ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าทึกทักความเห็นพ้องจากคนอื่น

อย่าทึกทักความเห็นพ้องจากคนอื่น

19 ธันวาคม 2015


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

แม่ครัวที่ชอบกินเค็มมักปรุงอาหารออกเค็มเสมอ เช่นเดียวกับคนชอบดนตรีประเภทไหนก็มักจะทึกทักว่าคนอื่นก็ชอบดนตรีประเภทเดียวกับตน สำหรับคนบางกลุ่มไปไกลถึงขนาดเห็นว่าคนที่มีรสนิยมไม่เหมือนกับตนเป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่นเอาด้วยซ้ำ ปรากฏการณ์นี้มีส่วนทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ จนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

มนุษย์ทุกคนที่ทำงานต้องเคยทำอะไรผิดพลาด ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ทุกคนล้วนเคยตัดสินใจผิดพลาดมาด้วยกันทั้งนั้น ถ้าเป็นกระทำหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดซึ่งมีผลกระทบไม่มากต่อผู้อื่นและตนเองแล้ว ความผิดพลาดเช่นนี้ก็ไม่กระไรนัก แต่ถ้าหากผิดพลาดแล้วก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างไกลแล้วก็จะเป็นปัญหาอย่างมาก

ขึ้นรถเมล์ผิดสาย ลืมเอาพาสปอร์ตติดตัวไปสนามบิน ซื้อของราคาแพงกว่าความเป็นจริง ถูกต้มตุ๋นเงินไม่มาก ขับรถหลงทาง ฯลฯ เหล่านี้ไม่น่ากลัวแต่ถ้าเป็นการเลือกคู่ผิดพลาด ใช้ยาเสพติด คบโจร ได้โอกาสทองเรียนหนังสือแต่เกเร เข้าใจผิดว่าตนเองเก่งกว่าความเป็นจริงจนมีพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อตนเอง ทึกทักว่าความคิดของกลุ่มตนนั้นถูกต้อง ส่วนของคนอื่นผิดเสมอ นโยบายผิดๆ ที่รัฐเลือกให้นี้ถูกต้องแน่นอน ฯลฯ ความผิดพลาดเช่นนี้ทำความเสียหายได้รุนแรง

Rolf Dobelli ในหนังสือชื่อ “The Art of Thinking Clearly” (2013) เรียกปรากฏการณ์ที่ทึกทักว่าคนอื่นต้องเหมือนตน และไปไกลถึงกับว่ากลุ่มตนนั้นถูกต้องเสมอว่า “false-consensus effect”

ถ้าถามคนทั่วไปว่าชอบดนตรีสมัยยุค 80 หรือ 60 ก็มักได้คำตอบที่เป็นไปในลักษณะที่คนชอบดนตรีสมัยไหนก็คิดไปโดยอัตโนมัติว่าคนอื่นชอบเหมือนกลุ่มตนด้วย มนุษย์เรามักประเมินความเป็นเอกฉันท์เกินความจริงเช่นนี้อยู่บ่อยๆ

false-consensus effect หรือผลที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เข้าใจความเห็นพ้องอย่างผิดพลาดเกิดขึ้นกับพรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ NGOs จนทำให้ประเมินความนิยมที่คนอื่นมีต่อกลุ่มของตนเองเกินความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ ตัวอย่างก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศ ผู้คนทั่วไปมักเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นเหมือนกับตนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่ผลสำรวจจากโพลในประเทศจำนวนมากระบุว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

นักการเมืองและพรรคการเมืองในทุกประเทศมักประเมินความนิยมของประชาชนเกินความเป็นจริงอยู่เสมอ จนทำให้เกิดการพลิกล็อกอยู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีล็อกให้พลิก กล่าวคือความ (ไม่) นิยมของประชาชนก็เป็นเช่นนั้น เพียงแต่นักการเมืองประเมินเข้าข้างตัวเองเกินความเป็นจริงและสามารถทำให้สื่อและประชาชนบางส่วนเข้าใจตามนั้น เมื่อมีการลงคะแนนประชาชนก็ลงคะแนนตามความชอบที่มีอยู่ ผลจึงออกมาว่ามีการพลิกล็อก

ถ้า NGOs และนักการเมืองระวังเรื่อง false-consensus effect แล้วก็จะมีการตระหนักถึงทางโน้มในการประเมินความนิยมเกินความเป็นจริง การดำเนินแผนกลยุทธ์ก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

นักร้องนักแสดง ตลอดจนนักเทคโนโลยีที่หลงใหลผลิตภัณฑ์ของตนก็หนีไม่พ้น false-consensus effect เช่นกัน ในกรณีของนักร้องนักแสดงก็มักทึกทักว่ามีจำนวนแฟนคลับและมีคนชื่นชมนิยมในตัวเองเกินความเป็นจริงอยู่เสมอในทุกประเทศจนอาจนำไปสู่การต่อรองค่าตัวที่เกินเลยความเป็นจริงจนทำให้ไม่ได้งานในที่สุดก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

สำหรับนักเทคโนโลยีที่ชื่นชอบผลงานของตนเองเป็นพิเศษอย่างเกินเลยความเป็นจริงอาจตกอยู่ในสภาวะ “ตาบอด” จนมองข้ามความก้าวหน้าของคู่แข่งและต้องเสียใจในเวลาต่อมาเพราะปรับตัวไม่ทัน

หลายสินค้าเทคโนโลยีที่ออกสู่ตลาดและหลายบริษัทผู้ผลิตมีอันเป็นไปในที่สุด ถึงแม้ในสายตาของผู้ผลิตแล้วสิ่งนี้คือสุดยอดของสินค้า ยามเมื่อปล่อยสินค้าออกมานั้นมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าผู้บริโภคจะหลงใหลและชื่นชอบเหมือนที่ตนเองเป็น หากไม่มี false-consensus effect แล้วก็อาจมีการวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมก็เป็นได้

กลุ่มมังสวิรัติมักบอกคนทั่วไปว่าการกินมังสวิรัตมิใช่ทางเลือก หากเป็นสิ่งที่ต้องเลือกเพราะไม่มีสิ่งอื่นที่ดีกว่าอีกแล้ว ดังนั้นต้องกระทำเหมือนพวกตน กลุ่มคนที่กระทำความดีก็เช่นเดียวกัน มักมีลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่ามี hubris คือมีความภาคภูมิใจ มีความเชื่อมั่นอย่างมากในความสำคัญของตนเอง ซึ่งในกรณีนี้มาจากความเชื่อว่าตนเองได้ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามแล้ว นักปฏิบัติธรรมบางส่วนก็เข้าอีหรอบนี้เช่นเดียวกัน คนอื่นๆ ก็ควรต้องทำตัวเหมือนตนเพราะเป็นทางเดินเดียวที่ถูกต้องงดงาม

มนุษย์ถูกลวงตาและลวงใจได้ไม่ยากอันเนื่องมาจากความเอนเอียงอันเป็นผลจากการรับรู้รับทราบ (perception) ที่บิดเบี้ยวว่าคนอื่น (ควร) จะต้องเหมือนตน และหากไม่เหมือนก็จะกลายเป็นคนแปลกประหลาด ผิดปกติ หรือไม่ก็เป็นศัตรูกันไปเลย

ปัญหาแบ่งแยกสี แบ่งศาสนา จนเกิดความวุ่นวาย ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงจาก false-consensus effect อย่างไม่ต้องสงสัย คนบางกลุ่มไม่เข้าใจว่าเหตุใดอีกฝ่ายจึงโง่เหลือทน และอีกฝ่ายก็มีความเห็นในลักษณะเดียวกันเพียงแต่ความโง่ย้ายฝั่งเท่านั้น

แต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลและข้อเท็จจริงสนับสนุนความเชื่อของตนเอง ส่วนใครจะ “ฉลาด” ในการตีความข้อเท็จจริงกับการใช้เหตุใช้ผลเก่งกว่ากันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การตระหนักถึงการมีอยู่จริงของ false-consensus effect ของแต่ละฝ่ายอาจช่วยให้ข้อขัดแย้งน้อยลงก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับก่อนว่ามันมีปรากฏการณ์นี้อยู่จริง

มนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” ที่เปราะบางต่อการทำลายตนเองเพราะมีอีโก้ (Ego) เป็นชิปฝังอยู่ลึกในจิตใจ เฉพาะคนที่ตระหนักว่าตนเองอาจมีความเชื่อมั่นในตัวเองที่สูงเกินความเป็นจริงและตนเองอาจมีความสามารถในระดับที่ต่ำกว่าที่ตนเองเชื่อเท่านั้นที่พอเยียวยาความเปราะบางนี้ได้

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 15 ธ.ค. 2558