ThaiPublica > เกาะกระแส > กลาโหมเปิดผลสอบ “ราชภักดิ์” ยอดบริจาค 802 ล้าน ไม่สรุปปมทุจริต อ้างอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงจำกัด – ยอมรับไม่พบ ทบ. ขออนุมัติบริจาคตาม กม.

กลาโหมเปิดผลสอบ “ราชภักดิ์” ยอดบริจาค 802 ล้าน ไม่สรุปปมทุจริต อ้างอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงจำกัด – ยอมรับไม่พบ ทบ. ขออนุมัติบริจาคตาม กม.

30 ธันวาคม 2015


(กลาง) พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ได้แถลงผลการตรวจสอบ
(กลาง) พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ได้แถลงผลการตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ที่กระทรวงกลาโหม (กห.) พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัด กห. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้แถลงผลการตรวจสอบ

ทั้งนี้ ก่อนการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมแจ้งว่า ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนนำอุปกรณ์ถ่ายทอดสดทุกชนิดเข้ามาภายในห้องแถลงข่าว ผู้ใดจะซักถามให้แจ้งชื่อ-นามสกุล รวมถึงต้นสังกัด และเนื่องจากมีสื่อมวลชนเดินทางมาร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก อาจจะให้ถามเพียงคนละ 1-2 คำถามเท่านั้น

พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า อยากจะเริ่มต้นด้วยการชี้แจงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ซึ่งมีกรรมการทั้งหมดรวม 9 คนก่อนว่า ไม่ได้มีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้กว้างขวางเหมือนองค์กรตรวจสอบตามกฎหมายอื่นๆ เพราะมีอำนาจเพียงที่คำสั่งของกระทรวงกลาโหม ให้ในการเรียกพยานเอกสารเฉพาะที่อยู่ในการครอบครองของกระทราวงกลาโหมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ก็ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบุคคลภายนอกด้วย รวม 23 คน มาให้ข้อมูล โดยผลการตรวจสอบจะแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ 1. รายรับและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด 2. กิจกรรมการระดมทุน “ราชภักดิ์ Bike & แConcert แทนคุณแผ่นดิน” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 ที่มีข้อสงสัย ทั้งเรื่องเสื้อที่ระลึก โต๊ะจีน และต้นปาล์ม และ 3. การหล่อพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์ ที่มีข่าวเรื่องการเรียกหัวคิว

ยอดเงินบริจาคสร้าง “ราชภักดิ์” 802 ล้าน – รายรับรวมทะลุพันล้าน

1. รายรับและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด

ในส่วนของรายรับ โครงการนี้มีที่มาของเงิน 2 ทาง คือ

(1) งบกลาง 63.57 ล้านบาท โดยใช้จ่ายไปในการปรับปรุงพื้นที่และบริเวณโดยรอบ รวม 5 โครงการ ประกอบด้วย ติดตั้งแท่งหินอ่อนฐานพระบรมรูป 11.96 ล้านบาท ปูพื้น 34.94 ล้านบาท สร้างอาคาร รปภ. 2.25 ล้านบาท ติดตั้งป้ายทางเข้า 5.02 ล้านบาท ทั้งหมดดำเนินการเสร็จแล้ว และทำรั้วรอบอุทยาน 9.39 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

(2) เงินบริจาค มีจำนวนทั้งสิ้น 802 ล้านบาท แบ่งเป็นที่บริจาคเป็นตัวเงิน รวม 732 ล้านบาท ทั้งจากการบริจาคโดยตรง ดอกเบี้ย และบริจาคผ่านงานระดมทุน ราชภักดิ์ Bike & Concert แทนคุณแผ่นดิน และที่บริจาคเป็นสิ่งของ/วัสดุก่อสร้าง ตีเป็นตัวเงินได้ 69 ล้านบาท โดยใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง รวม 27 โครงการ วงเงิน 752 ล้านบาท

โดยสรุปคือมีรายรับทั้งสิ้น (งบกลาง และเงินบริจาค) รวม 866 ล้านบาท มีรายจ่ายรวม 816 ล้านบาท คงเหลือ 50 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงโรงเรียนนายสิบทหารบก ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของอุทยานราชภักดิ์ รวม 11 โครงการ อีก 149.88 ล้านบาท โดยที่มาของเงินก่อนนี้มาจากงบประมาณปกติของกองทัพบก (ทบ.)

