ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ไม่พบ ทบ. ขออนุมัติ “เรี่ยไรเงิน” สร้างอุทยานราชภักดิ์ – ระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดโทษผิดทั้ง “วินัย-อาญา” และแช่แข็งเงิน

ไม่พบ ทบ. ขออนุมัติ “เรี่ยไรเงิน” สร้างอุทยานราชภักดิ์ – ระเบียบสำนักนายกฯ กำหนดโทษผิดทั้ง “วินัย-อาญา” และแช่แข็งเงิน

7 ธันวาคม 2015


หลังจากมีการเปิดเผยว่า การขอเรี่ยไร (หรือรับบริจาค) ของหน่วยงานของรัฐ ในวงเงินเกินกว่า 500,000 บาท จะต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 คือหน่วยงานของรัฐนั้นๆ จะต้องยื่นคำขอเรี่ยไรให้ “คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.)” พิจารณาอนุมัติ ก่อนวันเริ่มต้นเรี่ยไร

นำมาสู่คำถามที่ว่า การขอเรี่ยไรของกองทัพบก (ทบ.) เพื่อนำเงินไปใช้จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องระบุว่า น่าจะใช้เงินในการจัดสร้างราว 1,000 ล้านบาท ทบ. ได้ทำการขออนุมัติจาก กคร. อย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯ นี้ หรือไม่

581207อุทยานราชภักดิ์
ที่มาภาพ : http://www.auttayanratchapak.com/#gallery

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่าน ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พยายามสอบถามจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจาก ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กคร. คนปัจจุบัน ว่า ทบ. ได้ยื่นขออนุมัติเรี่ยไรเงินเพื่อนำไปใช้จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ตามระเบียบสำนักนายกฯ ต่อ กคร. หรือไม่ และเมื่อใด แต่ปรากฎว่าไม่มีใครที่สามารถให้คำตอบได้

ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ตรวจดูเอกสารรายงานการประชุมของ กคร. ตลอดปีงบประมาณ 2558 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – เดือนกันยายน 2558) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเริ่มต้นเรี่ยไรเงินเพื่อใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์

ผลการตรวจสอบปรากฎว่า ในปีงบประมาณ 2558 มีการประชุม กคร. รวม 4 ครั้ง ได้พิจารณาคำขออนุมัติเรี่ยไร ย้อนหลังไปจนถึงปี 2556 – 2558 โดยมีหน่วยงานของรัฐยื่นคำขอเรี่ยไรทั้งสิ้น 58 คำขอ อนุมัติ 55 คำขอ และไม่อนุมัติ 3 คำขอ

แต่กลับไม่มีกรณีที่ ทบ. ขออนุมัติเรี่ยไรหรือรับบริจาค เพื่อนำเงินไปใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตามระเบียบสำนักนายกฯ แต่อย่างใด(ดูรายชื่อหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับอนุมัติให้เรี่ยไรตามระเบียบสำนักนายกฯ จาก กคร. ในปีงบประมาณ 2558)คลิกที่ภาพเพื่อขยาย

ขั้นตอนการขออนุมัติเรี่ยไรเงิน

แหล่งข่าวจาก สปน. เปิดเผยว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 และที่เกี่ยวข้อง กำหนดว่าหน่วยงานของรัฐใดจะเรี่ยไร ในวงเงินเกินกว่า 500,000 บาท จะต้องยื่นคำขอต่อ กคร. ให้พิจารณาอนุมัติ ก่อนทำการเรี่ยไรไม่น้อยกว่า 60 วัน โดยในคำขอจะต้องระบุวัตถุประสงค์ รายละเอียด วิธีการ ระยะเวลา พื้นที่ และวงเงินที่จะทำการเรี่ยไร และหาก กคร. อนุมัติ หลังทำการเรี่ยไรเสร็จสิ้น ภายใน 90 วัน จะต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ตรวจดูได้ ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน (แต่หากเป็นการเรี่ยไรระยะยาวให้เปิดเผยทุกๆ 3 เดือน) นอกจากนี้ ยังต้องส่งบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าวให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบด้วย

“หากหน่วยงานของรัฐทำการเรี่ยไร หรือพูดง่ายๆ คือรับบริจาค โดยไม่ขออนุมัติจาก กคร. นอกจากผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษทางวินัย และอาจแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางอาญา ตามระเบียบสำนักนายกฯดังกล่าว ข้อ 7 เม็ดเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการเรี่ยไรหรือรับบริจาคนั้นยังอาจจะถูก freeze (แช่แข็ง) ไว้ก่อน โดย กคร. จะพิจารณาว่าจะสั่งจ่ายเงินดังกล่าวไปประกอบการกุศลหรือสาธารณะประโยชน์อื่นใด ซึ่งอาจเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมหรือไม่ก็ได้”

โทษเรี่ยไรไม่ขออนุมัติ กคร. 2544
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 ข้อ 7 ได้กำหนดโทษทั้งทางวินัยและทางอาญา แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ นี้ (ซึ่งรวมถึงการเรี่ยไรหรือรับบริจาคโดยไม่ขออนุมัติจาก กคร.)

แหล่งข่าวยังกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว ข้อ 19 ได้กำหนดขอยกเว้นที่ให้หน่วยงานของรัฐ สามารถเรี่ยไรหรือรับบริจาคได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. ไว้ 4 กรณี

  1. กรณีที่เรี่ยไรหรือรับบริจาคในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
  2. กรณีที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว
  3. กรณีที่จำเป็นต้องเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ
  4. กรณีร่วมทำบุญเนื่องในโอกาสทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน

“ซึ่งต้องดูว่าการขอรับบริจาคตามที่กำลังเป็นข่าวอยู่ เข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. ตามขอยกเว้นใดหรือไม่” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเสนอวาระที่เกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์เข้าสู่ที่ประชุม ครม. รวม 3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งเป็นเพียงวาระเพื่อทราบ ที่มีมติเพียง “รับทราบ” ไม่ใช่วาระเพื่อพิจารณา ที่มีมติ “เห็นชอบ” นอกจากนี้ การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จึงไม่น่าจะเข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นขออนุมัติจาก กคร. ตามระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว ข้อ 19

สำหรับมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับอุทยานราชภักดิ์ ทั้ง 3 ครั้ง ประกอบด้วย

ครั้งที่ 1 – เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ที่ประชุม ครม. รับทราบ ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) รายงานว่าจะมีการจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม (ชื่อเดิม ก่อนได้รับพระราชทานชื่ออุทยานราชภักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ) ในพื้นที่ของ ทบ. บริเวณฝั่งตรงข้ามสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2559 โดยแหล่งเงินจะมาจากการบริจาคทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหากมีความจำเป็นอาจขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณต่อไป

ครั้งที่ 2 – เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ที่ประชุม ครม. รับทราบ ตามที่ กห. รายงานความคืบหน้าการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่ของ ทบ. ใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ครั้งที่ 3 – เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม ครม. รับทราบ ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้ ทบ. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดให้มีคณะทำงานดูแลการบริหารจัดการอุทยานราชภักดิ์ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นมูลนิธิหรือกลไกในรูปแบบใด เพราะมีเงินที่มาจากการรับบริจาคจากภาคเอกชนและประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเป็นจำนวนมาก