ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ส่งหนังสือถาม “วีระ สมความคิด” ตั้งคำถามกรณีร้องสอบ ปม “ราชภักดิ์” 4 ข้อ – เจ้าตัวยันให้ข้อมูลไปครบแล้ว

ป.ป.ช. ส่งหนังสือถาม “วีระ สมความคิด” ตั้งคำถามกรณีร้องสอบ ปม “ราชภักดิ์” 4 ข้อ – เจ้าตัวยันให้ข้อมูลไปครบแล้ว

11 มกราคม 2016


(แฟ้มภาพ) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการ คปท. เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอให้เข้ามาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา
(แฟ้มภาพ) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการ คปท. เมื่อครั้งไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ขอให้เข้ามาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558

ความคืบหน้าการตรวจสอบความไม่โปร่งใสโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ บนพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปท.) ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Veera Somkwamkid ระบุว่า หลังจากตนไปยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาไต่สวน นายทหารระดับสูงจำนวน 2 นาย ได้แก่ 1.พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และ 2.พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผบ.ทบ. (ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – เดือนกันยายน 2558) และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากกรณีโครงการก่อสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์ ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ทาง ป.ป.ช. กลับส่งหนังสือมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 ให้ยืนยันว่าเป็นผู้กล่าวหาหรือไม่ ทั้งที่ การยื่นหนังสือในวันดังกล่าว มีสื่อมวลชนมาทำข่าวเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายวีระได้โพสต์หนังสือของ ป.ป.ช. ไว้บนเฟซบุ๊กของตนเอง โดยในเอกสารดังกล่าวระบุ ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมจากยื่นคำร้องจากนายวีระ จำนวน 4 ข้อ ดังนี้

  1. ท่านประสงค์จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ตำแหน่ง ระดับ และสังกัดใด มีหน้าที่อย่างไร และมีบุคคลใดร่วมกระทำผิดหรือไม่
  1. พฤติการณ์กระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหา ที่ท่านเห็นว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ มีพฤติการณ์อย่างไร เหตุเกิดที่ใด เมื่อใด และมีพยานหลักฐานยืนยันหรือสนับสนุนพฤติการณ์กระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ ประการใด
  1. ท่านได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานอื่นหรือไม่ อย่างไร (หากมี) ผลการดำเนินการเป็นประการใด
  1. ท่านเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้หรือไม่

ในวันที่ 10 มกราคม 2559 นายวีระยังโพสต์ถึงกรณีดังกล่าวอีกครั้ง โดยระบุว่า ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. มานับสิบปี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ ป.ป.ช. ให้ยืนยันว่าเป็นผู้ยื่นเรื่องจริงหรือไม่ ทั้งที่ได้ลงลายมือชื่อในสมุดรับเรื่องร้องเรียนแล้ว นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ก็ไม่เคยถามว่าตนมีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกับผู้ถูกกล่าวหา เพราะเรื่องทุจริตรัฐเป็นผู้เสียหาย ตนเป็นผู้ทราบเรื่องจึงมายื่นกล่าวหา ป.ป.ช. มีหน้าที่ไต่สวนว่าความจริงเป็นอย่างไร ที่สำคัญในคำร้องก็ยังบรรยายพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่ามีการุทจิรตพร้อมทั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการุทจริต มีการนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประเคนให้แล้ว ป.ป.ช. ควรตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดที่ตนนำมายื่นก่อนว่าถูกต้องตามที่ตนกล่าวหาหรือไม่ และที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องให้ไต่สวนกรณี พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ กับนายทักษิณ ชินวัตร ยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ป.ป.ช. ก็ไม่เคยทำหนังสือเรียกตนให้ไปพบเหมือนกรณีนี้

“ถ้า ป.ป.ช.กลัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่กล้าตรวจสอบก็บอกออกมาตรงๆ เสียก็สิ้นเรื่อง ผมจะได้ดำเนินการเปิดโปงความจริงด้วยตัวเอง ผมพยายามทำตามกติกาสังคมที่กำหนดไว้ เมื่อมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการปราบปรามคอร์รัปชัน ผมก็ยื่นเรื่องเข้ามาให้ตรวจสอบ ป.ป.ช. ควรมีมาตราฐานในการทำงานให้ชัดเจนเหมือนกันทุกเรื่องทุกกรณี” นายวีระระบุไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว

581119ราชภักดิ์-620x467
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นประธาน เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ใช้งบในการดำเนินการรวมกันสูงถึง 1,121 ล้านบาท โดย 802 ล้านบาท เป็นเงินที่ได้จากการบริจาคผ่านบัญชีกองทุนสวัสดิการกองทัพบก ในขณะที่ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ยังเป็น ผบ.ทบ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 นายวีระได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวน พล.อ. ศิริชัย ขณะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. อุดมเดช ขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากกรณีจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

  • กรณี พล.อ. ศิริชัย เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจลงนามในการจัดซื้อจัดจ้างด้วย “วิธีพิเศษ” ตามกฎหมาย สำหรับโครงการที่มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณชนในขณะนี้ โครงการจัดซื้อจัดจ้างในอุทยานราชภักดิ์หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรั้ว ป้ายทางเข้า งานปูหิน รวมถึงงานก่อสร้างพระบรมรูป มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาททั้งสิ้น
  • กรณี พล.อ. อุดมเดช เนื่องจากไม่ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษนายทหาร (ยศ พล.ต. และ พ.อ.) ที่มีส่วนพัวพันกับการเรียกรับเงินของเซียนพระ อ. จากโรงหล่อ 4 โรง (จากทั้งหมด 5 โรง) ในการหล่อพระบรมรูป

นอกจากนี้ นายวีระยังขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบยอดเงินบริจาคเพื่อใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่แท้จริง รวมถึงใบเสร็จที่ออกให้กับผู้บริจาคว่ามียอดเงินตรงกันหรือไม่

ก่อนหน้านี้ เคยมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ถึง 2 ชุด ชุดแรกของกองทัพบก มี พล.อ. วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นประธาน ซึ่งสรุปว่าไม่มีการทุจริต แต่ไม่ให้รายละเอียดใดๆ ต่อสังคม และชุดที่ 2 ของกระทรวงกลาโหม มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน แม้จะให้รายละเอียดเรื่องรายรับ-รายจ่าย แต่กลับไม่สรุปกรณีทุจริต โดยเฉพาะประเด็นการหักหัวคิวโรงหล่อ อ้างว่ามีอำนาจจำกัด และพยานบางคนไม่มาให้ข้อมูล

ขณะที่ ป.ป.ช. ชุดที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน เคยหยิบกรณีนี้ไปหารือในที่ประชุม ก่อนจะมีมติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ว่ายังไม่รับไว้ไต่สวนเป็นคดี เพราะยังไม่มี “เหตุอันควรสงสัย” ว่ามีการทุจริต ทำให้นายวีระต้องไปยื่นคำร้องขอให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์