ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 ก.พ. 2559: “ข้าวยังอยู่-ปูยังผิด” – ปรับใหญ่คัดเด็กทุน เน้นใช่ไม่เน้นเก่ง

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 ก.พ. 2559: “ข้าวยังอยู่-ปูยังผิด” – ปรับใหญ่คัดเด็กทุน เน้นใช่ไม่เน้นเก่ง

13 กุมภาพันธ์ 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 ก.พ. 2559

  • ข้าวยังอยู่-ปูยังผิด
  • ปรับใหญ่คัดเด็กทุน เน้นใช่ไม่เน้นเก่ง
  • ผลสำรวจเด็กไทย 33% ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
  • “มิวสิค บั๊กส์” ฟ้อง “แกรมมี่-ลาบานูน” ละเมิดลิขสิทธิ์ 50 ล้านบาท
  • คดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นแผลงฤทธิ์ “ดีเอสไอ” เตรียมฟ้อง “ธัมมชโย” รับของโจร-ฟอกเงิน
  • ข้าวยังอยู่-ปูยังผิด

    น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/33129)
    น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/33129)

    11 ก.พ. 2559 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า จากการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวในรอบปีบัญชี 2558 ที่กระทรวงการคลังระบุว่ามีข้าวหายไปจากสต็อก 390,000 ตันนั้น น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ข้าวไม่ได้หายไปไหน แต่อาจเป็นการลงบัญชีผิดพลาด และยังไม่ได้ข้อสรุปทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งได้เชิญองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มาหารือแล้ว พร้อมได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อสรุปทางบัญชี และข้อเท็จจริงภายในวัน ที่ 12 ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำส่งให้กับคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวต่อไป

    แต่แม้ข้าวจะยังอยู่ ก็ไม่ได้หมายความว่าความผิดของอดีตนายกฯ ปู หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะหมดไป ดังที่เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานถึงคำกล่าวของนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยนายจิรชัยบอกว่า กรรมการได้พิจารณา 2 ลักษณะ คือ พฤติการณ์ดำเนินการในการกำกับดูแลติดตาม ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่ามีการติดตามรัดกุม กำกับชัดเจนหรือไม่ และเรื่องความเสียหาย ซึ่งถือวันปิดบัญชี 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อนำตัวเลขปิดบัญชีมาพิจารณาวิเคราะห์ โดยให้ความเป็นธรรม อาทิ ตัวเลขที่ประชาชนจะได้รับในส่วนต่าง เช่น ราคาท้องตลาดเกวียนละ 9,000 บาท แต่รับจำนำ 15,000 บาท ส่วนต่างตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ประชาชน กรรมการก็ไม่ได้คิดเป็นความเสียหาย การดำเนินการของส่วนราชการถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายเป็นข้าราชการดำเนินการ ก็ไม่ถือว่าเป็นความเสียหาย ในส่วนเรื่องดอกเบี้ย ที่ทางคณะกรรมการปิดบัญชีคิดดอกเบี้ยด้วยนั้น แต่กรรมการเราคิดว่าไม่ใช่การค้า เพราะเป็นการดำเนินงานราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขประชาชน ก็ไม่คิดเป็นความเสียหาย

    ทั้งนี้ ในส่วนของความผิด นายจิรชัยกล่าวว่า ตามพฤติการณ์ก็มีความผิดสอดคล้องกับการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่อย่างไรก็ดี เรื่องความเสียหายนั้นเป็นอีกเรื่อง ซึ่งเรื่องของตัวเลขความเสียหายนั้นยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา

    ปรับใหญ่คัดเด็กทุน เน้นใช่ไม่เน้นเก่ง

    ม.ล.พัชรภากร เทวกุล รองเลขาธิการ ก.พ. ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/32694)
    ม.ล.พัชรภากร เทวกุล รองเลขาธิการ ก.พ.
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news/32694)

    จากกรณีอดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอก ที่สหรัฐฯ จนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วหลีกเลี่ยงไม่กลับมาใช้ทุนคืน ทั้งยังได้เปลี่ยนสัญชาติ และทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

    มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ม.ล.พัชรภากร เทวกุล รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้รับทุนของ ก.พ. ที่ทำผิดสัญญาชดใช้ทุนซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายมีจำนวน 23 ราย ประกอบด้วย ผู้ทำผิดสัญญาก่อน พ.ศ. 2539 จำนวน 14 ราย ทำสัญญาช่วงปี พ.ศ. 2539–2551 จำนวน 8 ราย ทำสัญญาช่วงปี 2552 ถึงปัจจุบันจำนวน 1 ราย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนผู้ทำสัญญาชดใช้ทุนในช่วงปี พ.ศ. 2552–ปัจจุบัน ที่มีจำนวน 888 ราย จะเห็นว่าสัดส่วนผู้รับทุนที่กระทำผิดสัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.11% โดยสาเหตุของการกระทำผิดสัญญาชดใช้ทุน เนื่องจาก 1. ไม่เดินทางกลับประเทศไทย 2. เปลี่ยนสายอาชีพ 3. ลาออกภายหลังปฏิบัติราชการชดใช้ทุนไปได้ระยะหนึ่ง 4. เหตุผลส่วนตัว

