ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > อีไอซี แบงก์ไทยพาณิชย์วิเคราะห์ธนาคารกลางยุโรปห่วงเศรษฐกิจซบ ส่งสัญญาณอัดฉีดเงินเพิ่มมี.ค.นี้

อีไอซี แบงก์ไทยพาณิชย์วิเคราะห์ธนาคารกลางยุโรปห่วงเศรษฐกิจซบ ส่งสัญญาณอัดฉีดเงินเพิ่มมี.ค.นี้

22 มกราคม 2016


ที่มาภาพ : http://adbroere.nl/web/images/bank_81581e.jpg
ที่มาภาพ : http://adbroere.nl/web/images/bank_81581e.jpg

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ธนาคารกลางยุโรปห่วงเศรษฐกิจซบ ส่งสัญญาณอัดฉีดเงินเพิ่มเติมในเดือนมีนาคม โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคม ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ส่งสัญญาณว่าจะมีการทบทวนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเดือนมีนาคมนี้ และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.05% และอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate) ที่ -0.3% ตามเดิม

ECB มองความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นในปีนี้ สำหรับการประชุมในเดือนมกราคมนี้ ECB กังวลความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ 1) ความเสี่ยงของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ 2) ความผันผวนในตลาดการเงินและราคาน้ำมัน 3) ความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ (geopolitical risks) เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ ECB ประเมินไว้เดิมที่ระดับ 1.0% ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันที่ปัจจุบันอยู่ระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่ ECB คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 52 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

อีไอซีคาดว่า ECB จะเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนและลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนมีนาคม เนื่องจากภาพเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากในเดือนธันวาคมที่ ECB ได้ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยการขยายเวลามาตรการอัดฉีดปริมาณเงินโดยการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE) ต่อไปอีก 6 เดือน แต่ไม่มีการเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ต่อเดือน จึงส่งผลให้ตลาดการเงินค่อนข้างผิดหวัง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ในเดือนมีนาคมที่ ECB จะขยายวงเงินการซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนหรือเพิ่มการอัดฉีดปริมาณเงินจากเดิมเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร เป็น 7-8 หมื่นล้านยูโร แต่น่าจะยังคงระยะเวลาการสิ้นสุดมาตรการไว้ตามเดิมในเดือนมีนาคม 2017 นอกจากนี้ ECB อาจลดอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ให้ติดลบมากขึ้นเป็น -0.4% จากเดิม -0.3% เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ลดการสำรองเงินและปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนให้กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% จากปัจจุบันที่ยังอยู่ระดับ 0.2%

การส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของ ECB ส่งผลดีต่อตลาดการเงิน เนื่องจากเป็นข่าวดีเรื่องแรกนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่มีความผันผวนในตลาดการเงินค่อนข้างมาก จากการลดค่าเงินหยวน และราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงในรอบกว่า 12 ปี การส่งสัญญาณของ ECB ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 1-2% รวมถึงราคาน้ำมันก็เพิ่มขึ้นกว่า 5% ในวันแรกหลังจากที่ ECB ประกาศ

แต่อีไอซียังมองว่าต้องจับตาดูทิศทางราคาน้ำมันและค่าเงินหยวนของจีน หากราคาน้ำมันยังไม่พบจุดต่ำสุด ความกังวลในตลาดการเงินโลกจะยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินยูโรอาจส่งผลให้ธนาคารกลางของจีนถูกกดดันให้ต้องอ่อนค่าเงินหยวนลงอีกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและช่วยเหลือเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น จึงยังมีความเสี่ยงหากธนาคารกลางของจีนลดค่าเงินอย่างรวดเร็วกว่าที่ตลาดคาด อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลกดังเช่นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2016 ได้

ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มต้องผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเช่นเดียวกับ ECB อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเพราะราคาน้ำมันและค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นมาค่อนข้างมากจากระดับ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี 2015 มาอยู่ที่ระดับราว 118 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบันเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยอีไอซีคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีการขยายขนาดมาตรการ QE ภายในครึ่งแรกของปีนี้

ผู้ประกอบการควรระมัดระวังการอ่อนค่าของเงินยูโรและเยน การผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของ ECB จะทำให้ค่าเงินยูโรมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นรวมถึงเงินบาท โดยค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงไปกว่า 3.1% นับตั้งแต่ต้นไตรมาส 4 ปี 2015 มาอยู่ที่ 1.081 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน และอ่อนค่าลง 4% เมื่อเทียบกับเงินบาทในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปัจจุบัน ดังนั้น ภาคธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกไปยังยูโรโซนและญี่ปุ่น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าในรูปเงินยูโรและเยนที่สูงขึ้น

ค่าเงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB เป็นการพยุงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงินในระยะนี้ ทำให้ค่าเงินบาทชะลอการอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของตลาดการเงินโลกที่ยังมีอยู่จากทั้งราคาน้ำมันและค่าเงินหยวน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่า ทั้งนี้ อีไอซียังคงประมาณการค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปี 2016 ไว้ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