ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > TMB ลุย “Digital Banking” ปี’58 ลูกค้าใหม่โตกว่า 750% มั่นใจบริการ “ให้คุณใช้ชีวิตเต็มที่ในแบบของคุณ”

TMB ลุย “Digital Banking” ปี’58 ลูกค้าใหม่โตกว่า 750% มั่นใจบริการ “ให้คุณใช้ชีวิตเต็มที่ในแบบของคุณ”

23 มกราคม 2016


นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 นายบุญทักษ์  หวังเจริญ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานปี 2559 ภายใต้แนวคิด “TMB Digital Banking: ให้คุณใช้ชีวิตเต็มที่ในแบบของคุณ” ว่าในปี 2559 และระยะถัดไป “Digital Banking” จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ธนาคารสามารถเสนอบริการทางการเงินให้กับลูกค้าโดยไม่จำเป็นต้องปรับการใช้ชีวิตเพื่อใช้ “Banking Services” อีกต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อดูแนวโน้มของการใช้บริการ Digital Banking ของไทยเทียบกับประเทศต่างๆ พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก โดยไทยมีลูกค้าที่ใช้บริการทางการเงินดิจิทัลเพียง 19% ของฐานลูกค้าที่ใช้บริการทางการเงินทั้งหมด ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน ต่างมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการดิจิทัลสูงมากกว่า 90% ในทุกประเทศ นอกจากนี้ แม้แต่ประเทศเวียดนาม, มาเลเซียและอินโดนิเซีย ต่างมีจำนวนผู้ใช้บริการทางการเงินดิจิทัลสูงกว่าไทยที่ 44%, 41% และ 36% ตามลำดับ

tmb_digital_4

นายบุญทักษ์ กล่าวต่อไปว่านอกจากตัวเทคโนโลยีโดยตรงแล้ว ประเด็นเรื่องบุคลากรและวัฒนธรรมการทำงานภายในธนาคารที่สามารถร่วมมือและตัดสินใจพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากเช่นกัน ดังนั้นการปรับโครงสร้างองค์กรและวิธีการทำงานให้ประสานงานกันชัดเจน จะช่วยทุกฝ่ายสามารถร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันธนาคารหลายแห่งยังต้องประชุมกันหลายวาระกว่าจะได้ข้อสรุปในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ

“ดิจิทัลจะมีผลต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องการแข่งขันของธนาคาร มันจะไปมีผลกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งการมีระบบชำระเงินด้วยดิจิทัล ค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่าการใช้เงินสดมาก แต่อย่างที่บอกว่าถ้าเมืองไทยเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลทั้งหมด เราจะประหยัดได้ 100,000 ล้านบาท หรือ 1% ของจีดีพีทันที แม้จะมีต้นทุนในการลงทุนช่วงแรกแต่โดยรวมการลงทุนมันคุ้มค่ากว่ามาก ซึ่งเป็นสิ่งที่โชคดีที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อให้มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” นายบุญทักษ์ กล่าว

ขณะที่ทิศทางของบริษัทวิจัยเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ซึ่งอาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าของการธนาคารในอนาคต นายบุญทักษ์ กล่าวว่าปัจจุบันธนาคารจะเน้นที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางมากกว่าเน้นไปที่เทคโนโลยี ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าลูกค้ามีความพร้อมที่จะตอบรับเทคโนโลยีเหล่านี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งปัจจุบันธนาคารจะทำบทบาทเชื่อมโยงบริษัทวิจัยเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามากกว่าที่จะพัฒนาด้วยตนเอง

“แรงกดดันที่ว่า FinTech อาจจะทำให้ธนาคารในอนาคตไม่จำเป็นอีกต่อไป อาจจะเป็นไปได้ในอีก 50 ปี อย่างที่ Bill Gates พูดว่า Banking is necessary, banks are not คือการธนาคารจำเป็น ไม่ใช่ธนาคาร แต่ช่วง 10-20 ปีข้างหน้าคงยังไม่เกิดขึ้น เพราะธนาคารยังทำหน้าที่รับความเสี่ยงของระบบการเงินของประเทศอยู่ โดยมีแบงก์ชาติดูแลอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต่อไปแบงก์ชาติอาจจะต้องปรับตัวไปดูแลพวก FinTech ด้วย เพราะฉะนั้นมันต้องดูทั้ง 2 ด้าน คือด้านหนึ่งบริษัทพวกนี้อาจจะสร้างสิ่งที่มีคุณค่ามากกับระบบการเงิน อีกด้านอาจจะมีความเสี่ยงทำให้ระบบการเงินล้มไปทั้งระบบได้ พวกประเด็นความปลอดภัยต่างๆ”

