ThaiPublica > คนในข่าว > ไส้เดือน “วีรพร นิติประภา” ในเขาวงกต “วรรณกรรม” (1): ด้วยรัก มายาคติ และความขัดแย้ง

ไส้เดือน “วีรพร นิติประภา” ในเขาวงกต “วรรณกรรม” (1): ด้วยรัก มายาคติ และความขัดแย้ง

16 ธันวาคม 2015


วีรพร นิติประภา
วีรพร นิติประภา

ก่อนประกาศผลการประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ “ซีไรต์” ประจำปี 2558 ประเภทนวนิยาย

น้อยคนในแวดวงการอ่านเขียน จะรู้จักคนชื่อ “วีรพร นิติประภา”

หลังได้รับรางวัลซีไรต์ ในเดือนตุลาคม 2558 (ที่หนังสือพิมพ์บางฉบับบอกว่าเธอเป็น “ม้ามืด”) หลายคนรีบไปซื้อนวนิยายของเธอมาอ่าน บ้างชื่นชอบสำนวนภาษาอันสดใหม่ บ้างข้องใจว่าเหตุใดถึงต้องใช้พรรณนาโวหารอย่างฟุ่มเฟือย บ้างเร่งเร้าให้เธอเขียนเล่มใหม่ไวๆ (ซึ่งเธอบอกว่าเขียนใกล้จบแล้ว) แต่บ้างตั้งมั่นในใจว่าเล่มนี้จะเป็นเล่มแรกและเล่มสุดท้าย

เหตุใด นวนิยายรักน้ำเน่าเพียงเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นนวนิยายเล่มแรกของผู้เขียน ที่เริ่มเขียนเมื่ออายุสี่สิบปีปลายๆ ถึงได้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่าง-หลากหลาย เช่นว่า

“ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” มีเนื้อหาว่าด้วยอุดมคติและมายาคติของสิ่งที่เรียกว่า “ความรัก” ที่ตั้งใจสะท้อนให้ผู้อ่านกลับไปทบทวน “มายาคติ” ทั้งหลาย ที่ครอบคลุมสังคมไทยอยู่ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา

“ไส้เดือนมันจะรู้มั้ย…/รู้อะไร…/ก็รู้ว่ามันตื่นอยู่หรือเปล่าน่ะสิตอนมันขุดดินน่ะ/ตัวของมัน มันน่าจะรู้นะ/แต่หนูเคยนอนละเมอด้วย” คือเนื้อหาในหนังสือที่เธอคว้ามาอ่าน เมื่อเราถามว่า ใครคือไส้เดือน และหลงอยู่ในเขาวงกตอะไร

ความขัดแย้งในสังคมไทย ที่ขมวดตัวมานานกว่า 10 ปี พาเราไปไกลกว่าจุดเริ่มต้นเป็นอันมาก คล้ายกับหลงอยู่ในเขาวงกตที่ซับซ้อนกว่าที่คาด และยากที่จะตอบได้ว่าปลายทางคือสังคมไทยที่พวกเราต้องการจริงหรือไม่

“เราน่าจะคุยกันว่า เราจะอยู่กันอย่างไรมากกว่านะ” วีรพรเริ่มต้นบทสนทนาเช่นนี้ บ่ายวันหนึ่งที่ร้านกาแฟ ในซอยสุขุมวิท 33

ก่อนที่เรื่องราวจะลื่นไหลไปกับคำถามและคำตอบ ว่าด้วยชีวิตหลังซีไรต์ การย่ำอยู่กับที่ของแวดวงวรรณกรรมไทย ไปจนถึงชีวิตนักเขียนไทย ในยุคที่คนอ่านหนังสือมีน้อยลง

ไทยพับลิก้า: ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากได้รางวัลซีไรต์

ชีวิตมันมี 2 ด้าน ชีวิตภายนอกกับชีวิตภายใน ชีวิตภายในก็เหมือนเดิมนะ มันไม่ได้เปลี่ยนไปได้เพราะคุณได้รางวัลหรือได้อะไร ไม่รู้สึกนะ แต่ว่าชีวิตภายนอกก็ยุ่งเหยิงอีนุงตุงนัง จากเดิมออกจากบ้านเดือนละครั้งกลายเป็นออกทุกวัน มีกล้องส่องหน้าตลอดเวลา มีคนทักตามถนน ตื่นเต้นก็ไม่เชิง จะว่าอายก็ไม่ใช่ เหมือนว่าอยู่ๆ ก็มีคนเข้ามาสนใจ แต่ภายในเหมือนเดิม คือไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่ได้รู้สึกว่าเปลี่ยนเป็นคนอีกคนหนึ่ง หลังจากได้รางวัล หรือว่าเป็นคนสำคัญขึ้น หรือน่าสนใจขึ้นจริงๆ

