ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ “ทีมหม่อมอุ๋ย- ทีมสมคิด” อนุมัติไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ “ทีมหม่อมอุ๋ย- ทีมสมคิด” อนุมัติไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท

17 มกราคม 2016


ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วง การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกติดลบติดต่อกันหลายไตรมาส สวนทางกับหนี้ครัวเรือนที่ไต่ระดับสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา กระทบต่อเกษตรกร ขณะที่ราคาตลาดสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อไม่ให้การจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนหยุดชะงัก รัฐบาลจึงระดมออกมาตรการและโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (คลิกภาพเพื่อขยาย)

สรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครม.ประยุทธ์-อุ๋ย-1

จากการรวบรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มาแล้วหลายครั้ง เช่น ข่าวมาตรการรัฐบาล “ประยุทธ์” แพ็คเกจช่วย “ชาวนา- เกษตรกร” ผ่าน ธ.ก.ส. 4 เดือนเกือบ 2 แสนล้าน หรือข่าวมาตรการรัฐบาล “ประยุทธ์ ” แพ็คเกจช่วย “ชาวนา-เกษตรกร” ผ่าน ธ.ก.ส. 4 เดือนเกือบ 2 แสนล้าน โดยครั้งนี้รวบรวมเฉพาะมาตรการที่มีตัวเลขเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นมาตรการที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และไม่ใช่โครงการที่ต้องดำเนินการในระยะยาว ทั้งในสมัยทีมเศรษฐกิจที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบันที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ในระยะเวลาตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2558 – ปัจจุบัน ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ หรือ “ทีมสมคิด” มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ปล่อยออกมารวมเป็นเม็ดเงินที่ได้รับการอนุมัติกว่า 4.8 แสนล้านบาท ทั้งยังมีมาตรการด้านภาษีที่หวังกระตุ้นการลงทุนในระยะยาวออกมาอีกลอตใหญ่

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมตั้งแต่นายสมคิดเข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ประเดิมด้วย มาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลวงเงินรวม 136,275 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 3 มาตรการย่อย ได้แก่ 1) การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองวงเงิน 60,000 ล้านบาท (ณ 28 ธ.ค. 58 กองทุนให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว 2.98 ล้านราย วงเงิน 42,221 ล้านบาท) 2) เร่งรัดการลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 39,743 ล้านบาท (ณ 18 ธ.ค. 58 เบิกจ่ายแล้ว 316 ล้านบาท) และ 3) เร่งรัดการลงทุนภาครัฐขนาดเล็ก วงเงิน 40,000 ล้านบาท (ณ 18 ธ.ค. 58 เบิกจ่ายแล้ว 10,214 ล้านบาท)

ถัดมาคือ มาตรการช่วยเหลือ SMEs ระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ได้แก่ 1) การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 10,000 ล้านบาท (ณ 28 ธันวาคม 2558 อนุมัติสินเชื่อให้ SMEs แล้ว 11,782 ล้านราย วงเงิน 99,265 ล้านบาท) 2) การค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 วงเงิน 100,000 ล้านบาท (ณ 28 ธันวาคม 2558 ค้ำประกันสินเชื่อ 8,910 ราย วงเงิน 40,095 ล้านบาท) 3) กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs โดยมีวงเงินร่วมลงทุน 6,000 ล้านบาท 4) การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs ปี 58-59 จาก 15% เป็น 10% และ 5) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs startup 5 รอบบัญชี นอกจากนี้ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ได้มีการอนุมัติงบประมาณของปีงบประมาณ 2559 ของทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับ SMEs อีกจำนวน 5,097 ล้านบาท (คลิกภาพเพื่อขยาย)

สรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-สมคิด-1

ตามด้วยมาตรการการเงินการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ (มติ ครม. เมื่อวัน ที่ 13 ตุลาคม 2558) โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสินได้รับมาตรการรัฐบาลปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท สำหรับซื้อที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด เหลือร้อยละ 0.01 เป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท นอกจากนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ได้อนุมัติอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ กรุงเทพฯ จำนวน 1,300 ล้านบาท

และมาตรการสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรรวม 84,465 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 จำนวน 11,151 ล้านบาท เป็นเงินจากงบประมาณปกติ 6,752 ล้านบาท และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 4,399 ล้านบาท โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 ในส่วนที่เกี่ยวกับ ธ.ก.ส. ได้แก่ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงิน 975 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 12,500 ล้านบาท (ค่าชดเชยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบจำนวน 339 ล้านบาท) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก วงเงิน 26,740 ล้านบาท (ค่าชดเชยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 3,137 ล้านบาท) พร้อมกันนั้น รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกข้าว จำนวน 385 ล้านบาท

สำหรับโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ได้มีการอนุมัติเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เจ้าของสวน:คนกรีดยาง ได้ในอัตรา 60:40 วงเงิน 13,132 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มวงเงินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมอีก 5,000 ล้านบาท (ค่าชดเชยดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 625 ล้านบาท) จากเดิมที่เคยอนุมัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 จำนวน 10,000 ล้านบาท และอนุมัติงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร (ช่วงประสบภัยเดือนมีนาคม 2557 – เดือนมิถุนายน 2558) จำนวน 1,106 ล้านบาท

ดูเพิ่มเติม: รายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ครม.

