ThaiPublica > คอลัมน์ > ความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการมีลูกเเละความสุขในชีวิตของคนที่เป็นพ่อเป็นเเม่: ตอนที่ 1

ความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการมีลูกเเละความสุขในชีวิตของคนที่เป็นพ่อเป็นเเม่: ตอนที่ 1

14 มกราคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เมื่อประมาณสักหกปีที่เเล้ว ขณะที่ผมยังทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยยอร์ก (York) ที่ประเทศอังกฤษอยู่ ผมได้มีโอกาสทำการตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นหนึ่งของผมในวารสารวิชาการที่มีชื่อว่า The Psychologist ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ผมพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการมีลูกเเละความสุขในชีวิตของคนที่เป็นพ่อเป็นเเม่ โดยก่อนที่งานชิ้นนี้ของผมจะได้รับการตีพิมพ์นั้น ผมต้องยอมรับว่าผมไม่สามารถที่จะคาดเดาได้เลยเเม้เเต่นิดเดียวว่าหลังจากการตีพิมพ์ไปเเล้วนั้นมันจะส่งผลทำให้ผมได้กลายเป็นคนที่คนอื่นเกือบทุกคนในเกาะอังกฤษ (เเละอีกหลายๆ คนทั่วโลก) มีความรู้สึกที่อยากจะเอาเชือกมามัดตัวผมเเล้วจับผมโยนทิ้งทะเลไปได้

ยกตัวอย่างหนังสือพิมพ์ Daily Mail ของอังกฤษที่มีการตีพาดหัวข่าวของเขาว่า “‘ลูกไม่ได้ทำให้พ่อเเม่มีความสุข’ กล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่ไม่มีลูก” เเละของ New York Times ของสหรัฐอเมริกาที่ว่า “จริงหรือไม่ที่การมีลูกทำให้คนไม่มีความสุข”

ที่มาของภาพ: http://www.dailymail.co.uk/news/article-1163338/Children-dont-make-happy--says-expert-doesnt-any.html
ที่มาของภาพ: http://www.dailymail.co.uk/news/article-1163338/Children-dont-make-happy–says-expert-doesnt-any.html
ที่มาของภาพ: http://parenting.blogs.nytimes.com/2009/04/01/why-does-anyone-have-children/
ที่มาของภาพ: http://parenting.blogs.nytimes.com/2009/04/01/why-does-anyone-have-children/

หลังจากที่สื่อได้ทำการตีพิมพ์ผลงานวิจัยของผมไปได้ไม่นานผมก็เริ่มได้รับ hate mail ในรูปเเบบของอีเมลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น “คุณจะไปรู้ได้ยังไงว่าการมีลูกไม่ได้ทำให้คนที่เป็นพ่อเป็นเเม่มีความสุขในเมื่อตัวคุณเองไม่มีลูก ไอ้ดอกเตอร์เฮงซวย!” หรือเเม้เเต่กระทั่ง “พระเจ้าจะลงโทษคุณถ้าคุณไม่ทำการขอโทษกับพระเจ้า” ก็มี

เเต่ผมก็ไม่ได้รับเเต่ hate mail เสียอย่างเดียว บางคนก็เขียนมาขอบคุณผมเพราะงานวิจัยของผมทำให้เขารู้สึกดีกับการตัดสินใจที่จะไม่มีลูกของเขา บางคนก็บอกว่างานวิจัยของผมทำให้ตราบาปของการไม่มีลูกในสังคมที่เขาต้องเจออยู่ตลอดนั้นลดน้อยลง

โดยส่วนตัวเเล้วผมไม่ได้ตั้งใจที่จะผลิตผลงานที่เข้าข้างคนฝ่ายหนึ่งมากกว่าคนอีกฝ่ายหนึ่งเลย ผมทำได้อย่างเดียวคือรายงานหลักฐานที่มาจากการวิจัยที่มีคุณภาพพอที่ผมสามารถเชื่อถือได้

เเล้วมันเป็นความจริงหรือที่การมีลูกไม่ได้ทำให้คนมีความสุข

The evidence

ผมไม่ใช่คนเดียวหรือเเม้เเต่จะเป็นคนเเรกที่ได้ทำการพิสูจน์ให้คนเห็นว่า ในการเปรียบเทียบกันระหว่างคนที่มีลูกเเละคนที่ไม่มีลูก โดยเฉลี่ยเเล้วคนที่มีลูกไม่ได้บอกว่าเขามีความสุขกับชีวิต (life satisfaction) มากน้อยไปกว่าคนที่ไม่มีลูกเลย (ถึงเเม้ว่าทุกอย่างในชีวิต เช่น เงินเดือน สุขภาพ สถานภาพการเเต่งงาน จะเหมือนกันระหว่างคนทั้งสองกลุ่มก็ตาม) เเต่ในประวัติของการวิจัยในเรื่องความสุขของคนนั้น มีผลงานวิจัยที่พบหลักฐานตรงกันไม่ตำ่กว่าร้อยชิ้นทั่วโลก (ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะมากถ้านำไปเทียบกันกับหลักฐานที่พบว่าเด็กทำให้คนมีความสุข) ไม่ว่าจะเป็นประเทศในฝั่งยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เยอรมนี หรือประเทศในฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ เป็นต้น