ไทยพับลิก้า: เนื้อหาในไส้เดือนตาบอดฯ ว่าด้วย “มายาคติ” ของความรัก สำหรับตัวคุณวีรพร “มายาคติ” คืออะไร

สิ่งที่คุณคิดว่าเป็นแล้วไม่ได้เป็น มายาคติหมายถึง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คุณเกิดมาปุ๊บ คุณก็มีป้ายติดข้อมือว่าเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง ในขณะที่การที่เป็นเด็กชาย-ผู้ชาย เด็กหญิง-ผู้หญิง ของคุณนั้น มันคือความรู้สึกนึกคิด ในตอนที่คุณเกิดคุณยังไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่คุณก็ถูกติดป้ายแล้ว แล้วป้ายนี้ก็จะติดตัวคุณไปเรื่อยๆ เรื่องดังกล่าวนี้ยังโอเคในระดับคนทั่วๆไป จนกระทั่งฉันตัดสินใจว่าจะไม่เป็นแบบป้ายที่มีคนติดให้ขึ้นมา เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันก็จะเกิดความขัดแย้ง เพราะปัจจุบันอยู่ในโลกสมัยใหม่ คุณก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะเป็นหรือไม่เป็นอย่างป้ายที่มีคนติดมาให้

แต่เราพูดกันถึงในหลายๆ อย่าง เช่น วีรพรคิดว่าตัวเองเป็นนักเขียน แต่อีกนัยหนึ่งตอนอยู่ที่บ้านเธอก็เป็นเมียและเป็นแม่ อยู่กับแมวเธอก็เป็นทาส นึกออกไหม มันก็ขึ้นอยู่กับว่าอยู่กับอะไรด้วย คนเรามีสิทธิ์สถานะ 20-30 สถานะ แต่มายาคติคือสิ่งที่กำหนดการรับรู้ของคนในวงกว้าง

วีรพรคือนักเขียน แต่ว่าเวลาไปเดินตลาด เธอไม่ได้เป็นนักเขียนแล้วนะ หรือว่าเวลาอยู่หน้าคอมพ์ เธอก็ไม่ได้เป็นนักเขียนแล้วเหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: แต่ป้ายที่สังคมติดให้คุณวีรพร “นักเขียนมือรางวัลซีไรต์” ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงภายนอกอย่างไร คิดว่าทำให้สิ่งที่ตัวเองอยากเสนอมีพลังขึ้นหรือไม่

ไม่เคยคิดว่านักเขียนมีหน้าที่ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้คิดว่าการเขียนหนังสือหนึ่งเล่มจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แม้กระทั่งจะได้รางวัลโนเบลก็เถอะ เพราะส่วนตัวเขียนด้วยความรู้สึกคับข้องขุ่นข้องหมองใจ จึงต้องเขียนเพื่อบำบัดใจตัวเอง มันเหมือนมีคำถามออกไปมากกว่า ส่วนคำถามนี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไหม ไม่ทราบ มันไม่ใช่เรื่องที่นักเขียนจะคาดหวังได้

ไทยพับลิก้า: คนชื่อวีรพรตั้งคำถามอะไรกับสังคมไทยหรือสิ่งรอบๆ ตัวในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เคยพูดหลายครั้งมาก เรื่องของเหตุการณ์ปี 2553 ที่มีการล้อมปราบผู้ชุมนุม แล้วมีคนตาย แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่มีมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้มีคนตายมากมาย แม้จะรู้สึกว่าการตายเป็นธรรมดา แต่ที่แย่จริงๆ คือมีคนดีใจที่มีคนตาย แน่นอน อีกฝ่ายก็ดีใจที่มีอีกฝั่งตายด้วย แม้จำนวนไม่มากเท่า มันเป็นการยินดีในความตายของคนที่ไม่รู้จักกัน เป็นสิ่งที่น่ากลัว มันแสดงถึงความเป็นมนุษย์ของเรา เป็นมนุษย์ชนิดไหน ยังเป็นมนุษย์อยู่ไหมที่จะยินดีกับความตายของคนที่ไม่รู้จักกัน คุณได้กระทำบางอย่างใช่ไหม ดังนั้นคุณสมควรตาย จบ

เรื่องนี้ คิดว่าเพียงพอที่เราจะตั้งคำถาม เพียงพอที่จะขุ่นข้องหมองใจ ในความเป็นจริงเราน่าจะทึ้งผม วิ่งแก้ผ้า เอาหัวโขกกำแพงด้วยซ้ำ ในสังคมแบบนี้ ในสถานการณ์แบบนี้ เราควรจะรู้สึกมากขนาดนั้นด้วยซ้ำ

ไทยพับลิก้า: สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากมายาคติด้วยหรือเปล่า คือไปมองว่าถ้าเป็นสีตรงข้ามชั้นตายไม่เป็นไร

ดังนั้น ฉันจึงเขียนไงว่าเราถูกครอบงำด้วยอะไรบ้าง แต่แน่ละ ในความขัดแย้งมันมีอะไรมากกว่านั้น มันมีมิติมากกว่ามายาคติ มันมีมากมายก่ายกอง มากกว่าหนังสือ 250 หน้า แต่เราทำได้แค่นี้ คือโฟกัสไปที่มายาคติ แล้วก็ไม่ใช่แค่มายาคติเฉยๆ แต่เป็นมายาคติที่มีอุดมคติและอคติ คนมักจะพูดว่าบ้านเมืองเราแตกแยกเพราะว่าเรามีอคติต่อกัน แต่คิดว่าไม่ใช่ อุดมคติต่างหากที่พาเราจากกัน

เวลาพูดถึงสังคมประชาธิปไตย ฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์ ฯลฯ คุณจะพูดถึงสังคมแบบไหนก็แล้วแต่ มันคือรูปแบบการปกครองที่สามารถนำมาถกเถียงกันได้ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติ แต่คำถามก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เราเสียเพื่อน เสียคนในครอบครัว เรานั่งอยู่ใกล้ๆ กัน เคยเป็นเพื่อนตาย แต่กลับคุยกันไม่ได้แล้ว มันเพราะอะไร จะไปแยกขาวหรือดำ แล้วบอกว่าถ้าเลือกสีไม่ตรงกับฉัน ฉันไม่คุยด้วย เป็นไปได้อย่างไร มันมี fifty shade of grey มีคนที่อยู่ตรงกลางมากมาย แต่เราไม่คุยกัน เพราะอุดมคติทางการเมือง

การเมืองมันเป็นเรื่องกระจอกนะคุณ มันเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดที่คนจะขัดแย้งกัน เราควรจะไปขัดแย้งกันเรื่อง…เธอแย่งสามีฉัน ฉันก็เลยตบตีเธอ เหมือนในละคร ยังจะมีสาระมากกว่าเรื่องการเมือง

เราควรจะมาหยุดถกกันว่า เราต้องการสังคมอุดมคติแบบไหน แล้วหันมาดูว่าเราจะอยู่กันอย่างไรมากกว่า หรือย้อนกลับไปดูว่าเราเคยอยู่ร่วมกันอย่างไรมากกว่า ในสมัยที่เรายังไม่มีจุดยืน อุดมการณ์ คุณธรรม และวาทกรรมล้านแปด

ถ้าไปอ่านหนังสือตอนนี้จะเห็นวาทกรรมอะไรค่อนข้างเยอะ วาทกรรมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะมันสั้น ห้วน คลุมเครือ ต้องใช้เวลาอธิบายหลายหน้า แต่กลับถูกใช้เยอะมาก “คนเท่ากัน” “ลูกจีนกู้ชาติ” อธิบายเป็นวันกว่าจะเข้าใจ แต่มันถูกใช้ด้วยความคลุมเครือของมัน แล้วคุณจะรู้สึกว่าเป็นพวกกันแต่คนอื่นไม่ใช่

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
หน้าปกของนวนิยาย “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” เขียนโดยวีรพร นิติประภา ที่มาภาพ: http://readery.co/9789740212225

ไทยพับลิก้า: คนกลับไปตบตีกันเรื่องวาทกรรม แทนที่จะคุยกันเรื่องแก่น

ใช่ แต่จริงๆ แก่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาถกเถียงกันอีกต่อไป คือต้องหาวิธีทำอย่างไรให้เราอยู่กันได้ ไปกินข้าวด้วยกัน เราเลือกอาหารไทย คุณเลือกอาหารจีน เราก็ยอมไปกินอาหารจีนกับคุณ เราเคยอยู่กันแบบนั้น ไม่รู้ว่าเมื่อไรที่กลายเป็นว่า เราต้องการอะไรแล้วต้องได้เสมอ คุณไม่เห็นหรือว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ แล้วเราจะอยู่ต่อกันไปอย่างไร ในฐานะชนชาติหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ขุ่นข้องหมองใจ และสงสัย

ไทยพับลิก้า: ย้อนกลับไปเรื่องงานเขีนน นวนิยายไส้เดือนตาบอดฯ เป็นงานเขียนชิ้นแรก แล้วใช้เวลาเขียนถึง 3 ปี ระหว่างนั้น
ได้ปฏิสัมพันธ์กับตัวเองอย่างไรบ้าง ถึงออกมาเป็นงานชิ้นนี้ได้

ไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กับตัวเองเท่าไร คิดว่าปฏิสัมพันธ์ไปกับตัวละครมากกว่า เพราะส่วนตัวมองว่าตัวละครคือสิ่งที่เราเลือกให้เขามีชีวิตแล้วโลดแล่นไปด้วยตัวของเขาเอง คุณทำได้แค่หยอดสถานการณ์ลงไปแล้วดูว่าเขาจะตอบโต้กับมันอย่างไร และท้ายที่สุด เขาได้ตอบโต้สอดคล้องกับตอนต้นไหม มันไม่สามารถเป็นโจทก์สำเร็จรูปได้ นักเขียนคนอื่นจะทำงานอย่างไร ไม่รู้ สำหรับตัวเองเป็นแบบนั้น

การเมืองมันเป็นเรื่องกระจอกนะคุณ มันเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดที่คนจะขัดแย้งกัน เราควรจะไปขัดแย้งกันเรื่อง…เธอแย่งสามีฉัน ฉันก็เลยตบตีเธอ เหมือนในละคร ยังจะมีสาระมากกว่าเรื่องการเมือง

ไทยพับลิก้า: สถานการณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อตัวละครอย่างไร

ไม่มาก เพราะตัวละครที่วางไว้ยังโฟกัสอยู่เรื่องเดียว คือความรักกับมายาคติของความรัก ที่เลือกเล่าเกี่ยวกับความรัก เพราะมันเป็นอุดมคติที่ปกป้องเราไว้จากความเกลียดชัง ปกป้องเราไว้จากความเสื่อมทราม แถมยังเป็นมายาคติที่เราจับต้องได้ ถึงขนาดมีคนเขียนนวนิยายว่าคุณชายขับรถไฟชนแม่ค้าสบตากันแล้วรักกันแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงมันก็เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นเสมอ คุณรักคนที่คุณไม่สมควรเสมอแหละ

ดังนั้น ความรักจึงเป็นทั้งอุดมคติและมายาคติที่เราจับต้องได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึง สักวันหนึ่งเราอาจจะรักคนที่ใช่หรือไม่ใช่ อาจจะพบกับ happy ending ได้พอๆ กับโศกนาฎกรรม

ไทยพับลิก้า: กำลังพูดถึงความรักในเชิงส่วนตัว หรือเชิงสังคม

นี่โฟกัสเฉพาะเพศตรงข้ามก่อน เรื่องสังคมจะไม่พยายามไปแตะต้อง เพราะในที่สุดเราจะไปจบที่ความขัดแย้งอีก เรารักคนหน้าหล่อ เรารักคนหน้าเหลี่ยม เลยจะไม่ไปพูดถึงระดับนั้น ที่พูดคือเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องของปัจเจกที่แตะต้องได้

ไทยพับลิก้า: เชื่อไหมว่า ความรักระดับปัจเจกสามารถเขย่าระดับสังคมได้

ถ้าคุณเข้าใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คุณเข้าใจทรายเม็ดหนึ่ง คุณก็เข้าใจทั้งชายหาด ทั้งทะเลทราย คุณไม่ต้องเข้าใจทะเลทรายเพื่อเข้าใจทรายเม็ดหนึ่ง เราเริ่มจากตรงนี้ก่อน

