ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > อีไอซี วิเคราะห์ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถ้าอังกฤษออกจากสมาชิกอียู ดีเดย์ประชามติ “Brexit” 23 มิ.ย. 2559

อีไอซี วิเคราะห์ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถ้าอังกฤษออกจากสมาชิกอียู ดีเดย์ประชามติ “Brexit” 23 มิ.ย. 2559

23 กุมภาพันธ์ 2016


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ “ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกหากเกิด Brexit” ว่าจากที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แถลงกำหนดการทำประชามติเพื่อตัดสินว่าสหราชอาณาจักร (UK) จะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ หรือที่เรียกว่า Brexit (British Exit) โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. 2559 หลังจากได้บรรลุการเจรจาต่อรองกับผู้นำประเทศอื่นๆ ใน EU เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสมาชิก

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ข้อตกลงใหม่ทำให้ UK คงสถานภาพพิเศษใน EU เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยยังคงใช้เงินปอนด์และสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เข้าร่วมกับ EU ในรูปแบบอื่นซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การรวมกลุ่มในเชิงการเมือง (political integration) และยังสามารถปลดล็อกข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์สำหรับแรงงานชาวต่างชาติใน UK เพื่อลดภาระผู้อพยพซึ่งเป็นประเด็นกดดันให้ออกจาก EU อีกด้วย

ความเสี่ยงที่ UK จะออกจาก EU ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้น แต่ยังมีความรุนแรงน้อยกว่าในกรณีของกรีซ หลังการประกาศกำหนดการทำประชามติค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงถึง 2.3% ต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้รับผลกระทบ

อีไอซีมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นความผันผวนระยะสั้นซึ่งมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ตามการทำประชามติในเดือน มิ.ย. 2559 หากผลโหวตคือไม่ออกจาก EU จะเป็นการเพิ่มความมั่นคงในสถานภาพของ UK ในฐานะสมาชิกของ EU และในกรณีที่ผลโหวตคือให้ออก ซึ่งสนธิสัญญาลิสบอน (ปี 2552) ระบุว่าการสิ้นสุดสมาชิกภาพจะใช้เวลา 2 ปีหลังจากแจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นการยืดระยะเวลาให้แต่ละฝ่ายได้วางแผนปรับตัวและเจรจาต่อรองข้อตกลงใหม่ ทั้งนี้ กรณีของ Brexit นั้นแตกต่างจากกรณีความเสี่ยงที่กรีซจะออกจาก EU ในปี 2558 (Grexit) เนื่องจากในกรณีกรีซนั้นมีความเชื่อมโยงต่อการผิดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซเป็นปัจจัยหลัก ในขณะที่ Brexit ไม่มีความเชื่อมโยงนี้

อีไอซีมองว่า โอกาสที่ผลประชามติที่ UK จะออกจาก EU นั้นมีต่ำ เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะตามมา ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของผลสำรวจเลือกที่จะคงสถานภาพสมาชิกหรือออกจาก EU อยู่ที่ 43% ต่อ 40% (17% ยังไม่ตัดสินใจ) ซึ่งผลการโหวตให้ออกในช่วงที่ผ่านมาได้รับความนิยมมากขึ้นจากเมื่อกลางปี 2558 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในยุโรปและการกดดันให้สมาชิก EU แบ่งรับภาระผู้อพยพเหล่านี้

ที่มาภาพ : http://www.politisonline.com/wp-content/uploads/2016/01/Brexit.jpg
ที่มาภาพ : http://www.politisonline.com/wp-content/uploads/2016/01/Brexit.jpg

นอกจากนี้ ยังมีภาระทางการคลังต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EU ที่อ่อนแอ และอิสรภาพในการตัดสินใจทางการเมืองที่จำกัดเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าผลประชามติจะให้คงสถานภาพสมาชิก เนื่องจากข้อตกลงใหม่จะทำให้ UK คลายความกังวลเรื่องผู้อพยพและแรงกดดันในการรวมกลุ่มกับ EU ในด้านการเมือง ถึงแม้ว่านักการเมืองที่มีอิทธิพลสูงอย่าง นายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีลอนดอน จะออกมาเรียกร้องให้ UK ออกจาก EU แต่การออกจาก EU จะทำให้มีความเสี่ยงว่าสกอตแลนด์ซึ่งเอนเอียงไปทางฝ่าย EU มีการทำประชามติว่าจะออกจาก UK อีกครั้ง ซึ่งชาวอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นน่าจะทำให้กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจเอนเอียงไปทางการโหวตให้คงสภาพสมาชิก EU มากขึ้นด้วย

กรณี Brexit จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้ง UK และยุโรป โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนทางข้อตกลงทางการค้าและแรงงาน การพ้นสภาพสมาชิก EU อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่าง UK และ EU ซึ่งคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศของ UK ทั้งหมด เนื่องจากมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถเจรจาเพื่อคงสภาพการเป็นตลาดเดียวกันต่อไปได้หรือไม่ อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนต่อข้อตกลงทางการค้าที่ UK ทำกับประเทศอื่นๆ ในฐานะประเทศสมาชิกของ EU เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างประเทศจะทำให้บริษัทข้ามชาติพิจารณาย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป โดยล่าสุด HSBC เตือนว่าอาจจะย้าย investment banking office ไปปารีส นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Fitch Ratings และ Moody’s ต่างก็ออกความเห็นว่าจะลดระดับความน่าเชื่อถือของ UK ซึ่งจะกระทบต่อตลาดการเงินอย่างรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้ง UK และ EU เข้าสู่ภาวะถดถอยได้

การลงประชามติของ UK เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกบนพื้นฐานความเปราะบางที่มีอยู่เดิม การอ่อนตัวของทั้งยูโรและปอนด์หลังความเสี่ยง Brexit มีเพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นถึงความกังวลของตลาดต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย อีไอซีมองว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความตื่นตระหนกของนักลงทุนในระยะสั้นมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน และจะปรับคืนสู่สภาวะเดิมเมื่อความกังวลผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นระยะสั้น แต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในด้านการค้าการลงทุน ทำให้เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม ดังนั้น โอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะขยายมาตรการอัดฉีดทางการเงินภายในเดือน มี.ค. นี้มีสูงขึ้น

ผลกระทบต่อค่าเงินบาทและส่งออกไทยมีจำกัด มูลค่าการส่งออกจากไทยไป UK อยู่ที่ประมาณ 2% ของส่งออกทั้งหมด ดังนั้น ในระยะสั้นผลต่อการค้าของไทยมีจำกัด อีกทั้งผลกระทบต่อค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐก็มีไม่มากเช่นกัน อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูท่าทีของผลประชามติต่อไป เนื่องจากกรณีของ Brexit จะทำให้เศรษฐกิจทั้งยุโรปและ UK มีความเสี่ยงต่อสภาวะถดถอยได้ และจะกระทบต่อภาคส่งออกไทยเป็นวงกว้าง (รวม 12% ของส่งออกทั้งหมด) ส่วนการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EU ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ แม้ว่าถูกระงับชั่วคราวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 จะไม่ครอบคลุมการค้ากับ UK และอาจจะต้องมีการเจรจาแยก