ThaiPublica > เกาะกระแส > ทอล์คโชว์ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” แรงบันดาลใจเกินร้อยจากคน 32 ลบ ร่างกายพิการแต่ใจไม่พิการ (ตอนที่1)

ทอล์คโชว์ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” แรงบันดาลใจเกินร้อยจากคน 32 ลบ ร่างกายพิการแต่ใจไม่พิการ (ตอนที่1)

26 มกราคม 2016


ทอล์คโชว์ธรรมดา 32

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 ณ อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ชมรมกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทยได้จัดรายการ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” ทอล์คโชว์ปลุกฝัน สร้างแรงบันดาลใจ จากเหล่าคนที่มีความพิเศษ กับประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ฝ่าฟัน ด้วยหัวใจเกินร้อย ที่คนธรรมดา 32 ต้องยกนิ้วให้ โดยมีผู้ให้แรงบันดาลใจคือ วิจิตรา ใจอ่อน เด็กสาวที่พิการจากเหตุกราดยิงรถนักเรียน สู่นักกีฬาปิงปองคนพิการมือวางอันดับ 6 ของโลก วันชัย ชัยวุฒิ อีกหนึ่งนักกีฬาเทเบิลเทนนิสที่มุ่งมั่นฝึกซ้อมจนสามารถก้าวสู่อันดับ 10 ของโลกในเวลาไม่ถึงปี ณัฐพร ท้าวศรีสกุล – บุสรี วาแวนิ กับกำลังใจที่พลิกชีวิต สานฝันการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติ ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้คนพิการตลอดมา พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี คุณพ่อผู้ไม่ยอมแพ้ วรยุทธ กิจกูล นักธุรกิจวีลแชร์ กฤษณะ ไชยรัตน์ – ศรัณย์ รองเรืองกุล 2 แนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อคนพิการ และ นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ – โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ คน 32 ที่สร้างชีวิตใหม่ให้นักกีฬาพิการได้

ร่างกายไม่ใช่ขีดจำกัดในการเดินตามความฝัน ทีมนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย 6 ชีวิต สามารถผ่านการคัดเลือกและเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคนพิการ (Paralympic Games) ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในเดือนกันยายน 2559 นี้ โดย 2 ใน 6 คือผู้ที่มาทอล์คโชว์สร้างแรงบันดาลใจ ส่งแรงบันดาลใจ และนักกีฬาคนอื่นๆที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของชีวิตให้อีกหลายคนที่ท้อแท้ สิ้นหวัง แม้จะพิการร่างกายแต่หัวใจไม่ได้พิการตามไปด้วย พวกเขามีใจเกิน 100 กับทุกก้าวย่างของตัวเอง ที่บางครั้งคนธรรมดา 32 ยังทำเช่นนั้นไม่ได้

เช้าในอดีตที่เปลี่ยนชีวิต กับมือวางอันดับ 6 ในวันนี้

วิจิตรา ใจอ่อน เริ่มต้นการพูดของเธอด้วยการขอบคุณเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่เธอกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในชีวิต และขอบคุณเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ทำให้พิการ ทำให้มายืน ณ จุดนี้ ในวันนี้

“หนูเป็นเด็กบ้านนอกค่ะ ที่บ้านทำไร่ทำสวน ตอนหนูปกติก็เป็นเด็กชอบเล่นกีฬา เล่นกีฬาระดับโรงเรียนและแข่งตามอำเภอ แต่เช้าวันที่ 4 มิถุนายน 2545 เช้าวันนั้นเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปหมด เป็นเช้าที่พลิกชีวิตหนู

