ThaiPublica > เกาะกระแส > สสส. ส่งเอกสารแจง 5 ประเด็น ระบุรายงานประเมินผลสอบสตง. “ยังไม่ถือเป็นที่สุด”

สสส. ส่งเอกสารแจง 5 ประเด็น ระบุรายงานประเมินผลสอบสตง. “ยังไม่ถือเป็นที่สุด”

28 มกราคม 2016


ดร.ประกาศิต สาระสิทธิ์ โฆษกสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/politics/372829
ดร.ประกาศิต สาระสิทธิ์ โฆษกสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th/politics/372829

หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้นำเสนอข่าวการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2557 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยพบปัญหาหลายประการ อาทิ เบิกค่าเดินทางไปต่างประเทศไม่ถูกต้อง, เบิกค่าเบี้ยประชุมซ้ำซ้อน, จ่ายเงินสนับสนุนแก่มูลนิธิ สมาคม และบุคคลธรรมดาที่ได้รับทุน โดยไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ฯลฯ เป็นต้น โดย สตง. มีคำสั่งให้เรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง คืนให้กับ สสส. รวมเป็นเงิน 8.3 ล้านบาท

ในวันที่ 28 มกราคม 2559 ทีมประชาสัมพันธ์ของ สสส. ได้ส่งเอกสารชี้แจงตามหนังสือที่ สสส.ฝ.2/172/2559 ลงนามโดย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ โฆษก สสส. ดังต่อไปนี้

จากกรณีที่เว็บไซต์ Thaipublica นำเสนอบทความเรื่อง “ผลสอบ สตง. ประเมิน สสส.ปี 2557 (ตอนที่1) : สั่งเรียกเงินคืนจากผู้บริหารยันพนักงาน เบิกซ้ำซ้อน – ไม่มีเอกสารยืนยันไป ตปท.รวมกว่า 8 ล้านบาท” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 นั้น ในนามสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอชี้แจงว่า ในแต่ละปี สสส.จะต้องถูกตรวจสอบและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของกองทุนฯ โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมา สตง.ได้สรุปข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ สตง. และ สสส. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบตามข้อสังเกตของ สตง. ซึ่งเนื้อหาข้อมูลอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริง ตามกระบวนการตามปกติที่ สตง. เข้าไปตรวจสอบและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ จะสรุปข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานนั้นๆ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง

ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวจึงยังไม่ถือเป็นที่สุด อีกทั้งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารลับทางราชการ ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วนโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจาก สตง. และถูกนำไปเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด รวมถึงสร้างความเสียหายให้แก่ สสส.จึงขอชี้แจงข้อมูลตามที่ปรากฏในบทความดังกล่าว สสส. โดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ตามที่ระบุว่ามีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องและซ้ำซ้อนนั้น

ขอยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก นั้น เป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดสรรเงิน เพื่อการสนับสนุนโครงการและกิจกรรม พ.ศ. 2554 และระเบียบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าพัสดุ  และค่าใช้จ่ายสนับสนุนโครงการ พ.ศ.2557 อาทิ

(1) การลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมต่างประเทศที่ระบุ ไม่มีใบเสร็จรับเงินนั้น ความจริงแล้วเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และชำระเงินค่าลงทะเบียนด้วยบัตรเครดิตองค์กร เพื่อลดปริมาณเงินสดและป้องกันการสูญหายระหว่างเดินทาง โดยใช้ใบแจ้งหนี้ค่าลงทะเบียนจากธนาคารเจ้าของบัตรเป็นหลักฐานแสดงการจ่ายค่าลงทะเบียน และส่งสำเนาหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายให้แก่ สตง.แล้ว

(2) ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปต่างประเทศ ไม่มีเอกสารยืนยันการเดินทาง (Boarding pass) ในบางกรณีไม่สามารถติดตาม Boarding pass ได้จริง แต่ได้ยืนยันการเดินทางในทุกกรณีแล้วด้วยเอกสารอื่นๆ อาทิ พาสปอร์ต ใบลงทะเบียนเข้าร่วมศึกษาดูงาน

(3) กรณีค่าที่พัก และค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ยืนยันว่าทุกกรณีได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าพัสดุ  และค่าใช้จ่ายสนับสนุนโครงการ พ.ศ. 2557 ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขและอัตราการเบิกจ่ายกรณีต่างๆ ไว้ เพียงแต่การตรวจสอบอาจตีความข้อมูลจากเอกสารคลาดเคลื่อนเรื่องวันเวลา หรือการจัดเลี้ยงของผู้จัดประชุม

