ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อคิดหลังปีใหม่

ข้อคิดหลังปีใหม่

21 มกราคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อินเทอร์เน็ตทำให้เสียเวลา แต่ก็มีประโยชน์มหาศาลหากเรารู้จักใช้มัน มี 2 ข้อเขียนที่ผมพบและเห็นว่ามีประโยชน์ จึงขอนำมาสื่อสารต่อดังต่อไปนี้

เรื่องที่หนึ่ง “ชีวิตที่ดีสร้างจากอะไร?…งานวิจัยที่นานที่สุดในโลก” ชีวิตที่ดีขึ้นคืออะไรกันแน่? และอะไรคือส่วนผสมที่ก่อให้เกิดชีวิตที่ดีได้?

วันนี้ผมเลยขอหยิบเอาเรื่องราวที่คุณ Robert Waldinger พูดบนเวที TEDxBeaconStreet เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วมาแบ่งปันให้ฟังครับ

ผมขอเท้าความนิดหนึ่งครับว่าในวัย 75 ปี คุณโรเบิร์ต วาลดินเจอร์ รับบทบาทหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิเคราะห์ หรือพระนิกายเซน ทว่า บทบาทที่แกสวมขึ้นมาพูดบนเวที TEDTalk นั้นคือบทบาทผู้อำนวยการ โครงการศึกษาการพัฒนาในผู้ใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือ Director of Harvard Study of Adult Development โดยหัวข้อที่แกพูดคือ “What makes a good life? Lessons from the longest study on happiness” “ชีวิตที่ดีเกิดจากอะไร? บทเรียนจากงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขที่ยาวที่สุดในโลก”

โรเบิร์ตเริ่มต้นสปีชด้วยการเล่าถึงผลจากงานวิจัยในช่วงหลังๆ ที่เด็กหรือคนสมัยนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคือ “ความร่ำรวย” และอีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า “ต้องการมีชื่อเสียง” นั่นทำให้คนจำนวนมากมายต้องทำงานอย่างหนักหรือยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความร่ำรวย” และ “ความโด่งดัง” ซึ่งถือเป็นนิยามของ “ชีวิตที่ดี” ในมุมมองของคนในยุค Millennial นั่นเพราะสื่อต่างๆ ชอบนำเสนอแต่เรื่องของคนรวย คนที่ประสบความสำเร็จ คนดัง จนคนส่วนใหญ่เชื่อว่านั่นคือหนทางเดียวที่จะมีความสุข

แต่คำถามก็คือนั่นคือชีวิตที่ดีจริง ๆ หรือ? และ“ความร่ำรวย” “ความโด่งดัง” ใช่คำตอบจริง ๆ หรือไม่?

สำหรับโรเบิร์ตแล้ว สิ่งที่น่าจะตอบคำถามข้อนี้ได้ดีที่สุดคือโครงการวิจัยที่เขาเป็นผู้อำนวยการอยู่ Harvard Study of Adult Development ที่ถือว่าเป็นโครงการศึกษาวิจัยชีวิตของผู้ใหญ่ที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1938 โดยผู้ริเริ่มโครงการวิจัยได้ติดตามศึกษาชีวิตของวัยรุ่นชายสองกลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นนักศึกษาชายปีสองของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด จำนวน 268 คน ซึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง

กลุ่มที่สองเป็นเด็กวัยรุ่นอายุราว 12-16 ปี ที่เติบโตขึ้นมาในตัวเมืองบอสตันจำนวน 456 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาในความยากลำบาก และยากจนข้นแค้นอย่างแสนสาหัส ทุกๆ 2 ปี ทีมนักวิจัยจะขอให้ผู้ถูกวิจัยจำนวน 724 คนนี้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความพอใจในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในชีวิต ความพอใจในชีวิตแต่งงาน ความพอใจในหน้าที่การงาน หรือแม้แต่ความพอใจทางสังคม และหลายครั้งที่ทีมนักวิจัยจะขอไปสัมภาษณ์พวกเขาถึงที่ห้องรับแขกเพื่อถือโอกาสพูดคุยกับภรรยา หรือลูกๆ หลานๆ ของพวกเขาด้วย

นอกจากนี้ ทุกๆ 5 ปี จะมีการตรวจสอบสุขภาพของพวกเขาเหล่านี้ ทั้งรายงานทางการแพทย์ ผลการตรวจเลือด ผลการตรวจปัสสาวะ หรือแม้แต่ผลการเอ็กซเรย์ หรือการสแกนสมอง โดยตลอดเวลาที่ทำการติดตามพวกเขาเหล่านี้ทีมนักวิจัยได้เห็นพวกเขาเติบโตขึ้นไปประกอบอาชีพต่างๆ บ้างเป็นคนงานในโรงงาน บ้างเป็นทนาย บ้างเป็นช่างปูน บ้างเป็นหมอ และมีหนึ่งคนเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

บางคนในจำนวนนั้นกลายเป็นคนติดเหล้า และสามสี่คนมีอาการทางประสาท จำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวไต่ระดับทางสังคมขึ้นมาได้ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เลือกทางเดินที่ตรงกันข้าม

ความมหัศจรรย์ของการศึกษาวิจัยแบบนี้คือ งานวิจัยระยะยาวแบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่มักจะเลิกไปภายใน 10-20 ปี เพราะผู้ถูกวิจัยไม่ยอมให้วิจัยต่อบ้าง เงินทุนวิจัยหมดบ้าง คนทำวิจัยหันไปทำเรื่องอื่น หรือแม้แต่เสียชีวิตไปก็มี แต่ Harvard Study of Adult Development กลับดำเนินมาได้เป็นเวลากว่า 75 ปีแล้ว โดยผู้ถูกวิจัยจำนวน 724 คนนั้นเหลือเพียงแค่ 60 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งผู้เหลือรอดเกือบทั้งหมดอยู่ในวัย 90 ปีขึ้นไปมากกว่า โรเบิร์ต วาลดินเจอร์ ผู้อำนวยการวิจัยรุ่นที่ 4 ที่ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ

ที่มาภาพ : http://www.bergenandassociates.ca/blog/tag/Living%20Well/bit.ly/CarolynYou
ที่มาภาพ : http://www.bergenandassociates.ca/blog/tag/Living%20Well/bit.ly/CarolynYou

เมื่องานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้น แล้วอะไรบ้างล่ะที่บรรดานักวิจัยหลายรุ่นเรียนรู้จากเรื่องราวกว่า 70 ปีของกว่า 700 ชีวิตผ่านทางเอกสาร และข้อมูลเป็นหมื่นๆ หน้า พวกเขาเรียนรู้ว่า “ความร่ำรวย” “ความโด่งดัง” หรือแม้แต่ “การทำงานอย่างหนักหน่วง” ไม่ใช่คำตอบของการมีชีวิตที่ดีหรือสุขภาพที่ดีแม้แต่นิดเดียว แต่เป็น “ความสัมพันธ์ที่ดี” ต่างหากที่นำมาซึ่งสิ่งเหล่านั้น “Good relationships keep us happier and healthier” ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด (Key Massage)

โรเบิร์ตบอกต่อว่า พวกเขาได้เรียนรู้อีก 3 บทเรียนล้ำค่าที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ (Relationship) นั่นก็คือ

1) Connection is really good for us, loneliness kills คุณจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคู่ครอง เพื่อน ครอบครัว หรือสังคมก็ตาม ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้แหละจะทำให้คุณมีความสุขกว่า แข็งแรงกว่า และมีอายุที่ยืนยาวกว่า ในทางกลับกัน ความเหงาและโดดเดี่ยวนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะมันจะทำให้คุณมีความสุขน้อยลง ทำให้ร่างกายคุณเริ่มแย่ลงตั้งแต่วัยกลางคน สมองเสื่อมเร็วขึ้น และมีชีวิตที่สั้นกว่า

2) Quality not quantity มันไม่สำคัญที่ปริมาณหรือรูปแบบของความสัมพันธ์ เช่น ต้องแต่งงานเท่านั้น แต่เป็น “คุณภาพของความสัมพันธ์” ต่างหากที่จะเป็นตัวบ่งชี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่า หากคุณอยู่ในความสัมพันธ์แบบสามี-ภรรยาที่แย่ มันจะส่งผลลบกับคุณมากกว่าการหย่าร้างที่เข้าใจกันเสียอีก

3) Good relationships don’t just protect our bodies, they protect our brains การที่คุณมีความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและมั่นคงกับใครสักคนที่คุณสามารถไว้ใจและพึ่งพาได้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายที่ดีเท่านั้น แต่ยังดีต่อสมองของคุณด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ความจำของคุณยังดีอยู่ สมองของคุณยังทำงานได้ดีอยู่ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ที่ราบรื่นสุดๆ ไม่ทะเลาะกันเลย แต่เป็นความสัมพันธ์ที่คุณรู้ว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องการจริงๆ คุณจะมีคนที่พึ่งพาได้

นั่นคือสิ่งที่ โรเบิร์ต วาลดินเจอร์ และทีมงานวิจัยของฮาวาร์ดค้นพบ ซึ่งโรเบิร์ตบอกว่าจริงๆ แล้วผู้ถูกวิจัยเหล่านี้ในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่นหรือเริ่มเป็นผู้ใหญ่ใหม่ๆ นั้นก็เชื่อเหมือนกับที่คนในยุคนี้เชื่อว่าเงินทองและชื่อเสียงจะทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและมีชีวิตที่ดี แต่ความจริงที่พบจากการศึกษากว่า 75 ปี กลับกลายเป็นว่า คนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และคนรอบข้างของพวกเขาต่างหากคือคนที่มีชีวิตที่ดีที่สุด

โรเบิร์ตชวนคิดว่า สิ่งที่ทำให้คนเรามองข้ามความสำคัญของ “ความสัมพันธ์ที่ดี” และหันไปใส่ใจกับชื่อเสียง เงินทอง หรือหน้าที่การงานมากกว่า อาจเพราะจริงๆ แล้วการมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ยาก และไม่รู้จบ แถมยังต้องได้รับการใส่ใจตลอดเวลาจนหลายคนเลือกจะทำงานหรือหาเงินมากกว่า

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การใส่ใจและทำความสัมพันธ์ให้ดีก็อาจไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่เงยหน้าจากจอมือถือแล้วสบตาคนรอบตัวคุณมากขึ้น หาอะไรใหม่ๆ ทำร่วมกันเพื่อให้ความสัมพันธ์ที่จืดจางกลับมามีสีสันอีกครั้ง อะไรง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินอย่างชวนคนที่คุณรักไปเดินเล่นตอนกลางคืน หรือติดต่อหาสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้คุยกันมานานแล้ว

เพราะจริงๆ แล้ว ชีวิตเราก็เหมือนที่มาร์ก ทเวน บอกไว้ว่ามันช่างสั้น และก็สั้นเหลือเกิน สั้นเกินกว่าที่จะเอาเวลามาโกรธ ทะเลาะ อิจฉาริษยากัน ควรจะมีแต่เวลาที่ใช้รักกันเท่านั้น ซึ่งแค่นั้น…ชีวิตเราก็แทบจะไม่มีเวลาพออยู่แล้ว นั่นคือสิ่งที่ โรเบิร์ต วาลดินเจอร์ พูดในสปีชของเขา

ถ้ามีเวลามากพอ ผมอยากให้คุณดูสปีชเต็มๆ ของเขาได้ที่นี่ ท่านที่ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงนักก็สามารถเปิดซับไตเติลภาษาไทยได้ และหากท่านที่อ่านบทความนี้แล้วนึกถึงใครอยู่ ก็อย่าลืมบอกให้เขารู้จะด้วยการพูดต่อหน้า โทรหา หรือแชร์บทความนี้ต่อให้เขา ก็ได้ทั้งนั้น เพราะชีวิตที่ดี…สร้างจากความสัมพันธ์ที่ดี

เรื่องที่สอง 8 ข้อปฏิบัติเพื่อฝึกหาความสุข

1) ฝึกมองตัวเองให้เล็กเข้าไว้ หมายความว่าจงเป็นคนตัวเล็ก อย่าเป็นคนตัวใหญ่ จงเป็นคนธรรมดา อย่าเป็นคนสำคัญ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับเราอย่าไปให้ความสำคัญกับตัวเองมากไป

2) ฝึกให้ตัวเองเป็นนักไม่สะสม หมายความว่าการสะสมอะไรสักอย่างนั้นเป็นภาระ ไม่มีอะไรที่เราสะสมแล้วไม่เป็นภาระยกเว้นความดี นอกนั้นล้วนเป็นภาระทั้งหมดไม่มากก็น้อย

3) ฝึกให้ตนเองเป็นคนสบายๆ หมายความว่าอย่าไปบ้ากับความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบมันไม่มีจริง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่มองว่าความสมบูรณ์แบบมีจริง

4) ฝึกให้ตัวเองเป็นคนนิ่งๆ หรือไม่ก็พูดในสิ่งที่ดีๆ หมายความว่าถ้าอะไรไม่ดีก็อย่าไปพูดมากไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกหรือผิด แต่ถ้ามันไม่ดี เป็นไปได้ก็ไม่ต้องพูด เพราะการพูดหรือวิจารณ์ในทางเสียหายนั้น มีแต่ทำให้จิตใจตนเองตกต่ำและขุ่นมัว

5) ฝึกให้ตัวเองรู้ธรรมชาติว่าอะไรๆ ก็ผ่านไปเสมอหมายความว่าเวลามีความสุขก็ให้รู้ว่าเดี๋ยวความสุขมันก็ผ่านไป เวลามีความทุกข์ก็ให้รู้ว่าเดี๋ยวความทุกข์ก็ผ่านไป เวลามีสถานการณ์แย่ๆ เกิดขึ้นก็ให้รู้ทันว่าเรื่องราวเหล่านี้มันไม่ได้อยู่กับเราจนวันตาย

6) ฝึกให้ตัวเองเข้าใจเรื่องของการนินทา หมายความว่า เราเกิดมาก็ต้องรู้ตัวว่าเราต้องถูกนินทาแน่นอน ดังนั้น เมื่อถูกนินทา ขอให้รู้ว่า “เรามาถูกทางแล้ว” แปลว่าเรายังมีตัวตนอยู่บนโลก คนที่ชอบเต้นแร้งเต้นกากับคำนินทาก็คือคนไม่รู้เท่าทันโลก แม้แต่คนเป็นพ่อแม่ก็ยังนินทาลูก คนเป็นลูกก็ยังนินทาพ่อแม่ นับประสาอะไรกับคนอื่น ถ้าเราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาคนอื่นได้เมื่อไหร่ ค่อยมาคิดว่าเราจะไม่ถูกนินทา

7) ฝึกให้ตัวเองพ้นไปจากความเป็นขี้ข้าของเงิน หมายความว่า เราต้องหัดพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ รถยนต์ใช้อะไรอยู่ก็หัดพอใจกับมัน นาฬิกาใช้อะไรอยู่ก็หัดพอใจกับมัน เสื้อผ้าใช้อะไรอยู่ก็หัดพอใจกับมัน การที่คนเราจะเลิกเป็นขี้ข้าเงินได้ต้องเริ่มจากการรู้จักเพียงพอก่อน เมื่อรู้จักพอแล้วก็ไม่ต้องหาเงินมาก เมื่อไม่ต้องหาเงินมาก ชีวิตก็มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่าการหาเงิน

8) ฝึกให้ตัวเองเสียสละ และยอมเสียเปรียบ หมายความว่าการที่คนๆ หนึ่งยอมเสียเปรียบผู้อื่นบ้างเป็นเรื่องจำเป็น ใครก็ตามที่บ้าความถูกต้อง บ้าเหตุบ้าผล ไม่ยอมเสียเปรียบอะไรเลย ไม่ช้าคนคนนั้นก็จะเป็นบ้าสติแตก กลายเป็นคนที่ถูกทุกอย่างแต่ไม่มีความสุข เพราะต้องสู้รบกับคนรอบข้างเต็มไปหมดเพื่อความถูกต้องที่ตนเองยึดมั่นถือมั่น

ในช่วงปีใหม่มีประเด็นให้ตระหนักถึงมากมาย ไม่ว่าจากพรที่ได้รับหรือจากการทบทวน สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ หลังปีใหม่ก็มีเรื่องให้ขบคิดเช่นกันดังสองข้อเขียนข้างต้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 19 ม.ค. 2559