ThaiPublica > คอลัมน์ > ลูกเทพ: ความคลุมเครือของความศักดิ์สิทธิ์

ลูกเทพ: ความคลุมเครือของความศักดิ์สิทธิ์

30 มกราคม 2016


ณัฐเมธี สัยเวช

นักวิชาการทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เขามักบอกกันว่า พุทธกับ “ผี” (ในความหมายกว้าง คือ หมายถึงสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง) หนีกันไม่พ้น เพราะต่างก็อยู่แบบปนๆ กันมาแต่อดีตกาล ซึ่งผมมานั่งมองๆ ดูแล้วก็เห็นว่าจริงอยู่ และยิ่งไปกว่านั้น ไอ้ “ความผี” ในสังคมไทย (ในความหมายแคบ คือ หมายถึงผีที่เชื่อว่าสามารถหลอกหลอน สิงสู่ หรือกระทั่งหักคอเราได้) ก็อยู่กับคนทุกศาสนาในอาณาเขตประเทศไทย เพราะมิตรสหายหลายๆ ท่านที่รู้จักกันนั้น ไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่ หรือนับถือศาสนาใด ต่างก็มีคนที่กลัวผีในความหมายแคบดังกล่าวปะปนอยู่ด้วยทั้งนั้น ขนาดสหายคริสต์สหายมุสลิมก็ยังมีคนกลัวผีในแบบดังกล่าว มากกว่าจะกลัวเพราะเป็นซาตานหรือชัยฏอนมาล่อลวง

เช่นนั้นแล้ว ด้วยความที่พุทธไทยนี้หนีผีไม่พ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสังคมซึ่งพยายามทำให้พุทธเป็นใหญ่ ให้เป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งยังมีความพยายามทำให้เป็น “ธรรมชาติ/วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้” โดยการตัดขาดจากความเชื่อเรื่องอวดอุตริฯ อิทธิปาฏิหาริย์ จะยังมีการกราบไหว้บูชาสิ่ง “เหนือธรรมชาติ/วิทยาศาสตร์ ‘ยัง’ พิสูจน์ไม่ได้” ทั้งในแบบที่ไม่มีตัวตน และในแบบที่มีตัวตนผ่านวัตถุสมมติต่างๆ ไม่ว่าจะแบบที่ค่อนข้างจะยอมรับให้อยู่ใน “รีตพุทธ” ได้อย่างพระพุทธรูป (ซึ่งก็คงต้องยอมรับว่า หลายคนนั้นกราบไหว้เพราะคาดหวังในความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เพื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า) หรือที่อยู่ใน “รีตผี” อย่างเครื่องรางของขลังต่างๆ หมูสองหัว วัวแปดขา กระทั่งการขูดต้นไหม้ขอหวย

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ในสังคมที่น่าจะคุ้นเคยกับเรื่องแบบนั้นกันทั้งฝั่งที่เห็นควรด้วยและฝั่งที่เห็นควรด่า ทำไมพอมาอยู่ในยุคดิจิทัลที่กระแสอะไรแรงๆ ก็เชี่ยวไหลหายไปจากโซเชียลมีเดียได้ในเวลาเพียงสองสามวัน เรื่องราวอย่าง “ตุ๊กตาลูกเทพ” จึงอยู่ยงคงกระพันมาได้นานนับอาทิตย์ (จริงๆ คงต้องบอกว่าข้ามปี เพราะปีที่แล้วนั้นมีข่าวอยู่ช่วงหนึ่งแล้วเงียบไป) ทั้งกระแสต่อต้านก็ไม่ได้มีเพียงจากฝั่งที่ไม่เชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ยังมาจากฝั่งที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นตัวแทนของเรื่องเหนือธรรมชาติในสื่อกระแสหลักอีกด้วย (ดูข่าว “จวกแหลก! พระพยอม-เจน ญาณทิพย์ ถล่มของขลังยุคไฮเทค ‘ตุ๊กตาลูกเทพ’ ให้โชคเลอะเทอะ”)

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ลูกเทพแตกต่างจากสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆ ที่อยู่คู่กับสังคมมานาน