ขณะที่ยังมีงบซึ่งอยู่ในมูลนิธิราชภักดิ์ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม หรือ ทบ. (จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 โดยมี พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน) ซึ่งเดิมผู้เกี่ยวข้องตั้งใจจะใช้สำหรับการบริหารจัดการอุทยานราชภักดิ์ในอนาคต เช่น ใช้เป็นค่าน้ำค่าไฟ แต่ปัจจุบันคงไม่ได้ใช้แล้ว อีก 106 ล้านบาท

“จากการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ พบว่า การใช้จ่ายงบกลางและเงินบริจาคข้างต้นเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง และทราบว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่” พล.อ. ชัยชาญ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อรวมตัวเลขทั้งหมด โครงการอุทยานราชภักดิ์มีตัวเงินเกี่ยวข้องเป็นรายรับ (ทั้งในส่วนของงบกลาง เงินบริจาค เงินในมูลนิธิราชภักดิ์ และงบประมาณปกติของ ทบ.) รวม 1,121 ล้านบาท และรายจ่าย รวม 965 ล้านบาท คงเหลือ 156 ล้านบาท

ราชภักดิ์1
รายรับ-รายจ่ายในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เฉพาะในส่วนของงบกลาง และเงินบริจาค

ยันงานระดมทุน “ราชภักดิ์ Bike & Concert” โปร่งใส

2. งานระดมทุน “ราชภักดิ์ Bike & Concert แทนคุณแผ่นดิน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 ในงานจะมีกิจกรรม 5 อย่าง ทั้งการปั่นจักรยานชิงถ้วยพระราชทาน, การจำหน่ายของที่ระลึก เช่น เสื้อ, การร่วมขบวนปั่นจักรยาน, การแสดงคอนเสิร์ต ที่มีการขายโต๊ะจีนให้กับผู้สนใจ สูงสุดโต๊ะละ 1 ล้านบาท และการปลูกต้นไม้ให้กับแผ่นดิน เป็นต้นปาล์ม โดยรับเงินบริจาคต้นละ 3 แสนบาท

“จากการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ พบว่า งานระดมทุนดังกล่าวมีบัญชีรับจ่ายชัดเจน และดำเนินกิจกรรมตามที่ประกาศไว้ทุกอย่าง โดยสามารถระดมทุนได้ถึง 77 ล้านบาทเศษ ส่วนข้อสงสัยเรื่องต้นปาล์ม ยืนยันว่าเอกชนสนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ที่ระบุว่าราคาต้นละ 3 แสนบาท เป็นเงินที่มีผู้บริจาคให้โดยสมัครใจ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อต้นปาล์มดังกล่าว” พล.อ. ชัยชาญ กล่าว

3. การหล่อพระบรมรูปบูรพากษัตริย์ 7 พระองค์ มีการเชิญบุคคลภายนอกมาให้ข้อมูล แต่เนื่องจากบางคนไม่มาให้ข้อมูล และบางคนไม่สามารถติดตามตัวได้ ทำให้คณะกรรมการฯ เห็นว่าอาจมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพียงพอ หากเปิดเผยต่อสาธารณชนไปอาจทำให้มีผู้ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการฯ จึงทำได้เพียงตั้งข้อสังเกต และจะส่งให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับไปตรวจสอบต่อไป

“คณะกรรมการฯ ได้พยายามถึงที่สุดที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ทุกจุด ทุกประเด็น เท่าที่จะสามารถทำได้ เพราะทราบว่าเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสังคม แต่เนื่องจากข้อจำกัดตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น หากหน่วยงานภายนอกกระทรวงกลาโหมใด เห็นว่ามีการดำเนินการใดที่ทำไม่ถูกต้อง ก็สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายต่อไป” พล.อ. ชัยชาญ กล่าว

(ดูเอกสารประกอบการแถลงข่าวของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นประธาน)

ไม่สรุปปมหัวคิวโรงหล่อ อ้างคนมาให้ข้อมูลไม่ครบ

เมื่อถามว่า ข้อสังเกตที่คณะกรรมการฯ ตั้งไว้เรื่องการหล่อพระบรมรูปคืออะไร พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า เนื่องจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนไม่ได้มาให้ข้อมูล จึงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทำได้เพียงตั้งข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาตรวจสอบต่อไปเท่านั้น ทั้งนี้ ในประเด็นอื่นๆ ก็มีการตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกัน เช่น เรื่องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำในระยะเวลาที่จำกัดมาก

เมื่อถามว่า พล.อ. อุดมเดช เคยยอมรับว่ามีการหักหัวคิวการหล่อพระบรมรูปจากโรงหล่อจริง โดยมีรายงานข่าวว่ารวมเป็นเงินถึงเกือบ 20 ล้านบาท คณะกรรมการฯ ตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า “เราได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล แต่บางคนไม่มา ทำให้เราไม่สามารถวินิจฉัยชี้ไปได้ แต่ได้เสนอไปยัง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าให้เสนอไปยังหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ได้ตรวจสอบต่อไป ยอมรับว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีอำนาจจำกัด ทำได้แค่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่สามารถวินิจฉัยว่าอะไรถูกอะไรผิดได้”

เมื่อถามว่า หากไม่มีการทุจริต แล้วเหตุใดนายทหารที่ใกล้ชิดกับ พล.อ. อุดมเดช บางคนถึงลาออกจากราชการและบางคนได้หลบหนีออกนอกประเทศ พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า คนที่หนีหมายจับของศาลทหารกรุงเทพไป ขอชี้แจงว่ามีสาเหตุมาจากคดีอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ราชภักดิ์2
การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ใช้งบกลาง 63.57 ล้านบาท

รับไม่เจอ ทบ. ขออนุมัติรับบริจาค ตามระเบียบสำนักนายกฯ

เมื่อถามว่า พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยระบุว่าโครงการนี้มีการทุจริตแน่นอน แต่คณะกรรมการฯ กลับไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่ามีการทุจริตหรือไม่ จะขัดแย้งกับความเชื่อของสังคมหรือไม่ พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า ตนถึงพยายามชี้แจงแต่แรกว่า คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีอำนาจจำกัด การดำเนินการขั้นต่อไปจึงควรเป็นของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจมากกว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้

เมื่อถามว่า ได้ตรวจพบหรือไม่ว่า ทบ. ได้ขออนุมัติรับบริจาคเพื่อใช้ในโครงการนี้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 หรือไม่ พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า นี่ก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ข้อหนึ่ง เพราะไม่พบข้อมูลการขออนุมัติ

เมื่อถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย เคยระบุไว้ว่า หากหน่วยงานใดรับบริจาคโดยไม่ขออนุมัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษทางวินัย ขณะที่ในระเบียบยังเขียนถึงการแช่แข็งเงินที่รับบริจาคมาโดยไม่ได้ขออนุมัติไว้ด้วย พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ทำได้เพียงตั้งข้อสังเกต ส่วนจะดำเนินการอย่างไร ผู้เกี่ยวของจะต้องไปพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่า คิดว่าการแถลงผลการตรวจสอบครั้งนี้ สังคมจะเข้าใจข้อสงสัยทุกประเด็นหรือไม่ พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า ก็พยายามอย่างดีที่สุดที่จะทำให้คลายข้อสงสัยในทุกประเด็น อย่างน้อยที่สุดก็ได้แจงตัวเลขรายรับรายจ่ายในโครงการนี้ทั้งหมด

เมื่อถามว่า หลังเปิดเผยผลการตรวจสอบครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้ พล.อ. อุดมเดช ไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมแล้วใช่หรือไม่ พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า “คำถามนี้ไม่สามารถตอบได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการถามย้ำหลายครั้งถึงรายละเอียดข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นการหล่อพระบรมรูปบูพรกษัตริย์ แต่ พล.อ. ชัยชาญ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด

โชว์เงินโรงหล่อบริจาคคืน 20 ล้าน – ตรงยอดปม “หัวคิว”

พล.อ. ชัยชาญยังกล่าวว่า พร้อมเปิดเผยรายชื่อโครงการ คู่สัญญา และวงเงินที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด แต่เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าไปขอข้อมูลดังกล่าว คณะทำงานของ พล.อ. ชัยชาญ กลับให้เพียงเอกสารแสดงรายชื่อของโรงหล่อบูรพกษัตริย์ทั้ง 7 พระองค์ (ซึ่งหล่อโดยโรงหล่อ 6 แห่ง) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวได้ระบุถึงเงินที่โรงหล่อบริจาคเงินคืน รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท โดยมีการระบุไว้ว่าเป็น “ประเด็นค่าที่ปรึกษา” พร้อมลงชื่อ -นามสกุลจริงของ “เซียนพระ อ.อ่าง” ทั้งนี้วงเงินดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตุว่าจะเป็นยอดเงินเดียวกับค่าหักหัวคิวที่ พล.อ. อุดมเดช เคยบอกว่าได้ดำเนินการแก้ไขให้บริจาคโดยสมัครใจคืนแล้วหรือไม่

  • บริษัท ช. ประติมากรรม อินดัสตรี จำกัด (หล่อพระบรมรูปพ่อขุมรามคำแหง ราคา 43 ล้านบาท) บริจาคคืน 3 ล้านบาท
  • บริษัท ร็อคคลา ไฟน์ อาร์ท จำกัด (หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์ ราคา 45.5 ล้านบาท) บริจาคคืน 3.9 ล้านบาท
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประติมาไฟน์อาร์ท (หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราคา 44.5 ล้านบาท) บริจาคคืน 3 ล้านบาท
  • บริษัท พุทธปฏิมา พรหมรังสี จำกัด (หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ราคา 43 ล้านบาท) บริจาคคืน 4.8 ล้านบาท
  • บริษัท โผนประติมากรรมสากล จำกัด (หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราคา 42 ล้านบาท) บริจาคคืน 5.3 ล้านบาท
  • บริษัท เอเชียไฟน์อาร์ท จำกัด (หล่อพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ราคา 45 ล้านบาท และหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราคา 45 ล้านบาท) ไม่มียอดบริจาคคืน

เมื่อถามถึงรายชื่อคู่สัญญาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ คณะทำงานของ พล.อ. ชัยชาญ ระบุว่า มีอยู่ถึง 40 กว่าโครงการ หากต้องการ ให้ไปยื่นขอข้อมูลตามกระบวนการ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงไปเขียนคำร้องขอข้อมูลดังกล่าว พร้อมกับขอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ เป็นประธาน ตามสิทธิของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ต่อศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของราชการของกระทรวงกลาโหม โดยมี พ.ท. ชาตบุตร ศรธรรม ผู้อำนวยการศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของ กห. เป็นผู้รับคำร้อง

เปิดรายละเอียดค่าใช้จ่ายพันล้าน 43 โครงการ

สำหรับข้อมูลรายรับ-รายจ่าย ในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตามที่คณะกรรมการฯ ของ กห. ชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ ตรวจสอบมีรายละเอียด ดังนี้

รายรับ (รวม 1,121 ล้านบาท)

1.งบกลาง 63.57 ล้านบาท

2.เงินบริจาค 802 ล้านบาท

3.เงินที่อยู่ในมูลนิธิราชภักดิ์ 106 ล้านบาท

4.งบประมาณของกองทัพบก 149.88 ล้านบาท

รายจ่าย (รวม 965 ล้านบาท)

1.งบกลาง ใช้ 5 โครงการ รวมวงเงิน 63.57 ล้านบาท

  • งานติดตั้งหินอ่อนแท่นฐานพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ วงเงิน 11.96 ล้านบาท
  • งานปูพื้นลานสักการะ บันได และลานชั้นบน วงเงิน 34.94 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างอาคาร รปภ. วงเงิน 2.25 ล้านบาท
  • การติดตั้งป้ายทางเข้าพร้อมประติมากรรม วงเงิน 5.02 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างรั้วรอบบริเวณอุทยานฯ วงเงิน 9.39 ล้านบาท

