ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมบัญชีกลาง-สรรพากร ยอมรับไม่มีอำนาจตรวจสอบ “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” – บริจาคมูลนิธิราชภักดิ์ ยังลดหย่อนภาษีไม่ได้

กรมบัญชีกลาง-สรรพากร ยอมรับไม่มีอำนาจตรวจสอบ “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” – บริจาคมูลนิธิราชภักดิ์ ยังลดหย่อนภาษีไม่ได้

5 ธันวาคม 2015


ตามที่มีการนำเสนอข่าวโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการเรี่ยไรผ่านกองทุนสวัสดิการกองทัพบกและผ่านมูลนิธิราชภักดิ์ ซึ่งกองทุนสวัสดิการกองทัพบก จัดเป็นกองทุนหมุนเวียนของหน่วยงานราชการ

ที่ผ่านมาการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกองทุนหมุนเวียน เนื่องจากการใช้จ่ายเงินประเภทนี้มีความคล่องตัวมากกว่าการใช้จ่ายเงินผ่านระบบงบประมาณปกติ สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบของตนเอง อำนาจในการอนุมัติหรือเบิกจ่ายเงินขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารกองทุน ปัจจุบันจึงมีหน่วยงานของรัฐหลายแห่งจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนขึ้นมาดำเนินกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งกันเป็นจำนวนมาก เช่น กองทุนสวัสดิการกองทัพบกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาสวัสดิการให้กับสมาชิก หรือกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพดี เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามนิยามของกรมบัญชีกลาง คำว่า “เงินนอกงบประมาณ” ประเภทนี้ หมายถึง เงินทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน สามารถเก็บไว้ใช้จ่ายได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน สามารถจำแนกได้ 3 ประเภท คือ

1. กองทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 มีจำนวน 114 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์รวม 3,125,884 ล้านบาท หนี้สิน 986,588 ล้านบาท และทุน 2,139,295 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีกองทุนหมุนเวียนประมาณ 94 กองทุน อยู่ภายใต้ระบบการประเมินผลงานของกรมบัญชีกลาง ส่วนที่เหลือกรมบัญชีกลางเข้าไปกำกับดูแลไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนบางแห่งกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุน

2. กองทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 มีจำนวน 110 กองทุน กองทุนประเภทนี้กรมบัญชีกลางเข้าไปกำกับดูแลไม่ได้ เพราะเป็นกองทุนที่ส่วนราชการจัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกฯ เพื่อจัดหาสวัสดิการให้กับข้าราชการที่เป็นสมาชิก อำนาจในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของกองทุนประเภทนี้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการสวัสดิการภายในส่วนราชการแต่ละแห่ง โดยมีศูนย์ประสานการจัดสวัสดิการข้าราชการ หน่วยงานในสังกัดสำนักงาน ก.พ. ทำหน้าที่ประเมินผลการจัดหาสวัสดิการของส่วนราชการปีละ 1 ครั้ง

และ 3. เป็นกองทุนที่ส่วนราชการจัดตั้งขึ้นมากันเอง ไม่มีกฎหมายรองรับ โดยใช้ชื่อ “กองทุน” แต่ไม่ใช้เงินทุนหมุนเวียนตามนิยามของกรมบัญชีกลาง กลุ่มนี้จึงไม่มีข้อมูล

สำหรับผู้ที่บริจาคเงินให้กับกองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ ส่วนนิติบุคคลนำเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ กรณีกองทัพบกเปิดรับเงินบริจาคผ่าน “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” ก็อยู่ในข่ายได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีตามประกาศกรมสรรพากรฉบับนี้ด้วย

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กรมบัญชีกลางพยายามเข้าไปกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณเหล่านี้ โดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 170 ออกระเบียบกรมบัญชีกลาง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่ไม่ต้องนำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องจัดส่งรายงานรับ-จ่ายเงินของกองทุนหมุนเวียนให้คณะรัฐมนตรีรับทราบภายใน 60 วัน นับจากวันสิ้นปีงบประมาณ ยังไม่ทันได้ดำเนินการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกเลิก และไม่มีผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังสานต่อนโยบายดังกล่าว กรมบัญชีกลางจึงไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลหรือติดตามการใช้จ่ายเงินของกองทุนเหล่านี้ได้

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

และจากการที่กรมสรรพากรยกเว้นภาษีให้กับผู้บริจาคเงินกองทุนสวัสดิการของส่วนราชการ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ให้ความเห็นว่า กรมสรรพากรได้เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของกองทุนสวัสดิการเหล่านี้เหมือนกับกรณีของมูลนิธิ/สมาคม เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนหรือไม่

นายประสงค์ตอบว่า “ตรวจสอบไม่ได้ เพราะประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “กองทุนสวัสดิการของส่วนราชการ” เอาไว้ จึงไม่ถือว่ากองทุนสวัสดิการของส่วนราชการเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ ตรงนี้ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีกองทัพบกลงโฆษณาผ่านเว็บไซด์ เชิญชวนประชาชนและองค์กรต่างๆ ร่วมบริจาคเงินสร้างอุทยานราชภักดิ์ เข้าบัญชี “กองทุนสวัสดิการกองทัพบก” สามารถนำใบเสร็จรับเงินมาหักลดหย่อนภาษีได้จริงหรือไม่

นายประสงค์กล่าวว่า “ดูดีๆ กฎหมายเขียนว่าเป็นการบริจาคให้แก่กองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ ถือเป็นการบริจาคเงินให้กับส่วนราชการ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถนำใบเสร็จมาหักลดหย่อนภาษีได้”

เมื่อถามว่า ล่าสุดมีการจัดตั้งมูลนิธิราชภักดิ์ขึ้นมาดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ต่อจากกองทุนสวัสดิการกองทัพบก ผู้ที่บริจาคเงินให้มูลนิธิราชภักดิ์สามารถนำใบเสร็จมาหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

อธิบดีกรมสรรพากรตอบว่า บริจาคเงินผ่านกองทุนสวัสดิการกองทัพบกหักลดหย่อนภาษีได้ แต่บริจาคเงินให้กับมูลนิธิราชภักดิ์ ตอนนี้หักลดหย่อนภาษีไม่ได้ จนกว่าจะได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและมีการนำรายชื่อประกาศบนเว็บไซต์กรมสรรพากร

ถามว่าขณะนี้ทางกองทัพบกทำเรื่องขอจัดตั้งมูลนิธิราชภักดิ์กับกรมสรรพากรแล้วหรือยัง นายประสงค์ตอบว่า “ไม่รู้ เพราะเรื่องนี้เป็นงานรูทีน (routine) ของกรมสรรพากร การทำเรื่องขออนุมัติจัดตั้งมูลนิธิ สมาคม ตามประมวลรัษฎากร ต้องยื่นเรื่องผ่านสรรพากรพื้นที่ โดยมีรองอธิบดีกรมสรรพากรที่ดูแลสายงานนี้เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ยื่นคำขอจัดตั้งมูลนิธิต่ออธิบดีกรมสรรพากรโดยตรง ผมจึงไม่ทราบเรื่องนี้”