ThaiPublica > เกาะกระแส > ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ไม่ได้ประมูล ขอต่อสัญญาปี’47ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว

ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ไม่ได้ประมูล ขอต่อสัญญาปี’47ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว

26 มกราคม 2016


นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์
นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์

จากที่ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ นสพ.ไทยรัฐ “เจ้าพ่อคิงพาเวอร์ ตอบคำถามเรื่องดิวตี้ฟรี ไม่ใช่ “สัมปทานผูกขาด” ในตอนหนึ่งว่า

“เรื่องพวกนี้ผมไม่ได้จับมือรัฐบาลไทยเซ็นนะครับ รัฐบาลคิดข้อเสนอขึ้นมาเอง เพื่อเรียกเอกชนมารับเงื่อนไขยื่นซองประมูล แต่มาวันนี้จุดส่งมอบสินค้าที่สนามบินกลายเป็นประเด็นว่าผมผูกขาด จะให้เอาคืน ผมถามจริงๆ นะครับ ถ้าเป็นรายอื่นได้ไป เขาจะคืนไหมครับ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของหลักการกับเงื่อนไขการจ่ายเงินให้รัฐ ถ้าผมบอกว่าปีไหนมีจลาจล ไม่มีนักท่องเที่ยวมา หรือเศรษฐกิจโลกตกต่ำ คนประหยัดค่าใช้จ่าย ผมขอเงินคืนได้ไหมครับ”

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมานายวิชัยได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559

ทั้งนี้จากการตรวจสอบสัญญาระหว่างการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เมื่อครั้งที่จะมีการย้ายสนามบินจากดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 นั้น ปรากฏว่าได้มีการลงนามในสัญญาอนุญาตให้บริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด โดยนายวิชัย รักศรีอักษร (ศรีวัฒนประภา) ประธานกรรมการบริหาร ได้รับอนุญาตให้เข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต เพียงรายเดียว เป็นการลงนามเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2547 โดยสัญญาใหม่มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 จนถึง 31 ธันวาคม 2558

โดยในช่วงก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาดังกล่าว ได้มี หนังสือจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ลงวันที่ 13 มกราคม 2547 เรื่อง ขอต่ออายุสัญญาเพื่อเข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยหนังสือดังกล่าวทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น

ในบางส่วนของหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า

“บริษัทฯ ใคร่เรียนว่า จากการที่สนามสุวรรณภูมิจะเริ่มเปิดใช้งานนับตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 ทำให้คงเหลือระยะเวลานับแต่นี้เพียง 1 ปี 9 เดือน และเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ มีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอให้ ทอท. โปรดพิจารณาการขอต่อสัญญาในครั้งนี้แต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯ จำเป็นต้องได้รับความมั่นใจว่า การลงทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานของบริษัทฯ นับจากนี้ไปสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งเพื่อให้ทางบริษัทฯ มีระยะเวลาเพียงพอในการเตรียมการด้านต่างๆ ในกรณีที่ ทอท. พิจารณาต่ออายุสัญญาให้แก่บริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นการเตียมการทางด่านการเงิน การจัดหาเงินลงทุนสำหรับตกแต่งร้านค้า และจัดหาอุปกรณ์การขายต่างๆ …เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ทันในเดือนกันยายน 2548” โดยบริษัทเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. ในอัตราร้อยละ 15 ของยอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ สัญญา 10 ปี (2548-2558) รวมเป็นเงิน 15,000 ล้านบาท”

หลังจากนั้น วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ทาง มติคณะกรรมการทอท. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดการขอต่อสัญญาของบริษัทคิง เพาเวอร์ โดยมีนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ นายอุทิศ ธรรมวาทิน และนายพชร ยุติธรรม เป็นคณะทำงาน

วันที่ 31 มีนาคม 2547 ทางคณะทำงานได้ถึงประธานกรรมการทอท.รายงานผลการพิจารณาว่าจากการทำหนังสือด่วนสุดถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า การประเมินวงเงินของโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร ณ สนามบินสุวรรณภูมินั้น หากวงเงินลงทุนในโครงการ หรือมีทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องปฏิบัติพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 แต่จากการวิเคราะห์ของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 813.84 ล้านบาท จึงไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

นอกจากนี้จากการได้ว่าจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการร้านค้าปลอดอากรดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า