เช้าวันนั้น ขณะที่หนูนั่งรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียน ระหว่างทางตอนนั้นกำลังขึ้นเนินเขา มีคนร้ายมายืนดักอยู่ แล้วหนูก็ได้ยินเสียงปืน ปัง! ปัง! ปัง! ตัวหนูเองรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อตข้างล่าง นั่งไม่อยู่ และได้ยินเสียงเพื่อนๆ พี่ๆ กรีดร้องด้วยความเจ็บปวดทรมาน พอก้มล้มลง ก็เห็นใต้ที่นั่งเต็มไปด้วยกองเลือด พื้นเต็มไปด้วยสีแดง คนขับรถพยายามขับไปยังหมู่บ้าน หนูเห็นพี่ 2 คนกลิ้งตกจากรถไปเสียชีวิตต่อหน้า ณ ตอนนั้น หนูไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกปวด แต่ระหว่างทางที่ไปโรงพยาบาลมันเริ่มทรมานขึ้นมา เริ่มรู้สึกเจ็บหน้าท้อง เจ็บข้างหลัง หนูเลยเอามือไปจับหน้าท้องตัวเอง ก็ไม่มีอะไร แต่พอเลื่อนมือไปจับข้างหลัง กำปั้นของหนูมันเข้าไปในรูแผล พอเอามือออกมามันมีแต่เลือด ชุดนักเรียนจากสีขาว กลายเป็นสีแดงทั้งชุด”

วิจิตราเล่าว่า ตอนอยู่ห้องไอซียู คุณหมอได้บอกให้พ่อ แม่และญาติพี่น้องทำใจ เพราะอาการหนักมาก แต่สุดท้ายตนก็สู้จนรอด รอดในคืนแรก แต่ได้รับข่าวร้ายในวันถัดมา ว่าจะไม่สามารถเดินได้อีกตลอดชีวิต

“หนูจะเดินไม่ได้ตลอดชีวิต จะต้องนอน และไม่สามารถลุกขึ้นมานั่งเองได้ ต้องให้พ่อกับแม่คอยป้อนข้าวป้อนน้ำตลอดชีวิต พอได้ยินเท่านั้นแหละค่ะ หนูรู้สึกว่าตัวเองอยู่แล้วเป็นภาระ ความคิดตอนนั้นคือไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว หนูคิดอะไรไม่ออก คิดแต่ว่าไม่อยากอยู่ให้เป็นภาระของครอบครัว หนูก็กลั้นหายใจทั้งที่สวมเครื่องช่วยหายใจอยู่ 2 รอบ แต่ก็ไม่ตายเพราะเครื่องช่วยหายใจก็ช่วยให้หายใจได้อยู่ดี”

เธอเล่าเสียงสั่นว่า หลังการฆ่าตัวตายที่ไม่ประสบผล ก็ไม่เคยคิดที่จะฆ่าตัวตายอีก เพราะรับรู้ว่ารอบข้างเต็มไปด้วยกำลังใจ กำลังใจจากครอบครัว จึงรู้สึกว่าจะตายไม่ได้ กำลังใจเหล่านี้เข้ามาเติมเต็มในสิ่งที่หายไปได้ แต่หลังจากรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ประมาณ 5 เดือน การกลับบ้านทำให้ความรู้สึกแย่กลับมาอีกครั้ง

วิจิตรา ใจอ่อน นักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการ ทีมชาติไทย มือวางอันดับ 6 ของโลก
วิจิตรา ใจอ่อน นักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการ ทีมชาติไทย มือวางอันดับ 6 ของโลก

“ก้าวแรกเลยที่หนูถึงบ้าน ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปหมด จากที่หนูเคยเดินได้ วิ่งได้ ตอนนี้หนูต้องคอยให้พ่อแม่ช่วย คอยให้ทุกคนดูแล ทุกอย่างมันลำบากไปหมด ช่วงเวลาแค่เดี๋ยวเดียวมันเปลี่ยนชีวิตหนูให้ลำบากไปตลอด รู้สึกเป็นภาระ ทำให้คิดมากอีกครั้ง ระหว่างที่หนูกลับมาอยู่บ้านหนูไม่ออกจากบ้านเลย เพราะรู้สึกอาย ไปไหนมาไหนก็ต้องใช้ไม้ค้ำยัน เหมือนคนแก่ ต้องมีคนคอยพยุงข้างๆ แต่สักพักก็มีเพื่อน มีคุณครูพยายามที่จะมาให้กำลังใจ พยายามชวนให้ออกจากบ้านไปเจอผู้คน ไปโรงเรียน สุดท้ายหนูก็ตัดสินใจลองดูสักครั้งว่าไปอยู่นอกบ้านจะเป็นยังไง ก็ออกไปโรงเรียน ไปอยู่กับเพื่อน”

