ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลปกครองแจงตัดสินรัฐจ่าย “ค่าโง่” คดีคลองด่าน เพราะไม่มีเหตุให้ “เพิกถอน” คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ

ศาลปกครองแจงตัดสินรัฐจ่าย “ค่าโง่” คดีคลองด่าน เพราะไม่มีเหตุให้ “เพิกถอน” คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ

13 มกราคม 2016


คลองด่าน3

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 สำนักงานศาลปกครอง ได้ส่งเอกสารประชาสัมพันธ์ ชี้แจงคดีคลองด่านว่า ตามที่มีบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐต้องจ่ายค่าโง่คดีคลองด่าน ซึ่งอาจมีผลทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคลาดเคลื่อน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการต่อศาล ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ (มาตรา 40 วรรคสาม) และฟ้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ (มาตรา 42)

สำหรับคดีคลองด่าน (คดีหมายเลขแดงที่ อม. 487-488/2557) เป็นกรณีที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กับพวก รวม 6 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ (คดีหมายเลขดำที่ 791/2554) ส่วนกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ก็ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ (คดีหมายเลขดำที่ 809/2554)

ทั้งนี้ อนุญาโตฯ ได้วินิจฉัยว่า คพ. เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากบริษัทวิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก ได้ส่งมอบงานงวดที่ 55, 56, 57 และ 58 แล้ว แต่ คพ. กลับไม่จ่ายค่างวดงานให้ อนุญาโตฯ จึงมีคำชี้ขาดให้ คพ. ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ย ให้กับบริษัทวิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก

การที่ศาลปกครองจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้นั้น ต้องพิจารณาว่ามีการดำเนินการใน 2 กรณีต่อไปนี้หรือไม่

  1. คำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ดังกล่าว ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตฯ และเกินคำขอของคู่พิพาทตาม พ.ร.บ.อนุญาโตฯ มาตรา 37 วรรคสอง
  1. คำชี้ขาดของอนุญาโตฯ ดังกล่าว มีเหตุให้เพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตฯ มาตรา 40 วรรคสาม

“สำหรับคดีคลองด่าน ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่เข้าข่ายทั้ง 2 กรณี จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ อันเป็นการวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายครบถ้วนแล้ว” เอกสารประชาสัมพันธ์จากสำนักงานศาลปกครองดังกล่าวระบุ

(อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีคลองด่าน ฉบับย่อ หรือ ฉบับเต็ม)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีบุคคลหลายฝ่าย รวมถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในขณะนั้น ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการจ่ายค่าโง่ในคดีคลองด่านตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกไปก่อน แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่บริษัทวิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก รวม 6 ราย โดยจะแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด งวดแรก ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 งวดที่สอง ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559 และงวดที่สาม ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 รวมเป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท