ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > โครงสร้างราคารถปี ’59 หลังสรรพสามิตเก็บภาษีตาม CO2 ยัน “อีโคคาร์” ราคาเดิม-เฉพาะเครื่อง 1800-2000 ต้นทุนเพิ่มไม่เกิน 5 แสน

โครงสร้างราคารถปี ’59 หลังสรรพสามิตเก็บภาษีตาม CO2 ยัน “อีโคคาร์” ราคาเดิม-เฉพาะเครื่อง 1800-2000 ต้นทุนเพิ่มไม่เกิน 5 แสน

10 ธันวาคม 2015


แถลงข่าว CO2 ชัด

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ร่วมแถลงข่าว โครงสร้างอัตราภาษีรถยนต์ใหม่ที่จัดเก็บจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2559

วัตถุประสงค์การปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ครั้งนี้ นายสมชัย กล่าวว่าปัญหาภาวะโลกร้อนได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น และอุตสาหกรรมยานยนต์ถูกมองว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่รักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2555 มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอให้จัดเก็บภาษีรถยนต์อ้างอิงจากการปล่อยมลพิษหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(คลิกที่ภ่พเพื่อขยาย)

เปรียบเทียบภาษีรถยนต์ใหม่-เก่า

“จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์เปลี่ยนแปลงจากหลักการเดิมที่เก็บภาษีสรรพสามิตจากประเภทและขนาดความจุของเครื่องยนต์ มาเป็นการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยมลพิษแทน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น” นายสมชัยกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2555 ยังมีมติให้กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกันในการดำเนินการด้านการปฏิบัติ เช่น การออกป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) รวมถึงการตรวจสอบและวัดค่าอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 โดยมอบหมายให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในการวางแนวทางการวัดการปล่อยมลพิษ การตรวจสอบการปล่อยมลพิษ สรุปสาระสำคัญของแนวทางการดำเนินงานเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้

1. ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าต้องนำรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่รู้จักโดยทั่วไปคือ “R83” ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวจะมีค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปรากฏอยู่ในผลการตรวจสอบ และรถยนต์บางประเภทต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยประเภทระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุ (Active Safety)

2. ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้าต้องนำผลการตรวจสอบเข้าสู่ระบบของ สศอ. เพื่อให้ค่าดังกล่าวปรากฏอยู่ในป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต สมอ. และ สศอ. ตรวจสอบรายละเอียดที่ได้นำเข้าสู่ระบบดังกล่าว หากถูกต้องครบถ้วน ก็จะมีการพิมพ์ป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ให้ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สติกเกอร์

3. ผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า ต้องยืนยันผลการตรวจสอบดังกล่าวให้กรมสรรพสามิต หรือกรมศุลกากร แล้วแต่จุดความรับผิดเกิด เพื่อกรมสรรพสามิตหรือกรมศุลกากรจะได้จัดเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสำคัญ

4. ป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ที่ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้าได้รับจากกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีการตรวจสอบถูกต้องแล้ว ต้องนำไปปิดไว้ที่รถยนต์ทุกคัน ณ จุดขาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอัตราการใช้พลังงาน

5. กรณีที่รายละเอียดในคำขอการออกป้ายข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากล (Eco Sticker) ดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน ผู้ผลิตในประเทศหรือผู้นำเข้าสามารถใช้ข้อมูลรถยนต์ตามมาตรฐานสากลเบื้องต้น (Eco Sticker เบื้องต้น) แทนก่อนได้ และนำป้ายข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบแล้วมายื่นกับหน่วยงานของรัฐภายใน 45 วัน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวทางที่หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ใช้เป็นแนวปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ประมาณการราคารถยนต์

ด้านนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า “จากตารางที่นำเสนอจะเห็นว่าการปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามการปล่อยก๊าซ CO2 ไม่ส่งผลกระทบกับราคารถยนต์ในกลุ่ม Eco Car เนื่องจากรถยนต์กลุ่มนี้ปล่อยก๊าซ CO2 ไม่ถึง 120 กรัม/กิโลเมตร ยังคงเสียภาษีในอัตราเดิมที่ 17% ของราคานำเข้าหรือราคา ณ หน้าโรงงาน แต่จะมีผลกระทบกับรถยนต์นั่งขนาดกลางที่มีขนาดความจุตั้งแต่ 1,800-2,000 ซีซี เช่น รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิง E-20 เดิมเสียภาษีสรรพสามิตที่ 25% ของราคาหน้าโรงงานหรือราคานำเข้า หากปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร เสียภาษีลดลงเหลือ 14% ทำให้ต้นทุนราคารถยนต์ลดลง 70,000 บาท แต่ถ้าปล่อย CO2 เกินกว่า 200 กรัม/กิโลเมตร โครงสร้างใหม่ต้องเสียภาษี 40% ของราคาหน้าโรงงานหรือราคานำเข้า กรณีนี้อาจทำให้ราคารถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 400,000-500,000 บาท เป็นต้น”

“ภายใต้สมมติฐานปี 2559 ยอดจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 8 แสนคัน หลังจากโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป คาดว่ากรมสรรพสามิตจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้น 7,000-8,000 ล้านบาท/ปี และล่าสุดทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศได้ส่งตัวอย่างรถยนต์มาให้ สมอ. ตรวจสอบและวัดค่าการปล่อยก๊าซ CO2 แล้ว 677 รุ่น ยืนยันไม่ปัญหาล่าช้าเกิดขึ้นแน่นอน”

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ECO Sticker จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติที่แท้จริงของรถยนต์แต่ละรุ่น ทั้งในด้าน “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ และจากการที่รัฐบาลปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีรถยนต์ใหม่ตามการปล่อย CO2 อัตราการใช้น้ำมัน และมาตรฐานความปลอดภัย ถือเป็นการสนับสนุนให้บริษัทรถยนต์ต้องพัฒนาคุณสมบัติรถยนต์ให้ทัดเทียมรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศชั้นนำ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ยังส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ของประเทศไทย เสริมสร้างความเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และการจัดเก็บภาษีของภาครัฐด้วย โดยผู้บริโภค หรือผู้ที่กำลังมองหารถยนต์ สามารถค้นหาข้อมูลสมรรถนะของรถยนต์จาก ECO Sticker ได้ที่www.car.go.th