ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24-30 ม.ค. 2559: “สารพันเสียงสะท้อนถึง ‘ลูกเทพ'” และ “จำคุก 2 ปี ‘ชูวิทย์-พวก’ ไม่รอลงอาญา”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24-30 ม.ค. 2559: “สารพันเสียงสะท้อนถึง ‘ลูกเทพ'” และ “จำคุก 2 ปี ‘ชูวิทย์-พวก’ ไม่รอลงอาญา”

30 มกราคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24-30 ม.ค. 2559สารพันเสียงสะท้อนถึง “ลูกเทพ”

ตุ๊กตาลูกเทพ ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/501517)
ตุ๊กตาลูกเทพ
ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/content/501517)

เป็นฮือเป็นฮากับความนิยมใหม่ในสังคม เมื่อการบูชา “ตุ๊กตาลูกเทพ” ได้กลายเป็นประเด็นพูดถึงอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน โดยเฉพาะเมื่อนอกจากมีการนำตุ๊กตาลูกเทพไปยังที่สาธารณะต่างๆ นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน จนร้านอาหารบางแห่งถึงกับมีโปรโมชั่นสงเสริมการขายที่เกี่ยวข้องกับลูกเทพ หรือกระทั่งมีข่าวว่า สายการบินไทยสมายล์จำหน่ายตั๋วสำหรับลูกเทพพร้อมบริการอาหารและเครื่องดื่มเหมือนผู้โดยสารทั่วไปเนื่องจากมีการสอบถามและความต้องการกันมามากถึงเรื่องการนำตุ๊กตาลูกเทพขึ้นเครื่องบิน โดยต่อมาก็ได้มีความชัดเจนจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แล้วว่าสามารถนำตุ๊กตาลูกเทพขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องอยู่ในฐานะของสัมภาระ ไม่ใช่ผู้โดยสาร

แม้แต่เจ๊เกียว นางสุจินดา เชิดชัย เจ้าแม่รถทัวร์ ก็ยังประกาศว่า “บริษัทของเจ๊อนุญาตให้ประชาชนที่บูชา นำตุ๊กตาลูกเทพขึ้นรถโดยสารได้ สามารถนั่งบนเบาะโดยสารได้ตามปกติ โดยจะจำหน่ายตั๋วครึ่งราคาให้”

ในด้านของโลกมืด แต่ยังไม่มืดจนเหนือธรรมชาติ ก็มีการจับตุ๊กตาลูกเทพหนีภาษี หรือกระทั่งมีการซุกยาบ้าในตุ๊กตาลูกเทพเพื่อส่งมอบซื้อขาย

หรือกระทั่งในด้านของโลกเหนือธรรมชาติด้วยกัน ก็ยังมีการออกมาเตือนด้วย เช่น น.ส.เจนสุดา เรียบร้อยเจริญ หรือ “เจน ญาณทิพย์” ที่บอกว่าเทพไม่มาสิงสู่สิ่งเหล่านี้ เทพจะไม่ยุ่งกับมนุษย์เด็ดขาด เพราะมนุษยมีกลิ่นสาป มนุษย์ตัวเหม็น มนุษย์ไม่มีศีล คนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่มีความโลภทั้งนั้นเลย อยากรวย อยากได้มีชื่อเสียงก็จะเป็นเหยื่อ

ส่วนทางด้านสนนราคาในการเป็นเจ้าของ ก็เติบโตไปถึงขั้นหากเป็นลูกเทพที่ฝังมวลสารศักดิ์สิทธิ์ จะมีราคาสูงได้ถึง 1 แสนบาท

ต่อกระแสตุ๊กตาลูกเทพนี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า พื้นฐานจิตใจของคนไทยส่วนมากมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์อยู่แล้ว ทุกคนล้วนมีความเชื่อในเรื่องลี้ลับกันทั้งสิ้น ไม่ได้ต่างอะไรไปจากคนสมัยก่อนที่เลี้ยงกุมารทอง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตุ๊กตาลูกเทพก็คือ การประยุกต์ไสยศาสตร์ให้มาหลอมรวมกับยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว การเลี้ยงตุ๊กตาลูกเทพไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของสังคม และอีกส่วนก็มาจากความเชื่อส่วนตัว ซึ่งอาจมีบ้างที่เลี้ยงเพื่อต้องการที่พึ่งทางใจ เพราะตามหลักทางจิตวิทยาก็สามารถอธิบายได้ว่า เราทุกคนยังต้องการแสวงหาในสิ่งที่จิตใจยังขาดอยู่ บางคนมีความไม่สบายใจอะไรบางอย่าง หรือบางคนนั้นรู้สึกว่าขาดอะไรสักอย่างในชีวิต จึงต้องการบางสิ่งบางอย่างมายึดเหนี่ยวจิตใจ

