ThaiPublica > คนในข่าว > “ชวลิต จันทรรัตน์” กูรูน้ำเตือนวิกฤติภัยแล้ง (ตอน 1) : อ่านความรุนแรง พื้นที่ไหนหนักสุด อาจไม่มีน้ำบริโภค

“ชวลิต จันทรรัตน์” กูรูน้ำเตือนวิกฤติภัยแล้ง (ตอน 1) : อ่านความรุนแรง พื้นที่ไหนหนักสุด อาจไม่มีน้ำบริโภค

1 ธันวาคม 2015


“แหล่งน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำน้อยมาก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยรวมแล้วน้อยกว่าปีที่แล้วครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น ปีที่แล้วเรายากลำบากเรื่องการขาดน้ำเท่าไหร่ ปีนี้จะขาดน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่าตัว”

ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่เหล่าผู้นำโลกเริ่มประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง(COP2) ที่ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 11 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะภัยแล้งที่มาเร็วมากในปีนี้ ทั้งๆ ที่เพิ่งสิ้นสุดฤดูฝนไปได้ไม่นาน ลมหนาวก็ยังไม่พัดโชยกลิ่นอายความเย็นมาให้สัมผัส แต่ข่าวภาวะแล้งน้ำรุมเร้าจนน่าตระหนก ปีนี้เป็นปีประเทศไทยฝนตกน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี และคาดว่าจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะภัยแล้งหนักกว่าปีก่อน 2 เท่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เกือบทุกแห่ง ปีที่แล้วน้ำในอ่างที่ว่าน้อยแล้ว ปีนี้น้ำในอ่างน้อยกว่าปีที่แล้วครึ่งหนึ่ง

คำถามคือ ประชาชนคนไทยรู้กันหรือยังว่าอาจจะไม่มีน้ำใช้ในช่วง 8 เดือนข้างหน้า แล้วจะรับมือกับภัยแล้งกันอย่างไร ตอนนี้มีใครรณรงค์ประหยัดน้ำกันบ้าง และภาครัฐมีแผน/มาตรการรองรับอย่างไร อาทิ ห้ามชาวนาปลูกข้าวให้หันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือทีมกรุ๊ป
นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือทีมกรุ๊ป

เพื่อตอบคำถามสถานการณ์ภาวะภัยแล้งว่าจะหนักหนาสากรรจ์ขนาดไหน นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของไทยที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด และคาดการณ์สถานการณ์น้ำไทยในปีหน้า พร้อมวิเคราะห์ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปีนี้และปีหน้า รวมทั้งการรับมือและปรับตัวของประชาชนคนไทยทุกคน

วิกฤติภัยแล้งจะมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า

จากสถานการณ์ที่ฝนตกน้อยในปีนี้นายชวลิตเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยมี 2 ด้าน คือ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นทะเลขนาดใหญ่ ที่ความเปลี่ยนแปลงจะส่งผลถึงประเทศไทยทางด้านฝั่งตะวันออกผ่านเข้ามาทางเวียดนามและลาว ส่วนมหาสมุทรอินเดีย ความเปลี่ยนแปลงผ่านเข้ามาทางทะเลอันดามันและเมียนมาร์ ซึ่งมีผลกระทบทางด้านตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งนี้ ภาคใต้จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก แต่ในปีนี้อิทธิพลทางมหาสมุทรอินเดียไม่ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนของประเทศไทย

จากปรากฏการณ์เอล นีโญ จะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของพื้นผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลให้บางพื้นที่ฝนแล้งและบางพื้นที่น้ำท่วม โดยสำหรับประเทศไทยในปีนี้คือ “ฝนแล้ง” แต่ถ้าเป็นในปี 2554 คือ “น้ำท่วม” ทั้งนี้ หลายคนอาจจะมีคำถามว่าปีนี้เมียนมาร์น้ำท่วมหนัก แต่ทำไมประเทศไทยไม่มีฝน และกลายเป็นช่องว่างตรงกลางของภูมิภาคฝนไม่ตก นั่นเพราะปัจจัยจากมหาสมุทรแปซิฟิกและการทำร้ายตัวเองของประเทศไทยที่ทำลายธรรมชาติไปมาก

จากการวัดอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 200 จุด โดยหน่วยงานบริหารการแห่งมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) หรือ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) จนถึงเมษายน 2558 และเขาสร้างแบบจำลองคาดการณ์อนาคตรวม 22 แบบจำลอง พบว่า ในเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย และทำให้เกิดปรากฏการณ์เอล นีโญ ซึ่งจะทำให้บางพื้นที่แห้งแล้งรุนแรงและบางพื้นที่น้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น

ปรากฏว่าในเดือนเมษายนวัดจริงพบว่า อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ และจากการวัดจนถึงเดือนตุลาคม 2558 และจนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงถึง 2 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นถึง 2.5 องศาเซลเซียสด้วย นี่คือภาพที่ทุกคนพูดว่า จะเกิดภาวะที่แย่

team1

สรุปคือ ปรากฏการณ์เอล นีโญ ที่เกิดขึ้น ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมฝนไม่ตก และเริ่มตกบ้างตั้งแต่มิถุนายนถึงสิงหาคม ส่วนเดือนกันยายนฝนตกน้อยมาก ซึ่งแม้จะมีพายุก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 20 ลูก แต่เข้ามาถึงประเทศไทยมีลูกเดียวซึ่งแค่เฉี่ยวๆ ที่แถวบุรีรัมย์เท่านั้น จากที่ปกติพายุจะต้องเข้าประเทศ 2-3 ลูก ส่วนสาเหตุที่พัทยาน้ำท่วมนั้นเป็นปัญหาเรื่องของการระบายน้ำไม่ทัน ไม่ใช่เพราะปริมาณฝนมาก

สภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากฝนตกน้อยในฤดูฝน เกิดจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ทำให้น้ำระเหยเร็ว ดินที่อยู่ใกล้น้ำสูญเสียความชื้นเร็ว ส่วนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ก็มีปริมาณน้ำน้อยมาก คือน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณร้อยละ 20 หรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 30 แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยรวมแล้วน้อยกว่าปีที่แล้วครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น “ปีที่แล้วเรายากลำบากเรื่องการขาดน้ำเท่าไหร่ ปีนี้จะขาดน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่าตัว”

นอกจากนี้ NOAA ยังคาดการณ์ว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลจะขึ้นสูงสุดและแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 และแผ่ขยายไม่สิ้นสุด แต่มีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะลดลง ซึ่งภัยแล้งจะหนักที่สุดช่วงเดือนธันวาคม 2558 ถึงกุมภาพันธ์ 2559 เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องถนอมน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยการประหยัดน้ำประปา หรือแม้แต่น้ำในโอ่งที่บ้านก็ต้องถนอมไว้ให้มากที่สุด

ช่วงมีนาคม-เมษายน ’59 วิกฤติหนัก

ส่วนภาคเกษตรที่ใช้น้ำมากที่สุดจำเป็นต้องไม่ปลูกข้าวหรือพืชที่ใช้น้ำมากตามที่รัฐบาลออก 8 มาตรการไปแล้ว แต่คงต้องติดตามมาตรการการช่วยเหลือ การสร้างงานในชนบท ซึ่งมีความจำเป็นแล้ว เพราะผลการคาดการณ์ของ NOAA ยืนยันชัดเจนว่า ธันวาคม 2558 ถึงกุมภาพันธ์ 2559 ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะแล้งหนัก แหล่งน้ำต่างๆ ทั้งอ่างขนาดเล็ก เช่น บ่อหรือสระที่รัฐบาลเคยขุดไว้ อ่างขนาดกลาง จะแห้งหมด เพราะมีอัตราการระเหยสูงมาก ดังนั้น แหล่งน้ำที่พึ่งได้ก็จะเหลือแต่อ่างขนาดใหญ่เท่านั้น

