ThaiPublica > เกาะกระแส > รายได้ “ผู้กำกับภาพยนตร์” แค่ทำหนัง…เลี้ยงชีพไม่ได้

รายได้ “ผู้กำกับภาพยนตร์” แค่ทำหนัง…เลี้ยงชีพไม่ได้

22 กุมภาพันธ์ 2016


บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "พี่มาก..พระโขนง" (2556) ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ทำรายได้เกินกว่า 1 พันล้านบาท
บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “พี่มาก..พระโขนง” (2556) ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ทำรายได้เกินกว่า 1 พันล้านบาท ที่มาภาพ: http://cms.toptenthailand.net/file/picture/20131120140116523/20131120140116523.jpg

เหลืออีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็จะถึงงานใหญ่ของแวดวงภาพยนตร์โลก นั่นคือการประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 88 (24 รางวัล) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559

หนึ่งในรางวัลใหญ่ที่ทุกคนจับตา นอกจาก “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” “นักแสดงนำชาย-หญิง ยอดเยี่ยม” แน่นอนว่าต้องรวมถึง “ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” ด้วย

ครึ่งเดือนให้หลังงานออสการ์ ก็ถึงคิวงานสำคัญของแวดวงภาพยนตร์ไทย คือการประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25 (17 รางวัล) ในวันที่ 13 มีนาคม 2559 ซึ่ง 1 ในรางวัลที่หลายคนจับตา หนีไม่พ้นผู้กำกับยอดเยี่ยม

ด้วยอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยที่ได้รับความนิยมมากขึ้น อาชีพ “ผู้กำกับภาพยนตร์” ได้รับการชื่นชมจากสาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่สมัยก่อน คนดูจะสนใจเฉพาะ “คู่พระ-คู่นาง” แต่แทบจำชื่อผู้กำกับไม่ได้ ทุกวันนี้หลายอย่างเปลี่ยนไป ภาพยนตร์บางเรื่องมีคนมาดูเพราะ “ชื่อของผู้กำกับ” กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หลายคน อยากก้าวเข้ามาประกอบอาชีพนี้

หลายคนอาจเข้าใจว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ นอกจากเป็นอาชีพที่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ยังมีรายได้ดี มีความมั่นคงระดับหนึ่ง ยิ่งหากทำหนังที่ได้รับความนิยมสักเรื่อง ขายตั๋วชมภาพยนตร์ได้เป็นหลักร้อยล้านบาท ก็อาจสบายไปอีกนาน

โดยหารู้ไม่ว่า ภาพจำดังกล่าว อาจเป็นเรื่องที่เกิดจากความ “เข้าใจผิด”

อาชีพผู้กำกับ แค่ “รายได้จากหนัง” ยังเลี้ยงชีพไม่ได้

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สอบถามจากผู้เกี่ยวข้องถึงรายได้ “ผู้กำกับภาพยนตร์” พบว่า อาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ มีเส้นทางที่ไม่ได้สวยหรูและยังมีความหลากหลาย รวมถึงมีบางรายละเอียดที่คนนอกวงการอาจไม่เคยรู้มาก่อน

แหล่งข่าวผู้อยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยหลายสิบปีรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ของเมืองไทย ยังไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยการกำกับภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำงานอื่นควบคู่กันไปด้วย

“ส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ใช้ทักษะหรือความรู้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เช่น ผู้กำกับโฆษณา ผู้กำกับมิวสิกวีดิโอ ผู้กำกับละคร ไปจนถึงการเป็นอาจารย์หรือวิทยากร หรืองานอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น ช่างภาพ ประสานงาน หรืองานในผ่านโพสต์โปรดักชั่น เป็นต้น” แหล่งข่าวระบุ

สำหรับรายได้ของผู้กำกับภาพยนตร์ สามารถแบ่งง่ายๆ ตามแหล่งทุนและตลาดออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

  • ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ค่ายหนังออกทุนให้ และภาพยนตร์มักได้ฉายตามโรงทั่วไป ที่เรียกกันว่า “ผู้กำกับหนังแมส” โดยคำว่าแมส (mass) มาจาก mass communication คือการสื่อสารที่เข้าถึงผู้ชมหมู่มาก โดยปัจจุบัน มีค่ายหนังที่ผลิต “หนังแมส” ในเมืองไทยนับสิบ เช่น สหมงคลฟิล์ม, GTH (ปัจจุบันแยกตัวเป็น 2 บริษัท คือ GDH559 และ T-Moment), พระนครฟิล์ม, ไฟว์สตาร์, M39 ฯลฯ
  • ผู้กำกับอิสระที่หาแหล่งทุนด้วยตัวเอง โดยภาพยนตร์อาจได้ฉายตามโรงทั่วหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักส่งไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ที่เรียกกันว่า “ผู้กำกับหนังอินดี้” โดยคำว่าอินดี้ ย่อมาจากคำว่า independent film หมายถึง ภาพยนตร์ที่มีวิธีการทำงานเป็นอิสระจากค่ายหนัง

เรตทั่วไป “หลักแสน” ต่อเรื่อง ไม่มีสัญญา อยู่กันด้วยใจ

แหล่งข่าวรายเดิมระบุว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ที่กำกับหนังแมส อาจจะทำสัญญากับค่ายหนังหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท อาทิ กรณี GTH จะไม่เซ็นสัญญาให้ผู้กำกับภาพยนตร์เป็น “ลูกจ้างประจำ” ทำให้สามารถไปทำงานอื่นระหว่างที่ไม่ได้กำกับหนังให้กับ GTH ได้ สำหรับรายได้ของผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทำหนังให้กับ GTH ขึ้นอยู่กับการตกลงกับบริษัท ตามปกติจะอยู่ที่ราว 100,000–500,000 บาทต่อเรื่อง

“แต่ก็มีบางกรณีได้มากกว่านี้ อย่างผู้กำกับของหนังเรื่องหนึ่งที่ทำรายได้เกือบร้อยล้านบาท ช่วงปลายปี 2558 ได้ยินมาว่าค่ายหนังรับประกันรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 600,000 บาทต่อเรื่อง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวปิดท้ายว่า ดังนั้น รายได้หลักของผู้กำกับภาพยนตร์จึงไม่ได้อยู่ที่รายได้จากการกำกับโดยตรง แต่จะอยู่ที่ข้อตกลงในสัญญาการกำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ว่าจะมีส่วนแบ่งกี่เปอร์เซ็นต์จากกำไรที่ได้จากการฉาย ทำให้ยิ่งภาพยนตร์กวาดรายได้สูง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ยิ่งมีส่วนแบ่งสูงตามไปด้วย ไม่รวมถึงส่วนแบ่งจากเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์ เช่น ส่วนแบ่งจากยอดขายสินค้าที่ระลึก ค่าจ้างการออกอีเวนต์ ฯลฯ เป็นต้น

เกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ที่มาภาพ : http://movie.mthai.com/movie-news/tv-digital/171878.html
เกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ที่มาภาพ: http://movie.mthai.com/movie-news/tv-digital/171878.html

นายเกรียงไกร วชิรธรรมพร หนึ่งในผู้กำกับซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ของค่าย GTH ในฐานะอดีตผู้กำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง เปิดเผยว่า ค่าตัวของตนสมัยเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ที่สหมงคลฟิล์ม เมื่อราว 5 ปีก่อน ได้อยู่ที่ 200,000-300,000 บาทต่อเรื่อง ส่วนตอนนี้หากเป็นผู้กำกับที่ GTH ก็อยู่ที่ 500,000 บาทต่อเรื่อง เป็นขั้นต่ำ ขึ้นอยู่กับการตกลงกับบริษัท แต่ละโปรเจกต์ก็ไม่เท่ากัน บางครั้งเราก็เสนอไป บางครั้งบริษัทก็เสนอจำนวนเงินมา หากไม่พอใจก็ต่อรองได้ แต่ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเงิน

เขากล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว อาชีพผู้กำกับนั้นไม่มีการเซ็นสัญญากับบริษัท แต่ที่เห็นว่าทำงานกับใครมากกว่านั้นเป็นเรื่องสัญญาใจ กล่าวได้ว่า ผู้กำกับมีสถานะเป็นงานฟรีแลนซ์ ทำให้แหล่งรายได้อื่นๆ ที่ผู้กำกับจะได้นั้นจะมาจากการทำงานกำกับประเภทอื่น อาทิ โฆษณา MV เพลง คลิป viral ฯลฯ โดยทำในช่วงที่โปรเจกต์ภาพยนตร์ของแต่ละคนจบแล้ว

ถามว่ารายได้ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ปรากฏสู่สาธารณชน จะบ่งบอกถึงรายได้ของผู้กำกับเรื่องนั้นๆ ได้หรือไม่ เกรียงไกรตอบว่า “มันไม่มีผลในการขอเพิ่มค่าตัว แต่จะส่งผลในงานชิ้นต่อๆ มาที่ผู้จ้างอาจให้เงินสูงขึ้น แต่ในวงการผู้กำกับจะไม่มีรูปแบบตายตัวว่าจะต้องได้ค่าตัวในการกำกับเท่านี้ต่อเรื่อง เพราะไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ ต่างกับในต่างประเทศที่มีการกำหนดเงินขั้นต่ำของผู้กำกับเอาไว้”

แม้ผู้กำกับภาพยนตร์ที่อยู่ภายใต้ค่ายหนังใหญ่จะมีรายได้หลักแสนบาทต่อเรื่องก็ตาม แต่คนเหล่านั้นก็มีเพียงแค่หยิบมือเดียว ส่วนใหญ่ต้องเริ่มไต่เต้าจากการทำภาพยนตร์อิสระ หรือหนังอินดี้ ที่ทั้งหาทุนและรายได้ด้วยตัวเองทั้งสิ้น

ทุนหนังอินดี้หายาก ภาครัฐไทยยังไม่สนับสนุน

สำหรับ “หนังอินดี้” คือภาพยนตร์ที่มีวิธีการทำงานไม่อิงกับค่ายหนัง ที่มารายได้ของผู้กำกับภาพยนตร์ในกลุ่มนี้ไม่แน่นอน ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช้ทุนส่วนตัว หรือไปขอทุนจากองค์กรที่ให้การสนับสนุนทั้งในหรือต่างประเทศ ก็มักจะมีรายได้ด้วยการตระเวนฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ

นายโสฬส สุขุม โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ กล่าวว่า รายได้ของผู้กับกับหนังอินดี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากค่าเข้าฉาย (screening fee) ตามเทศกาลภาพยนตร์ โดยจะมีการกำหนดว่าในการเข้าฉายแต่ละรอบจะได้ screening fee เท่าไร ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว 10,000–30,000 บาทต่อรอบ แต่เงินก้อนนี้ไม่ใช่ผู้กำกับภาพยนตร์จะได้ไปคนเดียว ยังต้องแบ่งกับทีมงานแต่ละคนตามตกลง

นายวรกร ฤทัยวาณิชกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Mother” (2557) ซึ่งได้ฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ชื่อดังต่างๆ มาแล้วถึง 6 ประเทศทั่วโลก กล่าวว่า เคยนำหนังมาฉายแบบจำกัดโรงในเมืองไทย ที่ House RCA แบ่งรายได้จากค่าตั๋วคนละครึ่งๆ ได้มาทั้งหมด 30,000 บาท

“สมัยนี้เริ่มมีคนมองการสร้างหนังเหมือนเปิดบริษัท startup เหมือนแทงม้ารองบ่อน ส่วนตัวจึงอยากมองว่ารายได้จากการทำหนังก็คือประสบการณ์และการเติมเต็มความต้องการส่วนตัวมากกว่าตัวเงิน” นายวรกรกล่าว

นายโสฬส สุขุม เคยเขียนบทความไว้ว่า ทุนสำหรับหนังอินดี้มีด้วยกันหลายแบบ แต่ละทุนจะมีความสนใจหนังและแนวทางในการสนับสนุนแตกต่างกันออกไป

1.ทุนให้เปล่า ส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐหรือเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศนั้นๆ วงเงินสนับสนุนตั้งแต่ 500,000 – 5,000,000 บาท อาทิ ทุน Torino Film Lab จากเทศกาลหนังตูริน, ทุนฮูเบิร์ตบอลล์ฟันด์จากเทศกาลหนังร็อตเตอร์ดัม, ทุน Asian Cinema Fund จากเทศกาลหนังปูซาน

ภาพยนตร์ที่เคยได้รับทุนลักษณะนี้ มีอาทิ “ดอกฟ้าในมือมาร” (2543) ของนายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, “Wonderful Town” (2550) ของนายอาทิตย์ อัสสรัตน์, “เจ้านกกระจอก” (2552) ของนางสาวอโนชา สุวิชากรพงศ์ เป็นต้น

2.การร่วมทุน (co-production) เป็นอีกทางเลือกในการหาทุน ทุนในประเภทนี้จะมีวงเงินมากกว่าประเภทแรก แต่มีเงื่อนไขว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นต้องมีโปรดิวเซฮร์ที่เป็นพลเมืองของเจ้าของทุนร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ด้วย อาทิ ทุน Fond Sud Fund ของรัฐบาลฝรั่งเศส มีเงื่อนไขว่าต้องมีโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศส, ทุน World Cinema Fund ของเทศกาลหนังเบอร์ลิน มีเงื่อนไขว่าต้องมีโปรดิวเซอร์ชาวเยอรมัน ฯลฯ

ภาพยนตร์ที่เคยได้รับทุนลักษณะนี้ มีอาทิ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” (2553) ของนายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

แต่ในระยะหลัง มีเทศกาลที่เปิดโครงการให้ผู้กำกับไปพบกับแหล่งทุนได้ อาทิ ตลาดหนังฮ่องกง หรือ HAF, Pusan Project Plan (PPP) ในเทศกาลหนังปูซาน, Tokyo Gathering ในเทศกาลหนังโตเกียว, Paris Cinema ในเทศกาลหนังปารีสซีเนม่า เป็นต้น

3.การขอทุนสนับสนุน (Sponsor) จากหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ

ที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเคยออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐไทยสนับสนุนการจัดสร้างภาพยนตร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะภาพยนตร์อิสระ แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง เห็นได้จากการที่ไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการจัดสร้างภาพยนตร์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ มักเป็นการให้ทุนเป็นรายโครงการหรือโปรเจกต์ และหลายครั้งผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้รับทุนกลับอยู่ภายใต้การดูแลของค่ายหนังที่มีทุนหนาอยู่แล้ว เช่น กรณีการให้ทุนครั้งใหญ่โดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2553 ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง รวมเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท ผลปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับทุนมากที่สุดถึง 100 ล้านบาท คือภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ภาคที่ 3 และ 4 (2554) ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ที่อยู่ภายใต้ค่ายสหมงคลฟิล์ม

ส่วนการสนับสนุนจากภาครัฐไทยต่อหนังอินดี้ แม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็ประปราย และให้อย่างไม่เป็นระบบ เช่น

  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการจัดสร้างภาพยนตร์ เรื่อง “รักจัดหนัก” (2554)
  • องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขอนแก่น และเทศกาลขอนแก่น สนับสนุนการจัดสร้างภาพยนตร์ เรื่อง “สิ้นเดือนเมษาฝนตกมาปรอยปรอย” (2555)
  • กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สนับสนุนการจัดสร้างภาพยนตร์ เรื่อง “ละติจูดที่ 6” (2558) ด้วยเงิน 10 ล้านบาท
  • โครงการไทยเข้มแข็ง ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และองค์กร Save the Children สนับสนุนการจัดสร้างภาพยนตร์ เรื่อง “ที่ว่างระหว่างมหาสมุทร” (2558)

ฯลฯ

ขณะที่แนวคิดในการระดมทุนจากมวลชน หรือ crowdfunding ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ปัจจุบันยังไม่เห็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย

แม้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะมีมูลค่าถึงปีละ 2,160 ล้านบาท* แต่อาชีพ “ผู้กำกับภาพยนตร์” ก็ใช่ว่าจะสวยหรูอย่างที่คนนอกวงการหลายคนเข้าใจ

ผลงานภาพยนตร์ไทยประจำปี 2558 ที่ได้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25
ผลงานภาพยนตร์ไทยประจำปี 2558 ที่ได้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 25 ที่มาภาพ: http://www.majorcineplex.com

(หมายเหตุ: *ข้อมูลเรื่องรายได้รวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาจากรายงานประจำปี (แบบ 56-1) ของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยของปี 2557 มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5,400 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากภาพยนตร์ต่างประเทศ 60% และรายได้จากภาพยนตร์ไทยอีก 40%)