ThaiPublica > คอลัมน์ > Empire of Dreams พลังแห่งจินตนาการ

Empire of Dreams พลังแห่งจินตนาการ

6 กุมภาพันธ์ 2016


1721955

1 poster

นานแสนนานมาแล้ว
ณ กาแล็คซี่อันไกลโพ้น…

บรรทัดแรกเป็นดั่งประโยคเริ่มในเทพนิยายแฟนตาซี ขณะที่บรรทัดหลังกลับบอกเราว่าเรื่องราวที่จะได้รับรู้ต่อไปนี้คือนิยายวิทยาศาสตร์ ในคำเกริ่นนำประจำ Star Wars ทุกเอพพิโซด

ขณะที่เขียนบทความนี้ในช่วงเปิดศักราชใหม่ Star Wars ภาคล่าสุด The Force Awakens ก็กำลังขะมักเขม้นทำรายได้เฉพาะในสหรัฐฯ ก็ปาไปเกือบ 747 ล้านเหรียญ (ราว 26,843 ล้านบาท) เบียด Titanic (1997) ที่เคยครองอันดับสองตกไป และอาจแซง Avatar (2009) ที่เคยมีสถิติสูงสุดถึง 760.5 ล้านเหรียญบนตารางหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล

อันที่จริงจุดกำเนิดของ Star Wars (1977) เป็นหนังทุนต่ำเตี้ยเพียง 11 ล้านเหรียญ แต่ดันฮิตระเบิดและกวาดไปได้เกือบ 780 ล้านเหรียญทั่วโลก มันคือหนังคัลต์ประเภทที่ถ้าคนคลั่งก็จะบูชามันราวกับศาสนาใหม่ (จริงๆ ศาสนา Jediism ก็อุบัติขึ้นในโลกแล้ว) ขณะที่คนไม่อินก็อาจจะมองมันแบบเหยียดๆ ไม่ต่างกับหนังจักรๆ วงศ์ๆ หรือหนังกำลังภายใน ประเภทปล่อยแสง โชว์พลัง แต่งตัวเพี้ยนๆ หลุดโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง Star Wars ก็ได้สร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นมาด้วย มันมีเพียบพร้อมทั้งแฟชั่น, ภาษา, จักรวาล ปรัชญา และตำนานมหากาพย์เป็นของตัวเอง …อะไรหรือที่ทำให้มันอยู่เหนือกาลเวลา และครองใจผู้ชมมาช้านานตลอดเกือบสี่สิบปีที่ผ่านมา?

2 (2)

บางทีคำตอบอาจจะอยู่ในสารคดีเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว Empire of Dreams (2004)

“Star Wars คือหนังฮิตที่สุดตลอดกาล มันคือหนังแหวกแนวที่พลิกผันประวัติศาสตร์วงการหนังฮอลลีวูด มันให้ภาพแห่งจินตนาการเกี่ยวกับพลังของมนุษย์ มันได้ปั้นนักแสดงหนุ่มสาวหน้าใหม่สามคนให้กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ (มาร์ค ฮามิลล์ ในบท ลุค สกายวอล์กเกอร์, แฮริสัน ฟอร์ด ในบท ฮัน โซโล และ แคร์รี ฟิชเชอร์ ในบท เจ้าหญิงเลอา) ทว่า Star Wars ไม่เพียงจะเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้กับการดูหนังเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนกระบวนการทำหนังที่เคยมีมาทั้งหมดอีกด้วย” และนี่คือบทเกริ่นนำของสารคดีเรื่องนี้ ก่อนจะโยนคนดูเข้าไปสู่ห้วงเวลาก่อนที่ Star Wars จะอุบัติขึ้นมาบนโลกใบนี้

โลกในเวลานั้นไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้ ภาพสารคดีตัดสลับด้วยแฟชั่นขาบานย้วยของยุค 70, อุปกรณ์ไฮเทคสมัยนั้นคือดิจิทัลยุคบุกเบิก, วิดีโอเกมเป็นกราฟิกจอเขียวๆ กิ๊กก๊อก, คอมพิวเตอร์มีขนาดเทอะทะเท่าห้องกว้างๆ, ตัดสลับกับภาพข่าวประท้วงกรณีสงครามเวียดนาม, มนุษย์เพิ่งเดินทางไปอวกาศได้จริงๆ เป็นครั้งแรก, อเมริกันชนอยู่ในภาวะวิกฤติที่ไม่อาจจะไว้วางใจรัฐบาลตนเองที่มี CIA แทรกซึมไปบ่อนทำลายชาติต่างๆ และสอดแนมคนในชาติตัวเอง, ประชาชนไม่ไว้วางใจผู้นำของพวกเขา โดยเฉพาะประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในคดีวอเตอร์เกท, เศรษฐกิจถดถอย, ชาวโลกต่างร้องหาสันติภาพ ฯลฯ