“เรียกว่าทุกแห่งต้องเก็บน้ำไว้เลย ยกเว้นภาคใต้ แม้แต่ภาคตะวันออกที่มีอ่างเก็บน้ำก็ยังอุ่นใจไม่ได้ เพราะอ่างที่เก็บน้ำได้ดีมีเพียงบางอ่างเท่านั้น ซึ่งการกระจายมาช่วยเหลือทุกภาคส่วนในภาคตะวันออกจะไม่ทั่วถึง เพราะมีทั้งไม้ผลและอุตสาหกรรม ฉะนั้น แล้งนี้ก็จะได้ยินข่าวเรื่องการแย่งน้ำในภาคตะวันออกด้วย ส่วนอ่างเก็บน้ำหลักๆ ที่มีน้ำอยู่ดีจริงๆ หรือเต็มอ่างคือ อ่างประแสร์ ซึ่งมีน้ำประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร เพราะมีระบบการผันน้ำจากวังโตนดมาประแสร์ และมีการผันน้ำมาเติมมาใช้ในปลายหน้าฝนนี้ทำให้น้ำยังมีปริมาณค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมตะวันออกก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหา แต่ยังมีภาคเกษตรอีกที่ยังใช้น้ำเยอะพอสมควร แต่สำหรับชลบุรีจะทุกข์หนักหน่อย เพราะว่าอ่างบางพระที่ผันน้ำไปจากบางปะกงได้น้อย เนื่องจากบางปะกงมีน้ำน้อย แม้ตอนนี้จะหันมาผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตแต่แม่น้ำป่าสักก็มีน้ำน้อยอีก”

เพราะฉะนั้น ความรุนแรงที่จะเกิดในช่วงธันวาคมถึงกุมภาพันธ์จะรุนแรงมาก เนื่องจากมีการระเหยสูง ส่งผลให้เดือนมีนาคม เมษายน ลำบากมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูผลคาดการณ์ของ NOAA ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มาชี้ชัดอีกครั้งว่า ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2559 จะมีฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ เพราะตามการคาดการณ์ในปัจจุบันชี้ว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจะต่ำลง ตอนนี้ก็ยังคาดหวังว่ามิถุนายนปีหน้าก็จะมีฝนตกต้องตามฤดูกาล

team3

ปัจจัยจากการกระทำของมนุษย์

นอกจากนี้ ผลจากป่าต้นน้ำหายไปจากการปลูกข้าวโพดในลุ่มน้ำยมและน้ำน่าน จนทำให้ภูเขากลายเป็นภูเขาหัวโล้น อีกทั้งปีนี้ยิ่งโล้นหนักเพราะว่าฝนไม่ตกปลูกข้าวโพดไม่ได้ ดังนั้น ฝนจะตกน้อยลง เพราะการก่อตัวของฝนมีหลายรูปแบบ โดยบางรูปแบบต้องอาศัยความชุ่มชื้นของป่าคอยดึงให้ฝนตกในปริมาณที่พอควร ซึ่งป่าเป็นส่วนสำคัญ นอกจากนี้ บนเขาหัวโล้น แม้ว่าฝนจะตกน้อย แต่การกัดเซาะจะมากขึ้น ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเนื่องจากไม่สามารถรักษาคุณภาพลุ่มน้ำไว้ได้ดี

นี่คือผลของการที่มีความต้องการพืชอาหารสัตว์จำนวนมาก ทำให้เกิดการส่งเสริมปลูกข้าวโพดมากเพราะเกิดความต้องการข้าวโพดมาก เช่น แม่แจ่ม กลายเป็นภูเขาหัวโล้นที่เกิดจากการแลกธรรมชาติกับการผลิตที่ไม่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งเดิมจะสร้างอ่างเก็บน้ำ เช่น แก่งเสือเต้น เราไม่ได้มองว่าการคัดค้านไม่ถูกต้อง การอนุรักษ์ไว้ก็เป็นเรื่องดี แต่ว่าในที่สุดเรื่องเศรษฐกิจก็น่าเสียดาย เพราะการอนุรักษ์หลายๆ เรื่องยังมีอยู่ ที่ไปคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำในหลายพื้นที่

คนไปมองกันว่าการหาน้ำให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่อยากให้มาสร้างโอ่งที่บ้านตัวเอง ให้ไปสร้างที่อื่นแต่เอาน้ำใส่ท่อมาให้ที่บ้านฉันด้วย เมื่อฉันเปิดก๊อกจะได้มีน้ำใช้ ซึ่งการมองภาพอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เราเองยังต้องมีโอ่งมีอ่างเก็บน้ำไว้ที่บ้านตัวเองด้วย ทุกบ้านต้องมีจิตสำนึก ผมพูดมาตั้งแต่ต้นหน้าฝนที่ผ่านมา แต่ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่เพราะคนคิดว่าฝนยังพอมี คิดว่าอย่างไรเสียบ้านเราก็ต้องมีฝนตก แต่ฝนนั้นมีปริมาณน้อยซึ่งเป็นสิ่งเสียหายหากทุกคนไม่มีสำนึกที่จะเก็บน้ำหน้าฝนไว้ที่บ้านตัวเองเพราะคิดว่าการเอาถังมาตั้งจะทำให้เสียพื้นที่บ้าน อยากจะเก็บที่ไว้นั่งเล่นรับลมเย็น

ภูโกร๋น บ้านเปียงซ้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ
ภูโกร๋น บ้านเปียงซ้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

ถ้าเปรียบเทียบกันการเอาถังน้ำมาตั้งที่สนามหน้าบ้าน ก็เหมือนกับการจะสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างแก่งเสือเต้นหรือแม่วงก์ ซึ่งผู้คัดค้านก็บอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นสนามหญ้าหน้าบ้านของเขา ถ้าเอาถังมาตั้งจะทำให้รกรุงรังบดบังทัศนียภาพ อยากจะนั่งเล่นรับลมเย็นนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะทุกบ้าน ทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ทุกจังหวัดก็ต้องหาสถานที่เพื่อสร้างแหล่งน้ำของตัวเองเท่าที่จะหาได้ ทุกคนต้องขวนขวายเองก่อน

ทางด้านรัฐบาลเองก็พยายามจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแม้ว่าจะเลยช่วงฝนตกไปแล้ว โดยสระขนาดเล็กราคา 20,000-30,000 บาท ที่รัฐและประชาชนออกคนละครึ่งนั้น อาจจะเก็บน้ำไว้ไม่ได้ตลอดเพราะการระเหยสูงจากเอล นีโญ แต่ก็เป็นสิ่งที่สร้างสำนึกให้เห็นว่าถ้ามีสระน้ำอยู่ในไร่นาของทุกที่ที่เหมาะสม ในทุกหมู่บ้านต้องหาพื้นที่เหมาะสมอยู่ได้ด้วยตนเองส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็ต้องผันมาจากลุ่มน้ำหรือแหล่งน้ำที่ใหญ่กว่าแล้วสร้างกันเป็นบ่อพวง โดยให้สระน้ำหมู่บ้านพ่วงกับบ่อขนาดกลาง บ่อขนาดกลางพ่วงกับอ่างขนาดใหญ่ ให้เป็นระบบเชื่อมโยงกันอย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริ และพ่วงเขื่อนเพชรบุรีเชื่อมโยงกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กเชื่อมเข้าสู่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสร้างบ่อพวงในหลายพื้นที่ เช่น ที่สระบุรี

เช่นเดียวกัน ถ้าการที่บอกว่าไม่ยินดีให้เอาถังมาตั้งไว้หน้าบ้านเพราะสนามหญ้าจะเสียนั้น เสมือนกับความคิดที่ว่า การสร้างเขื่อนทำให้ป่าไม้เสียหายจึงไม่อยากให้ก่อสร้าง แต่อย่างเขื่อนท่าด่านก็มีปัญหาคนคัดค้านเช่นกัน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริ ทำให้คนค่อยๆ อพยพย้ายออก ป่าส่วนหนึ่งก็เสียไปจริง แต่ดูจากสิ่งที่เราได้มาในวันนี้มันคุ้มค่า

“ทุกคนไม่อยากมีโอ่งที่หน้าบ้านของตัวเอง ไม่อยากมีอ่างมีสระประจำหมู่บ้าน เพราะว่าที่ทำกินมีน้อย แต่ถ้าเราไม่ยอมสละส่วนหนึ่งอย่างพื้นที่ในไร่นา เราก็จะไม่มีน้ำใช้ เช่น ที่รัฐบาลกำลังสนับสนุนอยู่ทุกวันนี้ว่าออกเงินคนละ 17,500 บาท ระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้าน แล้วขุดสระหรือบ่อในที่ที่เหมาะสมในที่นาตัวเองแล้วรัฐบาลไปขุดให้ เราต้องช่วยกันสร้างแบบนี้ และเชื่อมโยงสระหรือบ่อมายังอ่างขนาดเล็ก อ่างขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้มีน้ำมั่นคง อย่างน้อยก็ได้น้ำฝนเข้าไปเก็บในไร่นา นี่เป็นสิ่งที่ต้องมาทำร่วมกัน”

