ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ครม. อนุมัติ 2 หมื่นล้านทำอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วประเทศ – เห็นชอบเพิ่มงบฯอีก 56,000 ล้าน

ครม. อนุมัติ 2 หมื่นล้านทำอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วประเทศ – เห็นชอบเพิ่มงบฯอีก 56,000 ล้าน

20 มกราคม 2016


พล.อ.ประยุทธื จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นายกฯ ชี้ซื้อยางต้องโปร่งใส

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงการแก้ไขปัญหายางพาราว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไม่ได้ทำแค่เพียงการให้เงินช่วยเหลือ เนื่องจากการบรรเทาความเดือดร้อนแบบนี้อย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ อยากให้เข้าใจว่าปัญหาทุกปัญหามีต้นทาง กลางทาง ปลายทางทั้งหมด หากจับทั้ง 3 อย่างมาเจอกันไม่ได้ การแก้ปัญหาก็ผิดไปหมด

“ดังนั้น การดำเนินการจึงมีความยุ่งยากหลายประการ ก็ต้องมีการนำมาพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมาย อำนาจหน้าที่ จึงต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่างๆ และให้ได้ข้อยุติจากฝ่ายกฎหมายด้วย ซึ่งทุกอย่างผ่านการพิจารณามาหมดแล้ว ขออย่ามาปลุกปั่นว่าเหมือนกับโครงการนั้นนี้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การรับซื้อยางครั้งนี้เป็นการช่วยเกษตรกร ระยะที่ 1 เป็นการเริ่มต้นแก้ปัญหายางอย่างครบวงจร เป็นการรับซื้อแค่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น แล้วจึงมาสู่กระบวนการผลิต ในส่วนการตลาดอื่นๆ ก็ดำเนินการตามปกติ ไม่มีการเข้าไปก้าวก่ายแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องการทุจริต ตนไม่อยากให้โทษฝ่ายรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรหรือใครก็ตามที่ต้องรับผลประโยชน์ก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตน ไม่ใช่ให้ใครมาครอบงำ เรื่องนี้ตนมีความกังวลอยู่เหมือนกัน และได้มีการสั่งการไปแล้วให้ดำเนินการรับซื้ออย่างรัดกุม

“ที่มาติติงผมทั้งหมดว่าเดี๋ยวจะมีการทุจริตเรื่องยาง เขามีมาตรการหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่อนุมัติอย่างเดียวให้ไปซื้อยาง แต่มีการให้ไปดูว่าทำอย่างไรให้การรับซื้อเป็นไปอย่างโปร่งใส ระมัดระวังหมดแหละ นี่ก็ต้องย้อนไปตรวจคลังต่างๆ ที่เคยรับซื้อเข้ามา รับมาแล้วก็มีปัญหาหมด แต่รัฐบาลยืนยันว่าทำอย่างไรยางเหล่านั้นจะไม่มาทำให้ราคาตลาดตก แต่การจะไปขายให้ใครก็ตามก็เป็นไปได้ยากที่จะได้ราคาสูง ซึ่งต้องแก้ทั้งหมดใหม่ ไปดูว่าจะมีการลดพื้นที่การผลิตยางได้หรือไม่ อาจต้องเริ่มจากพื้นที่ผิดกฎหมายหรือไม่ จะดูแลเกษตรกรอย่างไรนั้นคิดยาก แต่รัฐบาลนี้คิดแบบนี้ ไม่ใช่ลดแรงกดดันไปเฉยๆ แล้ววันหน้ามาใหม่ ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น” นายกฯ กล่าว

เมินฝ่ายการเมืองต้านร่าง รธน.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีกระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ว่า “ก็ไปถามประชาชนดู ผมบอกแล้วว่านักการเมืองก็คือส่วนหนึ่งของประชาชนในชาติ ถ้าดูสัดส่วนก็ไม่เยอะหรอก ในเมื่อเขาอาสาสมัครเข้ามาเป็นผู้แทนประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน เขาก็ต้องมีความคิดริเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดในการที่เขามีส่วนร่วมในการทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างไร หลายฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดเรื่อง ทำอย่างไร เขาต้องเข้ามาอาสาว่าต้องไม่มีเรื่อง ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็กลัวจะมีเรื่อง และประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากให้มีมาตรการ แล้วเขาไม่ฟังคนอื่นเลยหรือ เขาจะเอาแต่การเมืองอย่างเดียวเลยหรือ ประเทศชาติจะเดินหน้าไปอย่างไร ไม่ใช่ทำเพื่อการเมือง และรัฐบาลไม่ใช่ศัตรูกับนักการเมือง แต่รัฐบาลมาทำเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ”

เมื่อถามถึงกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาแก้ปัญหากรณีที่เกิดทางตัน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของ กรธ. เพราะที่ผ่านมามีกลไกอยู่แล้ว เช่น สมาชิกวุฒิสภา และเมื่อเกิดปัญหากลไกต่างๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ จึงได้นำเสนอแนวคิดขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูก ซึ่งทุกเรื่องต้องดูสาเหตุของปัญหาว่าเกิดขึ้นจากอะไร

เมื่อถามว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีความคิดเห็น เพราะยังไม่ใช่ขั้นตอนที่นายกฯ ต้องแสดงความคิดเห็น แต่มีความคิดเห็นในฐานะประชาชน โดยจะฝากความเห็นต่อ ครม. ในแง่ของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

แจงสร้างรัฐสภาใหม่คืบแค่ 10%

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีความคืบหน้าเพียง 10% เพราะมีปัญหาอุปสรรคการก่อสร้าง รวมถึงกฎกติกา โดยได้รับรายงานว่ามีปัญหาเรื่องการขนดินและการมอบพื้นที่ และอาจติดปัญหาเรื่องอัตรากำลังเจ้าหน้าที่จัดทำแผนงานโครงการและงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติเจ้าหน้าที่จะสามารถทำงบประมาณทันตามแผนงานงบประมาณประจำปี แต่พอมีการกระจายงบประมาณลงทุกพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงบประมาณไม่ทัน จึงต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบ

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องการให้เสียโอกาส และเสียเวลาในการก่อสร้างอีกต่อไป และรัฐบาลได้พยายามเร่งให้การดำเนินการเร็วขึ้น” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ

เห็นชอบงบเพิ่มเติม 56,000 ล้านบาท

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบ แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปี 2559 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยมีรายการที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมจำนวน 3 รายการ รวมวงเงิน 56,000 ล้านบาท ได้แก่

1) ค่าใช้จ่ายการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และค่าใช้จ่ายการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub จำนวน 15,000 ล้านบาท

2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 8,339 ล้านบาท

3) เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รายการเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวปฏิรูป จำนวน 32,611 ล้านบาท

ทั้งนี้แหล่งเงินสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ได้แก่ ภาษีและรายได้อื่นจากรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ที่นำส่งรัฐ ในการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม

“ในโอกาสต่อไปทางสำนักงบประมาณจะต้องหารือในรายละเอียดกับส่วนที่เกี่ยวข้องและนำเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2559 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 และในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 คาดว่าจะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ พร้อมทั้งคาดการณ์ต่อไปว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559” พล.ต.สรรเสริญกล่าว

ครม.อนุมัติ 2 หมื่นล้านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วประเทศ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาท และ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจประเทศ และให้เศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนได้จริงในปีงบประมาณ 2559

“สำหรับโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมฯ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สำรวจพบว่า 50% มีความพร้อมแล้ว และจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือภายใน 1 ปีนับจากเดือนมีนาคม 2559 ให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมลงทุน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากสมรรถนะความเร็วโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในราคาเหมาะสม และโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมฯ นี้ที่จะเป็นการยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ควัก 4.5 พันล้านซื้อยางจากเกษตรกร ยันต่างจากรับจำนำข้าว

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบหลักการเข้าซื้อยางจากเกษตรกรตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะเข้าซื้อยางจากเกษตรกรไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน ไร่ละไม่เกิน 10 กิโลกรัม รวมทั้งหมด 150 กิโลกรัม/ครัวเรือน สำหรับงบในการดำเนินการจะประกอบด้วย 1. งบซื้อยางจากเกษตรกร 4,500 ล้านบาท 2. งบสำหรับค่าจ้างดำเนินการแปรรูปยาง 739 ล้านบาท 3. งบสำหรับค่าเก็บรักษายาง 150 ล้านบาท และ 4. ค่าดำเนินงานบริหารจัดการ 90 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายกฯ ได้ตั้งคำถามถึงกรณีที่มีกลุ่มการเมืองออกมาระบุว่า มาตรการรับซื้อยางดังกล่าวเหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งคุณวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย ได้สรุปว่าทั้ง 2 มาตรการไม่เหมือนกัน คือ 1. มาตรการรับซื้อยางเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนโครงการรับจำนำข้าวมีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดและมีการทุจริต และ 2. มาตรการรับซื้อยางกำหนดปริมาณไว้แค่ 1 แสนตัน ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเป็นการรับซื้อทุกเมล็ด รับซื้อไม่อั้น