ความเปลี่ยนแปลงได้เข้ามาหาวิจิตราอีกครั้ง 1 ปีถัดมา คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ได้มารับตัวเธอให้ไปเรียนที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ภายใต้มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

“ตอนนั้นหนูไม่รู้ว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนอะไร ทำไมคุณหญิงกษมาถึงมารับตัวหนูให้ไปเรียนโรงเรียนนี้ ตอนแรกหนูไม่ได้ตัดสินใจที่จะไป พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ไม่อยากให้ไป เพราะท่านกลัวหนูคิดว่าพอพิการแบบนี้แล้วพวกท่านจะไม่รัก พ่อแม่จะทิ้ง แต่สุดท้ายหนูบอกกับพวกเขาว่าหนูขอไป หนูจะลองสักครั้งเพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น หนูเลยตัดสินใจไป

วันที่ก้าวเข้าไปในรั้วศรีสังวาลย์ หนูรู้สึกทึ่งมาก เห็นคนพิการเยอะมาก ทั้งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เห็นคนที่แย่กว่าเรา หนูได้เห็นน้องอยู่คนหนึ่งใช้เท้าตักข้าวกิน ใช้เท้าจับแก้วน้ำ ใช้เท้าทำทุกๆ อย่างแทนมือ ตั้งแต่นั้นมาหนูรู้สึกว่าตัวเองโชคดีกว่าทุกๆ คน โชคดีกว่าใครหลายๆ คน ณ ตรงนั้น เลยทำให้ตัวเองมีพลัง มีกำลังใจต่อสู้มา”

วิจิตรากล่าวต่อไปด้วยรอยยิ้มว่า วันหนึ่งขณะที่ตนเดินกลับที่พัก ได้เห็นเพื่อนๆ ตีปิงปองกัน ก็รู้สึกถึงแรงดึงดูด รู้สึกอยากตี จึงขอเพื่อนตี เล่นแล้วชอบ รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ เล่นแล้วมีความสุข พอมีเพื่อนๆ เชียร์มันรู้สึกมีคุณค่า จากนั้นมาตนก็ตั้งใจฝึกซ้อม ซ้อมแบบยังไม่มีจุดมุ่งหมายอะไร แต่ซ้อมด้วยใจที่รัก มีการวางแผนในการซ้อม ซ้อมหนักจนครูพละมาบอกว่าตนได้ถูกคัดเลือกเป็นเยาวชนทีมชาติ ให้ไปแข่งที่ประเทศออสเตรเลีย

“ตั้งแต่นั้นมาหนูมีพลังมาก รู้สึกว่านี่เราเป็นตัวแทนทีมชาติ หนูไม่เคยขาดซ้อม ซ้อมจนร้องไห้ไปตีไปก็มี ตีไปแขนแทบหลุด แต่ก็ยังอดทน จนสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จได้มา 1 เหรียญทอง กับการแข่งขันครั้งแรก และอีกอย่างที่หนูประทับใจมากที่สุดคือ เสื้อที่ใส่คือเสื้อทีมชาติที่ติดธงชาติไทยตัวแรก มันมีความหมาย มีพลัง เป็นแรงผลักดันให้หนู เพราะการจะได้ใส่เสื้อที่มีธงชาติติดอกนี้ได้มันไม่ได้ได้มาง่ายๆ ต้องแลกกับอะไรหลายๆ อย่าง ต้องอดทน ต้องมุมานะ จนได้เป็นมือวางอันดับ 6 ของโลก