3 (2)

หนังฮอลลีวูดเวลานั้นอยู่ในภาวะตกต่ำ เต็มไปด้วยหนังหายนะอย่าง Earthquake (1974), The Poseidon Adventure (1972) ขณะเดียวกันก็มีหนังแอนตี้ฮีโร่อย่าง Easy Rider (1969) ของผู้กำกับหน้าใหม่ เดนนิส ฮ็อปเปอร์ ที่ทั้งทำรายได้และเป็นที่ฮือฮาในหมู่นักวิจารณ์ ซึ่ง จอร์จ ลูคัส ผู้กำกับ Star Wars ให้ความเห็นในสารคดีเรื่องนี้ว่า “เวลานั้นโลกต้องการเนื้อหาใหม่ๆ ทำให้มีผู้กำกับหน้าใหม่แจ้งเกิดขึ้นมา พวกเขาเล่าเรื่องด้วยสไตล์ของคนรุ่นใหม่ เพื่อท้าทายและกระตุกต่อมคิดใหม่ๆ เพราะสตูดิโอหนังยุคก่อนหน้านี้ต่างปิดตัวลง หนังหลายเรื่องถูกบีบให้ทุนสร้างน้อยลงมาก แต่ก็กลับมีผู้กำกับรุ่นใหม่แจ้งเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย”

กลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เติบโตมาด้วยการเรียนรู้จากโรงเรียนหนัง อาทิ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา, ไบรอัน เดอ พัลมา, มาร์ติน สกอเซซี, สตีเวน สปีลเบิร์ก และที่ขาดไม่ได้ก็คือตัว จอร์จ ลูคัส เอง ที่มีผลงานหนังสั้นซึ่งทำสมัยยังเป็นนักเรียนหนัง เรื่อง Electronic Labyrinth THX 1138 4EB (1967) และต่อมาถูกปรับกลายเป็นหนังยาว THX 1138 (1971) มันเป็นหนังไซ-ไฟว่าด้วยสังคมที่ถูกกดขี่ มนุษย์ทุกคนต้องถูกจับกล้อนผม และห้ามมีสัมพันธ์ทางเพศต่อกัน กระทั่งมีหนุ่มสาวคู่หนึ่งคิดก่อขบถต่อระบบอันชั่วร้าย หนังเต็มไปด้วยกลิ่นอายสไตล์นิยายของ จอร์จ ออร์เวล ผู้เขียน 1984 และ Animal Farm

4 (2)

แม้ THX 1138 จะประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ถูกสตูดิโอหั่นหนังออกไป 5 นาที และทำรายได้น้อยเกินคาด จนต้องลาโรงไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นหนังที่ได้เข้าฉายในสาย Director’s Forthnight ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ทำให้ลูคัสได้ทำหนังเรื่องต่อมา American Graffiti (1973) ด้วยทุนสร้างเพียงเจ็ดแสนเหรียญ แต่กวาดไปถึง 115 ล้านเหรียญ นักวิจารณ์ชมเปาะ ได้เข้าชิงออสการ์ถึง 5 สาขา และหนำซ้ำยังคว้า 2 ลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์เพลง/คอเมดียอดเยี่ยม กับนักแสดงหน้าใหม่ (พอล เลอ แม็ต) จนทำให้เขาได้สร้าง Star Wars ภาค A New Hope แล้วหลังจากความสำเร็จของ Star Wars ก็ทำให้ THX ถูกขุดกลับมายืนโรงฉายใหม่ด้วยการยัด 5 นาทีที่เคยถูกหั่นออกไปกลับเข้ามาให้ผู้คนได้ดูกันในปี 2004

ในสารคดีเรื่องนี้ยังเล่าต่อไปอีกว่า ลูคัสเติบโตมากับเรื่องราวผจญภัยอย่าง Robin Hood หรือ Flash Gordon หนังซีเรียลยุค 30 ที่เคยถูกนำมากลับมาฉายทางทีวีอีกครั้งในช่วงยุค 50 เขาจึงหยิบความชื่นชอบส่วนตัวจากยุคของเขามาเขย่ารวมกันออกมาเป็น Star Wars จึงไม่ต้องแปลกใจที่หุ่นยนต์ C3PO จะมีหน้าตาเหมือนหุ่นมาเรียในหนังเยอรมัน Metropolis (1927), ตัวร้ายอย่างดาร์ท เวเดอร์ จะสวมชุดเกราะแบบนักรบบูชิโดของญี่ปุ่น, วิถีของพวกเจไดจึงมีลักษณะคล้ายแนวคิดแบบเต๋าหรือแบบเซน สวมชุดเรียบง่ายคล้ายชุดยูโด, มีหลายๆ อย่างคล้ายๆ หนังญี่ปุ่นของ คุโรซาวะ อากิระ และมีเนื้อหาเสียสีการเมืองที่ดัดแปลงผสมผสานมาจากรูปแบบการปกครองสมัยจักรวรรดิโรมัน กับสังคมแบบพวกนาซี, ผสมปนเประหว่างอภินิหารแบบเทพนิยาย ไปสู่ไซ-ไฟวิทยาศาสตร์แบบสมจริง ที่ต่อมาหนังแนวนี้ก็ถูกให้คำนิยามว่าเป็นแนว Space Opera หรือ ลิเกอวกาศ