    ม.ล.พัชรภากรยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสนใจปัญหาที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้ ก.พ. หาวิธีการปรับปรุงแก้ไขทุนของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเรามีแผนที่จะปรับปรุง 4 หลักสำคัญ ได้แก่ 1. ระบบการจัดกรอบทุนของรัฐบาล 2. การสรรหาคนที่ใช่เข้ามาทำงานราชการ 3. ว่าด้วยการดูแลจัดการศึกษา 4. การกลับมาทำงานเมื่อเรียนจบแล้ว เหล่านี้จะช่วยให้การแก้ไขปัญหามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเรื่องดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุม ก.พ. เดือนหน้า นอกจากนี้ในอีก 2 สัปดาห์ จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อวางกรอบต่างๆ ในการปฏิรูปโครงการเรื่องทุน โดยนำปัญหาการหนีทุนนี้มาพิจารณาด้วย

    ส่วนกรณีของอดีตอาจารย์คนดังกล่าวนั้น เนื่องจากออกจากข้าราชการไปแล้ว จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของ ก.พ. แต่ก็ได้แนะนำให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลประสานไปยังสถานทูตไทย ณ กรุงวอชังตัน ดี.ซี. หรือหน่วยงานที่ดูแลนักเรียนไทยที่นั่น เพื่อประสานไปยังคู่กรณี

    ทั้งนี้ ม.ล.พัชรภากรยังให้ความเห็นว่า คิดว่าเรื่องการหนีทุนเป็นปัญหาที่ตัวบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย แต่กระนั้นก็ต้องแก้ไขที่ระบบด้วย เพราะที่ผ่านมาเรามักคัดเลือกจากคนเก่ง ซึ่งต่อจากนี้จะมีการทบทวนเรื่องเหล่านี้ เพราะต้องไม่ใช่คนเก่งเพียงอย่างเดียวที่จะได้รับทุน จะต้องดูว่าคนเหล่านั้นใช่ หรือตรงกับความต้องการหรือไม่ ซึ่งคนที่จะได้รับทุนต่อไปต้องมีจิตสำนึกด้วย

    อย่างไรก็ดี รองเลขาฯ ก.พ. ยังได้บอกว่าพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย และขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวจนนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป

    ผลสำรวจเด็กไทย 33% ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1455164121)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1455164121)

    ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า ช่วงวันที่ 10 ก.พ. 2559 “ดีแทค” ได้เผยแพร่ผลสำรวจเพื่อร่วมรณรงค์ในช่วงสัปดาห์ของ Safer Internet day วันรณรงค์ใช้อินเทอร์เน็ตปลอดภัยโลก เรื่องผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กไทย ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์

    นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผอ.อาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ได้เก็บข้อมูลจากเด็กไทยทั่วประเทศจำนวน 1,336 คน อายุระหว่าง 12-18 ปี พบว่า เด็กไทยกำลังเผชิญภัยคุกคามบนโลกออนไลน์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) 33% ของเด็กไทยมีประสบการณ์ของการเป็นทั้งผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งหรือก่อกวนบนโลกออนไลน์ จากคนที่ไม่รู้จักและ/หรือจากคนที่รู้จักซึ่งเป็นคนเดียวกับที่แกล้งอยู่ในโลกของความเป็นจริง และในขณะเดียวกัน เด็กเหล่านี้ก็กลับเป็นผู้กลั่นแกล้งคนอื่นบนโลกออนไลน์โดยปิดบัง ไม่เปิดเผยชื่อจริงในการใช้อินเทอร์เน็ต

    นางอรอุมากล่าวอีกว่า มีตัวอย่างกรณีศึกษาที่จะชี้ให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ของเด็กไทยเป็นภัยใกล้ตัวที่น่าวิตกมาก โดยเป็นบทสัมภาษณ์เด็กชายทอม (นามสมมติ) อายุ 12 ปี ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยมีคนนำรูปจากกล้องวงจรปิดหรือกล้องโทรศัพท์ ซึ่งเป็นภาพเปลือยจากด้านหลังของเด็กชายทอมที่กำลังอาบน้ำโพสต์อยู่บนหน้าเฟซบุ๊กของเด็กชายทอมเอง ขณะเล่าเด็กชายทอมร้องไห้ไปด้วย และพยายามตามสืบว่าคนโพสต์เป็นใคร เมื่อตามสืบไปในเฟซบุ๊กของคนโพสต์ก็ไม่มีข้อมูลมีแต่รูปเป็นผู้ชายหันหลัง เมื่อได้ส่งข้อความไปหาคนโพสต์ก็ได้รับข้อความตอบกลับมาว่า “เดี๋ยวลบให้” เด็กชายทอมตัดสินใจไม่บอกใคร เก็บตัว ไม่เล่นเฟซบุ๊ก มีความกลัวว่าเขาจะนำภาพนี้ไปทำให้เสียชื่อเสียงด้วยวิธีอื่นๆ

    “มิวสิค บั๊กส์” ฟ้อง “แกรมมี่-ลาบานูน” ละเมิดลิขสิทธิ์ 50 ล้านบาท

    ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9590000015307
    ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9590000015307

    11 ก.พ. 2559 เว็บไซต์ Nation TV รายงานว่า นายชนินทร์ วรากุลนุเคราะห์ กรรมการบริษัท เพาเวอร์ เทรเซอร์ จำกัด ค่ายเพลง มิวสิค บั๊กส์ ได้ยื่นฟ้องบริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งศิลปินวง ลาบานูน กับพวก รวม 6 คน ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เพลงทั้ง 7 อัลบั้มของวงลาบานูน ซึ่งเป็นสิทธิ์ของบริษัท โดยมีการเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยทั้งหมดระงับการนำผลงานเพลงลิขสิทธิ์โจทก์ทั้ง 7 อัลบั้มไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ โดยเด็ดขาด ทั้งยังขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อห้ามนำเพลงทั้ง 7 อัลบั้มไปใช้ ซึ่งศาลนัดไต่สวนคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 4 เมษายน 2559 ”

    ทั้งนี้ นายชนินทร์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านในคลิปวิดีโอโดยมีใจความสำคัญว่า (ถอดความโดย ผู้จัดการออนไลน์) ความจริงตนไม่ได้ต้องการจะฟ้องเลย ก็ได้เชิญทางแกรมมี่มาคุยแล้ว แต่ว่าไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ ซึ่งทางแกรมมี่เองเขาก็คิดว่าเขามีสิทธิ์ตรงนี้ แต่อย่างที่บอกว่าเราเองก็มีสัญญาตรงนี้ ซึ่งเราก็เขียนชัดเจนว่า มีสิทธิ์แค่จัดเก็บจากสถานประกอบการ ร้านค้า ร้านคาราโอเกะ คือไม่ได้ให้เอาไปใช้โดยทั้งสิ้น

    ทั้งนี้สัญญาดังกล่าวได้ระบุจุดประสงค์ไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้รับใบอนุญาติในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง วัสดุต่อสาธารณะชนต่อสถานประกอบการต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว นี่คือเจตนากับสิ่งที่เขาผิดสัญญา เพราะฉะนั้น สิ่งสุดท้ายดูที่เจตนารมณ์ คือมิวสิค บั๊กส์ ให้แกรมมี่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์จากสถานประกอบการ ไม่มีเขียนบอกเลยว่าให้แกรมมี่เอาไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

    คดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นแผลงฤทธิ์ “ดีเอสไอ” เตรียมฟ้อง “ธัมมชโย” รับของโจร-ฟอกเงิน

    พระธัมมชโย ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/635960)
    พระธัมมชโย
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/635960)

    เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท. สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวถึงการสอบสวนความผิดฐานฟอกเงินและรับของโจรกับพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และพระเครือข่าย ซึ่งได้รับเช็คที่ได้มาจากการยักยอกทรัพย์ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานบริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ว่า คดีดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของพนักงานอัยการที่ส่งเรื่องมายังดีเอสไอเมื่อวันที่ 29 ม.ค. เพื่อให้ดำเนินการสอบสวน ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการ ในส่วนของวัดพระธรรมกายและเครือข่ายมีข้อเท็จจริงชัดเจนจากการสอบสวนเส้นทางการเงินก่อนหน้านี้ว่ามีการรับเช็คจำนวนดังกล่าวไปจริง หลังจากนี้ต้องสอบสวนว่าจะเข้าข่ายความผิดใดระหว่างฟอกเงินหรือรับของโจร โดยต้องพิสูจน์เจตนาเป็นหลัก ซึ่งกรณีการฟอกเงินคือต้องดูทั้งเจตนา มีมูลหนี้ต่อกันหรือไม่ หากไม่มีมูลหนี้ต่อกันก็ถือเป็นข้อสังเกตเรื่องเจตนาว่าต้องรู้หรือควรรู้ว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการยักยอกหรือไม่ ส่วนกรณีรับของโจรต้องพิจารณาว่าได้รู้มาก่อนหรือไม่ว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำผิด ซึ่งทั้ง 2 ข้อหามีอายุความต่างกัน โดยคดีฟอกเงินมีอายุความ 15 ปี ส่วนข้อหารับของโจรมีอายุความ 5 ปี