ThaiPublica > คนในข่าว > ไส้เดือน “วีรพร นิติประภา” ในเขาวงกต “วรรณกรรม” (2): ชีวิตคนเขียนหนังสือ ในวันที่คนเริ่มไม่อ่านหนังสือ

ไส้เดือน “วีรพร นิติประภา” ในเขาวงกต “วรรณกรรม” (2): ชีวิตคนเขียนหนังสือ ในวันที่คนเริ่มไม่อ่านหนังสือ

16 ธันวาคม 2015


ต่อเนื่องจากบทสัมภาษณ์ตอนแรก คราวนี้เราจะมาสนทนากับ “วีรพร นิติประภา” นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2558 จากนวนิยายเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ทั้งเรื่องสไตล์การเขียนที่หลายคนยกว่ามีรูปแบบเฉพาะตัว (โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร GM ยกย่องว่าเป็น “นักสร้างภาษา” ในยุคใหม่ และมีการนำไปเปรียบเทียบกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์, ประมูล อุณหธูป, สุวรรณี สุคนธา สุดยอดนักสร้างภาษาในอดีต) มุมมองว่าต่อแวดวงวรรณกรรมไทยในฐานะหนอนหนังสือคนหนึ่ง และชีวิตของคนเขียนหนังสือจะอยู่อย่างไรในโลกที่ใครหลายคนไม่อ่านหนังสืออีกต่อไปแล้ว

วีรพร นิติประภา
วีรพร นิติประภา

ไทยพับลิก้า: งานคุณวีรพรมักถูกคนกล่าวถึงในแง่วิธีการเขียนใหม่ๆ เช่น การไม่ใส่เครื่องหมายคำพูดไปในนวนิยายเลยแม้แต่ที่เดียว แต่เขียนความรู้สึกของตัวละครผสมไปกับคำพูด เหตุใดถึงใช้วิธีเล่าเรื่องแบบนี้

ข้อหนึ่ง มันเป็นงานเขียนประเภท impressionism เป็นงานเขียนที่มุ่งไปที่ความรู้สึก ส่วนตัวคิดว่าถนัดสไตล์นี้ ข้อสอง เบื่อการให้ข้อมูล อยากพูดเรื่องความรู้สึกมากกว่า อยากให้คนอ่านรู้สึกมากกว่ารับรู้ การอ่านน่าจะเป็นประสบการณ์พอๆ กับการเขียน คือไม่ใช่แค่อ่านเอาความ

แวดวงวรรณกรรมไทยชั่วคราวไม่ค่อยผลิตงานใหม่ๆ ออกมา นับจากมีงานเพื่อชีวิตเมื่อกว่า 30 ปีก่อน จากนั้นก็เป็นยุค minimal มีงานเขียนแบบฮารูกิ มูราคามิ ออกมามากมาย นำมาซึ่งการเขียนที่แห้งขึ้น แสดงความรู้สึกน้อยลง และถึงขนาดว่าแสดงความงามของภาษาน้อยลงด้วย

เมื่อได้เขียนหนังสือ ก็เลยลองภาษาสวยดีกว่า เพราะส่วนตัวชอบภาษาสวย คิดว่าภาษามันมีความงามของมัน แต่ที่ผ่านมามันหายไป ก็เลยนำเสนอตรงนี้

เหตุผลที่ไม่ใช้เครื่องหมายคำพูดเลย เพราะเครื่องหมายคำพูดมันคือ real time ณ ขณะนั้น แต่เรื่องที่เล่า มันเป็นการเล่าย้อนหลังตั้งแต่ต้น คนนั้นอาจจะไม่ได้พูดแบบนั้นจริงๆ ก็ได้ เหมือนเขียนจากความทรงจำ นอกจากนี้ การเอาเครื่องหมายคำพูดออก มันจะเพิ่มความเลื่อนลอยในการพูด ในประโยคพูด นอกจากนี้ หลังจากเขียนแบบนี้ไปสักพัก ทำให้พบว่ามันให้ space ที่สามารถใส่ความรู้สึกอื่นๆ เข้าไประหว่างประโยคพูดได้ เพราะในระหว่างที่เราคุยกัน ในหัวคุณก็คิดเรื่องอื่น จริงไหม คือมันมีหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน คือชอบความรู้สึกที่ว่า ขณะที่เรากำลังแสดงเรื่องนี้ มันก็มีเรื่องอื่นดำเนินอยู่ด้วย เพื่อจะบอกว่าในระหว่างความขัดแย้งทางการเมือง มันก็ยังมีสิ่งอื่นๆ เกิดขึ้น มันยังมีชีวิต ความรัก ความสนุกสนานฯลฯ

สไตล์การเขียนนวนิยายเล่มนี้ไม่ได้เอาเก๋ เป็นนักเขียนต้องมีเอกลักษณ์นะ แต่ไม่ได้ตั้งใจสร้างขนาดนั้น ก่อนหน้าก็ไม่เคยคิดว่าจะได้รางวัล แต่แน่นอนว่าหลังจากได้รางวัล ก็อาจจะมีคนตามรอยมาทางนี้มากขึ้น เขียนงานที่ให้ความรู้สึก หรือใช้ภาษาสวยๆ มากขึ้น

ไทยพับลิก้า: แต่เสียงวิจารณ์ที่ออกมาก็มีทั้งดีและแย่ บางคนบอกว่า ทำไมต้องใช้โวหารฟุ่มเฟือยขนาดนั้น

ธรรมดา คนไทยมีกว่า 70 ล้านคน ถ้าทุกคนชอบหนังสือวีรพร แสดงว่ามีอะไรผิดแล้ว เพราะแต่ละคนมีรสนิยมไม่เหมือนกัน เราต้องการความหลากหลาย เราควรจะทั้งถูกรักและถูกเกลียด

ไทยพับลิก้า: ย้อนไปยุคก่อน จะมีวรรณกรรมที่ใช้ภาษาสวิงสวายจำนวนมาก ทำไมปัจจุบันหายไป

อย่าลืมว่า ภาษาสวิงสวายที่เราพูดถึงกันอยู่ มันอยู่ในวรรณคดี แปลง่ายๆ คือเป็นงานเขียนเพื่อร้อง เพื่อร่าย สำหรับการละครในวัง คือไม่ใช่วัฒนธรรมในระดับชนชั้นกลางหรือล่าง ทำให้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่นวนิยายไส้เดือนตาบอดฯ ก็ไม่ถึงกับใช้ภาษาสวิงสวาย ใช้ภาษาธรรมดาๆ เพียงแต่ค่อนข้างเยอะ แค่นั้นเอง

ในตอนที่ยังอายุน้อยๆ เรียนที่โรงเรียนบดินทรเดชา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่กลางทุ่งนา วันหนึ่งกำลังเดินไปโรงเรียน ก็ได้ยิงทำนองเสนาะ แล้วมีอาจารย์คนหนึ่งกำลังร้อง “กาพย์นางลอย” บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 แล้วเราเดินน้ำตาไหลไม่รู้ตัว ตอนนั้นเป็นตอนแรกที่รู้ว่าภาษามันมีพลังและมีความงาม และหวังว่าเมื่อฉันโตขึ้นจะได้เรียนกับอาจารย์คนนี้ แต่ปรากฏว่าได้เรียนกับอาจารย์คนอื่น แล้วได้เรียนกาพย์นางลอยเป็นร้อยแก้ว ซึ่งน่าเบื่อมาก พระรามร้องไห้แล้วเป็นลม ลุกขึ้นมาร้องไห้แล้วเป็นลม วนอยู่อย่างนี้ ทำให้โหยหาภาษาที่มีความงาม

เมื่อมีโอกาสได้เขียนหนังสือ ก็ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนให้มันสวย ซึ่งถ้าคนไม่ชอบก็ไม่ต้องทำมาหากินด้านนี้ ไปทำอย่างอื่น แต่จะเขียนสวยๆ แบบนี้แหล่ะ ซึ่งมันไม่ได้อยู่ในตลาดการใช้ภาษาแบบนั้นอีกต่อไป เพราะมันหายไปตั้งแต่สมัย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ สมัยสุวรรณี สุคนธา

'รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่มาภาพ: http://www.tuaytoon.com/story.php?type=P&id=39
’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่มาภาพ: http://www.tuaytoon.com/story.php?type=P&id=39

ไทยพับลิก้า: ถ้าจะอ่านไส้เดือนตาบอดฯ ให้ได้อรรถรสที่สุด ควรจะอ่านอย่างไร

จริงๆ มันไม่ใช่หนังสือที่ง่ายนัก คุณแทบไม่สามารถอ่านแล้วทำอย่างอื่นไปพร้อมกัน ซึ่งก็เป็นการออกแบบอย่างหนึ่ง คือเราพบว่าในการอ่านหนังสือ หลายคนมักจะทำอย่างอื่น เช่น เล่นเฟซบุ๊ก ดูทีวี ฟังวิทยุไปด้วย แต่ในไส้เดือนตาบอดฯ ด้วยความเยอะและการเรียงประโยคแบบนั้น ทำให้คุณไม่สามารถทำอย่างอื่นไปด้วยได้ คุณต้องอ่านเพียวๆ อยู่กับฉันคนเดียว นี่คือเรื่องของเรา ซึ่งก็พบว่าเป็นการทดลองที่น่าสนใจเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: ที่น่าแปลกก็คือ ในยุคที่คนชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน หนังสือที่ต้องใช้ความสนใจอย่างหนักเช่นนี้กลับได้รับการตอบรับที่ดีจากคนอ่าน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่เขาแสวงหาความใหม่ การใช้ภาษาแบบสวิงสวายก็เป็นความแปลกใหม่ จากที่เคยเก่าก็กลับมาใหม่สำหรับพวกเขา แล้วส่วนตัวก็พยายามใช้วิธีแบบโพสต์โมเดิร์น (post-modern) มีการตัดคำ กระชาก ทำให้ได้ความรู้สึกใหม่

การอ่านมันควรจะเป็นประสบการณ์มากกว่าแค่เอาความ มันควรจะเป็นประสบการณ์ทั้งคนอ่านและคนเขียน คนเขียนก็ควรจะมีประสบการณ์ที่ดีในการเขียน ไม่ใช่ว่าฉันมีเรื่องอยากจะเล่าก็เล่าไปเรื่อยๆ ถ้าเช่นนั้นไปดูข่าวก็ได้

ปัญหาที่พบกับคนอ่านไส้เดือนตาบอดฯ คือคนอ่านบางคนยังเคยชินกับภาษาอีกแบบหนึ่ง ทำให้อ่านแล้วอาจจะรู้สึกไม่ค่อยชอบ ซึ่งไม่อยากให้นำความเคยชินมาขัดขวางการรับประสบการณ์ใหม่ๆ ก็เหมือนกับการกินอาหารนั่นแหละ แรกๆ คุณกินอาหารญี่ปุ่นก็ถุยเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ปรากฏว่ากินกันเอิกเกริก เพราะเป็นประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากแกงที่คุณรู้จัก เป็นอีกรสชาติหนึ่ง

หนังสือก็ควรจะมีรสชาติของตัวเอง มีกลิ่นเป็นของตัวเอง มีประสบการณ์เฉพาะตัวของตัวเอง

ไทยพับลิก้า: ถามในฐานะคนอ่านบ้าง ช่วงหลังได้อ่านงานของนักเขียนไทยคนไหนบ้าง มีใครที่น่าสนใจบ้างไหม

ชอบงานของจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ (ผู้เขียนรวมเรื่องสั้น อาทิ การเมือง เรื่องเซอร์เรียล, ฮาวายประเทศ) เขามีความใหม่ และมีความลื่นไหลในการเล่าเรื่องแบบของเขา เพราะทันทีที่คุณเริ่มใช้น้ำเสียงของตัวเองได้ เริ่มเล่าเรื่องในแบบของตัวเองได้ มันก็จะลื่นไหล ไม่เหมือนงานของนักข่าวบางคน ที่ไม่ใช่มันไม่ดี แต่มันแข็ง โครงสร้างแน่นหนาเกิน ไม่รู้นะ ส่วนตัวอาจจะชอบงานเขียนที่ไปเรื่อยๆ อย่างไส้เดือนตาบอดฯ ก็ไม่ใช่ว่าออกมาลื่นไหลเลย มันต้องใช้เวลาในการคุ้ยแคะแกะเกา จนมีน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ เล่าเรื่องสบายๆ ซึ่งจิรัฏฐ์ทำได้ดีในเรื่องนี้ เขาเล่าอย่างไม่สนใจเลยว่าคนอ่านจะเป็นใคร มีตัวตนไหม เขาก็จะเล่าแบบของเขา จึงเชื่อว่าเด็กคนนี้จะไปได้ไกล

อีกคนที่น่าสนใจก็คือการะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ (ผู้เขียนนวนิยาย เรื่อง ปริมณฑลแห่งรัก) เพราะเขียนหนังสือดี คำของเขาสะอาด ไม่มีคำเสีย เช่น ที่มักเขียนอย่าง “มีการพบศพคนตาย” ซึ่งไม่ผิดหรอก แต่ไม่เคยมีใครพบศพคนเป็นไง มันผิดโดยความรู้สึก และถูกใช้มาเรื่อยๆ แต่งานของการะเกต์จะไม่มีตรงนี้ มาเรียบๆ แทงคุณเฉยๆ แล้วไปต่อ เขาจะหวดคุณหัวร้างข้างแตกแล้วไปต่อ พออ่านจบบท ไส้ลงไปกองแล้ว

ไทยพับลิก้า: ที่ชอบ เพราะทั้ง 2 คน เป็นนักเขียนที่มีความใหม่ มีความแตกต่าง

ใช่ โดดเด่น มีน้ำเสียงเป็นของตัวเอง ในประเทศเล็กๆ เราต้องการคนทำงานศิลปะที่มีสไตล์ที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่ากลืนเป็นกลุ่มๆ เราไม่ต้องการศิลปินหมู่ ทุกคนทำงานคนเดียว เล่าเรื่องของตัวเอง เพราะเป็นระยะหนึ่งแล้วที่โลกเริ่มมาเป็นส่วนๆ มากันป็นกลุ่มๆ นานๆ ถึงจะเจอแบรนด์ที่มีสไตล์ชัดเจนสักคน

สไตล์ของนักเรียนในยุค ’80 จะค่อนข้างแรง แต่ช่วง 10-20 ปีหลัง กลับออกมาเหมือนกันหมด คำถามคือคุณต้อง deal กับความเป็น mass แค่ไหน คำตอบคือไม่จำเป็นต้อง deal กับทุกคน คุณมีสิทธิแสวงหานักอ่านของคุณ มีสิทธิให้นักอ่านพบนักเขียนในแบบของเขา ไม่ใช่ยัดเยียดให้เป็นแต่แบบเดิม

ไทยพับลิก้า นักอ่านควรจะเป็นคนเดินมาหานักเขียนเอง

เราหากันและกัน บุพเพสันนิวาส (ยิ้ม) มันเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมาก อีกอย่างที่พบ คือบางทีนักเขียนจะไม่ค่อยกังวลว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนอ่านมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เวลาเปิดหนังสืออ่าน มันมีแค่เรา 2 คนในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งที่ฉันพูดจะเข้าไปในหัวคุณ คุณก็รู้ว่าฉันจะพูดอะไร รู้สึกอย่างไร นี่มัน love story ชัดๆ และบางครั้งเมื่อเราได้เจอนักเขียนที่ใช่ มันก็ทำให้เรารู้สึกเดียวดายน้อยลง

การอ่านมันควรจะเป็นประสบการณ์มากกว่าแค่เอาความ มันควรจะเป็นประสบการณ์ทั้งคนอ่านและคนเขียน คนเขียนก็ควรจะมีประสบการณ์ที่ดีในการเขียน ไม่ใช่ว่าฉันมีเรื่องอยากจะเล่า ก็เล่าไปเรื่อยๆ ถ้าเช่นนั้นไปดูข่าวก็ได้

ไทยพับลิก้า: เคยประเมินไหมว่า ทำไมไส้เดือนตาบอดฯ ถึงโดนใจคนจำนวนหนึ่ง ที่มากพอสมควร

หนังสือเล่มอื่นอาจจะมีสไตล์ใกล้ๆ กัน แต่เรายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนแบบที่ไส้เดือดตาบอดฯ ทำ ออกแนวมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้ง ซึ่งงานของ ’รงค์ หรือประมูล ก็ยังไม่มุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งขนาดนี้

ไทยพับลิก้า: เคยเป็นคนนอกวงการนักเขียน พอได้มาเป็นคนใน และมีรางวัล เจออะไรที่ต่างจากที่คิด

เคยมีคนพูดว่า ถ้าชอบหนังสือของใคร ไม่ควรจะไปทำความรู้จักนักเขียน พูดง่ายๆ คือ นักเขียนไม่เหมือนหนังสือเขาหรอก ซึ่งส่วนตัวไม่เชื่อ แต่พอเจอกับตัว เขียนหนังสือได้อบอุ่นนุ่มนวลมาก แต่ตัวจริงกลายเป็นคนหยาบคาย หรือบางคนคิดว่าจะใจดีกว่านี้

วีรพร นิติประภา

ไทยพับลิก้า: สมมติถ้าคนอ่านมาเจอวีรพร แล้วบอกว่าไม่เหมือนที่คิดเลย จะอธิบายกันเขาว่าอย่างไร

ก็จะบอกว่า นี่คือตัวตนที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้

แต่ก็มีนักเขียนบางคนที่ขี้แอกต์ ยังคิดอยู่ว่าจะแอกต์ไปทำไม เพราะหนังสือมันฟ้อง เปิดหนังสือมาอ่าน คุณฉลาดแค่ไหนก็แค่นั้น การแอกต์ไม่ได้ช่วยทำให้หนังสือคุณฉลาดขึ้น

อีกเรื่องที่พบคือนักเขียนมักจะมีอีโก้ ซึ่งก็เข้าใจนะ คนที่เขียนหนังสือคนเดียวเป็นปีๆ ถ้าไม่มีอีโก้ คิดว่ากูเจ๋ง มันเขียนไม่จบหรอก ทำไม่ได้ เป็นอาชีพที่ทุรกันดารพอสมควร บางทีก็เกิดเป็นชนขั้นนักเขียนขึ้นมา

ไทยพับลิก้า: อะไรคือ “ชนชั้นนักเขียน” อยากให้ช่วยขยายความ

คือ ถ้าคุณรู้สึกว่าเป็นคนที่เหนือกว่า ก็จะเขียนงานในเชิงสั่งสอน ยกตนข่มท่าน ซึ่งถ้าสังเกตไส้เดือนตาบอดฯ จะไม่มีลักษณะอย่างนั้น หลายคนมาถามว่าหนังสือเล่มนี้จะให้อะไรกับสังคม ก็มักจะตอบไปว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เขียนค่านิยม 12 ประการ ได้-ไม่ได้อะไรก็เรื่องของคุณ (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า: เอาเข้าจริง การที่มีคำถามลักษณะนี้ ก็สื่อให้เห็นว่า สังคมไทยมองว่าหนังสือต้องให้อะไรกับสังคม

อาจจะแค่อ่านขำๆ ก็ได้ หรืออาจจะไม่มีหน้าที่เลยก็ได้ มันก็แค่การแชร์ประสบการณ์ของคนคนหนึ่ง อย่างไส้เดือนตาบอดฯ แน่นอนว่าวีรพรไม่ได้ปรากฏกายในนั้น แต่ทั้งหมดก็ต้องผ่านสมองน้อยๆ ของวีรพรออกมาสู่ผู้อ่าน แล้วผู้อ่านก็จะได้ละเลียดชีวิตของวีรพรอยู่ดี

ไทยพับลิก้า: ในปัจจุบัน นักเขียนยังเรียกว่าเป็นอาชีพได้ไหม

ไม่ เขาว่ากันว่านักเขียนเป็น “งาน” ไม่ใช่ “อาชีพ” เหตุที่ไม่ใช่ เพราะคุณไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้จากงานนี้ มันยากเกินไป รายได้มันน้อยเกินไป เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่คุณจะเห็นนักเขียนมีอาชีพเป็นบรรณาธิการ เป็นคนตรวจสอบ หรือมีอาชีพอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย

ไทยพับลิก้า: ชีวิตนักเขียน แต่ละวันทำอะไร

รับจ้างออกงานค่ะ (หัวเราะ) คือมานั่งสัมภาษณ์อย่างนี้ทุกวี่ทุกวัน หมายถึงตั้งแต่ซีไรต์ประกาศนะ อาจจะไปเสวนาที่นั่นที่นั่นที่นี่บ้าง แต่รายได้หลักๆ จะมาจากยอดขาย ช่วงนี้ออกงานบ่อยจนไม่ได้เขียนอะไรมาหลายสัปดาห์แล้ว

ไทยพับลิก้า: ขนาดคนที่ได้รางวัลซีไรต์ยังบอกว่า เขียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำอาชีพอื่นด้วย

