ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผลสอบ สตง. ประเมิน สสส. ปี 2557 (ตอนที่1) : สั่งเรียกเงินคืนจากผู้บริหารยันพนักงาน เบิกซ้ำซ้อน – ไม่มีเอกสารยืนยันไปตปท.รวมกว่า 8 ล้านบาท

ผลสอบ สตง. ประเมิน สสส. ปี 2557 (ตอนที่1) : สั่งเรียกเงินคืนจากผู้บริหารยันพนักงาน เบิกซ้ำซ้อน – ไม่มีเอกสารยืนยันไปตปท.รวมกว่า 8 ล้านบาท

25 มกราคม 2016


แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากที่ได้มีการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2557 โดยมีการประเมินในด้าน 1) การใช้จ่ายเงิน 2) ทรัพย์สิน 3) การบริหารงานของ สสส. โดยในแต่ละด้านมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุง เช่น การเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศไม่ถูกต้อง ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน

นอกจากนี้ ยังมีการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมซ้ำซ้อน การอุดหนุนโครงการที่จ่ายให้กับผู้รับทุนที่มูลนิธิ สมาคม และบุคคลธรรมดา ไม่มีการหักและนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ปิดอากรแสตมป์ในสัญญาให้ทุนสนับสนุนโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างทำแค่ใบสั่งซื้อ สั่งจ้างไม่ทำเป็นสัญญา การจัดทำงบประมาณไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม รวมทั้งการประเมินการดำเนินงานไม่บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัด เป็นต้น

“จากการตรวจสอบของ สตง. ในประเด็นการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องและซ้ำซ้อน ได้มีคำสั่งให้เรียกเงินคืนนำส่งเป็นรายได้ สสส. และกำกับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ที่ถูกเรียกเงินคืนมีตั้งแต่อดีตผู้จัดการ สสส., รองผู้จัดการ, รองประธานคนที่ 2, ผู้บริหารแผนคณะต่างๆ, ผู้อำนวยการฝ่าย รวมทั้งพนักงานทั่วไป” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการเบิกจ่ายเงินของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ กรรมการ ที่ปรึกษาอื่นๆ ที่ สตง. ขอให้เรียกเงินคืน สสส. รวมทั้งหมดเป็นเงิน 8.3 ล้านบาท ได้แก่

1. ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน เช่น ดูงาน World Social Marketing Conference ประเทศแคนาดา, GAPC 2013 ประเทศเกาหลีใต้ เฉพาะงานนี้มีรายชื่อผู้สื่อข่าว 4 ฉบับด้วย, 2014 Global Summit on Physical Activity of Children ประเทศแคนาดา รวมทั้งการดูงานที่ฟินแลนด์ บราซิล มาเลเซีย เป็นต้น เป็นเงินประมาณ 500,000 บาท

2. ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปต่างประเทศ โดยไม่มีเอกสารยืนยันการเดินทาง (Boarding pass) รวมเป็นเงิน 7.3 ล้านบาท

3. ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปต่างประเทศที่เบิกจ่ายเกินสิทธิของรองประธานคนที่ 2, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ, ที่ปรึกษา สสส. และกรรมการประเมินผลการดำเนินงานกองทุน เป็นเงินรวม 70,000 บาท

4. ค่าเบี้ยเลี้ยงของบุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง สสส. ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายตามระเบียบ สสส. เป็นเงิน 273,500 บาท

5. ค่าเบี้ยเลี้ยงกรณีที่มีอาหารเลี้ยงครบ 3 มื้อจึงไม่มีสิทธิเบิกจ่าย เป็นเงิน 112,600 บาท

6. ค่าเบี้ยเลี้ยงที่ผู้เดินทางเบิกจ่ายไม่ได้ตามระเบียบ 25,650 บาท

7. ค่าเบี้ยประกันภัยเดินทางที่เบิกจ่ายไม่ได้ 35,575 บาท

8. ค่าที่พักในต่างประเทศที่เบิกเกิน 20,000 บาท

ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/contact/banner_popup.php?ads_id=287
ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/contact/banner_popup.php?ads_id=287

28 โครงการ สตง.ขอเอกสารเบิกเงินไม่ได้

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สตง. ยังระบุว่า ระบบการจัดเก็บเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินให้กับโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม สสส. ต้องจัดเก็บเอกสารไว้ที่ สสส. เมื่อ สตง. ขอตรวจสอบ สสส. ต้องใช้เวลานานมากในการรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ และไม่สามารถหาเอกสารให้ตรวจสอบได้จำนวน 28 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 148.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.51 จากที่ทดสอบจำนวน 193 โครงการ และเมื่อ สตง. ขอทดสอบระบบการบันทึกข้อมูลโครงการ สสส. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงระบบดังกล่าว โดยแจ้งว่าระบบยังไม่สมบูรณ์

สำหรับโครงการที่ขอตรวจสอบแต่ยังไม่ได้รับเอกสารหลักฐานของโครงการจาก สสส. เช่น โครงการสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ วงเงิน 30 ล้านบาทของสำนัก 5, ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อประชาชนของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ 1.5 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.), ระบบบริการดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. 2 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สกส., จ้างเหมาออกแบบและจัดสร้างเพื่อพัฒนาส่วนจัดแสดงนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้สุขภาวะ 4.9 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สกส., การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ 1.7 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สกส., ส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพร่วมกับองค์กร 30 ล้านบาท ของสำนัก 5, พัฒนานักวิจัยระดับสูงด้านการควบคุมแอลกอฮอล์ 5.6 ล้านบาทของสำนัก 1 เป็นต้น

นอกจากนี้ สสส. ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานของโครงการ แต่ให้มีการจ้างผู้สอบบัญชีมาตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจสอบเพียงการรับจ่ายเงินและบันทึกบัญชี โดยบางรายมีข้อสังเกตแต่ไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจน แสดงถึงการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่อิสระ และไม่เที่ยงธรรม จึงทำให้ยังไม่มีการตรวจสอบว่าผลการดำเนินโครงการถูกต้องตามที่กำหนดในข้อตกลงหรือไม่

รวมทั้ง สสส. ไม่มีการรายงานและติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการ มีเพียงผู้ประสานงานโครงการ รวบรวมสรุปปัญหา อุปสรรคตามแบบรายงานความก้าวหน้าของโครงการเท่านั้น โดยไม่มีรายงานให้ผู้บริหารแต่ละระดับทราบ ส่งผลให้มีโครงการที่ครบกำหนดว่างานต้องแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2550-2557 แต่ยังไม่สามารถปิดโครงการได้ 1,194 โครงการ เป็นเงิน 323.47 ล้านบาท

ดูแผนงานเพิ่มเติมและ คำชี้แจงการดำเนินงานของสสส.

ป้ายคำ :