ทำไมพายุไม่เข้าไทย

มีคำถามว่า มีพายุหลายลูกทำไมไม่เข้ามาถึงไทย …ตั้งแต่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เมียนมาและเวียดนามเกิดน้ำท่วมใหญ่ โดยมีร่องความกดอากาศต่ำอยู่ที่เมียนมา เวียดนาม ลาว ทำให้เกิดฝนตกมากในช่วงนั้น ในขณะที่ประเทศไทยฝนไม่ตก เพราะพายุไม่ได้พัดมาทางประเทศไทยแม้ว่าร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของไทยน้อยลงมากจึงทำให้ฝนบางลักษณะที่ตกในเมียนมาและลาวพาดผ่านมาไทยแล้วแต่ฝนไม่ตก เพราะฝนต้องอาศัยความชุ่มชื้นจากป่าในพื้นที่มากทีเดียวในการก่อให้เกิดฝนตก

ทั้งนี้ แม้จะมีคนกล่าวว่า ปีนี้กรุงเทพฯ ฝนตกมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่ฝนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นฝนชายทะเลซึ่งเกิดขึ้นตลอดพื้นที่ชายฝั่งตั้งแต่ภาคใต้ ขึ้นมาที่ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ไปจนถึงบางปะกง ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ซึ่งฝนชายทะเลตกเป็นเรื่องปกติ และปีนี้มีการก่อตัวและฝนตกดีจริงๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น เช่นเดียวกับภาคใต้ซึ่งแน่นอนว่ามีฝนดีอยู่แล้ว ส่วนภาคตะวันออกฝนก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงภาคอีสานตอนล่างตอนที่ติดกับแม่น้ำโขงเท่านั้น และด้านตะวันตกของไทยที่ติดกับเมียนมาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นี่คือสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ฝนบางประเภทตกแต่ก็ยังมีปริมาณน้อยลง

team9

สำหรับพายุต่างๆ ที่มาจากมหาสมุทรแปซิฟิกได้รับอิทธิพลมาจากเอล นีโญ จึงทำให้พายุมีกำลังอ่อนลงเนื่องจากลมตะวันออกที่พัดมาทางตะวันตกมีกำลังไม่แรงพอ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีพายุหลายลูกวิ่งเข้ามาหาประเทศไทย เช่น “โคนี” ที่วิ่งมาฟิลิปปินส์และเกิดฝนตกหนัก แต่ปรากฏว่าเลี้ยวขึ้นเหนือไปญี่ปุ่นแทน “อัสนี” ซึ่งเป็นพายุที่อยู่ในทะเลตลอดจึงไม่มีผลอะไรกับไทย ต่อมาคือ “เอตาว” เป็นพายุที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี ซึ่งสำหรับประเทศไทยได้รับฝนจากพายุหว่ามก๋อในเดือนกันยายน ซึ่งช้ากว่าปกติที่ต้องมีพายุเข้าตั้งแต่พฤษภาคม แต่ปีนี้ปรากฏว่า กว่าพายุจะเข้ามาถึงไทยก็เป็นลูกที่ 19 ส่งผลให้ประเทศไทยฝนตกระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน บริเวณศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และยังทำให้ชายทะเลภาคใต้มีฝนตกมากระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน ส่วนที่พัทยาเกิดน้ำท่วมใหญ่นั้นเกิดจากคลองของพัทยาหายไป ส่วนระยองการระบายน้ำดีเนื่องจากกรมชลประทานได้ทำคลองลัดไว้ต่อคลองย่อย แต่คลองในตัวเมืองนั้นมันหายไปแล้ว ซึ่งกรมชลประทานอาจจำเป็นต้องทำคลองลัดเส้นที่ 2 เข้าไปช่วยระบายน้ำออกก่อนจะเข้าเมือง

“กว่าเราจะได้ฝนก็มีหว่ามก๋อขึ้นมาได้ลูกเดียว ซึ่งเข้ามาเฉียงๆ บริเวณอีสานตอนใต้ ส่วนอีสานตอนบนก็จะมีพายุอื่นๆ เข้ามา เช่น มูจีแก ที่เข้ามาและเฉียงขึ้นบนแล้วหมดแรงก่อน เพราะเอล นีโญ ทำให้ลมตะวันออกที่พัดมาตะวันตกนั้นอ่อนแรงลงทุกที นี่เป็นธรรมชาติของภูมิภาคแปซิฟิก ประเทศไทยมีความชื้นจริงแต่การเคลื่อนตัวด้วยกำลังที่อ่อนในภาวะที่ทำให้ลมอ่อนและช่วงนี้ลมหนาวตีจากจีนลงมาทำให้พายุเลี้ยวหมด”

ภาวะโลกร้อนอาจจะอยู่ไกลตัวจากประเทศไทย แต่มีผลกระทบมากกับคนที่อยู่ใกล้ขั้วโลกหรือเมืองหนาว เพราะหิมะและน้ำแข็งละลายมากขึ้นแต่กลับไปเป็นหิมะหรือน้ำแข็งน้อยลง ทำให้ที่อยู่ของหมีขั้วโลก แมวน้ำ สิงโตทะเล ลดน้อยลง เพราะชั้นบรรยากาศเกิดรูโหว่และแสงพระอาทิตย์ส่องลงมาได้มากขึ้น ทำให้พื้นที่ขั้วโลกและตอนเหนือมีผลกระทบสูง

ส่วนประเทศไทยมีผลกระทบคือ น้ำทะเลจะสูงขึ้น 60 เซนติเมตรในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ว่าระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ 40-60 เซนติเมตร ประเทศไทยรับมือได้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่สงสารโลกผลกระทบก็กลับมาหาเรา แล้วสภาพความแปรปรวนของอากาศมีมากขึ้นจริงๆ เช่น ปริมาณน้ำฝนน้อย ซึ่งในอดีตประเทศไทยไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงขนาดนี้ เรียกว่ามีโอกาสที่ฤดูแล้งปีหน้าน้ำจะน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี

ส่วนหน้าฝนปีหน้าก็มีโอกาสที่จะมีน้ำมากที่สุดในรอบหลายๆ ปี อุณหภูมิสูง ฝนน้อย แต่พอเดี๋ยวอุณภูมิต่ำฝนก็มากอีก สำหรับมาตรการต่างๆ ที่วางไว้แต่ไม่มีเอกสารการประกวดราคาที่รัดกุมและได้หยุดไป จึงเหลือแต่งานของรัฐบาลที่ป้องกันน้ำท่วมในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งถ้าน้ำมามากก็จะลำบากจึงน่าเป็นห่วง แต่คงไม่หนักเท่ากับปี 2554 เพียงแต่น้ำมีปริมาณมากเท่านั้น

จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนจนถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 พบว่า ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ จากประมาณ 1,100 มิลลิเมตร เหลือไม่ถึง 1,000 มิลลิเมตร ซึ่งจากนี้ไม่มีฝนอีกแล้ว ยกเว้นพื้นที่ชายทะเล ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตกไม่มีฝนแล้ว เหลือแต่น้ำในอ่างเก็บน้ำเท่านั้นว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 20-30 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์และต่ำสุดในรอบ 30 ปี ส่วนภาคอีสานก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่เมื่อเฉลี่ยกับสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ที่มีพายุหว่ามก๋อมาช่วย อีกทั้งตอนเหนือมีร่องความกดอากาศต่ำวิ่งระหว่างเวียดนามกับลาวมาช่วยแม่น้ำโขงทำให้ปริมาณฝนในภาคอีสานเท่ากับปีที่แล้ว ส่วนภาคกลางมีปริมาณฝนอยู่ในเกณฑ์ต่ำแต่ก็ยังพอมีฝน แต่ภาคกลางไม่มีอ่างเก็บน้ำของตัวเอง สำหรับภาคใต้และภาคตะวันตกมีปริมาณฝนดีแต่ยังถือว่าน้อย

team4

พื้นที่ไหนเดือดร้อน!!! น้ำเขื่อนทุกเขื่อนลดลงร้อยละ 50 จากปีก่อน

หลังปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมประเทศไทยมีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำลดลงทุกปี เช่น เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีก่อนๆ มาก โดยเหลืออยู่เพียงครึ่งเดียว รวมถึงเขื่อนอื่นๆ ก็มีน้ำลดลงครึ่งหนึ่งเกือบทุกแห่ง ยกเว้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในภาคกลาง อ่างประเเสร์ในภาคตะวันออก ลุ่มน้ำมูลในภาคอีสานบริเวณบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีเท่านั้น

การใช้น้ำต่อจากนี้คือน้ำในอ่างเก็บน้ำเท่านั้นเพราะว่าไม่มีฝนแล้ว ซึ่งอ่างเก็บน้ำหลายแห่งมีน้ำน้อย เช่น จุฬาภรณ์ ลำตะคอง ลำปาว เพราะว่าหว่ามก๋อเข้าไม่ถึง ฉะนั้น คนชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี จึงเดือดร้อนมาก ส่วนแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำดี ทำให้จังหวัดเลยที่อยู่ติดแม่น้ำไม่มีปัญหา แต่พื้นที่ส่วนอื่นก็จะมีน้ำน้อย เช่น อุดรธานี ในขณะที่หนองคาย บึงกาฬ นครพนม พอมีน้ำใช้ไม่เดือดร้อนมาก เพราะมีน้ำในอ่าง

เมื่อฝนตกน้อย ทำให้โดยเฉลี่ยอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งมีน้ำประมาณครึ่งหนึ่งของความจุอ่าง ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะต้องการใช้น้ำปริมาณมาก และทุกคนคาดหวังใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อาทิ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์

อาการลุ่มเจ้าพระยาจะเป็นอย่างไร

ด้านปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนจากข้อมูลของกรมชลประทาน ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 พบว่า เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การร้อยละ 9 เท่านั้น จากมีปริมาณในอ่างร้อยละ 32 ของความจุอ่าง ในขณะที่ปี 2557 มีน้ำใช้การร้อยละ 18 หรือ 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม. ) ปัจจุบันเหลือเพียง 1,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำที่หายไป 1,100 ล้าน ลบ.ม. นั้นยังไม่รู้ว่าจะหาน้ำจากตรงไหนมาทดแทน เพราะแม้จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้ก็จะมีน้ำใช้เพิ่มเพียง 700 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ส่วนเขื่อนสิริกิติ์จากที่ปี 2557 มีปริมาณน้ำร้อยละ 33 ของความจุหรือประมาณ 3,100 ล้าน ลบ.ม. เหลือเพียง 2,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำลดลงจาก 740 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 360 ล้าน ลบ.ม.

นั่นคือ เกือบทุกเขื่อนเหลือน้ำประมาณครึ่งหนึ่งของปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ปีที่แล้วมีปริมาณน้ำน้อยอยู่แล้วด้วย ซึ่งทุกคนรู้ว่าปีที่แล้วประเทศไทยเจอปัญหาใดบ้าง รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยค่าข้าวเสียหาย 2 ครั้งในช่วงเดือนตุลาคมและเมษายน รวมถึงพยายามสร้างงาน ในขณะที่ปีนี้ก็ยังห่วงสภาพเช่นนั้น แต่รัฐบาลมองเห็นปัญหาแล้วและพยายามจะเข้าไปสร้างอาชีพเกษตรซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างได้ง่ายๆ

โดยรวมแล้ว เมื่อเปรียบเทียบวันเดียวกันของปีนี้กับปีที่แล้ว พบว่า มีปริมาณน้ำลดลงไป 3,000 ล้าน ลบ.ม. จาก 7,000 ล้าน ลบ.ม. เหลือเพียง 4,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของปี 2557 ด้านปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างในปี 2557 มี 19 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ปัจจุบันเหลือเพียง 7 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำปัจจุบันอยู่ที่ 15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แบ่งเป็นอุปโภคบริโภค 7 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ 8 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ยังไม่รวมน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้น้ำในอ่างลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเริ่มนำน้ำจากอ่างมาใช้เร็วขึ้นกว่าปีที่แล้วด้วย

เนื่องจากปีที่แล้วมีความชุ่มชื้นช่วงปลายฝนต้นหนาว ทำให้เขื่อนปล่อยน้ำออกมา 11 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แต่ปัจจุบันต้องจ่ายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้าน ลบ.ม. หรือใช้น้ำมากขึ้น 1.4 เท่าของปีที่แล้ว เพราะว่าความแล้งเกิดรวดเร็ว ฝนเกิดช้าคือปลายเดือนมิถุนายน สาเหตุที่แล้งเร็วเพราะเดือนธันวาคม 2558 ถึงกุมภาพันธ์ 2559 จะเข้าช่วงที่อุณหภูมิระดับผิวน้ำทะเลสูงมาก แต่คาดหวังว่าเดือนมิถุนายน 2559 จะดีขึ้น

(อ่านต่อตอนที่2 เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า อาจจะถึงระดับไม่มีน้ำใช้)