ้าหน้าที่ที่ด่านศุลกากรก็สามารถมาทำงานที่ฝ่ายวิชาการได้ เกิดความเท่าเทียมกัน ซึ่งในส่วนการพัฒนาบุคลากรนี้ กรมศุลกากรเตรียมแผนการรองรับไว้ทั้งหมดแล้ว

ส่วนเรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มานานกว่า 90 ปี ถึงเวลาถูกสังคายนาครั้งใหญ่ หลังจากร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ล่าสุด อยู่ระหว่างการตรวจทานถ้อยคำของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษขึ้นมาพิจารณาตัวบทกฎหมายทั้ง 300 มาตรา ไม่ใช่ปรับปรุงแก้ไขเฉพาะเรื่องสินบนเงินรางวัลเพียงอย่างเดียว เรามีการจัดหมวดหมู่ของกฎหมายใหม่ด้วย เช่น จัดหมวดหมู่กฎหมายในเรื่องอำนวยความสะดวกทางการค้า หมวดการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ หมวดของการปกป้องสังคม เมื่ออ่านกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับแล้วจะเห็นภาพรวมในเชิงของการบูรณาการอย่างครบวงจร

เปิดเสรีดิวตี้ฟรี นโยบายรัฐต้องชัดเจนก่อน

ส่วนประเด็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรต่างชาติ และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของเมืองไทยภายใต้การนำของสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทยเรียกร้องให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT จัดหาพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ทำจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter)และในฐานะที่กรมศุลกากรกำกับดูแลการขออนุญาต เปิดกิจการร้านค้าปลอดอากร มีแนวทางในการแก้ปัญหานี้อย่างไร

นายกุลิศตอบว่า ก่อนหน้านี้กรมศุลกากรได้เชิญสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากร, AOT, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด, สมาคมชิปปิ้ง, ตัวแทนจากห้างสรรพสินค้า และกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมกันอย่างครบถ้วน ผลการประชุมวันนั้นได้ข้อสรุป 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 การเปิดเสรีจุดส่งมอบสินค้า ถ้าเปิดเสรีแล้วประเทศชาติได้ประโยชน์อะไร โดยที่มาเรื่องนี้เกิดจากภาคเอกชนทำเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดภาษีให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ดังนั้น ทั้ง 2 กระทรวงต้องทำเรื่องเสนอ ครม. ออกเป็นนโยบายให้ชัดเจนก่อน ถึงจะดำเนินการต่อไปได้

ประการที่ 2 หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนแล้ว กรมศุลกากรต้องมาดูว่าภายใต้สัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดอากรระหว่างกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ กับ AOT สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลได้หรือไม่

“อย่าลืมว่าสัญญาระหว่าง AOT กับคิงเพาเวอร์ทำกันไว้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว มีการเปิดประมูลและลงนามในสัญญาอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยที่ไม่มีใครร้องเรียน อยู่ดีๆ จะให้ผมใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงสัญญาที่เขาทำกันไว้อย่างถูกต้อง ตรงนี้อาจเสี่ยงถูกฟ้องได้ ซึ่งเราไม่ควรละเมิดสิทธิของเขา เหรียญมี 2 ด้าน อย่ามองเพียงด้านเดียว ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้รับสัมปทานด้วย”

ประการที่ 3 หากพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว พบว่าไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย ก็ต้องไปดูสนามบินนานาชาติแห่งอื่นว่าสามารถทำจุดส่งมอบสินค้าได้หรือไม่

“สรุป นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนว่า เพิ่มจุดส่งมอบสินค้าแล้วประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างไร เมื่อนโยบายรัฐบาลชัดเจนแล้วก็ต้องมาดูที่ตัวสัญญาที่ทำกันไว้ระหว่าง AOT กับบริษัทคิงเพาเวอร์ เปิดช่องให้ทำอะไรได้บ้าง และถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องหาช่องทางอื่น แต่ถ้าต้องการทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ก็ต้องรอสัญญาสิ้นสุดปี 2563″

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ผมก็ทำไปได้แค่นี้ หลังเดือนเมษายน 2559 สิ่งที่ผมได้วางรากฐานไปทั้งหมด ก็น่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม