ThaiPublica > คอลัมน์ > ปีใหม่ และ “คนใหม่”

ปีใหม่ และ “คนใหม่”

5 มกราคม 2016


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เมื่อปีใหม่มาถึง สิ่งแรกที่นึกถึงทุกปีก็คือ New Year’s Resolution หรือรายการของความตั้งใจ หรือสัญญากับตนเองว่าจะทำอะไรให้สำเร็จในปีใหม่ อย่างไรก็ดี มีอีกหลายประเด็นเกี่ยวกับการมาถึงของปีใหม่ที่น่าสนใจ

ถึงแม้ว่า New Year’s Resolution จะเป็นประเพณีฝรั่งแต่ก็เป็นของดีเพราะเป็นการพัฒนาตนเองไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก มีความสุภาพกับคนอื่นมากขึ้น ใช้จ่ายเงินน้อยลงโดยเฉพาะลดหนี้ ตั้งใจทำงานมากขึ้น ว่ายน้ำเป็น พัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น ฯลฯ

New Year’s Resolution มีที่มาจากด้านศาสนา ชาวบาบิโลน (1894 B.C.-141 B.C.) สัญญากับพระเจ้าว่าในปีใหม่จะคืนของที่ยืมไปและชำระหนี้คืน ชาวโรมัน (27 B.C.-395 A.D.) เริ่มต้นทุกปีโดยให้สัญญากับเทพเจ้า Janus (เดือน January ตั้งตามชื่อเทพเจ้านี้) ต่อมาชาวคริสต์จำนวนไม่น้อยเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการสวดภาวนาและกำหนดในใจว่าจะทำสิ่งใดในปีใหม่

ในยุคต่อมาผู้คนก็รับเอาประเพณีนี้มาไว้ในชีวิตประจำวัน เคยมีการสำรวจในปี 2000 และพบว่าร้อยละ 40 ของคริสต์ศาสนิกชนมี New Year’s Resolution สำหรับคนทั่วไป สิ่งที่ตั้งใจและสัญญากับตนเองในปีใหม่ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดได้แก่ (ไม่ได้เรียงตามความนิยม) (ก) ทำให้รูปลักษณ์ดีขึ้น (กินอาหารสุขภาพ ออกกำลังมากขึ้น เลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก เลิกนิสัยเก่าๆ ที่ไม่ดี) (ข) พัฒนาการคิดเชิงนามธรรม เช่น คิดในแง่บวก หัวเราะบ่อยขึ้น (ค) ใช้จ่ายน้อยลง แก้ไขเรื่องหนี้ ออมเงิน ลงทุน (ง) ตั้งใจทำงานมากขึ้น ทำธุรกิจส่วนตัว หางานใหม่ที่ดีกว่า (จ) ตั้งใจเรียนมากขึ้น เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (ภาษาต่างประเทศ ดนตรี) อ่านหนังสือมากขึ้น พัฒนาพรสวรรค์ (ฉ) พัฒนาตนเอง ลดความเครียด อารมณ์ดีขึ้น จัดการเวลาดูโทรทัศน์น้อยลง ใช้เวลากับสมาร์ทโฟนน้อยลง (ช) มีจิตอาสา ช่วยคนอื่น พัฒนาทักษะชีวิต ทำงานให้การกุศล ฯลฯ

ที่มาภาพ : http://dianeatwood.com/catchinghealth/wp-content/uploads/2014/01/New-Year-Resolutions-2888197.jpg
ที่มาภาพ : http://dianeatwood.com/catchinghealth/wp-content/uploads/2014/01/New-Year-Resolutions-2888197.jpg

จากการสำรวจพบว่าสาเหตุที่ทำให้ New Year’s Resolution ล้มเหลวก็คือการตั้งเป้าไว้ไม่ใกล้ความจริง (มีคนตอบร้อยละ 35) ไม่มีการติดตามผลของคำสัญญา (ร้อยละ 33) ลืมคำสัญญา (ร้อยละ 22) และ 1 ใน 10 คน บอกว่ามีคำสัญญามากเกินไป

การศึกษาในปี 2007 ของ Richard Wiseman แห่ง University of Bristol ซึ่งสำรวจ 3,000 คน พบว่าร้อยละ 88 ของคนที่มี New Year’s Resolution ล้มเหลว (ถึงแม้ว่าครึ่งหนึ่งคนเหล่านี้มั่นใจว่าจะสำเร็จตอนเริ่มต้นให้คำสัญญา) การศึกษาพบว่าสำหรับผู้ชายนั้นประสบความสำเร็จเพราะมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน (ลดน้ำหนัก 1 ปอนด์ต่ออาทิตย์ไม่ใช่เพียงระบุว่าลดน้ำหนักเท่านั้น) ส่วนผู้หญิงนั้นประสบผลสำเร็จเมื่อประกาศให้คนอื่นรู้ว่ามีเป้าหมายอย่างไร และได้รับการสนับสนุนจากเพื่อน

New Year’s Resolution เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าขบคิด แต่ถ้าใครไม่ต้องการเดินเส้นทางนี้แต่อยากได้อะไรใหม่ๆ ไว้ใคร่ครวญในปีใหม่นี้ลองอ่านเรื่อง “รักคนไกล แต่ระอาคนใกล้” ที่ผู้เขียนได้มาจากอินเทอร์เน็ตดังต่อไปนี้

“รักป่ารักต้นไม้ทั่วทั้งโลกนั้น บางครั้งกลับง่ายกว่ารักต้นไม้ในบ้าน เราพร้อมจะไปปลูกป่าทั่วทุกหนแห่ง แต่คร้านที่จะดูแลต้นไม้ในบ้าน ปลูกป่านอกบ้านไม่ใช่เรื่องยาก แค่หย่อนกล้าไม้ลงหลุมแล้วกลบ จากนั้นก็กลับบ้านได้เลย แต่ปลูกต้นไม้ที่บ้านสิ เรายังต้องรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยนานนับปี ครั้นต้นไม้เติบโตสูงใหญ่ก็ยังต้องเสียเวลากวาดใบไม้ร่วงไม่หยุดหย่อน วันดีคืนดี กิ่งไม้อาจตกมากระแทกหลังคาเป็นรู เป็นเพราะต้นไม้นอกบ้านให้แต่สิ่งดีๆ มีแต่สิ่งที่น่าชื่นชม ไม่เป็นภาระแก่เราเลย เราจึงรักเขาได้ง่าย ส่วนต้นไม้ในบ้านนั้นเรียกร้องการดูแลเอาใจใส่จากเรา แถมยังอาจก่อปัญหาให้ด้วย หลายคนจึงมองเห็นแต่ข้อเสียของเขา จนรู้สึกระอาขึ้นมา

เป็นเพราะเหตุผลเดียวกันนี้หรือเปล่า ผู้คนเป็นอันมากจึงรักและชื่นชมคนอื่นได้ง่ายกว่าคนในบ้าน เราเห็นแต่ความดีของคนไกลตัวเพราะเขาไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเราเลย ส่วนคนในบ้านนั้นอยู่ใกล้กับเรามากเกินไปจึงเห็นแต่ข้อเสียของเขา หรือเห็นเขาเป็นภาระที่ต้องดูแลเอาใจใส่จนกลบข้อดีของเขาไปเกือบหมด ผลก็คือเรามักสุภาพอ่อนโยนกับคนไกล แต่มึนตึงฉุนเฉียวง่ายมากกับคนใกล้ตัว

ลองมองให้เห็นคุณประโยชน์หรือความดีของต้นไม้ในบ้านบ้าง เราอาจจะรักเขาได้ง่ายขึ้น หลายคนมาเห็นประโยชน์ของต้นไม้ในบ้านก็หลังจากที่โค่นมันจนเหลือแต่ตอ แต่นั่นก็สายไปแล้ว จะไม่ดีกว่าหรือหากเรารู้จักชื่นชมเขาขณะที่ยังอยู่กับเรา กับคนในบ้านก็เช่นกัน เราควรหัดชื่นชมคุณความดีของเขาบ้าง ที่แล้วมาเราอาจมองข้ามไป เพราะคุ้นชินความดีที่เขาทำกับเราจนมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

เพลงที่แสนไพเราะหากได้ฟังทุกวันทุกคืนก็กลายเป็นเพลงดาดๆ ไม่มีเสน่ห์สำหรับเรา ฉันใดก็ฉันนั้น คำพูดที่ไพเราะของภรรยา น้ำใจของสามี หรือความใส่ใจของพ่อแม่ หากเราได้ยินได้ฟังหรือได้รับติดต่อกันเป็นปีๆ หรือนานนับสิบปี ก็กลับกลายเป็นสิ่งสามัญจนเรามองไม่เห็นความสำคัญ ไม่ต่างจากอากาศที่เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าทั้งๆ ที่ขาดมันไม่ได้เลย

น่าแปลกก็ตรงที่หากคนใกล้ตัวทำผิดพลาดหรือสร้างความไม่พอใจแก่เรา แม้เพียงครั้งเดียว การกระทำนั้นๆ กลับฝังใจเราได้นานหรือลึกกว่าความดีที่เขาทำกับเรานับร้อยนับพันครั้ง ใช่หรือไม่ว่าเวลาเขาทำดีกับเรา เรามองว่านั่นเป็น “หน้าที่ของเขา” หรือเป็น “สิทธิที่เราควรได้รับ” แต่เมื่อใดที่เขาทำไม่ดีกับเรา ทำให้เราไม่พอใจ เรากลับมองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น “สิ่งที่ไม่สมควร” เป็นเรื่อง “ไม่ธรรมดา” ดังนั้นจึงฝังใจเราได้ง่ายกว่า อันที่จริงเขาอาจไม่ได้ทำผิดพลาดเกินวิสัยปุถุชน แต่ความที่เรามักจะมีความคาดหวังสูงจากคนใกล้ชิด ความผิดพลาดของเขาแม้เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เราหัวเสีย ขุ่นเคือง หรือน้อยเนื้อต่ำใจได้ง่ายและนาน

คนในบ้านหรือคนใกล้ตัวนั้น ไม่ว่าจะดีแสนดีเพียงใด ก็ย่อมมีวันที่ต้องกระทบกระทั่งกับเราบ้าง แต่หากเราไม่ฝังใจอยู่กับเหตุการณ์เหล่านั้น หันมามองและชื่นชมคุณความดีของเขา เปิดใจรับรู้ความรักที่เขามีต่อเรา เราจะรักเขาได้ง่ายขึ้น และตระหนักว่าเขามีความสำคัญต่อชีวิตของเรายิ่งกว่าคนไกลตัวเสียอีก อย่ารอให้เขาจากไปเสียก่อนถึงค่อยมาเห็นคุณค่าของเขา ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว

อะไรก็ตามยิ่งอยู่ใกล้ตัวมากเท่าไร เราย่อมหน่ายแหนงและระอาได้ง่ายมากเท่านั้น เพราะใจที่ชอบเห็นแต่แง่ลบมากกว่าแง่บวก มิใช่แค่ต้นไม้ในบ้าน หรือคนในบ้านเท่านั้น หากยังรวมถึงทรัพย์สมบัติในบ้านด้วย แต่นั่นยังไม่ใกล้เท่ากับร่างกายและจิตใจของเราเอง ไม่ว่าสวยเท่าใดก็ยังเห็นแต่ความไม่งามของตัวเอง ไม่ว่าจะทำดีเพียงใดก็ยังเห็นแต่ตัวเองในแง่ร้าย คนที่เกลียดตัวเองนั้นทุกวันนี้มีมากมาย ยิ่งรักก็ยิ่งเกลียดเพราะไม่ดีอย่างที่หวัง ยิ่งยึดติดคาดหวังกับความสมบูรณ์พร้อม ก็ยิ่งเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง

ลองมองให้เห็นความดีของตัวเองบ้าง ให้อภัยกับความผิดพลาด ยอมรับความไม่สมบูรณ์พร้อม ใช้สิ่งที่มีอยู่แม้น้อยนิดเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม แล้วคุณจะรักตัวเองได้มากขึ้น”

สำหรับท่านที่คิดว่าชีวิตของท่านแสนธรรมดา ไม่มีอะไรดี “เป็นพิเศษ” ให้น่าชื่นใจเลย ลองอ่านสิ่งที่ท่าน Thích Nhất Hạnh (ทิก เญิ้ต หั่ญ) พระภิกษุชาวเวียดนาม นิกายเซนของมหายาน ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวโลกอย่างสูงกล่าวไว้

“ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว

ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปหางาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิมๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดาๆ … เราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดาๆ มีชีวิตธรรมดาๆ กันทั้งนั้น

แต่ถ้าความ “ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดีๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่องนอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามีหรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นอัมพาต

เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเอง เราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด…..

สิ่งธรรมดาคือสิ่งพิเศษ ขอให้เรารีบชื่นชมกับความ “ธรรมดา” ที่เรามี และใช้ชีวิตกับสิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดาๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรา

เมื่อปีใหม่มาเยือน ถ้าคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีปีใหม่ เราต้องเป็น “คนใหม่” ไม่ว่าจากการมี New Year’s Resolution หรือได้แง่คิดใหม่ๆ ในชีวิตก็ตาม มนุษย์จะทำอะไรหรือเป็นอะไรก็ตาม ล้วนมาจากความคิดทั้งนั้น

หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 5 ม.ค. 2559