จากก้าวแรกที่ออกจากบ้าน จนทุกวันนี้หนูกลับไปย้อนดู บ้านหนูเต็มไปด้วยเหรียญรางวัล เต็มไปด้วยถ้วย เกียรติบัตร โล่ต่างๆ ทุกวันนี้พ่อแม่หนูไม่คิดเลยว่ามีลูกพิการ และท่านก็ไม่เสียใจเลยที่ลูกพิการ ตอนนี้ท่านมีแต่ภูมิใจ ดีใจ เพราะใครมาที่บ้านก็มีแต่ชื่นชมลูก ว่าลูกเก่ง ลูกรับใช้ชาติ ลูกไปได้ไกลมาก หนูรู้สึกมีความสุขที่ทำให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง มีความสุข”

เธอยิ้มรับเสียงปรบมือก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า “ถึงหนูจะพิการแต่หนูก็สามารถรับใช้ชาติได้เหมือนกัน”

เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของ “วันชัย ชัยวุฒิ”

วันชัย ชัยวุฒิ เริ่มต้นเรื่องราวของตนเองว่า “ผมเกิดที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก อยู่ใกล้ๆ ตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ผมเกิดมาเป็นคนปกติ ครบ 32 ประการ สาเหตุที่ทำให้ผมต้องพิการเกิดขึ้นตอนอายุ 3 ขวบ ตอนนั้นผมปั่นจักรยานเล่นกับเพื่อนและประสบอุบัติเหตุชนกับเสาไฟฟ้า ทำให้ผมไม่สบาย ซึ่งทางครอบครัวมีฐานะยากจนมาก แต่ก็ได้ส่งผมไปหาหมอ หมอได้ฉีดยาที่เส้นเอ็นด้านหลังผม ทำให้ขาทั้ง 2 ข้างผมหมดแรงไป แต่ทางครอบครัวผมก็ยังส่งผมไปรักษาตามที่ต่างๆ เท่าที่จะรักษาได้ แต่สุดท้ายแล้วการรักษาก็ไม่เป็นผล ขาทั้ง 2 ข้างยังหมดแรงเหมือนเดิม แต่ครอบครัวยังคงส่งผมเรียนเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป”

เขาเล่าว่า ตั้งแต่อนุบาลจนจบประถม 6 ทุกครั้งจะมีเพื่อนๆ ล้อตนว่า “ไอ้เป๋” และตนก็พยายามแกล้งไม่สบายเพื่อที่จะไม่ต้องไปโรงเรียน ไปฟังคำล้อเหล่านั้น เพราะรู้สึกมันทำร้ายจิตใจตนเองมาก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องไปเรียนตามเดิม วันหนึ่งเพื่อที่ไม่ให้ใครเรียกตนว่า “ไอ้เป๋” อีก วันชัยยอมต่อยกับเพื่อนอีก 3 คน เขาสู้ในแบบของเขาทั้งที่นั่งอยู่กับพื้น เขาคิดในใจว่าขอให้จับขาใครสักคน แล้วเขาจะจัดการทีละคนๆ เขายอมถูกถีบ ถูกเตะ ในที่สุดเขาก็ทำให้เพื่อนยอมแพ้ละสัญญาว่าต่อไปจะไม่เรียกเขาว่า “ไอ้เป๋” อีก

ความโชคร้ายยังไม่หมด เพราะปี 2545 วันชัยได้สูญเสียทั้งพ่อ เสาหลักของครอบครัว และแม่ที่คอยดูแลมาตลอด รวมถึงพี่สาวที่ช่วยแม่ดูแลเขาก็ประสบอุบัติเหตุให้มาพิการเช่นเดียวกัน

“เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตที่สุดของผม ความรู้สึกผมตอนนั้นเสียใจ ร้องไห้ วนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกวัน เวลาผ่านไปญาติพี่น้องที่ผมเหลืออยู่บอกว่าจะพาไปเที่ยวเชียงใหม่ แต่ความจริงแล้วเขาพาผมไปอยู่บ้านคนพิการโดยที่ไม่บอกผมสักคำ ผมโดนทิ้งกลางทาง หมดหวังสิ้นหวัง ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน ผมร้องไห้ทุกวัน

วันชัย ชัยวุฒิ นักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย
วันชัย ชัยวุฒิ นักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย

แต่วันหนึ่งผมได้พบรุ่นพี่คนหนึ่ง เขาไม่มีแม้แต่แขน ไม่มีแม้แต่ขา แต่ชีวิตพี่เขาดูมีเป้าหมาย ดูมีความสุข ยังมองโลกสวยงามเสมอ ผมเองยังมีทั้งมือ และร่างกาย แค่ขาอ่อนแรง ผมจึงบอกตัวเองว่าจะต้องอยู่ต่อไปให้ได้ จนผมเรียนจบที่เชียงใหม่ ผมกลับมาบ้านได้พบเพื่อนๆ ติดยาเสพติด ผมคิดว่าถ้าผมยังอยู่ที่นั่นผมคงติดยาเหมือนเพื่อนผม ผมจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่พระประแดง โดยนั่งรถโดยสารไปเอง ผมอยากขอบคุณความพิการ เพราะไม่อย่างนั้น ผมคงติดยาไปกับเพื่อนแล้ว”

วันชัยกล่าวว่า ที่พระประแดง ทำให้ตนได้ฝึกตัวเองด้านกีฬา ทำให้เข้มแข็งขึ้น ทำให้รู้ว่าถึงตนจะพิการแต่ก็ยังมีชีวิตที่มีความหวัง มีเป้าหมาย โดยมี “ไมตรี คงเรือง” เป็นผู้ชักชวนให้มาเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิส

“พี่ไมตรี ได้ปลูกฝังให้ผมมีระเบียบวินัยในตัวเอง โดยผมได้ฝึกซ้อมตั้งแต่ตี 5 จนถึง 2 ทุ่มทุกวัน ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ซ้อมตามเวลา พี่ไมตรีพูดเสมอว่า หากเราซ้อมเท่าเขาฝีมือเราก็จะเท่าเขา ผมก็บอกตัวเองเสมอว่า ถ้าเราอยากเก่งกว่านี้ เราต้องซ้อมมากกว่าคนอื่นเขา ในเมื่อผมมีเป้าหมายแล้ว ผมก็บอกตัวเองว่าเป้าหมายมันยิ่งใหญ่ หากเราเจอแล้ว เราต้องทุ่มเทให้กับมัน ถ้าเราทุ่มเทให้กับมันแล้วความสำเร็จก็อยู่ข้างหน้าเรา

ทุกวันที่ผมฝึกซ้อม ผมทุ่มเทกับการฝึกซ้อมอย่างมาก โค้ชให้โปรแกรมอะไรมาผมจะพยายามทำให้หมด มีหลายครั้งที่ซ้อมแล้วรู้สึกว่าร่างกายไม่ไหว แต่ก็กัดฟันทั้งน้ำตา เพราะชีวิตผมต้องสู้ด้วยตัวเองแล้ว ไม่มีใครมาช่วยเหลืออีกแล้ว หากไม่ทำด้วยตัวเองก็ไม่มีใครทำให้เราได้ ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้อยากได้แสดงกำลังใจให้กับคนที่ท้อแท้และสิ้นหวัง

ผมพยายามบอกตัวเองเสมอว่าเวลาของเราคือการเล่นกีฬา ผมจะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ส่วนวันพรุ่งนี้เป็นเรื่องของอนาคต ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของผมยังเต็มเปี่ยมเสมอ ขอบคุณคนที่ให้โอกาส ขอบคุณผู้สนับสนุน ขอบคุณพี่ๆ ที่คอยสั่งสอนผมในหลายๆ เรื่อง ขอบคุณที่ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันมากกว่าจมอยู่ในอดีต

สุดท้ายนี้ผมอยากฝากว่า ใครที่ท้อแท้สิ้นหวัง จงมองคนที่ด้อยกว่า เปลี่ยนความอ่อนแอให้เป็นพลัง ขอให้ทุกคนและผมเองทำวันนี้ให้ดีที่สุดนะครับ ขอบคุณครับ”

ติดตามอีก 9 แรงบันดาลใจได้ในตอนต่อไป