เรื่องราวเหล่านี้หาอ่านได้ดาดดื่น ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือมากมาย แต่ความต่างที่สารคดีเรื่องนี้หยิบยื่นให้ คือ เป็นการตามสัมภาษณ์ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง ทีมงานจากฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงนักแสดงสำคัญๆ แทบทุกคน ที่เด็ดกว่านั้นคือการร้อยเรียงคลิปผลงานต่างๆ มาให้เห็นที่มาที่ไปกันจะจะ ไปจนถึงเบื้องหลังการคิดบทและการออกแบบฉากต่างๆ แทบจะทุกขั้นตอนการถ่ายทำ เรียกได้ว่าเป็นหนังสารคดีที่คอ Star Wars ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

Star Wars ในชีวิตจริง

แดเนียล ฟรีตวูด
แดเนียล ฟรีตวูด

ก่อนที่ภาค Force Awakens จะเข้าฉาย แดเนียล ฟรีตวูด หนึ่งในแฟนหนังที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และรู้ตัวว่าจะมีชีวิตอยู่ไม่ทัน Star Wars ภาคล่าสุดจะลงโรง เขาจึงขอพรข้อสุดท้ายก่อนตาย ที่กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกโซเชียล จนสุดท้ายค่ายหนังก็ทำให้คำขอของเขาเป็นจริง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ก่อนที่ในอีกห้าวันต่อมาเขาจะจากโลกนี้ไปอย่างสงบ

เคธี่ และ R2-KT
เคธี่ และ R2-KT

แต่เหตุการณ์ประทับใจที่ผูกพันกับผู้คนในโลกแห่งความจริงแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2006 R2-KT หุ่นดรอยด์ที่มีหน้าตาคล้าย R2-D2 แต่เป็นสีชมพู ถูกสร้างขึ้นโดย อัลบิน จอห์นสัน (แฟนตัวยงของ Star Wars และเป็นผู้ก่อตั้ง The 501st Legion กลุ่มผู้แต่งคอสเพลย์สตรอมทรูปเปอร์เพื่อทำกิจกรรมการกุศล) เพื่อปกป้องลูกสาววัยหกขวบของเขา หลังจากที่รู้ว่าเธอป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมอง ชื่อ KT นั้นย่อมาจาก เคธี่ ซึ่งเป็นชื่อของเธอ และมันมีสีชมพู สีโปรดของเธอ หลังจากเคธี่เสียชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ดิสนีย์และลูคัสฟิล์มใส่เจ้า R2-KT ลงไปในหนังแอนิเมชั่นของ Star Wars จริงๆ ในภาค The Clone Wars (2008) รวมถึงล่าสุดก็มีการประกาศในหมู่แฟนก่อนหนังจะออกฉายว่าให้จับตาดูดีดี เพราะ R2-KT จะปรากฏในภาคนี้ด้วย ซึ่งหากอยากรู้ว่ามีในฉากใดบ้างก็สามารถตามได้ ที่นี่ เว็บไซต์กิจกรรมการกุศลที่แฟนหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่ เคธี่

My Saga (2016)

8

หนังสารคดีที่เกิดขึ้นจากการระดมทุนสร้างในเว็บ kickstarter ตามติดการเดินทางของ อดัม แฮร์ริส แฟนหนังชาวออสเตรเลีย ที่รู้ข่าวร้ายเมื่อสี่ปีก่อนว่าเขากำลังป่วยด้วยเนื้องอกในสมอง จึงตัดสินใจลงมือทำหนังเรื่องนี้ เพื่อตามหาพลังด้านบวกมาขจัดอาการทนทุกข์ของตัวเอง ด้วยการออกผจญภัยไปกับลูกชายตัวน้อย แจ็ค อนาคิน แฮร์ริส (อนาคิน คือ ชื่อสมัยเป็นเจได ของดาร์ท เวเดอร์) ไปตามสัมภาษณ์กลุ่มแฟน Star Wars หลากหลายอายุคนทั่วโลก แม้จะยังไม่มีกำหนดเข้าฉายแต่ก็น่าจะภายในปีนี้ โดยล่าสุดมีตัวอย่างหนังออกมาให้ดูกันแล้วที่นี่ และสามารถติดตามข่าวได้ ที่นี่

ขอพลังจงสถิตอยู่กับท่าน!

ป้ายคำ :