เท่าที่ติดตามมา กระแสต่อต้านตุ๊กตาลูกเทพเกิดขึ้นเมื่อเริ่มมีการพูดถึงคนที่พาลูกเทพไปไหนต่อไหนในที่สาธารณะ และไม่ใช่เพียงพาไป แต่ยังนั่งพูดคุยกับตุ๊กตาลูกเทพราวกับเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์ต่อต้านการพูดคุยกับ “ตุ๊กตา” แบบนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตุ๊กตารูปทรงมนุษย์อย่างบลายท์ (Blythe) เป็นที่นิยม และในเวลาต่อมาก็คือตุ๊กตาหน้าตาเหมือนสัตว์พูดได้อย่างเฟอร์บี (Ferby) ซึ่งส่วนที่อาจจะพอคล้ายกับตุ๊กตาอย่างบลายท์หรือเฟอร์บีบ้างก็คือ นอกจากจะคุยเองแล้วผู้บูชายังพยายามให้ผู้คนที่พบเจอกันปฏิบัติต่อตุ๊กตาลูกเทพราวกับมีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกับที่ตนทำ แต่ส่วนที่ต่างกันก็คือ ความนิยมและประคบประหงมต่อบลายท์และเฟอร์บีนั้นไม่ได้นำพาไปถึงจุดที่มีข่าวว่าสายการบินบางสายการบินยอมให้มีการซื้อตั๋วโดยสารสำหรับตุ๊กตาลูกเทพประดุจเป็นผู้โดยสารคนหนึ่ง [ซึ่งล่าสุดก็มีความชัดเจนจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มาแล้วว่าสามารถนำตุ๊กตาลูกเทพขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบปฏิบัติในฐานะของสัมภาระ ไม่ใช่ผู้โดยสาร] หรือกรณีที่ร้านอาหารบางร้านถือโอกาสจัดรายการส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจลูกค้าที่บูชาตุ๊กตาลูกเทพ ซึ่งลักษณะการปฏิบัติต่อลูกเทพทั้งมวลเหล่านี้ล้วนมาประกอบกัน จนทำให้กระแสการต่อต้านตุ๊กตาลูกเทพปะทุขึ้นอย่างรุนแรงภายใต้การแปะป้ายว่าคือความงมงายไร้สาระ

ทุกการปฏิบัติต่อตุ๊กตาลูกเทพดังกล่าว ทำให้จักรวาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับจักรวาลของมนุษย์เกิดการเหลื่อมซ้อนกันขึ้นมา เพราะโดยปรกติ ในอาณาบริเวณทางความเชื่อและการปฏิบัติตามความเชื่อ จักรวาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และชีวิตประจำวันของมนุษย์นั้นจะขนานกันไป จะมาบรรจบกันบ้างก็ในเวลาที่มีการสื่อสารถึงจักรวาลเหนือธรรมชาติด้วยวิธีการหรือพิธีกรรมต่างๆ เช่น นึกถึง อธิษฐานขอพร บูชาตามแนวปฏิบัติ รวมทั้งสิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อก็มีความเฉพาะ เช่น ต้องเป็นอาหารเช่นนั้น ต้องเป็นสิ่งของเช่นนี้ เจ้าพ่อเจ้าแม่แต่ละศาลอาจมีสิ่งโปรดปรานต่างกันไป แต่อย่างไรก็มีความเฉพาะเจาะจงว่าถ้าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้แล้วจะต้องบูชาด้วยอะไร ซึ่งความเฉพาะเจาะจงนี้นี่เองที่ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังคงดูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้ ในการพกพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปกับตัว โดยทั่วไปแล้ว ก็อาจเป็นการพกพาทางใจ หรือหากเป็นการพกพาทางกาย สิ่งอันเชื่อว่ามีอำนาจพิเศษเหล่านี้ก็มักไม่เป็นที่สะดุดตาจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นพระห้อยคอ สร้อยหินที่เชื่อกันว่ามีพลังต่างๆ สถิตอยู่ ตะกรุด หรือเครื่องรางของขลังสารพัดรูปแบบไปกว่านั้น ที่หลายชิ้นก็พกพากันในที่ค่อนข้างลับตา (ซึ่งไม่ได้ลับตาโดยจงใจ แต่ลับตาเพราะลักษณะของสิ่งบรรจุเพื่อพกพาบังคับ)

แต่ตุ๊กตาลูกเทพนั้นไม่ใช่ ด้วยขนาดของตุ๊กตาลูกเทพและความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ ทำให้การพกพาตุ๊กตาลูกเทพอย่างมิดชิดเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การพาตุ๊กตาลูกเทพไปในที่สาธารณะจึงอยู่ในลักษณะของการอุ้มติดตัวไป หรือกระทั่งให้นอนอยู่ในรถเข็นเด็ก นอกจากนี้ การบูชานั้นก็อาจอยู่ในรูปของการถวายชาบู หรือกระทั่งอาหารอื่นใดในแบบเดียวกับที่ผู้บูชาไปรับประทาน ไม่ได้มีการเจาะจงประเภท โดยลูกเทพก็จะต้องนั่งร่วมโต๊ะด้วยประหนึ่งมนุษย์ที่มาด้วยกัน

(อนึ่ง กรณีของคนที่เลี้ยงกุมารทองก็อาจมีการให้กินอาหารแบบเดียวกับที่ “พ่อ-แม่” กิน แต่สิ่งที่ต่างกันมากๆ ก็คือ ต่อให้มีคนพกตุ๊กตากุมารทองไปด้วยและนำออกมาวางบนโต๊ะ ด้วยขนาดแล้วก็คงไม่สะดุดตามากมายเท่าตุ๊กตาลูกเทพ)