“แม้ทั้ง 2 โครงจะซื้อในราคาสูงกว่าท้องตลาด แต่สินค้ายางนั้น รัฐซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดเพียงเล็กน้อย และเป็นการซื้อเพื่อเข้าสู่การผลิตเพื่อแปรรูปเลย ไม่ได้ซื้อมาเพื่อเก็บเข้าสต็อก” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

กำหนดมาตรฐาน “ทางจักรยาน” ทั่วประเทศ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างทางจักรยานให้เหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปอ้างอิงต่อ ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ เคยกล่าวไว้ในรายการคืนความสุขให้กับคนในชาติ ซึ่งภาพรวมในปัจจุบัน ประเทศไทยมีทางจักรยานที่ใช้การได้ 566 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 715 กิโลเมตร และจะพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคตอีก 1,071 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 2,352 กิโลเมตร โดยมีการมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบ เช่น กระทรวงคมนาคม ให้ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเดินเท้าและการใช้จักรยาน ให้จัดทำระบบเชื่อมต่อการเดินเท้าและการขี่จักรยานกับระบบขนส่งสาธารณะ และให้จัดทำแผนดำเนินการพัฒนาระบบจักรยานเพื่อใช้เดินทางในชีวิตประจำวัน ฯลฯ

เพิ่ม “ทุเรียน-ลำไย-มังคุด” เป็นสินค้าควบคุมราคา

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ประจำปี 2559 จำนวน 45 รายการ ตามมติของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) แทนรายการสินค้าและบริการควบคุม ประจำปี 2558 ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มกราคม 2559 นี้ โดยจะคงรายการสินค้าเดิมทั้ง 41 รายการไว้ และให้เพิ่มเติมอีก 4 รายการ ได้แก่ 1. ข้าวสาลี เพื่อกำกับดูแลข้าวสาลีนำเข้าที่มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังในประเทศ จึงเห็นควรกำหนดให้ข้าวสาลีเป็นสินค้าควบคุม 2. ลำไย 3. ทุเรียน และ 4. มังคุด เพื่อกำกับดูแลราคารับซื้อผลไม้ให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อเกษตรกร โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและหากมีความจำเป็นจะได้นำเสนอ กกร. พิจารณามาตรการกำกับดูแลได้ทันต่อเหตุการณ์

ให้ กยท. เป็นผู้แทนไทยประชุมยางระหว่างประเทศ

พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นผู้แทนไทยในคณะกรรมการยางระหว่างประเทศ แทนกรมวิชาการเกษตร และให้ กยท. เป็นผู้ประสานงานความร่วมมือด้านยางพาราของบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ โดยก่อนหน้านี้ตามมติ ครม. เมื่อปี 2545 มีการอนุมัติองค์ประกอบผู้แทนไทยในคณะกรรมการยางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council: ITRC) ซึ่งประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมยางพาราไทย นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญคือ เห็นชอบให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำกรอบดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องความร่วมมือระหว่างบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือเรื่องยางพาราระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

เตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุในปี 2574

พ.อ. อภิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ได้แสดงความห่วงใยในที่ประชุมถึงกรณีที่สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2574 จึงขอให้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ด้วย อาทิ สร้างหลักประกันรายได้และขยายโอกาสการทำงาน จัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง ฯลฯ ส่วนการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท/คน/เดือนนั้น ปัจจุบันยังดำเนินการได้ไม่ดีเท่าที่ควร นายกฯ จึงต้องการให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ โดยโอนเงินตรงเข้าสู่บัญชี แทนที่จะเดินทางมารับเงินเอง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเงินถึงมือผู้สูงอายุอย่างแท้จริง

รับทราบตั้ง 15 โฆษกประจำกระทรวง/หน่วยงาน

วันเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า มีการเสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึงการแต่งตั้งโฆษกประจำกระทรวง/หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 15 คน ประกอบด้วย 1. พล.ต. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เป็นโฆษกกระทรวงกลาโหม 2. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ เป็นโฆษกกระทรวงการคลัง 3. นายชาญวิทย์ ผลชีวิน เป็นโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4. นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5. นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ เป็นโฆษกกระทรวงพาณิชย์ 6. นายชยพล ธิติศักดิ์ เป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทย 7. นายธวัชชัย ไทยเขียว เป็นโฆษกกระทรวงยุติธรรม 8. นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล เป็นโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 9. นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เป็นโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ 10. นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย เป็นโฆษกกระทรวงสาธารณสุข 11. นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา เป็นโฆษกสำนักงบประมาณ 12. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ และนายยอดฉัตร ตสาริกา เป็นโฆษกประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 13. หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล เป็นโฆษกสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) 14. นางกิตติยา คัมภีร์ เป็นโฆษกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และ 15. นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เป็นโฆษกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)