ThaiPublica > คอลัมน์ > Emerging Markets: หรือวันนี้จะไม่ใช่วันของเรา

Emerging Markets: หรือวันนี้จะไม่ใช่วันของเรา

7 มกราคม 2016


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets (EM) เคยเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าเนื้อหอมสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง หลังทศวรรษปี 1980s ที่คำว่า “Emerging Markets” ได้รับการขนานนามเป็นครั้งแรกๆ และปักหมุดประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้อยู่บนแผนที่เศรษฐกิจโลก แต่มาในช่วงหลังนี้ประเทศเหล่านี้กำลังประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัด และกลับมาเป็นจุดเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง

บราซิลกำลังเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง ที่คาดว่าจะแย่ที่สุดในรอบร้อยปี ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อในขณะที่โลกกำลังคุยกันเรื่องความเสี่ยงเรื่องเงินฝืด จีนที่เป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจที่โตในอัตราที่น่าทึ่งมากว่าสามทศวรรษกำลังค่อยๆชะลอตัวลง ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาโครงสร้างอาจจะนำไปสู่วิกฤตทางการเงินได้

มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเหล่านี้? ยุคทองของประเทศเกิดใหม่ผ่านไปแล้วหรือ?

ผมว่ามีสามเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเหล่านี้ คือ การพึ่งพาการค้าและสินค้าโภคภัณฑ์, กำลังการผลิตส่วนเกิน, และปัญหาหนี้เกินตัว ถ้าใช้แว่นตาเดียวกันส่องปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเจออยู่ในตอนนี้ จะพบว่าอาการไม่ได้ต่างไปจากประเทศอื่นๆเลย เลยจะมาลองคุยเรื่องนี้กันดูครับ

คำว่า “Emerging Markets” ว่ากันว่าเพิ่งจะใช้กันหลังทศวรรษปี 1980s เอง โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานที่ธนาคารโลก เพื่อใช้พูดถึงกลุ่มประเทศที่มีลักษณะคล้ายประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังไม่รวยถึงขั้น ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านั้น เราจะแบ่งประเทศในโลกออกเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed countries) ประเทศกำลังพัฒนา (developing countries) และประเทศด้อยพัฒนา (least developed countries) คำว่า emerging markets จึงหมายถึงประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะประเทศกำลังพัฒนา และกำลังจะไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าข่ายประเทศแบบนี้ด้วย (สมัยนั้น เราเกือบเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย) รวมไปถึงหลายประเทศในอเมริกาใต้ (เช่น อาร์เจนติน่า บราซิล เม็กซิโก) ยุโรปตะวันออก (เช่น รัสเซีย ตุรกี) และ เอเชีย (รวมถึง อินเดีย จีนด้วย)

ประเทศเหล่านี้มีลักษณะที่น่าสนใจคล้ายๆกันคือ มีประชากรมาก รายได้กำลังสูงขึ้น มีชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ทำให้แบบแผนการอยู่อาศัยและการบริโภคกำลังเปลี่ยนไป (ดูลักษณะการโตของเมือง ในประเทศไทยเป็นตัวอย่าง) ทำให้เป็นตลาดสินค้าและบริการขนาดใหญ่ และมีศักยภาพ ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็มีแรงงานราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก

ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็มี “ความเสี่ยง” คล้ายๆกัน คือ ระดับการพัฒนาด้านโครงสร้างสถาบันที่ยังคงมีปัญหา ทำให้เกิดความเสี่ยง ทั้งด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ประเทศเหล่านี้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและปัญหาด้านการเมืองอยู่เนืองๆ

ประวัติศาสตร์ประเทศเกิดใหม่

ถ้าจะไล่ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจโลกในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ผมแบ่งได้เป็นสามช่วงใหญ่ๆ

ช่วงแรกผมจะเรียกว่า “ยุคโลกาภิวัฒน์เบ่งบาน” คือช่วงตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980s ถึง ช่วงต้นของทศวรรษ 2000s ช่วงนี้เป็นยุคทองของประเทศเกิดใหม่เลยทีเดียว เพราะเป็นยุคที่มีการเปิดเสรีการค้าแบบเป็นล่ำเป็นสัน มีการเจรจาการค้าโลกแบบเริ่มเห็นผล อัตราภาษีศุลกากรทั่วโลกเริ่มปรับลดลง หลังจากผ่านยุคกีดกันทางการค้ามา

อัตราภาษีศุลกากรถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องหลังทศวรรษปี 1980s ที่มาภาพ : http://www.cbi.org.uk/global-future/05_chapter02.html
อัตราภาษีศุลกากรถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องหลังทศวรรษปี 1980s
ที่มาภาพ : http://www.cbi.org.uk/global-future/05_chapter02.html

เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การย้ายฐานการผลิต จากประเทศร่ำรวย ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่ามาก

สำหรับประเทศไทย ยุคนี้คือยุคโชติช่วงชัชวาล การลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น พัฒนาเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจปี 1997

แต่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับอานิสงส์จากยุคโลกาภิวัฒน์ ที่การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ค่าเงินที่อ่อนไปค่อนข้างมาก และการลงทุนในโครงสร้างการผลิตจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