เเต่อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบความสุขกันระหว่างคนที่มีลูกเเละคนที่ไม่มีลูกนั้นไม่ใช่วิธีที่ดีในเชิงวิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่นัก นั่นก็เป็นเพราะว่าคนที่ไม่มีลูกก็อาจจะมีความสุขในการเลือกที่จะไม่มีลูกของเขา ส่วนคนที่มีลูกเขาก็น่าจะมีความสุขในการมีลูก นั่นก็เป็นเพราะการมีลูกก็คือสิ่งที่เขาเลือกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น มันอาจจะไม่เป็นสิ่งที่น่าเเปลกใจเลยที่โดยเฉลี่ยเเล้วคนที่มีลูกไม่ได้มีความสุขกับชีวิตมากน้อยไปกว่าคนที่ไม่มีลูก

ด้วยเหตุผลนี้ นักวิจัยหลายท่าน รวมถึงตัวผมเองด้วย จึงใช้ข้อมูลความสุขที่มีลักษณะเป็น longitudinal (หรือพูดง่ายๆ ก็คือข้อมูลความสุขที่เก็บเป็นปีๆ ก่อนเเละหลังจากการมีลูก) มาศึกษาดูว่าจริงๆ เเล้วการมีลูกมีผลลัพธ์ยังไงกับความสุขของผู้ที่เป็นพ่อเเละเเม่บ้าง เเละผลงานวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในสาขานี้ก็คงจะหนีไม่พ้นผลงานของเเอนดรูว์ คลาร์ก (Andrew Clark) เเละเพื่อนๆ ร่วมวิจัยของเขาที่ตีพิมพ์ในวรสาร Economic Journal ไปในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งเขาพบโดยใช้ข้อมูลจากประเทศเยอรมนีว่าความสุขของผู้ที่เป็นพ่อเเม่นั้นจะพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงหนึ่งปีก่อนที่ลูกจะเกิดเเละก็ยังสูงสุดอยู่อย่างนั้นในปีที่ลูกเกิด เเต่พอลูกอายุได้หนึ่งขวบสำหรับผู้ที่พ่อเเละสองขวบสำหรับผู้ที่เป็นเเม่ ความสุขก็จะตกเเละมีค่าเป็นลบไปอย่างเห็นได้ชัด เเละความสุขนั้นก็จะไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นจากค่าที่เป็นผลลบมาอยู่จุดก่อนที่จะมีลูกจนกระทั่งลูกอายุได้ประมาณห้าขวบ

รูปที่ 1: ความสุขของผู้ที่เป็นพ่อ (ลูกเกิดปีที่ 0), Clark et al (2008)
รูปที่ 1: ความสุขของผู้ที่เป็นพ่อ (ลูกเกิดปีที่ 0), Clark et al (2008)
รูปที่ 2: ความสุขของผู้ที่เป็นเเม่ (ลูกเกิดปีที่ 0), Clark et al (2008)
รูปที่ 2: ความสุขของผู้ที่เป็นเเม่ (ลูกเกิดปีที่ 0), Clark et al (2008)

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านก็คงจะคิดว่า จริงๆ เเล้วความสุขที่มาจากการมีลูกนั้นมักจะมาตอนที่เราเเก่มากกว่า เพราะลูกจะช่วยดูเเลเราได้ตอนเราเเก่เฒ่า ซึ่งถ้าเราดูจากการวิจัยของเพื่อนร่วมมหาลัยเดียวของผมอีกคนหนึ่ง มิกโค มายส์ไกเลอ (Mikko Myrskylä) ศาสตราจารย์ทางด้านสังคมศาสตร์ที่ London School of Economics เราก็จะเห็นได้ว่าคุณผู้อ่านก็อาจจะมีส่วนถูก นั่นเป็นเพราะความสุขเเละการมีลูกนั้นมีความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งกับช่วงอายุของผู้ที่เป็นพ่อเป็นเเม่ เขาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างความสุขเเละการมีลูกสำหรับคนที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปนั้นกลับมีค่าเป็นบวก (จากที่เคยมีค่าเป็นลบสำหรับคนที่มีอายุตำ่กว่า 40 ปี) เเละยิ่งมีค่าบวกมากขึ้นถ้าคนที่เป็นพ่อหรือเเม่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการสังคมที่ดี (พูดง่ายๆ คือ ประเทศที่ให้ state pension กับคนชราน้อยหรือไม่ให้เลย) พูดง่ายๆ ก็คือสังคมที่คนชราที่ไม่มีลูกมักจะหาที่พึ่งจากรัฐในเรื่องของเงินเเละการดูเเลไม่ค่อยได้