2.เงินบริจาค ใช้ 27 โครงการ รวมวงเงิน 752 ล้านบาทเศษ

  • งานหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ๗ พระองค์ และพานพุ่ม ๑ คู่ วงเงิน 318.80 ล้านบาท
  • อาคารรับพระบรมราชานุสาวรีย์ วงเงิน 173.60 ล้านบาท
  • งานปูหญ้าและระบบระบายน้ำ วงเงิน 20.72 ล้านบาท
  • งานจัดสวนภูมิทัศน์ (ระยะที่ 1) วงเงิน 4.27 ล้านบาท
  • งานปรับพื้นที่อุทยาน วงเงิน 16.20 ล้านบาท
  • งานลานคอนกรีตส่วนเชื่อมต่อ (หน้าแท่นฐาน) วงเงิน 7.78 ล้านบาท
  • งานถนนทางเข้า 350 เมตร วงเงิน 24.48 ล้านบาท
  • งานปรับพื้นที่รั้ว วงเงิน 7 แสนบาท
  • งานระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง วงเงิน 59.55 ล้านบาท
  • งานปรับปรุงเสาไฟฟ้าแสงสว่างถนนทางเข้าอุทยาน และถนนสาย 6 วงเงิน 1.29 ล้านบาท
  • งานลานคอนกรีต วงเงิน 45.14 ล้านบาท
  • งานปูซีแพ็คบล็อคลานจอดรถ ด้านหลังแท่นฐาน วงเงิน 2.33 ล้านบาท
  • งานระบบสุขาภิบาล (รดน้ำต้นไม้) วงเงิน 15.44 ล้านบาท
  • งานปรับปรุงท่อน้ำเดิมและเพิ่มเติมพื้นที่รดน้ำ วงเงิน 4.63 ล้านบาท
  • งานติดตั้งหินอ่อนผนังทางลาดผู้พิการ วงเงิน 7.58 ล้านบาท
  • งานหล่อกงจักรตรา ทบ. หน้าแท่นฐาน วงเงิน 1.60 ล้านบาท
  • งานติดตั้งป้ายพระนามหน้าแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ 7 รัชกาล และนามอุทยานราชภักดิ์ วงเงิน 3.49 ล้านบาท
  • งานจัดทำแท่นหินอ่อนแกะสลัก วงเงิน 1.6 แสนบาท
  • จัดซื้อเต๊นท์ฯ วงเงิน 3.4 แสนบาท
  • งานตรวจสอบคุณภาพพระบรมราชานุสาวรีย์ วงเงิน 9.2 แสนบาท
  • งานเจาะสำรวจชั้นดิน วงเงิน 1.1 แสนบาท
  • งานค่าเช่าเครน วงเงิน 11.74 ล้านบาท
  • เช่านั่งร้านฯ วงเงิน 4.2 แสนบาท
  • ค่า สป.3 วงเงิน 1.11 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายด้านพิธีการ 25.28 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายในการแถลงข่าว 3.72 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วงเงิน 1.23 ล้านบาท

3.เงินที่อยู่ในมูลนิธิราชภักดิ์ (ยังไม่ได้ใช้)

4.งบประมาณของกองทัพบก ใช้ 11 โครงการ (เป็นการก่อสร้างในโรงเรียนนายสิบทหารบก หรือ รร.นส.ทบ. สถานที่ตั้งของอุทยานราชภักดิ์) รวมวงเงิน 149.88 ล้านบาท

  • งานระบบประปา รร.นส.ทบ. วงเงิน 11.11 ล้านบาท
  • งานระบบรดน้ำปรับปรุงจากระบบประปาเดิม วงเงิน 1.36 ล้านบาท
  • งานลานหินคลุกอเนกประสงค์ ภายใน รร.นส.ทบ. วงเงิน 17.81 ล้านบาท
  • งานถนนลาดยาง (ถนนสาย 6 ใหม่) วงเงิน 5.43 ล้านบาท
  • งานซ่อมปรับปรุงถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตและงานระบายน้ำ วงเงิน 21.13 ล้านบาท
  • งานปรับปรุงภูมิทัศน์ภายใน รร.นส.ทบ. วงเงิน 13.32 ล้านบาท
  • งานปรับปรุงพื้นที่ภายใน รร.นส.ทบ. (4 งานย่อย) วงเงิน 43.90 ล้านบาท
  • งานปรับพื้นที่ภายใน รร.นส.ทบ. วงเงิน 1.69 ล้านบาท
  • งานก่อสร้างระบบระบายน้ำ และขอบคันทาง วงเงิน 5.87 ล้านบาท
  • งานสร้างรั้ว รร.นส.ทบ. (ส่วนที่ 1) วงเงิน 17.24 ล้านบาท
  • งานสร้างรั้วด้านหน้า รร.นส.ทบ. (ส่วนที่ 2) วงเงิน 10.97 ล้านบาท