ด้านนายรูว์ ฮุสแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย กล่าวถึงแนวโน้มของ Digital Banking ว่าในปี 2558 ที่ผ่านมามีจำนวนลูกค้าใหม่ที่หันมาใช้บริการ Internet Banking และ Mobile Banking เพิ่มขึ้นกว่า 750% จาก 34,954 ราย เมื่อสิ้นปี 2557 เป็น 292,846 ราย ณ สิ้นปี 2558 และเมื่อมาดูพฤติกรรมผู้บริโภคจะพบว่ามีจำนวนผู้ใช้ที่เข้าถึงบริการทางการเงินเฉพาะ Mobile Banking เติบโตกว่า 1,009% ขณะที่จำนวนผู้ใช้เฉพาะ Internet Banking เริ่มหดตัวลง 43% และสุดท้ายมีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสองระบบ เติบโตกว่า 258% เมื่อหันมาดูเฉพาะจำนวนธุรกรรมผ่านช่องทางต่างๆ พบว่าช่วงปีที่ผ่านมาการทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลกำลังจะแซงหน้าการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มอีกเพียงมีกี่สัปดาห์ข้างหน้า

tmb_digital_1

tmb_digital_2 tmb_digital_3

ขณะที่แผนงานด้านลูกค้ารายย่อย นายรูว์ กล่าวว่าจะปฏิรูปการธนาคารรายย่อย เพื่อมอบประสบการณ์การทางธุรกรรมทางการเงินที่ง่ายที่สุดและคำแนะนำทางการเงินที่เหมาะสมที่สุดผ่านช่องทางที่เป็นหนึ่งเดียว แบ่งเป็น 5 นวัตกรรมหลัก 1) ขยายฐานประกันชีวิต ต่อยอดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ Life Saver 15/9 ภายใต้แนวคิด ประกันทำง่าย ใครก็มีได้ 2) โตสินเชื่อบ้าน เน้นกระบวนการขอสินเชื่อที่ง่าย และอัตราดอกเบี้ยที่ดึงดูดใจ 3) ผลักดันให้กองทุนรวมเติบโตต่อไป สานต่อประโยชน์ของ Open Architecture ที่มีต่อลูกค้า 4) เน้นความเป็นผู้นำด้านดิจิตอล ทั้งการขาย การทำการตลาด และการให้บริการ และ 5) ขยายขีดความสามารถของศูนย์บริการลูกค้า ทั้งการขายและการให้บริการ

ด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าธุรกิจ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าธุรกิจ กล่าวว่ามีแผนงาน 4 ประเด็น 1) Digitalization ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพให้ลูกค้าในการประมูลงานภาครัฐในระบบ E-Guarantee และเปิดประสบการณ์ใหม่กับธุรกรรม Digital ภายใต้ CLICK เดียว โดยครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า 2) Supply chain จะเพิ่มความแข็งแกร่งของ Supply chain โดยพัฒนา Standardized Supply chain เพื่อง่ายต่อลูกค้าธุรกิจในการใช้บริการ ขณะเดียวกัน จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทางานของ value chain มีการเพิ่มความสะดวกแก่ value chain โดยการผสมผสาน Supply chain กับการบริหารจัดการทางการเงินให้แก่คู่ค้า 3) Trade finance มีเป้าหมายเป็นผู้นำในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกรรมต่างประเทศและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงพัฒนากระบวนการในการทำธุรกรรมต่างประเทศสะดวก รวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า และ 4) Infrastructure จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินให้แก่กลุ่มธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ จะขยายฐานลูกค้า E-Guarantee แก่ลูกค้าธุรกิจอื่นๆเพื่อสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ

สุดท้ายสำหรับแผนงานของธุรกิจเอสเอ็มอี นายไตรรงค์  บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี กล่าวว่ามีแผนงาน 5 ประเด็น 1) มุ่งสู่การเป็นธนาคารหลักของเอสเอ็มอี ในการดำเนินธุรกิจ 2) พัฒนาสู่การเป็นธนาคารเพื่อการค้าระหว่างประเทศสำหรับเอสเอ็มอี 3) ยกระดับขีดความสามารถของบุคลากร และ 4) มุ่งเน้นการพัฒนา Digital Banking เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ดูเพิ่มเติมที่นี่