ThaiPublica > คอลัมน์ > วิธีบรรเทาปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืน

วิธีบรรเทาปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืน

7 ธันวาคม 2015


สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้เขียนเคยเขียนเรื่อง “คอร์รัปชั่น” ในพื้นที่นี้ราวสองปีก่อนติดกันหลายตอน (ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดชุดบทความดังกล่าวได้จากบล็อกของผู้เขียน) แต่เมื่อเห็นกระแสข่าวความไม่ชอบมาพากลที่แวดล้อม “อุทยานราชภักดิ์” ก็อยากนำข้อเขียนเดิมมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

อุทยานราชภักดิ์
อุทยานราชภักดิ์

เพราะคอร์รัปชั่นในไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวพันทุกวงการ ทุกสถาบัน และทุกมิติตั้งแต่ระดับ “นโยบายรัฐ” ไปจนถึง “วิธีคิด” ของปัจเจกแต่ละคน

ในชุดบทความก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเน้นเรื่องกลไกทางกฏหมายที่สำคัญต่อการต่อกรกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง แต่เมืองไทยยังไม่มี หรือมีแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเราพุ่งความสนใจไปที่การทำงานของภาครัฐเป็นหลัก

ทั้งที่การสร้างแรงจูงใจให้เราๆ ท่านๆ อยากร่วมตรวจสอบ ไม่ว่าจะในฐานะผู้ให้เบาะแส นักลงทุนรายย่อย ผู้เสียภาษีที่เสียหายจากคอร์รัปชั่น หรือประชาชนคนธรรมดา จำเป็นต่อการบรรเทาปัญหาคอร์รัปชั่นมากกว่าการทำแคมเปญรณรงค์ และสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปรับปรุงมาตรการป้องกันและปราบปรามของภาครัฐ

ผู้เขียนมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1. ถึงเวลาแล้วที่นักธุรกิจควรเปลี่ยนทัศนคติ จากการมองเรื่องต้านคอร์รัปชั่นว่าเป็นเรื่อง “จิตอาสา” ที่ทุกคนต้อง “สละเวลา” มาทำ “กิจกรรม” ต่างๆ เป็น “การลงทุน” ที่คุ้มค่าในระยะยาว

ปัญหาใหญ่ทุกปัญหาถ้าจะแก้ได้อย่างแท้จริง ย่อมต้องอาศัยคนทำงานประจำ มาตรการที่ชัดเจน และทรัพยากรที่เพียบพร้อม ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นมีสมาชิกเริ่มต้น 39 องค์กร ถ้าทุกองค์กรลงขันกันคนละ 5 ล้านบาท (หรือปันส่วนตามขนาดขององค์กร) ก็จะได้ “เงินก้นถุง” ในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่นถึง 195 ล้านบาท เงินจำนวนนี้เพียงพอที่จะยกระดับภาคีฯ ให้เป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร จ้างผู้บริหารมืออาชีพ นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ มาทำงานประจำ

ถ้าบริษัทสมาชิกต้องจ่ายใต้โต๊ะปีละ 100 ล้านบาท และการทำงานของภาคีฯ สามารถช่วยลดยอดจ่ายเงินใต้โต๊ะลงได้ 10% ภายในเวลาสองปี ก็เท่ากับว่าบริษัทประหยัดเงินได้ปีละ 10 ล้านบาทตั้งแต่ปีที่สาม เท่ากับว่าเงินลงทุนตั้งต้น 5 ล้านบาทของบริษัทนี้คืนทุนแถมสร้าง “กำไร” ให้ 100% ภายในสองปีเท่านั้น

องค์กรกลางของภาคีฯ ที่ว่านี้จะทำได้ทั้งงานรณรงค์ งานสร้างเครื่องมือเพิ่มพลังพลเมือง (ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือเว็บ www.ipaidabribe.com ในอินเดีย เป็นเวทีเปิดให้คนอินเดียรายงานการจ่ายสินบนต่อหน่วยงานราชการต่างๆ โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อและนามสกุล เพื่อคุ้มครองผู้ให้เบาะแส) งานวิจัย และงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย

เว็บไซต์ www.ipaidabribe.com
เว็บไซต์ www.ipaidabribe.com

ที่สำคัญคือต้องเน้นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นหลัก ไม่ใช่ให้แต่ภาคธุรกิจมีส่วนร่วม เช่น ทำแคมเปญล่ารายชื่อขั้นต่ำ 10,000 ชื่อตามรัฐธรรมนูญ เสนอร่างกฎหมายฟ้องแทนกรรมการ กฎหมายบังคับให้รัฐเป็นรัฐเปิด (open government) กฎหมายคุ้มครองผู้ให้เบาะแส ฯลฯ

2. ถ้าเราจะจัดการแก้ปัญหาให้ได้ผล กฎหมายและกลไกต่างๆ จะต้องสะท้อนหลัก “ผู้ให้สินบนผิดเท่ากับผู้รับสินบน” และควรต้องเอาผิดองค์กรของผู้ให้สินบนด้วย ในกรณีที่ผู้ให้สินบนเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการบริษัท โทษฐานที่ไม่ใส่ใจในกลไกตรวจสอบและป้องกันคอร์รัปชั่นขององค์กรเอง

ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายปราบปรามการติดสินบน (Bribery Act) ของอังกฤษ ซึ่งประกาศใช้ในปี 2010 กำหนดว่าองค์กรใดๆ ที่พนักงานหรือผู้บริหารติดสินบนในนามบริษัทอาจะถูกลงโทษด้วย ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่าองค์กรมี “กระบวนการป้องกันที่เพียงพอ” แล้ว

ประเทศไทยอาจยังไม่สามารถไปถึงขั้นกฎหมายอังกฤษ เพราะธรรมาภิบาลในด้านนี้ยังอ่อนมาก และเป็นสังคมแบบอุปถัมภ์ซึ่งหลายกรณีแยกยากระหว่างการจงใจ “ติดสินบน” กับการทำตาม “มารยาทสังคม” แต่ผู้เขียนคิดว่าเราต้องเริ่มถกเถียงกันในประเด็นนี้ เพราะกฎหมายและกลไกต่างๆ ยังเน้นเอาผิด “ผู้รับสินบน” เป็นหลัก ทั้งที่ “ผู้ให้สินบน” ควรมีภาระรับผิดเสมอกัน

3. บทบาทของผู้ออกกฎหมายควรเปลี่ยนจากการเน้น “เพิ่มอำนาจให้รัฐ” มาเป็นการ “มอบอำนาจให้ประชาชน” ใช้กฎหมายเอง เช่น การออกกฎหมายฟ้องแทนกรรมการจะมอบอำนาจให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถฟ้องบุคคลที่ทุจริต กฎหมายฟ้องแบบกลุ่ม (ฉบับนี้ออกแล้ว จะมีผลบังคับใช้ต้นเดือนธันวาคม 2558) จะมอบอำนาจให้ประชาชนตัวเล็กๆ รวมตัวกันฟ้องได้ง่ายขึ้น ส่วนกฎหมายบังคับให้รัฐเป็นรัฐเปิด (open government) จะทำให้ข้อมูลสำคัญๆ เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นข้อมูลสาธารณะเป็นค่าตั้งต้น (default) ใครๆ ก็เข้าไปติดตามตรวจสอบได้ทุกเมื่อ

4. ปฏิรูปภาคไม่แสวงกำไรทั้งระบบ พร้อมกับเปลี่ยนทัศนคติของคนให้มองว่าคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบนั้น “ผิดศีลธรรม” โดยเฉพาะรูปแบบที่ “เนียน” ไปกับระบอบอุปถัมภ์แบบไทยๆ

"ระบอบอุปถัมภ์" ที่มาภาพ: http://www.naewna.com/politic/columnist/15358
“ระบอบอุปถัมภ์” ที่มาภาพ: http://www.naewna.com/politic/columnist/15358

เรื่องนี้อาจทำยากที่สุด แต่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญไม่แพ้ข้ออื่น โดยเฉพาะในเมื่อข้อค้นพบของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (behavioral economics) ชี้ชัดแล้วว่า คนเรามีแนวโน้มจะ “โกง” มากกว่าปกติ ถ้าหากเราไม่มองว่านั่นคือการโกง (ซึ่งผิดศีลธรรม) ด้วยการหาเหตุผลต่างๆ นานา มาเข้าข้างตัวเองว่า ฉันไม่ได้โกงหรอกนะ!

ซึ่งก็ทำได้หลายวิธี รวมทั้งเปลี่ยนชื่อให้ห่างไกลจากความรู้สึกว่ากำลังทำผิด

ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะเรียกว่าค่าหัวคิว ก็อาจเรียกว่า “เงินบริจาค” และแทนที่จะเรียกว่าบัญชีกระจายค่าหัวคิว ก็เปลี่ยนชื่อเป็น “บัญชีสวัสดิการ” เสีย

เมื่อคนหรือบริษัทกำลังจ่ายเงินใต้โต๊ะ แต่จ่ายในรูปของเงินบริจาค สมทบทุนสร้างโครงการที่สวยหรูดูดีมีหน้ามีตา แทนที่จะจ่ายตรงๆ เข้าบัญชีส่วนตัว เมื่อนั้นทั้งผู้ให้และผู้รับก็ยากที่จะรู้สึกว่า กำลังคอร์รัปชั่นอยู่ แถมยังอาจรู้สึกดีอีกด้วย ว่ากำลังร่วม “ทำบุญ”

ทั้งที่ถ้าไปติดตามสืบสาวดีๆ เงินทำบุญนั้นอาจ “ทอน” ไปเข้ากระเป๋าใครสักคนหรือหลายคนก็ได้ โดยที่คนให้หลายรายก็รู้ดีว่า นี่เป็นวิธีซื้อ “ความสะดวก” จากผู้มีอำนาจรัฐที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปภาคไม่แสวงกำไรทั้งระบบ โดยเฉพาะการให้มูลนิธิและวัดต่างๆ เปิดเผยและแจงรายรับรายจ่ายตามมาตรฐานบัญชี จึงสำคัญไม่แพ้การพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคน ให้มองว่าการโกงก็คือการโกง รวมทั้งหลายเรื่องที่เรามักจะเข้าข้างตัวเองว่า นี่ไม่ใช่โกง เป็นแต่เพียงการใช้ “เส้น” ซึ่งเป็นเรื่อง “ปกติ” ในสังคมอุปถัมภ์แบบไทยๆ

ไม่ว่าจะโกงด้วยการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย จ่ายเงินบริจาคแบบตั้งใจทอนเงิน หรือโหนสถาบันที่คนนับถือเพื่อจะได้ทำทั้งสองอย่างนี้อย่างสะดวกโยธินก็ตาม.

(หมายเหตุ: ท่านใดสนใจข้อค้นพบของวงการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เกี่ยวกับพฤติกรรม “ไม่ซื่อสัตย์” ของมนุษย์ และการนำข้อค้นพบนี้มาใช้จริงเพื่อลดอัตราโกหกในการกรอกแบบฟอร์มภาษีเงินได้ในประเทศอังกฤษ เชิญดาวน์โหลดรายงานจากเว็บไซต์รัฐบาลอังกฤษ)