ตอนที่ยังไม่ได้ซีไรต์สิ ถ้าได้ซีไรต์ คุณก็จะได้ยอดพิมพ์ที่หรูหราพอสมควร และชวนให้รู้สึกผิดที่คนอื่น ซึ่งจริงๆ ก็เขียนดีแบบของเขา แต่เขาไม่ได้ถูกเลือก จริงๆ ทุกอย่างมันก็เป็นความเห็น ซีไรต์ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง เป็นแค่ความเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ให้กับคนคนหนึ่ง แต่เมื่อมีความเห็นนี้มา ยอดพิมพ์ก็จะผุดขึ้นมา และอยู่ต่อไปได้อย่างน้อยอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ต้องไปทำงานจับกัง ขายหมูปิ้ง อะไรอย่างนี้ เธอสามารถเขียนหนังสือได้แล้ว วีรพรมีรายได้จากหนังสือ 10% ของราคาบนหน้าปก หรือ 18 บาท/เล่ม สมมติขายได้หลักหมื่นเล่ม ก็จะมีรายได้หลายแสนบาท ถ้าใช้ดีๆ จะอยู่ไปได้ประมาณ 2 ปี แต่นักเขียนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รางวัล จะมีรายได้จากยอดขายหนังสือไม่มาก ถ้าไปเขียนบทความลงตามสื่อนิตยสารต่างๆ ก็จะได้ค่าเรื่องอยู่ที่ 1-3 พันบาทต่อเรื่องเท่านั้น

นักเขียนจึงเป็นอาชีพที่ทารุณใช้ได้ และถ้าไม่มีรางวัลใดๆ จะอยู่ยากมาก จึงไม่แปลกใจที่จะมีงานเขียนแบบวินทร์ แบบปราบดา เพราะทุกคนต้องอยู่รอด ไม่เกี่ยวกับว่าเขาทำอะไรซ้ำซาก หรือต่อให้นักเขียนคนไหนจะบอกว่า เขาไม่อยากได้รางวัล เขาก็ต้องอยากได้รางวัล ไม่เช่นนั้นคงไปทำอย่างอื่นแล้ว เพราะถ้าเทียบกับรายได้อื่น อย่างสมัยทำงานในเอเจนซี่โฆษณา งานแค่ขนาดเอสี่ชิ้นเดียวก็ได้ตั้ง 1.5 หมื่นบาทแล้ว โดยไม่ต้องมีรางวัลอะไรด้วย

ไทยพับลิก้า: นักเขียนในปัจจุบันถือว่าอยู่ยากขึ้นไหม ท่ามกลางกระแสว่าเดี๋ยวสิ่งพิมพ์ก็จะล้มหายตายจากไปหมดแล้ว

มันยากมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ใช่แค่ในสมัยนี้ เห็นได้จากคำพูดที่ว่า “นักเขียนไส้แห้ง” จึงไม่คิดว่านักเขียนจะอยู่ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะมันมีคนอ่านอยู่เสมอแหละ แต่จะอ่านในรูปแบบไหน หนังสือ อีบุ๊ก หรือบนโซเชียลมีเดีย มันก็ต้องไปตามทรัพยากรและความไว ยิ่งสมัยนี้มีนักเขียนอินเทอร์เน็ต ที่เขียนเดี๋ยวนี้ พอกดเอนเทอร์ปุ๊บ มันแพร่กระจายไปครั่งโลกทันที ในขณะที่นักเขียนรุ่นเก่าๆ ยังต้องส่งให้บรรณาธิการก่อน บรรณาธิการขออ่าน 7-10 วัน ตามกระบวนการ กว่าจะออกมาเป็นเล่มก็ใช้เวลาครึ่งปีเป็นอย่างน้อย ขณะที่พวกนักเขียนหรือกวีอินเทอร์เน็ต จะทำอะไรได้คล่องกว่า แต่ยังไม่แน่ใจว่าพวกนี้มีรายได้มาจากไหน

เชื่อว่ายังไงก็มีคนอ่านเสมอ และจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่รูปแบบไหนเท่านั้น

ไทยพับลิก้า: แม้เทคโนโลยีการสื่อสารจะเปลี่ยนไป แต่แก่นความเป็นนักเขียน-นักอ่าน ยังไม่ได้สลายไป

แก่นความเป็นมนุษย์ยังเหมือนเดิม ไม่ใช่คนทุกคนอยากจะคุยกับคนทุกคน คนบางคนก็อยากคุยกับหนังสือ อยากคุยกับความคิดใหม่ๆ

ท้ายที่สุด มันก็เหมือนดูภาพยนตร์ ทำไมคนชอบดูภาพยนตร์ เพราะคุณใช้ได้แค่ชีวิตเดียวไง พอคุณใช้ได้แค่ชีวิตเดียว การดูภาพยนตร์มันคือการใช้อีกชีวิตหนึ่งที่ในชีวิตจริงคุณไม่มีโอกาส รักผู้หญิงที่คุณไม่มีโอกาสรัก สู้กับมนุษย์ต่างดาวที่คุณไม่มีโอกาสเจอ มันคือประสบการณ์การชั้น 2 เป็นอย่างนั้นมากกว่า