1. ในเรื่องการสรรหาผู้ประกอบการที่เหมาะสมนั้น ควรใช้วิธีเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมมากกว่าการเปิดประมูลให้ผู้สนใจเสนอตัวเข้าแข่งขัน เพราะการเจรจา ทอท. สามารถกำหนดเงื่อนไข เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินการกับผู้ประกอบการให้ ทอท. ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ

– รายได้จากการใช้จ่ายในร้านค้าปลอดอากรเฉลี่ยต่อจำนวนผู้โดยสารสูงสุด
– จำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านค้าปลอดอากรสูงสุด
– ระยะเวลาในการเข้ามาใช้บริการหรือเลือกซื้อสินค้าภายในร้านปลอดอากรของผู้โดยสารสูงสุด

ทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นการร่วมพัฒนาธุรกิจในเชิงพันธมิตร มีการแบ่งปันความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและผลประโยชน์จากการดำเนินงานร่วมกัน ดังนั้น การเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมที่มีผลการดำเนินงานที่ดีแล้วจึงให้ประโยชน์กับ ทอท. มากกว่าวิธีการเปิดประมูลระบบ MAG (Manimum Anaaual Guarantee) และเป็นหลักประกันความมั่นคงของรายได้กับ ทอท. ซึ่งเป็นแนวทางใหม่สำหรับการดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร

2. จำนวนผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร การที่มี 2 รายหรือมากกว่านั้น จะก่อให้เกิดปัญหาดังเช่นที่ผ่านมาในท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) และจะก่อให้เกิดปัญหากับ ทอท. ในเรื่องการพิจารณาทั้งทำเลที่ตั้งของร้านค้า จำนวนพื้นที่ การไหลเวียนของผู้โดยสาร รวมทั้งการให้การสนับสนุนจากผู้ผลิตสินค้า ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จของผู้ประกอบการ และที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมีสินค้า 4 ประเภท คือ น้ำหอม บุหรี่ เหล้า และเครื่องสำอาง หากมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ต้นทุนของสินค้าดังกล่าวไม่แตกต่างกันมาก อาจจะกระทบต่อคุณภาพสินค้าและภาพลักษณ์ ทอท. ต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการ จึงควรมีผู้ประกอบการรายเดียวจะเหมาะสมกว่า

3. อายุสัญญาเห็นควรเป็น 10 ปี เสนอให้กำหนดอัตราค่าตอบแทนใหม่ที่ต่างจากข้อเสนอของคิง เพาเวอร์ คือ ค่าตอบแทนในอัตราร้อยละของยอดรายได้จากการขายสินค้าในร้านค้าปลอดอากร ในช่วง 5 ปีแรก ร้อยละ 15 ในปีที่ 6-10 ควรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 คือ 16-17-18-19-20 ตามลำดับ

4. คุณสมบัติของผู้ประกอบการควรเป็นไทยมากกว่าต่างประเทศ เพราะผู้ประกอบการไทยมีความรู้ความชำนาญในการให้บริการได้แล้ว และมีความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของประเทศไทยมากกว่า รวมทั้งมีการจ้างงาน การเสียภาษีที่เกิดกับประเทศไทยโดยตรงมากกว่า

หลังจากนั้นมีหนังสือของการท่าอากาศยานไทย ลงวันที่ 12 เมษายน 2547 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เพื่อแจ้งผลการพิจารณาการขอเข้าประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยอ้างถึงหนังสือของคิง เพาเวอร์ เรื่องการขอต่อสัญญา

หนังสือของบริษัทคิง เพาเวอร์ ที่ลงวันที่ 16 เมษายน 2547 เป็นหนังสือขอบคุณ โดยทำเรียนถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทการท่าอากาศยานไทย ว่าขอทำสัญญาภายในวันที่ 20 เมษายน 2547 และหนังสือลงวันที่ 17 มีนาคม 2547 บริษัทคิงเพาเวอร์ได้ทำถึงทอท.ขอเสนอปรับเพิ่มค่าตอบแทน 10 ปี จาก 15,000 ล้านบาท เป็น 15,560 ล้านบาท และจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้า 2 ปี เป็นเงิน 2,460 ล้านบาท

โดยในสัญญาได้ระบุค่าผลประโยชน์ตอบแทน ที่จะจ่ายให้ ทอท. โดยมีรายละเอียดดังข้อมูลข้างล่าง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ผลตอบแทนขั้นต่ำที่คิงเพาเวอร์-ย่อขนาด