ThaiPublica > เกาะกระแส > แผนฟื้นฟูไอแบงก์ คลังตั้ง AMC ซื้อหนี้เสีย 40,000 ล้าน – หาพันธมิตรใหม่ร่วมถือหุ้นภายใน มิ.ย. 59

แผนฟื้นฟูไอแบงก์ คลังตั้ง AMC ซื้อหนี้เสีย 40,000 ล้าน – หาพันธมิตรใหม่ร่วมถือหุ้นภายใน มิ.ย. 59

24 กุมภาพันธ์ 2016


นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(กลาง)
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(กลาง)

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยหรือไอแบงก์เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดใน 7 รัฐวิสาหกิจ ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด สั่งฟื้นฟูกิจการอย่างเร่งด่วน เพราะแทบไม่มีความคืบหน้าในรายละเอียดของแผนฟื้นฟูว่าจะทำอย่างไรและเมื่อไร ในช่วงปี 2558 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤศจิกายน มีเพียงคำสั่งสำคัญแค่ให้หาพันธมิตรร่วมทุนและจัดการแยกหนี้ดีหนี้เสียออกจากกันเท่านั้น ขณะที่อีกด้านยังต้องแบกรับภาระหนี้เสียที่พุ่งสูงไปกว่า 54,000 ล้านบาท หรือกว่า 50% ของสินเชื่อทั้งหมด เมื่อเทียบกับหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับ 2-3% เท่านั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ ไอแบงก์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการฟื้นฟูกิจการของไอแบงก์ว่า คนร. อนุมัติแผนฟื้นฟูไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก 1) กระทรวงการคลังจะจัดตั้ง AMC เพื่อรับหนี้เสีย (NPF) ส่วนที่ไม่ใช่ของประชาชนชาวมุสลิม ซึ่งมียอดคงค้างประมาณ 40,000 ล้านบาท ไปบริหารจัดการ โดยคาดว่าหนี้เสียส่วนนี้จะขายได้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินและนำมาเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ต่อไป

2) หาพันธมิตรร่วมทุน อยู่ระหว่างการยื่นเสนอข้อตกลงแก่พันธมิตรต่างๆ หลังที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ ซึ่งเริ่มมีผู้สนใจแสดงเจตจำนงมาจำนวนหนึ่ง โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะเริ่มประมูลครั้งที่ 1 หรือ indicative bids ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2559 หลังจากนั้นจะให้พันธมิตรที่สนใจเข้าทำ due diligence เพื่อประเมินสภาพและมูลค่าของไอแบงก์ ตั้งแต่มีนาคม-เมษายน 2559 ก่อนจะเริ่มประมูลครั้งที่ 2 หรือ binding bids เพื่อหาผู้ชนะในช่วงกลางเดือนเมษายน 2559 เมื่อได้ผู้ชนะแล้วจะมาตกลงเงื่อนไขราคาอีกรอบ สุดท้ายจึงประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อโอนหุ้นและชำระราคาหุ้นต่อไป ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2559

ทั้งนี้ โดยหลักการหาพันธมิตรร่วมทุน คนร. ระบุเงื่อนไขว่าจะต้องรักษาสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐไว้อย่างน้อย 25.5% เพื่อรักษาสิทธิการออกเสียงยับยั้ง หรือวีโต้ในการประชุมผู้ถือหุ้นได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยปัจจุบันสัดส่วนการถือหุ้นของไอแบงก์แบ่งเป็น กระทรวงการคลัง 48.5%, ธนาคารออมสิน 39%, ธนาคารกรุงไทย 9% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 1% ขณะที่มาตรฐานการคัดเลือกของไอแบงก์เองนอกจากสถานะการเงินของพันธมิตรที่เข้มแข็งแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารธนาคารตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม ต้องมีเครือข่ายสาขาเพียงพอ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารเท่านั้น แต่อาจจะเป็นธุรกิจรูปแบบอื่นที่เป็นพันธมิตรกับธนาคารพาณิชย์ก็ได้

“หลังจากตั้ง AMC และกระทรวงการคลังชำระเงินมาให้ จะทำเสร็จก่อนที่พันธมิตรจะเข้ามาดู ไอแบงก์จะได้เงินมาเพิ่มทุนบางส่วนก่อน ประกอบกับพันธมิตรที่จะใส่เงินเข้ามาอีกหลังจากนั้น สถานะของกองทุน BIS ก็จะพลิกกลับเป็นบวกมากกว่าเกณฑ์ที่ 8.5% แน่นอน โดยเงินเพิ่มทุนทุก 100,000 ล้านบาท คาดว่าจะนำไปสร้างกำไรได้ประมาณ 1,500-3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะช่วยให้เรามีสถานะที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ เรายังได้ปิดสาขาไป 22 แห่ง จาก 130 สาขา เหลือ 108 สาขา ประหยัดเงินไปได้ 84 ล้านบาทต่อปี”

สำหรับฐานะการเงินปัจจุบันของไอแบงก์ ล่าสุด มีสินทรัพย์ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หนี้สินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ดีของประชาชนชาวมุสลิม 9,000 ล้านบาท หนี้ดีของประชาชนอื่นๆ 41,000 ล้านบาท หนี้เสียที่เป็นของมุสลิม 3,400 ล้านบาท (ส่วนใหญ่เกิดจากการให้กู้ในช่วงน้ำท่วมปี 2554 และโครงการนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งถูกคิดว่าเป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่า) และหนี้เสียของประชาชนอื่นๆ 40,000 ล้านบาท มีทุนที่ชำระแล้ว 10,000 ล้านบาท และมีทุนเรือนหุ้นทั้งหมด 100,000 ล้านบาท

ด้านการดำเนินงานของธนาคาร มีจำนวนลูกค้าชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นจาก 296,462 รายในปี 2556 เป็น 447,533 รายในปี 2558 โดยกำลังเร่งรัดแก้ไขและปรับปรุงโครงสร้างหนีรวม 113 ราย มูลค่ารวม 29,630 ล้านบาท, มีระดับอัตราเงินฝากต่อหนี้สิน (F/D Ratio) ที่ระดับ 97% ติดต่อกัน 5 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2558, มีสัดส่วนของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ดีขึ้น โดยมีเงินฝากออมทรัพย์ที่ 79% ในปี 2558 ลดลงจาก 83% ในปี 2556 และปี 2557 ทำให้ต้นทุนเงินฝากลดลงจาก 3% ในปี 2557 เป็น 2.6% ในปี 2558, มีกองทุน BIS ที่ระดับ -21% ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 8.5%

แผนฟื้นฟูไอแบงก์ – 2 ปีเริ่มคืบหน้า

การฟื้นฟูไอแบงก์ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว แผนฟื้นฟูถึงเริ่มคืบหน้า แต่อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีรายละเอียดตามลำดับเวลาดังนี้

  • 1 ธันวาคม 2557 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ภายใต้ คนร. เข้าตรวจเยี่ยมไอแบงก์และรับฟังการชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหา
  • 7 เมษายน 2558 ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ โดยรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาองค์กร ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้หลักการแยก Good Bank-Bad Bank
  • 20 เมษายน 2558 คณะกรรมการไอแบงก์ทบทวนแฟนฟื้นฟูและประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ อีกครั้ง ตามแนวทาง Good Bank-Bad Bank
  • 6 พฤษภาคม 2558 คนร. พิจารณาแนวทาง Good Bank-Bad Bank โดยให้แยกบัญชี Escrow Account, ขาย NFP ให้ SAM/BAM, จัดตั้ง AMC รับซื้อ NPF
  • 13 ตุลาคม 2558 เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นแก่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ
  • 26 ตุลาคม 2558 หารือแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นกับ ธปท.
  • 27-30 ตุลาคม 2558 หารือแนวทางแก้ไขปัญหากับกระทรวงการคลัง
  • 2 พฤศจิกายน 2558 เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแก่คณะกรรมการไอแบงก์
  • 3 พฤศจิกายน 2558 เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแก่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ
  • 9 พฤศจิกายน 2558 เสนอแผนแก้ไขปัญหาแก่ คนร.
  • 13 พฤศจิกายน 2558 ได้รับแจ้งว่า คนร. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้หาพันธมิตรร่วมทุนและจัดตั้ง AMC แยกหนี้เสียส่วนที่มิใช่ของประชาชนชาวมุสลิม ไปเมื่อวันที่ 9 และ 10 พฤศจิกายน 2558 ตามลำดับ
  • 18 มกราคม 2559 รายงานความคืบหน้าแก่ คนร.