มาตรการภาษีเอาใจผู้ประกอบการ-นักลงทุน

นอกจากมาตรการต่างๆ ข้างต้นแล้ว “ทีมสมคิด” ยังระดมมาตรการด้านภาษีกระตุ้นการลงทุนในระยะยาว ทั้งจากผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มทุนข้ามชาติ อาทิ การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการถาวร การปรับปรุงโครงสร้างอัตราอากรขาเข้าระยะที่ 1 และการปรับลดภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล การออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) การอำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ ผ่าน National Single Window การออกมาตรการภาษีเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จัดให้มีการอบรมสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง แก้ไขพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 ให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลบางกรณี

มาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นภายในปี 2558-2559 โดยลดหย่อนภาษีให้กับเอกชนที่รับการสนับสนุนจากบีโอไอ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2557 – วันที่ 30 มิถุนายน 2559 และสามารถเริ่มผลิตหรือเริ่มให้บริการและมีรายได้ภายในปี 2560 และลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนเป็น 2 เท่า ให้กับเอกชนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ แต่มีการลงทุนในปี 2558 – 31 ธันวาคม 2559

หนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านคลัสเตอร์อุตสาหกรรม โดยสำหรับซูเปอร์คลัสเตอร์จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มอีก 5 ปี และในกิจการที่มีความสำคัญสูง กระทรวงการคลังอาจจะยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 10-15 ปี นอกจากนี้ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับนักวิจัยชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติ ส่วนสิทธิพิเศษที่ไม่ใช่ภาษี จะมีการอนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ใช้ประกอบกิจการได้ รวมถึงพิจารณาถิ่นที่อยู่ถาวรแก่นักวิจัยชั้นนำนานาชาติ ส่วน คลัสเตอร์อื่นๆ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มให้อีก 5 ปี รวมทั้งยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

ประกอบกับการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ อาทิ จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) เพื่อสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนให้แก่ SMEs ผ่านกองทุนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในวงเงินลงทุน 10,000–25,000 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งกองทุนย่อยกองแรกแล้วในวงเงิน 500 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รัฐบาลสนับสนุนวงเงินตั้งต้น 10,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐบาลสนับสนุนวงเงินตั้งต้น 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภายใต้การนำของ 2 ทีมเศรษฐกิจ “ทีมหม่อมอุ๋ย” และ “ทีมสมคิด” มีเม็ดเงินสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับการอนุมัติไปว่า 1 ล้านล้านบาท ย้อนกลับไปดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสมัย “ทีมหม่อมอุ๋ย” ให้น้ำหนักการกระตุ้นเศรษฐกิจไปกับการส่งเสริม/เร่งรัดการลงทุนของรัฐ และอื่นๆ ตามด้วยกลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย โดยมีวงเงินที่ได้รับการอนุมัติรวม 325,121 ล้านบาท และ 244,273 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนมาตรการสำหรับสนับสนุน SMEs มีเม็ดเงินอยู่ที่ 16,300 ล้านบาท

ขณะที่“ทีมสมคิด” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการลงทุนแก่กลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนเป็นหลัก โดยอาศัยมาตรการด้านภาษีและการจัดตั้งกองทุนเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน โดยมีวงเงินรวมในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs อยู่ที่ 261,097 ล้านบาท ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย มีวงเงินที่ได้รับการอนุมัติรวม 227,524 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการต่างๆ ข้างต้น รัฐบาลยังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม ส่งผลให้ทั้งปี 2558 ประเทศไทยมีวันหยุดยาวรวมกันเฉียด 30 วัน ปิดท้ายปีด้วยของขวัญปีใหม่โดยการลดหย่อนภาษีให้กับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 30,000 บาท

อนึ่ง ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2558 กระทรวงการคลังสรุปว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ด้วยแรงสนับสนุนหลักจากการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับการบริโภคภาครัฐและภาคเอกชนที่ ในขณะที่ภาคการผลิตก็เริ่มมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ที่ขยายตัวร้อยละ 14.3 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3

(ดูสรุปผลงาน 1 ปีรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เพิ่มเติมได้ที่นี่: ฉบับเต็ม/ฉบับสรุป)