และเป็นช่วงนี้ที่พลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศไทยไปแบบเกือบจำไม่ได้ จากประเทศที่นำโดยการลงทุนและการบริโภค ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจนำโดยการส่งออก มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 30% ของ GDP กลายเป็นเกือบ 70% ของ GDP และเป็นเครื่องจักรสำคัญของการเจริญเติบโต

และช่วงนี้เอง ก็เป็นยุคที่จีนที่ผ่านการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบตลาด กลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ และศูนย์รวมของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของ สินค้าเกือบทุกประเภทประทับตรา Made in China กันทั่วโลก และในขณะเดียวกันจีนก็เป็นผู้บริโภครายใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย จีนใช้โลหะกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั่วโลก ใช้น้ำมันกว่าร้อยละ 15 ของปริมาณการผลิตในแต่ละปี และประชากรจีนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ต้องการอาหารปริมาณมาก ช่วงจีนบูมสุดๆ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดจึงขึ้นไปอย่างกู่ไม่กลับ

ช่วงนี้เองที่มีคนพูดถึง global imbalance กันค่อนข้างมาก เพราะประเทศใหญ่อย่างสหรัฐขาดดุลการค้าให้กับประเทศเกิดใหม่ปริมาณมหาศาล ในขณะเดียวกันประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ก็กลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเก็บไว้เป็นเงินทุนสำรอง อุ้มชูซึ่งกันและกัน จนกระทั่งเกิดวิกฤตโลก

ยุคที่สอง คือ “ยุควิกฤตเศรษฐกิจโลก” คือหลังเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป สังเกตว่าช่วงนี้ปัญหาจะอยู่ที่ประเทศพัฒนาแล้วเสียมาก ประเทศเกิดใหม่ถูกกระทบค่อนข้างแรงจากการค้าโลกที่ปรับลดลง แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างรวดเร็ว

ประเทศที่เผชิญปัญหา แก้ไขปัญหาของตัวเองโดยการลดอัตราดอกเบี้ยไปเหลือศูนย์ ในขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ยังคงดีอยู่ สิ่งที่ตามมาคือหนี้ปริมาณมหาศาลถูกสร้างขึ้นในประเทศเกิดใหม่ ระหว่างที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังแก้ไขปัญหาหนี้ของตัวเองโดยการลดหนี้

และยุคปัจจุบัน คือยุคที่ดูเหมือนปัญหาที่สะสมมาในยุครุ่งเรืองในอดีตกำลังพอกพูนกลับมาเล่นงานประเทศเหล่านี้

สามปัญหาใหญ่รุมเร้า

ปัญหาแรกคือ การพึ่งพาการส่งออกและสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากผ่านยุคทองของประเทศเกิดใหม่ การส่งออกมีความสำคัญต่อประเทศเกิดใหม่เหล่านี้มาก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศเหล่านี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ และยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนเริ่มชะลอตัว) การค้าโลกและความต้องการสินค้าเหล่านี้เริ่มชะลอ ทั้งจากความต้องการที่โตช้าลง ราคาสินค้าที่ปรับลดลง และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการค้า ที่หลายอย่างถูกดึงกลับไปผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการแช่งขัน (และค่าจ้างแรงงานของประเทศเกิดใหม่เริ่มสูงขึ้นด้วย)

ปริมาณการค้าโลก ยังไม่กลับสู่ trend เดิมก่อนเกิดวิกฤตโลก ที่มาภาพ : WTO
ปริมาณการค้าโลก ยังไม่กลับสู่ trend เดิมก่อนเกิดวิกฤตโลก ที่มาภาพ : WTO

ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไร แต่ที่แน่ๆ เครื่องจักรที่เคยขับเคลื่อนประเทศเกิดใหม่ไม่ได้โตด้วยอัตราเท่าเดิมแล้ว และยุคทองของการค้าโลกได้ผ่านไปแล้ว ดูไทยเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ จากเดิมเราคิดว่าการส่งออกควรจะโตปีละ 10-15% แบบที่เราเห็นในช่วงปี 2001-2008 ตลอดไป แต่เราคงโตแบบนั้นไม่ได้ถ้าขนาดของเค้กกำลังหดลง คือปริมาณการค้าโลกไม่ได้โตแบบเดิม และเราก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะแย่งชิงสัดส่วนของเค้กจากคนอื่นได้อีกต่อไป ในเวลาที่ความสามารถในการแข่งขันของเราอยู่ในภาวะที่ถูกตั้งคำถามอย่างจริงจัง

ที่มาภาพ : ECRI
ที่มาภาพ : ECRI

ปัญหาที่สอง คือ ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (excess capacity) เมื่อประเทศเกิดใหม่กลายเป็นผู้ผลิตของโลก กำลังการผลิตปริมาณมหาศาลถูกสร้างขึ้น คำถามคือจะทำอะไรกับกำลังการผลิตเหล่านั้นเมื่อความต้องการหายไปอย่างรวดเร็ว

