ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจโครงการสร้างพระเนื้อโลหะขนาดใหญ่ โรงหล่อชี้พระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ฯใช้สำริดนอก 40 ตัน ต้นทุนเฉลี่ย 14 ล้าน

สำรวจโครงการสร้างพระเนื้อโลหะขนาดใหญ่ โรงหล่อชี้พระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ฯใช้สำริดนอก 40 ตัน ต้นทุนเฉลี่ย 14 ล้าน

2 มกราคม 2016


หลังจากที่ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แถลงข่าวผลการสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ซึ่งกรณีการเรียกเงินค่าหัวคิวจากโรงหล่อทั้ง 6 แห่ง ยังคงเป็นประเด็นปัญหาค้างคาใจกันต่อไป เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนไม่มาให้ข้อมูล คณะกรรมการชุดนี้อ้างว่าไม่ได้มีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้กว้างขวางเหมือนองค์กรตรวจสอบตามกฎหมายอื่นๆ เพราะมีอำนาจเพียงที่คำสั่งของกระทรวงกลาโหมให้ในการเรียกพยานเอกสารเฉพาะที่อยู่ในการครอบครองของกระทราวงกลาโหมเท่านั้น จึงไม่สามารถสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ได้

พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดกาญจนบุรี ที่มาภาพ : http://f.ptcdn.info/192/034/000/1438894153-DIH8564-o.jpg
พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ที่มาภาพ : http://f.ptcdn.info/192/034/000/1438894153-DIH8564-o.jpg

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าสำรวจการจัดสร้างพระพุทธรูปเนื้อโลหะที่มีขนาดใหญ่เทียบเคียงกับพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยามทั้ง 7 พระองค์ ซึ่งหล่อด้วยสำริดนอก ความสูงเฉลี่ย 13.9 เมตร บวกฐานอีก 1.5 เมตร รวมเป็น 15.4 เมตร พบว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีการจัดสร้างพระพุทธรูปเนื้อโลหะขนาดใหญ่ในพื้นที่สำคัญๆ หลายแห่ง เริ่มจากโครงการก่อสร้างอุทยาน “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” บนพื้นที่ 320 ไร่ ณ วัดทิพย์สุคนธาราม ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

โครงการนี้มีการก่อสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์เป็นพระพุทธรูปปางขอฝนทรงยืน (ปางคันธารราฐ) หล่อด้วยโลหะสำริด ความสูง 32 เมตร ผลงานของบริษัท เอเชีย ไฟน์ อาร์ท จำกัด อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หนึ่งในบริษัทที่รับงานหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์ละ 45 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินการหล่อพระพุทธเมตตาประชาไทยฯ

โครงการนี้เริ่มลงนามในสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมางานเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ประกอบไปด้วย สัญญาจ้างงานก่อสร้างลานประทักษิณ, สัญญาจ้างงานออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างองค์พระ, สัญญาจ้างงานปั้นขยายต้นแบบองค์พระ, สัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโครงการฯ และบันทึกข้อตกลงการประกันภัยงานก่อสร้างลานประทักษิณ รวมมูลค่างานทั้งหมดกว่า 72.5 ล้านบาท ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จัดพิธีสมโภชพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558

พระพุทธมณฑล จังหวัดขอนแก่น ที่มาภาพ : http://f.ptcdn.info/189/009/000/1378109229-IMG0122JPG-o.jpg
พระพุทธมณฑล จังหวัดขอนแก่น
ที่มาภาพ : http://f.ptcdn.info/189/009/000/1378109229-IMG0122JPG-o.jpg

โครงการที่ 2 เป็นโครงการก่อสร้างพุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา เนื้อที่ 1,174 ไร่ 80 ตารางวา อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลศิลาและตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณ 2554-2558 ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 262.5 ล้านบาท

โครงการนี้มีการจัดสร้างองค์พระประธานพุทธมณฑลอีสาน จังหวัดขอนแก่น เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ปางลีลา ความสูง 20.90 เมตร ซึ่งมีต้นแบบมาจากพระศรีศากยะทศพลญาณ หรือ พระประธานพุทธมณฑล ศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยในปีงบประมาณ 2554 จังหวัดขอนแก่นได้รับการจัดสรรงบพัฒนาจังหวัดจากรัฐบาลวงเงินรวม 108.5 ล้านบาท

เอกสารของสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ภายใต้วงเงินงบประมาณดังกล่าว สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินการจัดจ้างงานทั้งหมด 4 แผนงานหลัก ดังนี้

1. งานขุดลอกและถมดินพื้นที่ 130 ไร่ ใช้งบประมาณ 20.91 ล้านบาท
2. งานก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการฯ กว้าง 24 เมตร ยาว 420 เมตร ใช้งบประมาณ 13.56 ล้านบาท
3. งานอาคารประดิษฐานองค์พระประธานฯ รวมงานขยายเขตไฟฟ้า ใช้งบประมาณก่อสร้าง 44.03 ล้านบาท
4. งานก่อสร้าง เฉพาะงานก่อสร้างองค์พระประธานพุทธมณฑลอีสานฯ เอกสารของสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดขอนแก่น ไม่ได้ระบุว่ามีการใช้จ่ายเงินในงานก่อสร้างองค์พระประธานพุทธมณฑลเป็นจำนวนเท่าไหร่ (ถ้าหากลบวงเงินก่อสร้างรายการ 1-3 ออกจากวงเงิน 108.5 ล้านบาท รายการที่ 4 มีวงเงิน 30 ล้านบาท)

พระพิฆเนศเนื้อสำริด จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-tmeMgogrM1c/VAKOBy6j_TI/AAAAAAAAGeI/LDCL7IYVtWo/s1600/38.jpg
พระพิฆเนศเนื้อสำริด จังหวัดฉะเชิงเทรา
ที่มาภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-tmeMgogrM1c/VAKOBy6j_TI/AAAAAAAAGeI/LDCL7IYVtWo/s1600/38.jpg

ประติมากรรมชิ้นที่ 3 งานหล่อพระพิฆเนศเนื้อสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดความสูง 32 เมตร มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของบริษัท เอเชีย ไฟน์ อาร์ท จำกัด เริ่มทำพิธีเททองหล่อชิ้นส่วนขององค์พระ ครั้งที่ 1 วันที่ 7 เมษายน 2552 คณะกรรมการ สมาคมชาวฉะเชิงเทราตรวจรับงานเรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายน 2555 ปัจจุบันพระพิฆเนศเนื้อสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในโลกประดิษฐานอยู่ที่อุทยานพระพิฆเนศ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประติมากรรมชิ้นที่ 4 งานหล่อ หลวงปู่ทวด องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดความกว้างหน้าตัก 10 เมตร ความสูงประมาณ 11 เมตร น้ำหนักโดยประมาณ 40 ตัน (รมดำ) พร้อมแท่นประดิษฐาน ณ วัดห้วยมงคล ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผลงานของบริษัท ช.ประติมากรรมอินดัสตรี จำกัด

หลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มาภาพ : http://f.ptcdn.info/094/020/000/1402733866-DSC05858JP-o.jpg
หลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ที่มาภาพ : http://f.ptcdn.info/094/020/000/1402733866-DSC05858JP-o.jpg

แหล่งข่าวจากวัดห้วยมงคล เปิดเผยว่า การจัดสร้างหลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล เริ่มเททองหล่อพระวันที่ 27 สิงหาคม 2547 หล่อด้วยทองผสม ซึ่งมีส่วนประกอบของทองเหลือง ทองคำ เงิน และทองแดง เป็นต้น เฉพาะค่าจ้างหล่อหลวงปู่ทวด ณ ปี 2547 ประมาณ 20 ล้านบาท ที่เหลืออีก 30 ล้านบาท เป็นค่าถมดินและก่อสร้างอาคารสูง 3 ชั้น ชั้นล่างกว้าง 70 เมตร ยาว 70 เมตร เพื่อใช้เป็นฐานประดิษฐานหลวงปู่ทวด และยังใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางพุทธศาสนาด้วย

“ปัจจุบันทองเหลืองมีราคาแพงกว่าเมื่อก่อนมาก หากมีการสร้างหลวงปู่ทวดในสมัยนี้ ค่าจ้างโรงหล่อน่าจะอยู่ที่ 50 ล้านบาท ล่าสุดนี้ ทางวัดห้วยมงคลกำลังจัดสร้างพระพุทธโสธรองค์ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตักกว้าง 14.99 เมตร สูง 19 เมตร หล่อด้วยทองเหลืองน้ำหนักโดยประมาณ 120 ตัน ค่าจ้างหล่อประมาณ 120 ล้านบาท ประดิษฐานอยู่บนอาคาร 3 ชั้น สูง 10 เมตร ทั้งองค์พระและตัวอาคารจะมีความสูงรวมกัน 29 เมตร ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 300 ล้านบาท” แหล่งข่าวจากวัดห้วยมงคลกล่าว

ประติมากรรม ช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/sculpturefineart/photos/
ประติมากรรม ช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/sculpturefineart/photos/

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากโรงหล่อพระกล่าวว่า ต้นทุนในการหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ต้นทุนในการออกแบบและปั้นหุ่นต้นแบบ 2. ต้นทุนในการหล่อองค์พระ 3. ต้นทุนในการขนส่ง ติดตั้งและตกแต่งองค์พระ สำหรับค่าจ้างออกแบบและปั้นหุ่นต้นแบบนั้น ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของศิลปินว่าจะเรียกค่าจ้างเท่าไหร่ ซึ่งงานในส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร ทางโรงหล่อไม่ทราบว่ากรมศิลปากรจ้างศิลปินคนไหนปั้นหุ่นต้นแบบราคาเท่าไหร่ หรือกรมศิลปากรออกแบบและปั้นหุ่นต้นแบบเอง

งานปั้นและขยายต้นแบบ ที่มาภาพ  : https://www.facebook.com/sculpturefineart/photos/
งานปั้นและขยายต้นแบบ
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/sculpturefineart/photos/
ขนาดองค์พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/sculpturefineart/photos/
ขนาดองค์พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/sculpturefineart/photos/

แหล่งข่าวจากโรงหล่อพระ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงหล่อหลักๆ ประกอบไปด้วย งานปั้นขยายองค์ต้นแบบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์, งานปั้นองค์ต้นแบบเพื่อทำแม่พิมพ์เป็นรายชิ้น, งานบุขี้ผึ้งแม่พิมพ์, สร้างเตาเผาหุ่น, เททองสำริดหล่อองค์พระและตกแต่งชิ้นส่วน รวมทั้งงานขนย้ายเพื่อนำไปติดตั้งที่อุทยานราชภักดิ์ ซึ่งโรงหล่อแต่ละแห่งมีต้นทุนในการหล่อไม่แตกต่างกันมากนัก ต้นทุนหลักอยู่ที่ปริมาณทองสำริดนอกที่นำมาใช้ในการหล่อ

จากการคำนวณขนาดของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์ฯ แต่ละองค์มีฐานกว้างเฉลี่ย 3.5 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 15.4 เมตร (ความสูงองค์พระ 13.9 เมตรบวกฐานยึดอีก 1.5 เมตร) คาดว่าการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แต่ละพระองค์ต้องใช้ทองสำริดในการหล่อประมาณ 35-40 ตัน หรือ 35,000-40,000 กิโลกรัม ในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม 2558 ราคาทองสำริดที่ใช้ในงานหล่อโลหะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 350 บาท ถ้าใช้ทองเหลืองกิโลกรัมละ 140 บาท และทองแดงกิโลกรัมละ 200 บาท ดังนั้น ในการหล่อองค์พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ด้วยทองสำริดแต่ละพระองค์ น่าจะมีต้นทุนค่าทองสำริดอยู่ที่ 12-14 ล้านบาท ขณะที่โรงหล่อเองก็ต้องกันเงินกำไรประมาณ 20% ส่วนหนึ่งไปเป็นค่าภาษีให้กับกรมสรรพากรด้วย ส่วนที่เหลือเป็นค่าแรงคนงานและค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการทำแม่พิมพ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น

อนึ่ง จากการตรวจสอบเอกสารที่คณะทำงานของ พล.อ. ชัยชาญ นำมาแจกให้สื่อมวลชนในวันแถลงข่าว พบว่ามีโรงหล่อ 5 แห่ง นำเงินค่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งระบุชื่อ-นามสกุลจริงของ “เซียนพระ อ.” มาบริจาคเงินคืน รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

1. บริษัท ช.ประติมากรรม อินดัสตรี จำกัด รับจ้างหล่อพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ราคา 43 ล้านบาท บริจาคคืน 3 ล้านบาท

2. บริษัท ร็อคคลา ไฟน์ อาร์ท จำกัด รับจ้างหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราคา 45.5 ล้านบาท บริจาคคืน 3.9 ล้านบาท

3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประติมาไฟน์อาร์ท รับจ้างหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราคา 44.5 ล้านบาท บริจาคคืน 3 ล้านบาท

4. บริษัท พุทธปฏิมา พรหมรังสี จำกัด รับจ้างหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ราคา 43 ล้านบาท บริจาคคืน 4.8 ล้านบาท

5. บริษัท โผนประติมากรรมสากล จำกัด รับจ้างหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ราคา 42 ล้านบาท บริจาคคืน 5.3 ล้านบาท

6. บริษัท เอเชียไฟน์อาร์ท จำกัด รับจ้างหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราคา 45 ล้านบาท และหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราคา 45 ล้านบาท ไม่มียอดบริจาคเงินคืน