และเพราะทั้งหมดทั้งมวลนั้น การบูชาลูกเทพจึงกลายเป็นการทำให้จักรวาลของสิ่งเหนือธรรมชาติและจักรวาลของมนุษย์ทั่วไปเกิดการเหลื่อมซ้อนกันขึ้น และการเหลื่อมซ้อนนี้เองที่ทำให้ตุ๊กตาลูกเทพถูกมองจากภายนอกอย่างลูกผีลูกคน คือตกลงแล้วเป็นอะไรกันแน่ ชื่อเป็นเทพ แต่กลับต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนคนในทุกกระเบียด ซึ่งนี่ดูแตกต่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจักรวาลเหนือธรรมชาติที่ผู้คนคุ้นเคยกัน (ไม่มีใครพกพระพุทธรูปจากโต๊ะหมู่บูชาออกไปนอกบ้านแล้วนั่งพูดจากับท่านใช่ไหม และก็คงไม่มีใครนั่งหยอกล้อกับปลัดขิกใช่หรือไม่)

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ตุ๊กตาลูกเทพยังทำให้พื้นที่ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ที่โดยปรกติแล้วแม้เมื่ออยู่ในที่สาธารณะก็จะเป็นเรื่องส่วนตัวในปริมณฑลส่วนใจเนื่องจากรูปแบบการพกพาดังกล่าวไป กลับไม่ใช่เรื่องราวเฉพาะบุคคลอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นมีลักษณะอย่างการแสดงให้เห็นตลอดเวลาว่าคนผู้หนึ่งนั้นนับถือบูชาสิ่งใด คล้ายๆ การห้อยพระเครื่องพวงโตไว้นอกเสื้อ หรือสมัยจตุคามรามเทพที่โด่งดังก็มีบ้างที่ห้อยกันแบบองค์ใหญ่เท่าฝาหม้อ การแสดงออกถึงความเชื่ออย่างโจ่งแจ้งจนชวนให้รู้สึกว่าล้นเกินในที่สาธารณะย่อมทำให้ผู้อื่นที่ไม่ได้เชื่อในแบบเดียวกันหรือเชื่อในระดับที่ไม่เท่ากันเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วน โดยเฉพาะเมื่อด้วยหน้าตาแล้ว ตุ๊กตาลูกเทพของคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน

โดยสรุปแล้ว กระแสต่อต้านลูกเทพ คงเป็นเรื่องของการรำคาญตารำคาญใจเพราะต้องมาอยู่ร่วมกับอะไรที่ตัวเองไม่ได้เชื่อกับเขาด้วยอย่างโจ่งแจ้ง (โอ้โห เขียนมาตั้งยาว ใจความจริงๆ มีแค่นี้)

การบูชาตุ๊กตาลูกเทพไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะลำพังแค่ความรำคาญตารำคาญใจก็คงเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย บางทีไม่ต้องถึงขั้นตุ๊กตาลูกเทพ แค่หน้าตาสารรูปหรือบุคลิกภาพของเราก็อาจเป็นที่รำคาญตารำคาญใจของใครต่อใคร ก็คงเป็นอะไรที่ต้องอดทนต่อกัน วิพากษ์วิจารณ์กันไปมาได้ แต่กรณีที่น่าจะเป็นปัญหาและยอมรับไม่ได้ ก็คือการ “บังคับ” ให้คนอื่นปฏิบัติต่อตุ๊กตาลูกเทพในแบบเดียวกับตน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิในความคิดและความเชื่อของคนอื่น (แต่ถ้าไม่มีทีท่าอย่างบังคับก็แล้วไป) ส่วนอะไรที่มันจะไปคาบเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมาย นั่นก็ป้องกันแก้ไขไปตามกฎระเบียบ ไม่ใช่จะห้ามกันเพียงเพราะมีความเสี่ยงจะเกิดการนำไปใช้ทำผิดกฎหมาย เพราะตัวตุ๊กตาลูกเทพเองก็ไม่ใช่ของผิดกฎหมาย (เว้นแต่จะนำเข้ามาโดยไม่เสียภาษีหรือไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม) ไม่อย่างนั้นคนเราแค่เดินแก้ผ้าคงไม่พอ เพราะยาเสพติดเขาแอบใส่ในช่องคลอดหรือทวารหนักกันได้

และไม่ว่าจะอย่างไร ก็ไม่อยากให้ลืมมิติของจิตใจ ที่คนเราจำเป็นต้องมีอะไรสักอย่างเป็นที่ยึดเหนี่ยว ซึ่งในมุมนี้แล้ว ปรากฏการณ์ตุ๊กตาลูกเทพอาจเป็นรสนิยมการบริโภคอย่างหนึ่งที่คนเราใช้พยุงจิตใจด้วยซ้ำไป ไม่ต่างอะไรจากการท่องเที่ยว ปาร์ตี้ ช็อปปิ้ง หรืออะไรก็ตามที่คนเราทำให้ตัวเองสบายใจตามเหมาะสมแก่ความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งตราบใดเขาทำแล้วไม่มีใครเดือดร้อนอะไรมากไปกว่ารำคาญใจหรือกระทั่งทำอะไรผิดกฎหมาย ก็คงจะไม่เป็นไร

อนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ตุ๊กตาลูกเทพกับจตุคามรามเทพเหมือนกันมากก็คือ ต่างก็เป็นที่นิยมอย่างสูงขึ้นมาในช่วงของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร