ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สมคิด” โชว์ผลงานสร้างความเชื่อมั่นหยุดเศรษฐกิจทรุดตัว ใช้ “ประชารัฐ – ปรับโครงสร้างโตจากภายใน – ต้องก้าวข้ามการเมืองวันต่อวัน”

“สมคิด” โชว์ผลงานสร้างความเชื่อมั่นหยุดเศรษฐกิจทรุดตัว ใช้ “ประชารัฐ – ปรับโครงสร้างโตจากภายใน – ต้องก้าวข้ามการเมืองวันต่อวัน”

24 ธันวาคม 2015


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 1 ปีว่า วันนี้ ตนและคณะทำงานไม่ได้มาแถลงผลงาน เพราะคนที่ตัดสินผลงานคือประชาชน แต่มาเพื่อบอกเล่าให้ประชาชนฟังว่า คณะทำงานเราได้คิด ได้ทำอะไรไปบ้าง และจะทำอะไรในอนาคต ที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนี้ดีขึ้น เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ส่วนจะเป็นผลงานหรือไม่ อนาคตเท่านั้นที่จะมาตัดสิน แม้ในระยะสั้นอาจมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวทางการทำงานของตนและคณะทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ พวกตนเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อแนะนำตลอดเวลา

เมื่อคณะทำงานของตนเข้ามาทำหน้าที่ ได้เผชิญกับสิ่งที่เป็นปัญหาหลักๆ 2 ประการใหญ่ 1. ภาวะเศรษฐกิจอ่อนกำลัง ด้วยเหตุผลใหญ่ๆ 2-3 ประการ คือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งข้าวและยาง ทำให้อำนาจซื้อหดหาย อุปสงค์ในตลาดก็หดหายไปด้วย, เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี ไทยเป็นประเทศที่อิงการส่งออกสูงมากถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ทำให้อำนาจซื้อในระบบจางหายไป และที่สำคัญที่สุด เป็นภาวะที่คนไทยขาดความเชื่อมั่นอย่างมาก จากความไม่สงบ ไม่มีเสถียรภาพ และเจอข่าวเชิงลบกับภาวะเศรษฐกิจทุกวันๆ ถ้าคนไทยเองยังไม่เชื่อมั่น อย่าหวังว่านักลงทุนต่างชาติจะเชื่อมั่น ทำให้เกิดการชะงักงัน ชะลอการลงทุนเพื่อดูว่าไทยจะเป็นอย่างไร ผลคือช่วงนั้นเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มถดถอย ความมั่นใจจากดัชนีทุกตัวเริ่มตกลงมา แม้จะยังไม่ถึงขั้นว่า “แย่” แต่มัน “อันตราย” ถ้าเราไม่สามารถตัดตอนความรู้สึกตอนนั้นได้ จากภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” จะนำไปสู่ภาวะ “เศรษฐกิจตกต่ำ” ซึ่งยากจะฉุดขึ้นมาได้

2. ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มไม่สมดุล เพราะการเติบโตช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ลงไปสู่ชนบท เกษตรกร ฐานรากในภูมิภาค ความเจริญเรื่องรายได้ไปเติบโตเฉพาะกลุ่ม เฉพาะอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องไปอิงการส่งออกมากขึ้น เพราะไม่สามารถพึ่งพิงในประเทศได้ การมีเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออก 70% ของจีดีพีไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ แต่เมืองไทย คนในประเทศจน จึงต้องอิงต่างชาติ และถ้ามาดูสินค้าส่งออกของไทยแต่ละตัว เป็นสินค้าที่เคยฟู่ฟ่าในอดีตทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งวันนี้ ความโดดเด่นตรงนั้นหมดไป ทำให้เราไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ ถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ คุณจะไม่มีโอกาสที่จีดีพีเติบโต 10-20% เช่นในอดีต เพราะสิ่งต่างๆ เราไม่เคยได้รับการแก้ไข ทั้งทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี กฎระเบียบต่างๆ ฯลฯ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดถอยลง

ถามว่าทำไมแก้ไขไม่ได้ ตนเคยอยู่ในรัฐบาลชุดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมาอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ ก็พบว่า การแข่งขันทางการเมืองมันเล็งผลระยะสั้น มี quick wind แต่ไม่เคยวางแผนระยะยาว และรัฐบาลชุดต่างๆ ก็ไม่เคยสานต่อทางนโยบายเลย สัปดาห์ก่อน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-กัมพูชา สมเด็จฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา พูดว่า เขาประชุมกับนายกฯ ไทยมาแล้ว 12 คน เขาอยู่มา 30 ปี ทำนโยบายได้ต่อเนื่อง แต่เราเปลี่ยนนโยบายอยู่ตลอด มีแต่นโยบายที่บีบคั้นเอาเฉพาะสิ่งเฉพาะหน้า ไม่มีนโยบายองค์รวมหวังผลระยะยาวเท่าที่ควร ทำให้ไทยถดถอย

“ผมเคยไปพูดที่สถาบันอนาคตไทย สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน ว่าถ้าไม่รีบปรับตัว เศรษฐกิจไทยจะถดถอย แต่ปรากฏว่า คลิปที่เคยพูดไว้เมื่อ 2 ปีก่อนถูกนำมาเผยแพร่อีก เหมือนตำหนิรัฐบาลชุดนี้ นี่คือสนามการเมือง ที่มีแต่การตำหนิ ติเตียน และจับผิด ทำให้แต่ละรัฐบาลที่ขึ้นมาไม่กล้าทำอะไรที่จริงจัง”

นายสมคิดกล่าวว่า เมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ข้างต้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็เลยบอกว่า อะไรที่จำเป็นต้องทำไปก่อนก็ทำเลย ตนเลยคิดว่าจะต้องสร้าง “ความเชื่อมั่น” เพื่อหยุดการถดถอยของเศรษฐกิจให้ได้ เพราะถ้าหยุดไม่ได้ก็จะแก้ปัญหาได้ยาก

  1. ความชัดเจนในการทำงาน เมื่อคณะทำงานของตนเข้ามารับตำแหน่งก็ประกาศว่าจะทำอะไร และไม่เคยออกนอกลู่เลย
  1. ความมุ่งมั่นจริงจัง พวกตนไม่เคยหยุดทำงานเลย และมีการออกมาตรการอยู่เป็นระยะเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ยืนยันว่าไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการนำเงินไปช่วยคนที่ลำบาก ทั้งเกษตรกรและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จึงเห็นได้ทั้งกองทุนหมู่บ้านฯ SMEs ตำบลละ 5 ล้าน ให้สินเชื่อ SMEs 1.5 แสนล้านบาท มีนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ออกมา

“สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำอะไรเลย กลัวจะถูกโจมตี จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงมา ดังนั้น ใครจะเรียกว่าประชานิยม ผมไม่สนใจ ใครจะบิดเบือน นั่นไม่ใช่ตัวผม สิ่งที่ทำเวลานี้คือ “ประชารัฐ” ซึ่งต่างจาก “ประชานิยม” อย่างสิ้นเชิง หรือที่มีคนบอกว่า ตนไปยืมนโยบายใครมา ผมจะไม่ไปตอบโต้ ถามว่านโยบายต่างๆ ทำให้เสียงบประมาณเท่าไร มีเฉพาะตำบลละ 5 ล้านบาทเท่านั้นที่ใช้งบประมาณ ที่เหลือเป็นการให้สินเชื่อเป็นหลัก”

ถามว่าเกิดผลไหม เกิดผลแน่นอน เพราะดัชนีทุกตัวดีขึ้นหมด เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่น ที่ก็เติบโตต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน และสูงสุดในรอบ 12 เดือน ไม่ต้องพูดถึงดัชนีของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่โตต่อเนื่องมาหลายเดือน ทำให้จีดีพีของไตรมาสที่ 3 โตขึ้นมา และจีดีพีของไตรมาสที่ 4 ก็น่าจะโตขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน เศรษฐกิจไทยจึงจะไม่ทรุดตัวลงอย่างแน่นอน

แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่เทียบจีดีพีของปีนี้กับปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วมีความผิดปกติ แต่ให้ดูการเติบโตไตรมาสต่อไตรมาส ว่ามี momentum หรือไม่ เสียการทรงตัวหรือไม่ ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรววงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดูตัวเลขนี้ตลอดเวลา ยืนยันได้ว่าภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน แต่จะเกิดผลอย่างไรต้องดูเม็ดเงินว่าลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ กล่าวอีกว่า แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการทำ เราต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งอุตสาหกรรม เกษตร รวมถึงการทำงานของส่วนราชการ ที่หลายกระทรวงไม่เคยเปลี่ยนมากว่า 20 ปีแล้ว โดยในช่วงเวลาปีครึ่งที่มีอยู่ เราต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น

1. เราต้องการการเติบโตจากภายใน ระหว่างในประเทศกับต่างประเทศ ในประเทศคืออะไร เกษตร การลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ ในท้องถิ่น นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในท้องถิ่น โฟกัสทั้งหลายก็ต้องลงไปสู่สิ่งเหล่านี้ งบประมาณที่เคยเทไปสู่การส่งออกอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว กระทั่งกระทรวงมหาดไทย (มท.) ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างความเติบโตจากภายในประเทศขึ้นมา โดยนายกฯ ให้แนวทางในการทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

  • แนวทางที่ 1 ใช้แนวนอน เกิดการขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคม นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ประชารัฐ” ซึ่งเรามอบให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ใช้แกนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นหลักใหญ่ ต้นปี 2559 จะต้องเริ่มพัฒนาจากแกนนำ เช่น ชุมชนชนบทเขาต้องการโรงสี ยุ้งฉางขนาดเล็ก เครื่องมือเก็บเกี่ยวขนาดเล็ก ลานตาก ฯลฯ ก็ให้มีการประชุมแกนนำหมู่บ้านทั้งหมด แล้วคิดโครงการเสนอมา
  • แนวทางที่ 2 ในแนวดิ่ง คือกระทรวง ทบวง กรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แน่นอนว่าต้องดูภาคการเกษตร โดยในปี 2559 จะต้องปฏิรูปการเกษตร ทั้งเรื่องแหล่งน้ำและการแปรรูป โดยกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จะต้องหาตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องเริ่มเอาเทคโนโลยีไปพัฒนาการเกษตร นอกจากนี้ ตนยังได้คุยกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณให้มีงบกลุ่มจังหวัดมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเร่งให้เกิดการเติบโตจากท้องถิ่น

2. โครงสร้างการผลิตของประเทศ จากอุตสาหกรรมของเราที่เคยรุ่งโรจน์ แต่เทคโนโลยีของเรา ทั้งสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ เริ่มถดถอยลง จนกลายเป็น sunset industry นี่คือสิ่งที่เราไม่สบายใจ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม โดย 5 กลุ่มแรกคือที่เคยช่วยเรามาก่อน ให้ต้องเพิ่มมูลค่า และอีก 5 กลุ่มคือที่เราไม่เคยมี แต่คิดว่าจะสร้างมันขึ้นมาได้ จะใช้แนวคิดแบบเดิมคือเปิดเขตอุตสาหกรรมเพื่อดึงคนมาลงทุนไม่ได้อีกแล้ว ต้องใช้แนวคิดใหม่อย่าง cluster ดึงคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเบ้าหลอมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น นี่คืองานที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะการสร้างอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นมา จำเป็นต้องมีอะไรบ้าง ตนจึงให้นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการบริหารคลัสเตอร์ขึ้นมา โดยนายกฯ จะลงนามในสัปดาห์หน้า ตนยังบอกว่าที่สิงคโปร์มีคำว่า Standards, Productivity and Innovation for Growth Board (SPRING) โดย S มาจาก Standards, P มาจาก Productivity, I มาจาก Innovation มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม จึงมีการตั้งคณะทำงาน SPRING ที่กระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว นี่คือการปฏิรูปการทำงาน จะรอแต่กฎหมาย ชาติหน้าก็ไม่เกิด

ส่วน SMEs นี่คือช่วงที่ SMEs ของไทยเข้มแข็งที่สุด เรารู้ว่า SMEs ไม่ได้ต้องการเงินอย่างเดียว ต้องการ know how ต้องการ innovation ฯลฯ นี่คือสิ่งที่รู้กันมานาน แต่ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ วันนี้เรากลับมาทำงานร่วมกัน มีการตั้ง “คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ” โดยดึงภาคธุรกิจในระดับผู้บริหารเข้ามาช่วยภาครัฐทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรม เช่น เครือซีเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ฯลฯ ให้เข้ามาช่วยภาครัฐทำงานเลย โดยมีการแบ่งออกเป็น 12 คณะ ตั้งแต่ช่วย SMEs การเกษตร ฯลฯ มีรายชื่อครบ จะเสนอให้นายกฯ ลงนามแต่งตั้ง แล้วจะนำผู้บริหาร 100 บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยให้เข้ามาช่วยทำงาน เพราะคนเหล่านี้ไม่ค่อยอยากเข้ามาสู่การเมือง จึงให้เข้ามาโดยอ้อม มาช่วยภาครัฐทำงาน

ถ้าลองไปดูตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาและของจีน จะพบว่าหุ้นลำดับต้นๆ คือพวกที่เป็นเทคโนโลยี เช่น เฟซบุ๊ก อเมซอน ฯลฯ นี่คือสิ่งที่เราต้องการปรับโครงสร้าง

ขณะนี้ ต่างประเทศเป็นเรื่องใหญ่ เราถูกกล่าวหาเรื่องทำประมงผิดกฎหมาย IUU หรือไม่ได้มาตรฐานการบิน ICAO บนเวทีต่างประเทศก็บอกว่าคุณไม่ใช่ประชาธิปไตย เราถูกกดดันหลายๆ อย่าง ตนเรียนนายกฯ ว่า ไม่ต้องไปตอบโต้เรื่องรายละเอียด เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ แต่เหมือนที่ลี กวน ยู อดีตนายกฯ สิงคโปร์ เคยบอกว่า “คนตัวเล็กต้องทำให้มีความสำคัญ” ใครจะมาเถียงไมได้ว่า เมืองไทยไม่ได้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ใครจะปฏิเสธว่าจีนและญี่ปุ่นไม่อยากเป็นมิตรกับไทย ฉะนั้น การเดินการค้าต่างประเทศจากนี้ไป ไม่ใช่อยากไปไหนก็ไป จากจีน จากญี่ปุ่น จะไปไหนต่อ ให้วางทริปไว้เลย และไม่ใช่ไปแค่ไม่กี่คน จะเหมือนแค่ประทัด ดังเปาะแปะๆ แต่ให้มีการประชุมผู้บริหารระดับสูง หรือระดับรัฐมนตรีร่วม ถ้าเราประชุมระดับนี้ได้ กับจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย เยอรมัน ฯลฯ ใครจะปฏิเสธว่า ไม่อยากค้าขายกับไทย สัปดาห์ก่อน ทูตสหรัฐฯ เพิ่งมาเจอตน ก็ชวนให้ไปคุยเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ ส่วนเรื่องการเมืองไม่เป็นไร ดังนั้น คำที่บอกว่าไทยเป็นรัฐบาลทหารเริ่มจางไปแล้ว มีจำได้แค่สหรัฐฯ เท่านั้น

เรื่องมาตรฐานการบินของ EASA ที่ยังไม่ถูกลดระดับ เพราะมีทีมงานมาช่วย รู้ว่าข้อสอบคืออะไร แล้วทำตามนั้น จึงรอดมาได้ ส่วน IUU ยังต้องทำงานต่อไป แต่จะดีจะชั่วเราต้องยอมรับตัวเอง เพราะสมัยนี้การทำธุรกิจจะเน้นแค่ทำกำไรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบด้วย

3. โครงสร้างพื้นฐานในอนาคต กระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าภาพ เดิมมันยังช้า เพราะอยู่ในช่วงของการออกแบบ แต่ในปีหน้า อย่างน้อย 14 โครงการ จะมีการประกวดราคา งานจะเริ่มเดิน เงินจะเริ่มลง ตนกับคุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม คุยเช้าคุยเย็น เรามีโครงการอยู่ใน PPP Fast track 5 โครงการ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กำลังเร่งให้อีก 3 โครงการผ่านรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อจะได้นำเข้า ครม. ต้นปี 2559

เรื่องรถไฟไทย-จีน ถูกวิจารณ์อย่างนั้นอย่างนี้ โดยการเจรจาเราได้ปรับโหมดว่าการร่วมมือจะต้องเป็น joint venture ซึ่งเดิมจีนขอแค่การเดินรถกับตัวรถ แต่เงินลงทุนทั้งหมดอยู่ที่ราง จึงต้องมาคุยกันใหม่ จะกี่เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่ ต้องให้ครอบคลุมทั้งหมด สิ่งที่กระทรวงคมนาคมกำลังเจรจากันอยู่คือ ที่คุณกับเราประเมิน ตัวเลขยังไม่ตรงกัน เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ดีที่สุดของไทย เหตุที่รถไฟนี้ต้อง G to G เพราะสมัยรัฐบาล 2 ชุดก่อนหน้าไปตกลงมาว่าจะใช้วิธีแบบนี้ เรื่องรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทาง East-West Corridor ปีหน้าจะตั้งบริษัทร่วมทุน เขาจะเริ่มสร้างเส้นทางนี้ ตะวันออกถึงตะวันตก ถ้ามีเส้นทางนี้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง เมื่อวาน(22 ธันวาคม) ครม. ได้อนุมัติโครงการ e-payment ซึ่งทุกคนได้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ทางธุรกิจเติบโต ที่สำคัญ จะทำให้เลี่ยงภาษีได้ยาก จึงไม่จำเป็นต้องเลี่ยงภาษี อีกอย่างที่สำคัญคือ เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเราไม่เน้นตัวหน่วยงาน ไม่เน้นการตั้งกระทรวง แต่จะเน้นโครงสร้าง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) บอกว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วประเทศ คุณไม่ก้าวไปสู่โลกดิจิทัลไม่ได้ ไม่เช่นนั้นอนาคตคุณจะตกเหวแน่นอน

นี่คือสิ่งที่จะเกิดในอนาคต จะไม่มีทางบิดไปจากนี้ได้เลย

“แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีเงินพอ ที่เริ่มในปีนี้ การตั้งงบประมาณจะเน้นเป้าหมายเป็นหลัก ไม่ใช่ต่างคนต่างคนทำเหมือนเดิม ด้วยวิธีการนี้ รวมกับ PPP จะทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้มาก นอกจากนี้ ถ้าคุมตัวเลขงบประมาณรายจ่ายให้ดีๆ จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 50% แน่นอน และเชื่อว่าภายใน 7 ปี งบประมาณจะกลับมาสู่สมดุลได้ แต่ถ้ามีความจำเป็น จะทำงบประมาณขาดทุนไปไม่เป็นไร”

นายสมคิดยังกล่าวว่า ในปี 2559 จะได้เห็นนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุ จะเห็น super holding จะเห็นการต่างประเทศเชิงรุกมากขึ้น ฯลฯ

“ผมกับคณะทำงานไม่สามารถให้สัญญาได้ว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์ 100% แต่สัญญาได้ว่าจะทำงานอย่างเต็มที่และซื่อสัตย์สุจริตด้วย เราจะทำดีที่สุด เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของทุกคน และต้องขอบคุณล่วงหน้าให้กับภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่จะมาทำงานร่วมกับเรา เมืองไทยหมดเวลาเป็นสนามรบมาชิงไหวชิงพริบ กินแต้มทางการเมืองวันต่อวัน คุณก้าวข้ามเรื่องนี้ไปไม่ได้ ในอนาคตมีแต่จะถดถอย แต่ถ้าก้าวข้ามได้ เราจะกลับไปเป็นเสือแห่งเอเชียอีกครั้ง”