งบ 12.8 ล้าน ปอท. จัดซื้อระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์

ที่มาภาพ: เว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ต (https://thainetizen.org/2016/01/social-media-tracking-system-tcsd/)
ที่มาภาพ: เว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ต (https://thainetizen.org/2016/01/social-media-tracking-system-tcsd/)

25 ม.ค. 2559 เว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2559 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงประกาศเอกสารประกวดราคาจัดซื้อระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ โดยระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์ดังกล่าวจะต้องสามารถติดตามและจัดเก็บข้อมูลจากบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และพันทิป รวมถึงยังต้องสามารถทำงานร่วมกับฐานข้อมูลหมายจับและจากบุคคลทำประวัติจากสถานีตำรวจ อย่างการเทียบภาพโปรไฟล์ของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กับภาพใบหน้าจากฐานข้อมูลหมายจับและจากบุคคลทำประวัติจากสถานีตำรวจได้

ทั้งนี้ งบประมาณในการจัดซื้อระบบดังกล่าวอยู่ที่ 12,806,400 บาท โดยจะใช้เซิร์ฟเวอร์จำนวน 22 เครื่อง และวางเซิร์ฟเวอร์ไว้ในศูนย์ข้อมูล 2 แห่ง

ปอท. ระบุเหตุผลของการจัดซื้อครั้งนี้ไว้ในร่างเอกสารประกวดราคาว่า เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐานอัตโนมัติ สำหรับป้องกันอาชญากรรมที่ใช้ช่องทางสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต ฉ้อโกงทรัพย์ การจารกรรมข้อมูลทางธุรกิจ รวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลด้านที่ 1 (พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการสื่อสาร การเข้าถึงบริการ และการบริหารงานในองค์กร) และด้านที่ 3 (ส่งเสริมพัฒนาและประยุกต์ใช้มาตรฐานในการบริการด้านความมั่นคงปลอดภัยฯ) อันจะทำให้สังคมออนไลน์มีความพร้อมต่อการก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล

ส่วนคุณสมบัติของระบบเมื่อแยกตามประเภทของสื่ออนไลน์แล้วจะเป็นดังนี้

หมายเหตุ: ในส่วนของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นั้น ระบบดังกล่าวต้องสามารถดึงข้อมูลในหน้าเพจและหน้าโปรไฟล์ (สำหรับเฟซบุ๊ก) และทวีต (สำหรับทวิตเตอร์) ที่เปิดเป็นสาธารณะ

เฟซบุ๊ก: ข้อมูลที่ระบบต้องสามารถติดตามและจัดเก็บ เช่น ข้อความที่โพสต์ รวมถึงวันเวลาที่โพสต์ ลิงก์ รูปภาพ วิดีโอที่โพสต์ ข้อความที่คอมเมนต์ ข้อมูลการแชร์ ข้อมูลจำนวนการกดไลก์

ทวิตเตอร์: ระบบจะต้องสามารถเก็บข้อความที่ทวีต รายชื่อผู้ติดตาม (follower) รายชื่อที่บุคคลเป้าหมายติดตาม (following)

นอกจากนี้ ทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ระบบยังต้องสามารถแสดงผลความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลเป้าหมายและจำนวนข้อมูลที่จัดเก็บ จนทำเป็นแผนภาพความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลเป้าหมายได้, สามารถแสดงผลข้อมูลที่จัดเก็บตามคำค้น, สามารถตั้งคีย์เวิร์ดสำหรับติดตามจากไทม์ไลน์ของบุคคลนั้นๆ และมีการแจ้งเตือนเมื่อพบคีย์เวิร์ดดังกล่าว

พันทิป: ระบบจะต้องสามารถเก็บข้อมูลยูอาร์แอล (URL) ตามคำค้นจากกูเกิล, เก็บหัวข้อกระทู้ หมายเลขกระทู้ และป้ายกำกับ (แท็ก) ในกระทู้ และระบบยังต้องสามารถเก็บชื่อล็อกอินและวันเวลาที่ตั้งกระทู้ จำนวนคนกดถูกใจข้อความและจำนวนผู้ที่ร่วมแสดงความรู้สึก และเนื้อหาที่ตอบในกระทู้ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพ หรือลิงก์ นอกจากนี้ ระบบยังต้องสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บมาแสดงผลเป็นปริมาณการตั้งและตอบกระทู้, นำข้อมูลที่จัดเก็บมาแสดงผลตาม คำค้น และต้องสามารถตั้งคีย์เวิร์ดสำหรับติดตาม และแจ้งเตือนเมื่อพบการตั้งและตอบกระทู้ที่มีคีย์เวิร์ดนั้นอยู่

โลกลดชั้น กสม.ไทย

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบัน ที่มาภาพ: บีบีซีไทย (https://goo.gl/ZUIvcu)
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบัน
ที่มาภาพ: บีบีซีไทย (https://goo.gl/ZUIvcu)

28 ม.ค. 2559 บีบีซีไทยรายงานว่า คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันระดับชาติเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หรือ ไอซีซี เผยแพร่รายงานการจัดอันดับสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก จำนวน 111 ประเทศ ลงวันที่ 26 ม.ค. 2559 โดยลดชั้นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จากเกรด เอ หรือสมาชิกที่มีสถานะสมบูรณ์ไปเป็นเกรด บี หรือระดับผู้สังเกตการณ์

ก่อนหน้านี้ ในปี 2557 ไอซีซีได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการขาดกลไกปกป้อง ความเป็นอิสระของคณะกรรมการ ความล้มเหลวในการตอบสนองต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร

ไอซีซีให้เวลา กสม. ของไทยแก้ไขปัญหาเป็นเวลา 12 เดือน แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ จึงมีการลดชั้นดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ กสม. ของไทยเป้นได้แค่ผู้สังเกตการณ์ในการประชุมระดับภูมิภาคและนานาชาติ คือไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของไอซีซี หรือสมัครเป็นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการของไอซีซีได้

ทั้งนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบัน ระบุว่า การถูกลดชั้นครั้งนี้ทำให้โอกาสและความสง่างามของกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยลดลงไปมาก

ราไวย์ระอุ นายทุนปะทะชาวเล เทหินใส่!!

 ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Green News TV (http://goo.gl/ONBlLx)

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ Green News TV (http://goo.gl/ONBlLx)

27 ม.ค. 2559 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานโดยอ้างเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลว่า ประมาณ 11.30 น. ชายฉกรรจ์กว่า 100 คน พร้อมเครื่องจักร ได้เข้าปิดทางสาธารณะเข้าออกพื้นที่ประกอบพิธีกรรมและที่จอดเรือ โดยใช้รถบรรทุกหินขนาดใหญ่พร้อมรถไถเพื่อปิดทางและทำลายเครื่องมือประมงชาวเลที่บริเวณหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ทำให้มีชาวเลราไวย์ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมทั้งหญิงชายและเด็ก กว่า 100 คน ออกมาคัดค้าน ในขณะที่รถบรรทุกเทก้อนหินขนาดใหญ่ปิดทางเข้าออกทั้งๆ ที่ชาวเลนั่งขวางอยู่ ทำให้ชาวเลได้รับบาดเจ็บ และชายฉกรรจ์เข้าทำร้ายทุบตีชาวเลจนได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งยังเอารถไถกวาดเครื่องมือประมงและศาลาเฝ้าเรือของชาวเลได้รับความเสียหายยับเยิน

ข่าวสดยังรายงานอีกว่า ชาวเลราไวย์เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีทั้งเผ่ามอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมา มากกว่า 200 ปี และพื้นที่ที่เกิดกรณีพิพาทเป็นพื้นที่ชายหาดสาธารณะที่ชาวเลใช้จอดเรือ เอาปลาขึ้นจากเรือ วางเครื่องมือประมง และเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวเลมายาวนาน รวมทั้งในอดีตบริเวณดังกล่าวชาวเลใช้เป็นสุสาน

นายสนิท แซ่ซั่ว ชาวเลในชุมชนหาดราไวย์ เปิดเผยว่า มีการเตรียมยื่นหนังสือให้ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเรียกร้อง 4 ประเด็นหลักเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ คือ

1. เร่งรัดการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินชุมชนชาวเลราไวย์ ตามมติคณะกรรมการฟื้นฟู วิถีชีวิตชาวเล
2. ให้มีการคุ้มครองพื้นที่ประกอบพิธีกรรม (บาลัย) และชายหาดตลอดหน้าแนวเขตเสาไฟฟ้า
3. ตรวจสอบหน่วยงานทหารที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน และ
4. ให้เร่งรัดการประกาศการสร้างเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

ต่อมา ในวันที่ 28 ม.ค. 2559 เว็บไซต์ Green News TV รายงานว่า นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยภายหลังเกิดเหตุรุนแรงในชุมชนชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2559 ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลเสียต่อภาพลักษณ์ จ.ภูเก็ต ไปทั่วโลก และในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หลังจากนี้ไม่ว่าหน่วยงานใดจะเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ให้แจ้งทางจังหวัดรับทราบทุกครั้ง และเบื้องต้นได้สั่งให้บริษัทบารอน เวิลด์ เทรด จำกัด นำแท่งแบริเออร์และก้อนหินที่นำมาปิดทางสัญจรออก และให้หยุดก่อสร้างจนกว่าจะได้ข้อสรุปในการประชุมวันที่ 2 ก.พ. 2559 ส่วนกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บให้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไป

“หากมีเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก ผมจะรายงานให้ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” นายจำเริญกล่าว

ด้าน พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่ามีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับมาโดยตลอดว่าหากมีทหารเกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดี 2 กระทง ได้แก่ ทางวินัยทหารและทางคดีอาญา ยืนยันว่าจะไม่มีการละเว้นอย่างแน่นอน

Green News TV ยังรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2558 นายชาตรี หมาดสตูล ตัวแทนบริษัทบารอน เวิลด์ เทรด จำกัด ซึ่งอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ของที่ดินบริเวณดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการควบคุมมณฑลทหารบกที่ 41 เพื่อขอให้จัดกำลังพลทหารมาดูแลความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยให้กับพนักงานก่อสร้างที่บริษัทฯ ได้ว่าจ้างมาปรับปรุงพื้นที่จริง และในตอนท้ายของหนังสือฉบับดังกล่าว พล.ต. ธีร์ณฉัฏฐ์ จินดาเงิน ผบ.มทบ.41 ได้ลงรายมือชื่อ พร้อมระบุว่าให้จัดกำลังสนับสนุน

จำคุก 2 ปี “ชูวิทย์-พวก” ไม่รอลงอาญา

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (http://goo.gl/DwH1Hm)
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (http://goo.gl/DwH1Hm)

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ และกลุ่มผู้ค้า รวม 44 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย อดีตผู้บริหารบริษัท สุขุมวิท ซิลเวอร์ สตาร์ จำกัด, และพวกรวม 130 คน เป็นจำเลยที่ 1-130 (คดีรื้อบาร์เบียร์ ซอยสุขุมวิท 10) ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์, บุกรุกในเวลากลางคืน และกักขังหน่วงเหนี่ยวข่มขืนใจให้บุคคลปราศจากเสรีภาพ

โดยคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชายฉกรรจ์หลายร้อยคนพร้อมรถแบคโฮเข้ารื้อบาร์เบียร์ 135 ร้าน บนพื้นที่ 6 ไร่ ในย่านสุขุมวิทเมื่อปี พ.ศ. 2546 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกนายชูวิทย์ พ.ท. หิมาลัย ผิวพรรณ และ พ.ต. ธัญเทพ ธรรมธร กับพวก รวม 66 ราย คนละ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา และในจำนวนนี้จำเลยได้ยื่นต่อสู้คดีในชั้นฎีกา 44 คน แต่เนื่องจากได้มีการชดใช้จนจำเลยเป็นที่พอใจและมีการนำพื้นที่ดังกล่าวไปทำสวนสาธารณะ จึงลดโทษให้เหลือจำคุก 2 ปี

ขณะที่ด้านนายชูวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทั้งนักการเมืองและประชาชนโดยไม่มีหนีไปไหน ยอมรับคำพิพากษา และจะสู้จนนาทีสุดท้ายโดยไม่คิดหนี