ยอมรับว่าพยายามค่อนข้างเยอะในการพูดเรื่องความรัก ในระดับที่ง่ายที่สุด ตรงใจที่สุด และเป็นมนุษย์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพราะพบว่า คนเรามองสิ่งอื่นมากเกินไป มองสังคมด้วยอุดมคติหรือความขัดแย้ง มากกว่าจะไปด้วยสามัญสำนึกเรื่องความเป็นมนุษย์ ว่าเราจะอยู่ร่วมกันแบบไหน เพราะถ้ามองแบบหลัง เรื่องก็จะง่าย “ฉันอยากเป็นเพื่อนเธอ ฉันอยากรักเธอ ฉันอยากให้เราอยู่ด้วยกัน” เรื่องมันจบนานแล้ว แต่คุณกลับไปมองสิ่งที่ใหญ่กว่านั้นมาก หรือถูกทำให้ใหญ่กว่านั้นมาก ซึ่งเราไม่รู้ว่าใหญ่อย่างนั้นจริงๆ เหรือเปล่า

แต่เมื่อคุณไปถึงระดับนั้น คุณก็ลืมสามัญสำนึกและความเป็นมนุษย์

ไทยพับลิก้า: ความรักทำให้คนไม่เป็นมนุษย์หรือ?

มายาคติต่างหาก ความรักไม่เกี่ยว ความรักอาจเป็นเรื่องไร้สาระกว่าที่คุณคิดก็ได้ ความรักไร้สาระเสมอในเวลาที่คุณเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ ต่างกับเมื่อสมัยอายุ 16-17 ที่แค่เดินผ่านแล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย รักเลย แต่พอโตขึ้น คุณก็มีระบบคิดอีกแบบ สิ่งที่พูดคือมายาคติที่มาพร้อมกับความรัก ไม่ใช่ความรักโดยตัวมันเอง

ความรักมีมายาคติ ความเกลียดมีมายาคติ สิ่งเหล่านี้ต่างกัน

คำถามก็คือ กี่ครั้งแล้วที่คุณรู้สึกเศร้าเพราะฝนตก เป็นเพราะภาพยนตร์ที่คุณดูใช่ไหม ทุกครั้งที่พระเอกเลิกกับนางเอกต้องฝนตก ทำให้เวลาเห็นฝนตกคุณจะรู้สึกเศร้าอย่างกับเลิกกับแฟน กี่ครั้งแล้วที่คุณเป็นแบบนี้ ฝนตกมันไม่เศร้าหรือ ฝนตกอาจจะเศร้าด้วยตัวมันเองก็ได้ เพราะถ้าไม่เศร้าด้วยตัวมันเอง มันคงไม่ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ตั้งแต่ต้น คำถามก็คือชีวิตของคุณทุกวันนี้ ถูกครอบงำด้วยอะไรบ้าง

ไทยพับลิก้า: แม้จะเขียนเรื่องความรัก เรื่องปัจเจก แต่เจตนาต้องการให้สะท้อนภาพใหญ่กว่านั้นใช่ไหม

สังคมก็เต็มไปด้วยเรื่องปัจเจก ปัจเจกมากกว่าหนึ่งก็คือสังคม ในทุกๆ อย่างเราหนีความเป็นมนุษย์ของเราไม่พ้น คำถามก็คือแล้วทำไมสามัญสำนึกของเราไม่ทำงาน ความเป็นมนุษย์ของเราบกพร่องได้อย่างไร ในขณะที่คุณดีใจที่มีคนซึ่งคุณคิดว่าอยู่อีกฝั่งตาย แต่ด้านหนึ่ง คุณกลับเก็บหมาแมวมาเลี้ยง ทำบุญ ทำดีกับเพื่อนคุณ มีเมตตากับคนที่ด้อยกว่า หรือปกติคุณจะเกลียดแค่คนฝั่งตรงข้ามเท่านั้นเอง

มันอยู่ในหัวเดียวกันนะคุณ (ขึ้นเสียงสูง) มันทำให้คุณบ้าได้นะ หรือถ้าคุณยังไม่บ้า คำถามก็คือ การที่คุณยินดีที่มีคนไม่รู้จักเสียชีวิต มันอาจทำให้ต่อไปคุณเฉยเมยได้บางเรื่อง แม้คุณจะไม่ได้ออกไปฆ่าเอง แต่คุณปล่อยให้มีการฆ่าเกิดขึ้น ความยินดีของคุณจะส่งผลให้เกิดการกระทำเช่นนี้ต่อไป ไม่จบไม่สิ้น

ดังนั้น มันจึงควรค่าแก่การตั้งคำถามว่าเราอยากมีสังคมที่ศิวิไลซ์แบบไหนเสียด้วยซ้ำ

ไทยพับลิก้า: หลังจากที่เกิดความขุ่นข้องหมองใจ จนต้องเขียนเพื่อเยียวยาหัวใจตัวเอง กระทั่งชิ้นงานออกมาและได้รับรางวัล หลังจากนั้นได้รับคำตอบจากคำถามเดิมบ้างหรือเปล่า หรือเกิดคำถามใหม่ๆ ขึ้นบ้างไหม

ไม่เลย ยังไม่ได้คำตอบ และไม่คิดว่าเราจะได้คำตอบนี้ง่ายดายนักในความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศนี้เคยมีมา และไร้สาระที่สุด ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่ขัดแย้งกับเรื่องศาสนา เชื้อชาติ ที่มันรุนแรงกว่านี้ และไม่สามารถรอมชอมได้เลย ขณะที่บ้านเราเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระจอกและไร้สาระ

แม้สถานการณ์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาจจะดูนิ่งลง แต่ก็ยังไม่เห็นว่าจะได้คำตอบอะไร เพราะแม้จะนิ่งลงแล้ว แต่ก็ยังมีการบอกว่าคนนั้นสีอะไร คนนี้สีอะไร อยู่ตลอด เรื่องนี้มันยังคงอยู่ และคาดเดาไม่ได้ว่าจะลงลึกไปอีกไหม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามันไม่ใช่เรื่องของฝั่งการเมืองด้วยซ้ำ และจริงๆ เราก็บอกไม่ได้ว่ามันมีแค่ 2 ฝั่งหรือเปล่า มันยังมีฝั่งที่คุณมองไม่เห็นอยู่ไหม หรือแท้จริงไม่มีอะไรหรอก แค่อยากมาตีกัน

เมื่อคำถามมันแยกย่อยขนาดนั้น มันซับซ้อน ฉันเกลียดขี้หน้ามัน ก็ตีมันเลยก็แล้วกัน มันอยู่สีหนึ่ง ฉันอยู่อีกสี ก็ฆ่ามันๆๆๆ ความขัดแย้งที่ผ่านมา มันอาจจะเหลืออยู่แค่นี้ก็ได้ เพราะเรามาไกลเกินไปจนทุกอย่างมันคลุมเครือและซ้อนทับกัน 10 ปีผ่านมาแล้วนะ บาดแผลมันเปิดจนไม่สามารถชี้นิ้วไปบอกได้ว่าใครถูกใครผิด เพราะมันผิดเท่าๆ กัน และถูกเท่าๆ กัน รวมถึงไม่มีการทำอะไรเลยเท่าๆ กัน และเฉยเมยเท่าๆ กัน

ไทยพับลิก้า: ตอนเกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ขณะนั้นกำลังทำอะไรอยู่ และอยู่ตรงไหนของการเมือง

ไม่ได้ทำอะไร ก็เขียนหนังสือ เป็นแม่บ้านทั่วไป ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมที่ไหน ไม่ได้สนใจที่จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใครเขา เพราะคิดมาเสมอว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องกระจอก เดี๋ยวก็เปลี่ยนข้าง เดี๋ยวมันก็ฟัดกัน ฟัดกันเสร็จ คนไหนชนะ ก็อยู่ข้างนั้น คิดแค่นั้นแหล่ะ ไม่ได้คิดว่าจะไปอยู่ข้างไหน หรือข้างไหนดีกว่าข้างไหนเลย

(ติดตามตอนต่อไป ไส้เดือน “วีรพร นิติประภา” ในเขาวงกต “วรรณกรรม” (2): ชีวิตนักเขียนในวันที่คนเริ่มไม่อ่านหนังสือ)