(4) ค่าประกันภัย กรณีการเดินทางไปปฏิบัติงานให้กับ สสส. ได้เบิกจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยการเดินทางให้กับบุคคลที่ได้รับอนุมัติจาก สสส.ให้เดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบเบิกจ่ายที่กำหนดที่มีรองรับอยู่

ส่วนที่ 2 ตามที่ระบุว่า สสส.ไม่สามารถรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ สตง. ตรวจสอบได้จำนวน 28 โครงการนั้น

การจัดส่งเอกสารเพื่อการตรวจสอบให้กับเจ้าหน้าที่ สตง.เป็นความล่าช้าจริงที่เกิดขึ้นในโครงการส่วนน้อย แต่ปัจจุบัน สสส. ได้ส่งเอกสารข้อมูลเหล่านั้นให้จนครบถ้วน ซึ่งในส่วนนี้เจ้าหน้าที่  สสส.  ได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ด้วยเอกสารของโครงการถูกจัดเก็บไว้กับผู้รับทุนตามเงื่อนไขของข้อตกลงและแนวปฏิบัติ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการประสานงานขอเอกสารจากผู้รับทุนทั่วประเทศเพื่อให้ตรวจสอบได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่สามารถส่งเอกสารบางส่วนได้ทันตามวันเวลาที่กำหนด แต่สสส. ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะจงใจหรือละเว้นไม่ปฏิบัติแต่อย่างใด

ส่วนที่ 3 ระบบการบันทึกข้อมูลโครงการฯ ที่ระบุว่า ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง

ข้อเท็จจริง คือ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สสส. ได้ให้สิทธิเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของ สตง. เข้าระบบ และส่งมอบรหัสผู้ใช้งาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ สตง. ได้ลงลายมือชื่อรับไว้ ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2557 พร้อมกันนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานได้จัดเตรียมระบบพร้อมอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ฮาร์ดดิสก์ โดยมีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลทั้งระบบโครงการ และระบบอื่นๆ อาทิ ระบบบัญชีการเงิน ระบบจัดซื้อ ระบบบริหารจัดการพัสดุ

ส่วนที่ 4 สสส. ไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานโครงการ

ข้อเท็จจริงคือ สสส. ใช้การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานในการจัดซื้อจัดจ้างทำสิ่งของตามระเบียบด้านพัสดุเป็นปกติ แต่สำหรับการสรุปงานโครงการปฏิบัติการต่างๆ สสส. ใช้ระเบียบด้านการกำกับติดตามประเมินผล ซึ่งมิได้กำหนดให้ใช้รูปแบบการตั้งคณะกรรมการตรวจรับโครงการ แต่มีกระบวนการในการกำกับและประเมินการบรรลุผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัด ทั้งจากผู้ประเมินโครงการ คณะกรรมการกำกับทิศทาง สำนักงาน สสส. ผู้ตรวจสอบบัญชี และการปิดโครงการได้นั้น ต้องดำเนินการตรวจสอบผลลัพธ์ตามที่ระบุไว้ในโครงการ

ส่วนที่ 5 กรณีโครงการที่ครบกำหนดแล้วเสร็จแต่ยังไม่สามารถปิดโครงการได้นั้น

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเต็มความสามารถและเป็นไปตามขั้นตอนการรายงานผลของโครงการล่าช้า แต่เนื่องจากการดำเนินงานมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำบัญชีการเงิน การจัดทำสรุปผล ประเมินผล ซึ่ง สสส. ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง สสส.ให้ทุนอุดหนุนโครงการในการทำงานลักษณะเครือข่ายกระจายตามพื้นที่ทำให้เมื่อเสร็จกิจกรรม ต้องใช้เวลามากในการรวบรวมเอกสารผลงาน จึงทำให้เกิดความล่าช้า รวมทั้งผู้ดำเนินโครงการบางส่วนประสบปัญหาที่ไม่อาจควบคุมได้ อาทิ อุทกภัย วาตภัย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานต้องล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตามโครงการส่วนใหญ่ที่ถูกระบุว่าล่าช้าในปีดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิคของการบันทึกการปิดโครงการในระบบโปรแกรมบริหารโครงการ ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจสอบและแก้ไขก็สามารถลดปริมาณจำนวนโครงการที่ล่าช้าได้กว่าร้อยละแปดสิบในเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ตาม สสส. ยินดีอย่างยิ่ง และพร้อมรับการตรวจสอบจากสื่อมวลชน ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารข้อมูลครบถ้วน และเกิดความเป็นธรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงยินดีและพร้อมให้คำชี้แจงข้อสงสัยในข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สังคมได้รับทราบแนวทางการดำเนินงาน และข้อปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาประโยชน์ของสังคมและส่วนรวมเป็นสำคัญ