หลังจากที่ผมได้มีโอกาสศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการมีลูกเเละความสุขมานานเกือบสิบปี ผมก็อดที่จะถามตัวเองไม่ได้ว่า 1) เหตุผลอะไรที่ทำให้คนอยากมีลูก เเละ 2) เหตุผลอะไรที่ทำให้คนที่ตัดสินใจเลือกที่จะไม่มีลูกกลับต้องถูกตราบาปจากคนในสังคมส่วนใหญ่

ถ้าคำตอบข้อที่ 1 คือ “ความสุข” ผลวิจัยของผมเเละของนักจิตวิทยา นักสังคมศาสตร์ หรือเเม้เเต่กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ ก็จะบอกกับคุณว่าคุณกำลังคิดผิดอยู่นะ ยกเว้นเสียเเต่ว่าคุณเลือกที่จะมีลูกตอนนี้เพื่อจะได้มีความสุขในวันข้างหน้ายามเมื่อคุณเเก่ชราเเละอาจจะได้มีหลานไว้ให้อุ้มหรือมีคนที่สามารถดูเเลเราได้ พูดง่ายๆ คือ คุณมองการมีลูกเป็นการลงทุน (investment) ระยะยาวอย่างหนึ่ง

เเต่ในความเป็นจริง ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านคงจะให้คำตอบกับคำถามข้อที่ 1 ว่าคุณไม่ได้เลือกที่จะมีลูกเพื่อความสุข เเต่การเป็นพ่อเป็นเเม่นั้นเป็นสิ่งที่ให้ความหมายกับชีวิตของคุณมาก (ถึงเเม้ว่าการมีลูกตอนเเรกๆ จะทำให้ความสุขเราลดลงมาก็ตาม) พูดง่ายๆ ก็คือ ลูกไม่ใช่ investment เพื่อตัวของคุณเอง เเต่คุณตัดสินใจมีลูกเพราะคุณอยากที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเขา โดยตัวคุณไม่ได้หวังอะไรตอบเเทนเลยในเชิงความสุข เเต่ถ้าเขาโตไปเเล้วเป็นคนดีเเละสามารถดูเเลเราได้ อันนั้นก็เป็นเเค่กำไรชีวิตที่คุณไม่เคยขอจากการมีลูกเลยตั้งเเต่ต้น ซึ่งผมคิดว่าคำตอบนี้เป็นคำตอบที่คุณพ่อคุณเเม่ส่วนใหญ่น่าจะให้กับคำถามข้อที่ 1 มากเป็นที่สุด พูดอีกอย่างก็คือ การมีลูกเป็นการเสียสละหรือ selfless act ของผู้ที่เป็นพ่อเป็นเเม่ ซึ่งก็จะทำให้การมีลูกเป็นการตัดสินใจที่มีความเป็น rational ของคนที่อยากจะมี ถึงเเม้ว่าความสุขจากการมีลูกมักจะไม่ค่อยต่างจากศูนย์ก็ตาม

เเต่สิ่งที่ยังค้างคาใจของผมก็คือ ถ้าพ่อเเม่ทุกคนมองว่าการมีลูกไม่ใช่ investment เเต่เป็นการเสียสละเพื่อตัวของลูกจริง บวกกันกับคนเราทุกคนสามารถที่จะเสียสละตนเพื่อคนในสังคมเเละหาความหมายให้กับชีวิตของตนเองได้หลายๆ เเบบโดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีลูกก็ได้ ทำไมคำถามข้อที่ 2 (“เหตุผลอะไรที่ทำให้คนที่ตัดสินใจเลือกที่จะไม่มีลูกกลับต้องถูกตราบาปจากคนในสังคมส่วนใหญ่”) ถึงยังสามารถถูกตั้งขึ้นมาได้ในเมื่อการตัดสินใจของคนที่เลือกจะไม่มีลูกก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่มีความเป็น rational ของคนนั้นๆ เช่นเดียวกันกับการตัดสินใจของคนที่เลือกจะมีลูก

พูดง่ายๆ ก็คือ เเล้วทำไมคนที่เลือกที่จะไม่มียังถูกคนในสังคมส่วนใหญ่ประณามกันถ้าการตัดสินใจที่จะมีหรือไม่มีต่างก็เป็นการตัดสินใจที่ rational ทั้งนั้น ในครั้งหน้าผมจะกลับมาเขียนเล่าให้คุณผู้อ่านฟังถึงจิตวิทยาของที่มาของตราบาปที่คนที่เลือกที่จะไม่มีลูกเจอกันในสังคมเรานะครับ

อ่านเพิ่มเติม
Clark, A.E., Diener, E., Georgellis, Y. and Lucas, R.E., 2008. Lags and leads in life satisfaction: a test of the baseline hypothesis*. The Economic Journal, 118(529), pp.F222-F243.
Margolis, R. and Myrskylä, M., 2011. A global perspective on happiness and fertility. Population and Development Review, 37(1), pp.29-56.
Powdthavee, N., 2009. Think having children will make you happy. The Psychologist, 22(4), pp.308-310.