นึกถึงเมืองไทยเป็นตัวอย่างนะครับ เราผลิตยางพาราได้ปีละกว่า 4 ล้านตัน เราใช้ในประเทศปีละประมาณห้าแสนตัน ส่วนที่เหลือส่งออก (ไปจีน) เกือบทั้งหมด เมื่อความต้องการหายไป ราคาก็ร่วง คำถามคือจะทำอะไรกับสวนยาง เกษตรกร และเงินลงทุนที่ลงไปแล้ว ในเวลาที่ดูเหมือนไม่มีคนอยากได้สินค้า? และนึกต่อไปถึงกำลังการผลิต hard disk drive รถยนต์ เหล็ก ฯลฯ

ปัญหานี้มีขนาดใหญ่กว่ามากในจีน และประเทศเกิดใหม่อื่นๆ เพราะได้มีการสร้างกำลังการผลิตเตรียมไว้เพื่อการลงทุนแบบมหาศาล ทั้งเหมือง โรงถลุงเหล็ก และสินแร่อื่นๆ การผลิตน้ำมันและปิโตรเคมี ฯลฯ ถ้ากำลังการผลิตเหล่านี้ไม่มีการปรับตัว โอกาสที่ราคาสินค้าพวกนี้จะปรับขึ้นคงมีลำบาก คงต้องถล่มราคากันไปเรื่อยๆ แต่ถ้าปรับตัว นั่นหลายถึงการทำลายกำลังการผลิตเหล่านั้น (เช่นมีคนพูดถึงการโค่นสวนยางกันเลยทีเดียว) แล้วใครจะรับภาระ?

และปัญหาที่สาม คือ ปัญหาหนี้ (overleverage) อย่างที่บอกครับ ปัญหาที่ตามมาของการมีอัตราดอกเบี้ยโลกที่ต่ำเกินไป คือแรงจูงใจในการสร้างหนี้ เพราะการลงทุนและบริโภคอะไรก็ดูคุ้มไปหมด และระหว่างที่ประเทศพัฒนากำลังลดหนี้เพื่อแก้ปัญหาตัวเอง ประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายสร้างหนี้เพิ่มแบบไม่รู้ตัว (ที่เยอะๆคือจีน) อาการนี้ออกคล้ายๆกันหมด ในเมืองไทยที่เห็นได้ชัดคือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

ปัญหาที่ตามมาของการมีหนี้มาก ก็คือความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และโอกาสที่เศรษฐกิจจะโตต่อไปในอนาคต เพราะเมื่อมีหนี้มาก รายได้ที่เพิ่มขึ้นคงต้องเอาไปจ่ายลดหนี้ก่อนจะเอาไปใช้หมุนเวียนต่อในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ IMF ได้เตือนเอาไว้ความเสี่ยงสำคัญอันนึงของเสถียรภาพตลาดการเงินโลกในระยะต่อไป คือความเสี่ยงจากหนี้ของประเทศเกิดใหม่นี่แหละครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญความเสี่ยงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ย่ำแย่ และอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับสูงขึ้น

หนี้ในภาคเอกชนของประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากอัตราดอกเบี้ยโลกปรับลดลง ที่มาภาพ : IMF
หนี้ในภาคเอกชนของประเทศกำลังพัฒนา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากอัตราดอกเบี้ยโลกปรับลดลง ที่มาภาพ : IMF

บางคนบอกว่า ยุคทองของประเทศเกิดใหม่อาจจะได้ผ่านไปแล้ว แม้อนาคตของประเทศเกิดใหม่เหล่านี้ยังคงมีศักยภาพอยู่ในระยะยาว แต่ในระยะสั้นปัญหาเหล่านี้คงเป็นอุปสรรคสำคัญ เป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ที่คงใช้เวลาสักพักในการค่อยๆคลี่คลาย และหลายประเด็นก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนว่าบริหารจัดการออกมาอย่างไร และน่าสนใจว่ายุคทองจะกลับมาอีกได้เมื่อไร

และจะเห็นได้ว่าปัญหาหลายอย่างที่ไทยกำลังเผชิญ ไม่ต่างกับปัญหาที่ประเทศเกิดใหม่อื่นๆกำลังเจออยู่ เรียกว่าเป็นหนังม้วนเดียวกันเลย แต่เรามีปัญหาเพิ่มเติมมากกว่าเขาอีก ทั้งเรื่องโครงสร้างประชากร ที่กำลังเข้าสู่ภาวะชราภาพ และประชากรวัยทำงานที่กำลังลดลง ความสามารถในการแข่งขัน โอกาสเรื่องของการเจรจาการค้า คุณภาพแรงงาน การศึกษา การลงทุน ฯลฯ เราคงต้องนั่งคิดกันดีๆ แล้วละครับว่าเราจะเอาชนะคนอื่นได้อย่างไร

ในวันที่ขนาดของเค้กก้อนใหญ่ลดลงเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย นั่งกินบุญเก่า รอให้คนอื่นเขาปรับตัวดีขึ้น คงไม่มีทางที่ส่วนแบ่งของเราจะใหญ่ขึ้นได้ เราก็คงเห็นเค้กชิ้นที่ตกมาถึงเราหดลงหดลง

เราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆหรือครับ